|
|
โฆษกศาล รธน.เผยส่งหนังสือ ส.ส.-ส.ว.312 คน คดีแก้ รธน.ม.68 ให้จัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ไม่มีใครรับหนังสือ จ่อปิดประกาศหน้าศาลก่อนพิจารณาคดีต่อ “วสันต์” เมินแก๊งแดงประท้วงหน้าศาล พวกไม่รู้เรื่องราว จ่อฟ้องแบบเดียวกับ “ดีเจป้อม อุดรธานี” ย้อนเกล็ดใช้บริการ สนง.ทนายคนเพื่อไทยเชือด พอศาลรับฟ้องกลับโร่ขอขมา “จรัญ” ชี้ ส.ส.-ส.ว.คัดค้านอำนาจศาลเป็นเสรีภาพ ขอรอดูเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกชอบธรรมหรือไม่ ไม่หวั่นโดนยื่นถอดถอน
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในวันนี้ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักเลขาธิการวุฒิสภา กรณีที่ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือลงวันที่ 11 เม.ย.แจ้งให้ ส.ส.-ส.ว.312 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องในคดีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากลับมายังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ว่า ทางสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักเลขาธิการวุฒิสภาได้แจ้งให้ ส.ส.-ส.ว.ทั้ง 312 คน มารับหนังสือของศาลรัฐธรรมนูญที่หน้าห้องประชุมรัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่มี ส.ส.และ ส.ว.คนใดมารับหนังสือดังกล่าว ประกอบกับขณะนี้เป็นช่วงปิดสมัยประชุม ทางสำนักงานเลขาธิการจึงไม่อาจนำส่งเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญให้กับสมาชิกรัฐสภาได้ โดยได้ส่งหนังสือดังกล่าวกลับมาให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการจัดส่งให้กับผู้ถูกร้องเอง ซึ่งทางสำนักงานกำลังทำบันทึกแจ้งต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือจะนำเข้าหารือในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่า เหมือนผู้ถูกร้องพยายามจะไม่รับหนังสือแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ไม่ต้องจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลจะดำเนินการอย่างไร นายพิมล กล่าวว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 31 ระบุว่า การส่งคำร้อง ประกาศ หรือเอกสารอื่นใด ให้ส่งแก่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้ ในกรณีไม่อาจดำเนินการได้ให้ ศาลมีอำนาจสั่งให้นำเอกสารดังกล่าว ปิดไว้ ณ ที่ทำการศาล หรือสถานที่ที่คู่กรณีแจ้งไว้ หรือให้ประกาศโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร และการปิดหรือการประกาศดังกล่าว ให้ถือว่าได้มีการส่งเอกสารโดยชอบแล้วนับแต่วันปิดหรือประกาศแล้ว ขณะที่ข้อ 29 ก็ระบุว่า กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลา ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการว่าจะพิจารณาดำเนินการตามข้อกำหนดข้อใด
ด้าน นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวมากกว่า เป็นแบบเดียวกับนางกรองทอง ทนทาน หรือ “ดีเจป้อม” อุดรธานี ที่ครั้งก่อนชุมนุมหน้ารัฐสภา ก็ด่าตนเสียหาย ตนก็ฟ้องศาลอาญาใน 4 ข้อหา ในฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยการโฆษณา โดยใช้ทนายจากสำนักงานทนายของคนพรรคเพื่อไทย คือ สำนักงานทนายนิติทัศน์ ศรีนนท์ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูลประทับรับฟ้อง นางกรองทองก็ยื่นขอประนีประนอมจะขอขมา ศาลสั่งเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ซึ่งตนก็ยังไมได้ตัดสินใจว่าจะรับคำขอขมาหรือเปล่า ดังนั้นที่ชุมนุมกันหน้าสำนักงานอยู่ขณะนี้ก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่
“ผมตามเก็บหมดไม่ฟังเสียงหรอก” นายวสันต์ กล่าว
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม ส.ส.-ส.ว.312 คนร่างจดหมายเปิดผนึกคัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นเสรีภาพของคนที่จะเขียน ส่วนตัวคิดว่าต้องติดตามฟังและดูว่าเนื้อหาของจดหมายมีความชอบธรรมหรือไม่และเหตุผลมีผลอย่างไร
เมื่อถามว่า การคัดค้านอำนาจและไม่ไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลต่อกระบวนการวินิจฉัยคดีหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ไม่ขอให้ความคิดเห็น เนื่องจากตุลาการไม่ควรพูดถึงกระบวนการพิจารณาคดี มิฉะนั้นจะกลายเป็นการตัดสินคดีผ่านสื่อ และจะกลายเป็นการโต้เถียงผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ตุลาการต้องทำหน้าที่พิจารณาคดี ดังนั้น ต้องรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเป็นหลัก หากโต้เถียง ศาลจะกลายเป็นคู่กรณีเสียเอง
ส่วนกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมเรียกร้องให้ตุลาการยุติการทำหน้าที่ และจะรวบรวมรายชื่อประชาชนยื่นต่อ ป.ป.ช.เพื่อถอดถอนตุลาการศาล รธน.นายจรัญ กล่าวว่า ขณะนี้พยายามติดตามฟังการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายผ่านสื่อ ส่วนการยื่นถอดถอนตุลาการถือเป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้ ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน ตุลาการจะบอกว่าเป็นใหญ่ ไม่ให้ใครมาตรวจสอบคงไม่ได้
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงบ่าย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนชัย สีหิน ตัวแทนกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านนางอรรถพร เลาหสุรโยธิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารทั่วไป สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยอมรับกระบวนการยุติธรรม โดยก่อนหน้านี้ตนและนายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามเพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 9 คน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการพิจารณาวินิจฉัยคดีชิมไปบ่นไป ตัดสิทธิทางการเมืองนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2551 รวมถึงกรณีที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 โดยอ้างอำนาจในการพิจารณาตามมาตรา 68 ในการรับเรื่องจากผู้ร้องทางตรง โดยไม่มีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุด ซึ่งการทำหน้าที่ของตุลาการทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการละเว้นหรือการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่งผลให้องค์กรศาลรัฐธรรมนูญได้รับความเสียหาย ในความผิดฐานกระทำการหรือละเว้นหน้าที่อันถือว่าเป็นการละทิ้งงาน หรือกระทำการอย่างใดๆ เพื่อให้งานหยุดชะงัก หรือเสียหาย โดยร่วมกระทำการเช่นนั้นตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 166
ทั้งนี้ นายธนชัย ยังได้นำจดหมายเปิดผนึกของ นายวรพล แนบไปในคำร้องดังกล่าว ที่เป็นการแสดงเจตนาอันชอบธรรมของประชาชน และขอให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยอมรับกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากประชาชนจำนวนหนึ่งได้ใช้สิทธิตามกฎหมายแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในกระบวนการยุติธรรม เพื่อใช้สิทธิตรวจสอบความจริง เกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาลรัฐธรรมนูญสามารถถูกดำเนินคดีเหมือนประชาชนทั่วไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่าผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะออกมาเป็นเช่นไร เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยอมรับและให้ความร่วมมือตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นับตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมที่หน้าสำนักงานเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ทางสำนักงานก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกภาพ บันทึกเสียงการปราศรัยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมด และกำลังอยู่ในการระหว่างการพิจารณารวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี อย่างไรก็ตามในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 2 ก็ได้มีการประสานไปยังผู้บริหารสำนักงานว่าจะจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลความปลอดภัยให้กับตุลาการแต่ละคน ซึ่งทางสำนักงานก็ให้เป็นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ในขณะนี้การดูแลความปลอดภัยของตุลาการยังคงเป็นไปตามปกติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น