วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

รัฐประหารประเทศ?...จัดการศาลรธน.??? เมื่อ 25 เม.ย.56

รัฐประหารประเทศ?...จัดการศาลรธน.???


อีกหนึ่งสถานการณ์หลักของประเทศ ณ ขณะนี้ ที่ต้องจับตาและเฝ้าตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ก็คือการเคลื่อนขบวนอย่างเป็นองคาพยพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง ที่ดาหน้าออกมาไล่บี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็นพวกขัดขวางการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตย
          สถานการณ์ตอนนี้ได้เห็นว่า ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 312 คน แสดงเจตนารมณ์ที่จะก้าวข้ามอำนาจของตุลาการรัฐธรรมนูญให้เห็นว่าอำนาจเป็นของประชาชนไม่ใช่ของอำมาตย์ เราขอสนับสนุนฝ่ายบริหารในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าจุดยืนอยู่กับประชาชนก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งการดำเนินการของ 312 ส.ส.และ ส.ว. ทำให้เห็นว่าอำนาจฝายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้นมีจริง ถ้าเอาอำนาจไปใส่พานมอบให้อำมาตย์ทั้งหมดโดยลืมประชาชน คงทำไม่ได้แน่นอน สิ่งที่ทำจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอาญาหรือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีที่มาไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการด้วย ทั้งนี้ นปช. เคยทำจดหมายเพื่อยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญ ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. ซึ่งยืนยันว่าตุลาการรัฐธรรมนูญทำไม่ถูกต้องและยืนยันต้องให้มีการถอดถอนจากตำแหน่ง นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่ม นปช.กล่าว
          การจะตัดสินใจถอดถอนใคร และอาจจะถึงขั้นยุบศาลรัฐธรรมนูญไปเลยนั้น  ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปของศาลรัฐธรรมนูญว่าเกิดขึ้นมาจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 รัฐธรรมนูญฉบับที่คนเสื้อแดงบอกว่าเป็นประชธิปไตยที่สุด
          เพราะฉะนั้นเราก็จะได้มาพิจารณากันต่อว่ากว่าจะได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นข้อพิสูจน์ ถึงกระบวนการยุติธรรม ว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องดำเนินการถอดถอน ไม่ยอมรับอำนาจการตรวจสอบ หรือถึงขั้นต้องยุบทิ้งไปตามข้อเสนอของฝ่ายการเมือง
          รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ส่วนที่ ๒ ศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๐๔ ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีกแปดคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้
         (๑) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสามคน
         (๒) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวนสองคน
         (๓) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา ๒๐๖ จำนวนสองคน
         (๔) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา ๒๐๖ จำนวนสองคน
         ในกรณีที่ไม่มีผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้รับเลือกตาม (๑)หรือ (๒) ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
         เลือกบุคคลอื่นซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๐๕ และมีความรู้ ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์ที่เหมาะสมจะปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตาม (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี
         ให้ผู้ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่ง ประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๒๐๕ ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๒๐๔ (๓) และ (๔) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
         (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
         (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์
         (๓) เคยเป็นรัฐมนตรี ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด กรรมการการเลือกตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด อธิบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางบริหารในหน่วยราชการที่มีอำนาจบริหารเทียบเท่าอธิบดี หรือดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าศาสตราจารย์ หรือเคยเป็นทนายความที่ประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องไม่น้อยกว่าสามสิบปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อ
(๔) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๔) (๕) (๖) (๗) (๑๓) หรือ (๑๔)
         (๕) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
          (๖) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง ในระยะสามปีก่อนดำรงตำแหน่ง
         (๗) ไม่เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
มาตรา ๒๐๗ ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้อง
         (๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
         (๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือของหน่วยงานของรัฐ
         (๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

         (๔) ไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด
         ในกรณีที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเลือกบุคคลหรือวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) โดยได้รับความยินยอมของบุคคลนั้นผู้ได้รับเลือกจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อเมื่อตนได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตนได้เลิกประกอบวิชาชีพอิสระดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบ แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบวิชาชีพอิสระภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยรับเลือกหรือได้รับความเห็นชอบให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๒๐๔ และมาตรา ๒๐๖ แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับ
         ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการได้มาซึ่งตุลากาลศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขั้นตอนการกลั่นกรองที่ละเอียดเป็นอย่างยิ่ง โดยแทบจะเรียกว่า เทียบกันไม่ได้เลยด้วยซ้ำกับการคัดเลือก หรือระบบการเลือกตั้งต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถามว่าเมื่อพิจารณาตามนี้สมควรที่จะยุบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะบิดเบือนเรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปหลอกล่อ มวลชนให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อนำไปสู่การขับไล่อย่างไรเหตุผล จนครั้งหนึ่งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยออกมารถบุว่า
         "คนเราสมัยนี้ไม่ค่อยที่จะยอมรับความจริง โกหกจนนึกว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด จึงควรมีหลักสูตรอะไรที่เชื่อมความเข้าใจให้ดีที่สุด แต่ก่อนเคยมีรุ่นน้องของตนที่เคยเป็นทหารเรือ ไม่เข้าใจภาษากฎหมายและมาถามผมเกี่ยวกับเรื่องข้อกฎหมายพร้อมบอกว่าภาษาเข้าใจยาก ซึ่งผมก็ได้นำมาปรับเปลี่ยนโดยจะพยายามเขียนให้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น โดยในภายหลังแม้แต่คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาก็จะพยายามใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย แต่กลับกลายเป็นว่า คนบางคนไม่ใช่ไม่เข้าใจแต่แกล้งโง่ไม่เข้าใจ คนที่แกล้งโง่ ผมก็ขอให้มันโง่จริง"
           ล่าสุดนายนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าศาลก็คงมีแต่เพียงปากกา ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายไปกว่านั้น ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ เหมือนนักมวยไล่ต่อยกรรมการ
          แต่ก็ถูกนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกนปช.ตอบโต้ทันควัน !!
          " ..กรณีมีคนไปต่อต้านกับกระบวนการตุลาการภิวัฒน์คือศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกมาบอกว่าสถานการณ์ขณะนี้เหมือนกับนักมวยไล่ต่อยกรรมการ ผมจะบอกนายจรัญ คือนักมวยไล่ต่อยกรรมการ ถ้ากรรมการไม่เป็นกลางผมคิดว่าน่าจะถูกต้อง แต่ถ้ากรรมการไม่เป็นกลางไม่ใช่แต่เฉพาะนักมวยไล่ต่อยกรรมการเท่านั้น แต่คนเชียร์หรือประชาชนจะไล่กระทืบกรรมการด้วยซ้ำไป.."
         ขณะที่ฝ่ายคนเสื้อแดง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็รุกคืบกดดันศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก!!
         ที่บริเวณลานด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ถนนแจ้งวัฒนะ กลุ่มคนเสื้อแดงหลัก100คน นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็ก บ้านดอน ผู้อำนวยการสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน และกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังคงปักหลักชุมนุมต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันข้อเรียกร้องให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติการทำหน้าที่
          
