วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

"นิคม" ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เมื่อ 2 เม.ย.56


"นิคม" ขัดกันแห่งผลประโยชน์???

แม้จะถูกตั้งคำถามจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างหนักหน่วงต่อการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายนิคม ไวยรัชพานิช เรื่องการทำหน้าที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากนายนิคมได้ลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 237 และ190 จนทำให้การประชุมรัฐสภาในวันแรกเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก
ขณะที่การประชุมรัฐสภาในวันที่ 2 นายนิคม ก็ยืนยันว่าสามารถทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์ของสงวนการอภิปรายในช่วงที่นายนิคมทำหน้าที่เป็นประธาน
ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญ 3 มาตรา ว่าทำให้นายนิคมที่ลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้ดังนี้
มาตรา ๘๙ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา

ในกรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาได้ ให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทน
ประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และดำเนินกิจการของรัฐสภาในกรณีประชุมร่วมกันให้เป็นไปตามข้อบังคับ
ประธานรัฐสภาและผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภาต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่รองประธานรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และตามที่ประธานรัฐสภามอบหมาย
มาตรา ๑๒๒ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
มาตรา ๑๒๕ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมายและปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
เมื่อประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือประธานและรองประธานวุฒิสภาไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภานั้น ๆ เลือกกันเองให้สมาชิกคนหนึ่งเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่าฝ่ายค้านยังยืนยันในจุดยืนเดิมว่า หากนายนิคม ยังคงทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ก็จะขอสงวนสิทธิ์ในการไม่อภิปรายในช่วงดังกล่าว เพราะไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขาดความชอบธรรม
การทำหน้าที่ในลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนายนิคม ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร์ของนายโภคิน พลกุล ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2548 ซึ่งแม้จะนั่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ปรากฎว่านายโภคินกลับเลือกโหวตให้พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2548 โดยนายโภคิน พลกุล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงคะแนนสนับสนุนให้พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี
พ.ต.ท.ทักษิณ หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้รับความเห็นชอบ จำนวน 377 คะแนน ไม่เห็นชอบ 1 คะแนน และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรงดออกเสียง 116 คะแนน
ครั้งนั้นนายโภคิน ชี้แจงว่าต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นคนตรงไปตรงมา ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ลงคะแนนเสียงให้พรรคไทยรักไทย และในที่ประชุมพรรคก็เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี    
"พอผมมาเป็นประธานสภาฯ ผมต้องโกหกตัวเองโดยการงดออกเสียงใช่หรือไม่ ผมเป็นประธานสภา ต้องไม่เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่างนี้ผมถามว่าจะอธิบายกับตัวเองได้อย่างไร ไม่เข้าใจ ทำแบบนี้เพื่อให้ดูสง่างามอย่างนั้นหรือ ผมว่าเป็นสง่างามในสายตาคนบางคนเท่านั้น ผมเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้ง ถ้าต้องวางตัวเป็นกลางงดออกเสียงนั่นคือการคัดค้าน ผมต้องแสดงความเป็นกลางด้วยการคัดค้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างนั้นหรือ ผมว่าใช้ไม่ได้ หรืออยากได้ประธานที่เสแสร้ง ซึ่งเรื่องโหวตนายกฯ เมื่อวานนี้เสียความเป็นกลางตรงไหน ผมไม่เข้าใจ ต้องบอกผมว่าไม่เป็นกลางอย่างไร และการที่ห่วงว่าในอนาคตจะไม่เป็นกลางนั้น เป็นเรื่องที่วิตกกันไปเอง"????

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น