วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ผ่าปมร้อนการเมืองไทย 2556 รัฐเดินหน้าพา “ทักษิณ” กลับบ้าน




ผ่าปมร้อนการเมืองไทย 2556

รัฐเดินหน้าพา “ทักษิณ” กลับบ้าน

บรรยากาศการเมืองประเทศไทยรอบปี 2555 ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ปั่นป่วน แปลกแยก ขัดแย้ง อย่างหลากหลาย ที่ยังวนเวียนอยู่กับความ “แตกแยก” ที่มีรากเหง้ามาตั้งแต่หลังปฏิวัติเมื่อปี 2549
และความขัดแย้งทางการเมืองเช่นว่านี้ ยังมีผลต่อปี 2556 ที่ต้องเฝ้าจับตามอง เพราะหลากปัจจัยย่อมส่งผลถึงองคาพยพทุกส่วนของสังคมไทย
ขณะที่ “ฝ่ายค้าน” ก็ออกมาระบุว่า มวลเหตุปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น มาจาก “บทบาท” ที่รัฐบาลจะเลือกเล่น ในฐานะผู้กำเสียงข้างมากในสภา โดยใช้ภาคประชาชนเป็นแนวร่วมสมทบหนุนนอกสภาของ “มวลชนคนเสื้อแดง” เช่นว่านี้ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะเร่งเดินหน้าฝ่า “แรงต้าน” ในการพา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้าน ด้วยการดันทุรังแก้กฎหมาย ที่มีกระแสต่อต้านจาก “แข็งกร้าว” ก็เชื่อว่าการเมืองไทยอาจกลับเข้าสู่กลียุครอบใหม่
“ดี” หรือ “แย่” ขึ้นกับปมแก้ รธน.
เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (Thailand Political Database : TPD) ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเมืองไทยในปี 2556 ไว้อย่างน่าสนใจถึงประเด็นที่ต้องเฝ้าจับตากัน ในช่วงปี 2556 นี้ นั่นคือ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าจะมีการทำ “ประชามติ” ก่อน ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ โดยช่วงเวลาในการทำประชามตินั้น น่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 12 มีนาคม-12 เมษายน 2556 โดยตามหลักเกณฑ์ในการทำประชามติ จะต้องมีการออกมาใช้สิทธิ์ ไม่ต่ำกว่าครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด นั่นหมายความว่า ถ้าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดมี 46 ล้านคน จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 23 ล้านคน ซึ่งเป็น “งานหิน” ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ในสภาวะการที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เล่นแง่ประกาศกร้าวสนับสนุนการไม่เข้าร่วมทำประชามติ
น่าสนใจไม่น้อยกับท่าทีล่าสุดจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน ที่ออกมาประกาศเจตนารมณ์ให้ประชาชน “คว่ำบาตร” ไม่สนับสนุนการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ของรัฐบาล เสมือนหนึ่งเป็นเร้าปลุกกระแส “ต่อต้าน” รัฐบาล ให้ร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนักโทษ และก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ และนำพาประเทศให้เดินไปข้างหน้า โดยปราศจากความ “รุนแรง” ซึ่งการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวนี้ จึงถือเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า การทำประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นคราวนี้ “ไม่ง่ายอย่างที่คิดแน่” เพียงแค่จะเข็นเสียงประชามติให้ได้ประมาณ 23ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงก็ยากอยู่แล้ว แถมยังต้องมาเจอกับ “แรงต้าน” ที่ส่งมาจากผู้นำฝ่ายค้าน ก็ยิ่งทำให้เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากลำบากขึ้นเป็นเท่าตัว
ขณะเดียวกันทางด้าน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือ พธม. โดยการนำของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็แสดงจุดยืนขวางว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้ ถ้าแก้เพื่อช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ อีกทั้งตัวแปรสำคัญอย่างการรณรงค์ “โหวตโน” ของกลุ่ม พธม.ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 1.4 ล้านคะแนน ย่อมมีผลต่อการทำประชามติ ในการเดินหน้ารื้อซากรัฐธรรมนูญ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อย่างไรก็ตามถ้ามองกันลึกๆ แล้ว กลุ่มคนเสื้อเหลืองยังยินดีที่จะร่วมเป็นแนวรบ “ต้านรัฐบาล” เช่นกัน ในฐานะมีจุดหมายเดียวกันคือ “ถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณ” ซึ่งข้อเสียเปรียบในการเคลื่อนไหวของฝ่ายค้านครั้งนี้ ก็น่าจะอยู่ที่บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 แต่กระนั้นก็ถือว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไรมากนัก แม้ว่าจะมีมาตรา 43 ที่ระบุข้อห้ามไว้ชัดเจนว่า “ไม่ให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์” ก็ตาม โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงเหลือเพียงแค่รอว่า รัฐบาลจะกำหนดประเด็นคำถามในการทำประชามติอย่างไร จากนั้นแต่ละกลุ่มก้อนที่ต้านรัฐบาล ก็กลับไปกำหนดการเคลื่อนไหวของตัวเองสำหรับการ “คว่ำประชามติ” ว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด จึงจะได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
เมื่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังมีหลายฝ่ายเคลือบแคลงในเนื้อหาสาระว่าจะไปแก้ในทิศทางใดบ้าง เพราะหากเป็นไปตามแนวทางคำถามที่จะระบุว่า จะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปิดให้ สสร.เข้ามายกร่างแก้ไขหรือไม่นั้น ย่อมไม่อาจมีหลักประกันได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หรือจะเป็นเพียงแค่การล้างผิดให้ใครบางคนเท่านั้น เพราะประชามติครั้งนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสำหรับรัฐบาล ที่ต้องการเสียงประชาชนไปเป็นใบเบิกทาง เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญจนถึงขั้นมีกระแสข่าวความพยายามแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ เพื่อปรับเปลี่ยนคะแนนการลงประชามติ เพื่อให้เอื้อต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่สุดท้ายแกนนำในรัฐบาลก็ออกมายืนยันปฏิเสธชัดแล้วว่า ไม่มีความคิดในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้นสัญญาณการเดินหน้า “คัดค้าน” จากประชาธิปัตย์และกลุ่มแนวร่วมต่อต้าน จึงถือเป็นการออกตัวอย่างเป็นทางการ ที่จะนำมาสู่กระบวนการเดินสายชี้แจงความไม่ชอบมาพากลของการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนคนเดียว ไม่ว่าจะด้วยการรณรงค์ไม่ให้ไปลงมติ เพื่อไม่ให้ได้เสียงเกินเกณฑ์ หรือลงมติแต่ไม่เห็นด้วย หรือโหวตโน เพื่อให้คะแนนเห็นด้วยไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมดก็ตาม โดยช่วงเวลาดังกล่าวนับจากนี้ไป จนถึงวันหย่อนบัตรทำประชามติ เราน่าจะได้เห็นการต่อสู้ที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดเผ็ดมัน ระหว่าง “ฝ่ายผลักดัน” และ “ฝ่ายต่อต้าน”
แฝงวาระเรียกความ “เชื่อมั่น”
จากสถานการณ์เหล่านี้ ได้กลายมาเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาล กำลังใช้ห้วงเวลาในสมัยนิติบัญญัตินี้ เร่งปั้นผลงานเพื่อเรียกคะแนนและกระแสความนิยมกลับคืนมา ผ่านการสร้างความ “เชื่อมั่น” ทางเศรษฐกิจ ด้วยการใช้กลไกทางกฎหมายงบประมาณ มาเป็นเครื่องมือสำคัญในสมัยประชุมนิติบัญญัติ
แต่ถ้ามองในแง่มิติทางการเมืองความเข้มข้นของสมัยนิติบัญญัตินี้ จะไม่เท่ากับสมัยประชุมสามัญทั่วไป อาจเป็นเพราะด้านหนึ่งมาจากการที่รัฐธรรมนูญขีดเส้นไว้ ไม่ให้สามารถเปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามใช่ว่าจะไม่มีประเด็นอะไรน่าสนใจเลยเสียทีเดียว เพราะอย่าลืมว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการ “เร่งทำคะแนน” เพื่อเรียก “ความนิยม” กลับคืนมา
นับตั้งแต่สิ้นสุดการอภิปรายไม่ไว้วางใจใน “ศึกซักฟอก” ครั้งที่ผ่านมาจบลง ฝ่ายค้านก็ได้ทิ้งบาดแผลไว้ให้กับรัฐบาลพอสมควร อีกทั้งเวลานี้ยังมีผลโพลสำรวจอีกมากมายของหลายๆ สำนัก ที่พร้อมใจปรบมือเห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลควรต้องเร่งแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภายในเป็นการด่วน กว่าที่จะมาเร่งผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นชนวนระเบิดเวลา ที่อาจนำพาประเทศสู่กลียุคแห่ง “สงครามกลางเมือง” ได้อีกในไม่ช้านี้
ยิ่ง ณ เวลานี้ รัฐบาลมีแผนที่จะกางปฏิทิน เพื่อเสนอกฎหมายว่าด้วยการเงินที่สำคัญไว้ด้วยกัน 2 ฉบับ คือ 1.ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 และ 2.ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ….วงเงิน 2 ล้านล้านบาท