         ในวันนี้ทางกลุ่มสื่อวิทยุฯ ยังได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงบประมาณ เพื่อขอให้ยุติการจ่ายเงินเดือนให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน พร้อมกันนี้จะล่ารายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการฯต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป
         อย่างไรก็ตาม การชุมนุมของกลุ่มยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีกำหนดจะสลายการชุมนุม จนกว่าข้อเรียกร้องจะเป็นผล หรือมีทางออกที่สามารถตกลงกันได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีท่าทีรับฟังข้อเรียกร้องหรืออีกทั้งยังมีท่าที่เพิกเฉย หากเป็นเช่นนี้ต่อไป ประชาชนอาจมียุทธวิธีที่ตอบโต้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตุลาการฯทำตามข้อเรียกร้อง
         ขณะที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอบทความ เรื่อง “ข้อเสนอปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนี้
         1. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้เฉพาะแต่กรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่รัฐสภาเห็นชอบแล้ว และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เท่านั้น ส่วนวิธีการที่จะทำให้บทบัญญัติใดของกฎหมายตกไป หรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะแต่ฝ่ายนิติบัญญัติ ในฐานะผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะปรับปรุง หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม
         2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นอีก 14 คน รวมเป็น 15 คน และองค์คณะนั่งพิจารณาและในการทำคดีวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการทั้งหมด 
         3. ควรกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว ขณะที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีที่มายึดโยงกับประชาชน
         4. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญใน แต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการกำหนดเวลาในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในราชกิจานุเบกษา ภายใน 30 วัน
         ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหนักแน่นมั่นคง อย่าหวั่นไหวต่อกรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ประกาศระดมมวลชน 5 หมื่นคนกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
         พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณไปยังนายวรชัย รวมถึงกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยศาลให้ชัดเจน เพราะหากปล่อยให้มีการกดดันการทำหน้าที่จะเกิดกระทบต่อบ้านเมือง โดยต้องปล่อยให้ทุกองค์กรทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ และหากเกิดสิ่งใดขึ้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ขณะนี้ฝ่ายบริหารพยายามรุกคืบเพื่อยึดทุกกลไก ซึ่งสังคมต้องไม่ควรนิ่งเฉย
         นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวถึงกรณีที่คนเสื้อแดงกดดันให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลาออก ว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการทำลายองค์กรอิสระและกลไกลถ่วงดุลตรวจสอบ พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการสมรู้ร่วมคิดของคนในรัฐบาล เพราะทันทีที่พรรคเพื่อไทยประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็มีการชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญโดยคนเสื้อแดง ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนรู้เห็นไม่ได้ นี่เป็นการสร้างอำนาจเถื่อนเหนือศาล ซึ่งไม่ใช่แค่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นแม้แต่ศาลยุติธรรมก็ถูกกดดันและมีการชุมนุมหน้าศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากปล่อยให้ขบวนการเคลื่อนไหวที่ล้ำเส้นสิทธิ เสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญ มีความชอบธรรมและได้รับการสนับสนุนค้ำจุนจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก แต่กลับพบว่ามีการขยายตัวของอำนาจเถื่อนหรืออำนาจนอกระบบมากขึ้น ตัวนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยห้ามปรามแต่อย่างใด
         นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า กลุ่มกรีนกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามมาตรา 68 เข้าข่ายการได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ โดยจะเชื่อมโยงให้เห็นโฉมหน้าของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่ทำงานเป็นขบวนการทั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ที่สไกป์สั่งงานรัฐบาล บทบาทพรรคเพื่อไทยที่ต่อต้านอำนาจศาลผ่านการรื้อรัฐธรรมนูญและการคุกคามศาลของมวลชนเสื้อแดงที่เป็นทั้งสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น