คณะรัฐมนตรีได้วางแนวทางการจัดทำงบประมาณไว้ว่า “เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการงบลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล รัฐบาลคาดว่างบประมาณปี 2557 จะช่วยให้นโยบายเร่งด่วนทั้ง 16 ข้อของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาประชาชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ การรับจำนำข้าว บัตรสินเชื่อเกษตรกร การดูแลประชาชนจากปัญหาเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้รัฐบาลลบข้อครหาตลอดกว่าขวบปีที่ผ่านมา ว่าให้ความสำคัญกับปัญหาการเมืองเพื่อคนคนเดียวมากกว่าปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นเรื่องปากท้องประชาชน นอกจากนี้สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ยังเปิดโอกาสให้รัฐบาลกู้เงินมีระยะเวลาการกู้ 7 ปี เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กนอ.) ให้ครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน การสื่อสารระบบสาธารณูปโภค และการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ
แต่การจะผลักดันให้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามให้วุฒิสภาเร่งผ่านร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน ในกิจการของรัฐที่ค้างอยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญก่อน มิเช่นนั้นแล้วกฎหมายกู้เงินแทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย
ดังนั้นกฎหมายร่วมทุน จึงถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐ ภายใต้กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐรับภาระการลงทุนเพียงฝ่ายเดียว แต่เอกชนมีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในบางสาขามากกว่าภาครัฐ ซึ่งมีผลให้โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้ง 7 ด้าน เป็นไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ตาม การเร่งผลักดันกฎหมายเศรษฐกิจของรัฐบาลในรอบนี้ อาจเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร ในเรื่อง “ตัวเลขหนี้สาธารณะ” เพราะประเด็นนี้เคยมี ส.ว.จำนวนมากได้ติงเอาไว้ เมื่อครั้งวุฒิสภาพิจารณากฎหมายร่วมทุน ในวาระที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ว่า กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น อาจมีผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จนไปแตะในระดับ 50 เปอร์เซ็น/จีดีพี
เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ยังไงรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือกนอกจากการเร่งกฎหมายให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เร็วที่สุด แม้ต้องเจอกับเสียงตำหนิพ่วงท้ายตามมาก็ตาม เนื่องจากมั่นใจว่ากระแสวิจารณ์เรื่องการก่อหนี้นั้น จะไม่รุนแรงเท่ากับกระแสต่อต้านรัฐบาลในทางการเมือง ดังนั้นรัฐบาลเชื่อว่าหากผ่านกฎหมายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำเร็จ โครงการประชานิยมต่างๆ ก็จะเดินหน้าได้อย่างมั่นคง อีกทั้งยังช่วยกลบกระแสด้านลบที่มีต่อรัฐบาลได้สนิทใจ เพื่อไม่ก่อให้เกิดเงื่อนไข “ปลุกม็อบ” มาเขย่าบัลลังก์ “ล้มล้าง” รัฐบาลไทยคู่ฟ้าได้ในอนาคต
ดังนั้นเหตุการณ์ในปี 2556 ถือเป็นโจทย์ที่ถูกตั้งถาม “นักการเมือง” มีวาระเพื่อมุ่งหวังช่วย “นักการเมือง” และ “พวกพ้อง” ให้ได้รับผลประโยชน์ หาใช่ผู้ถือสิทธิโดยชอบธรรมอย่าง “ประชาชน” ผู้เลือกให้นักการเมืองเข้ามาทำหน้าที่ไม่
แม้วันนี้อายุงานของรัฐบาลจะเหลือเวลาอีก 2 ปีเศษ ในการสานนโยบาย “การตลาดนำการเมือง” เพื่อเร่งปั้นผลงานให้กับ “รากหญ้า” ก็ถือว่ายังมีเวลาเหลือ แต่ถ้าหากเร่งเร้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ตามคนไกล” เพื่อ “ล้างผิด” หรือแฝงนัยยะซ่อนเร้นทางการเมืองไว้ ก็เสมือนว่ารัฐบาลกำลังเร่ง “สุมไฟใส่ฟืน” เพื่อเพิ่มความร้อนให้กับกองเพลิงของความ “ขัดแย้ง”.ให้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเร็วเท่านั้น !!!
วิศรุต ชาวนายก…รายงา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น