วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

คำต่อคำ: "น.ต. ประสงค์"ฟันเปรี้ยง!!! แก้รธน.ไม่ได้ -อาจผ่านขั้นแรกแต่สุดท้ายไม่รอด เมื่อ 1 เม.ย.56




คำต่อคำ: "น.ต. ประสงค์"ฟันเปรี้ยง!!! แก้รธน.ไม่ได้ -อาจผ่านขั้นแรกแต่สุดท้ายไม่รอด


"ประสงค์   สุ่นศิริ" ฟันธงแก้รธน.ไม่ได้  อาจผ่านในขั้นต้นแต่พอวาระสุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้  พร้อมชี้  ทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น   ไม่มีใครพูดถึงผลที่ประชาชนจะได้รับ
วันนี้ (1 เม.ย.) น.ต. ประสงค์   สุ่นศิริ   อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ   ปี พ.ศ. 2550   ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ  Business  Focus ของทีนิวส์ทีวี   ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลและภาคประชาชน   ที่มีการยื่นร่างแก้ไขต่อสภาไปแล้ว   การแก้ไขครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร   เพราะเชื่อว่าการแก้ไขครั้งนี้   ทำเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น   ไม่มีใครพูดถึง   ผลที่ประชาชนจะได้รับ   หรือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้นจากรัฐธรรมนูญครั้งนี้  พร้อมชี้ แก้ไม่ได้ แต่ถ้าผ่านในขั้นต้นก็อาจจะผ่านไปได้   แต่พอวาระสุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้

สำราญ   :   มองภาพรวมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  3  ร่าง   ประเด็นเป็นที่ทราบกันนะครับ   มาตรา  68  มาตรา  190  และมาตรา  237  รวมทั้งเรื่องของ ส.ว. ด้วยนะครับ   ภาพรวมท่านประสงค์มองยังไงครับ
ประสงค์   :   ในภาพรวมของการแก้ไข   กับในภาพรวมของภาคประชาชน   ผมจะขอพูดถึงในภาพรวมของการแก้ไขก่อนนะครับ   การแก้ไขรัฐธรรมนูญเราอยู่ในสภานิติบัญญัติมา   และตอนร่างรัฐธรรมนูญก็ทราบดีว่า   รัฐธรรมนูญนั้นคือกฎกติกาในการปกครองบ้านเมืองระบอบประชาธิปไตย   อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   ได้ยกร่างขึ้นมาซึ่งมันแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่ผ่านมาทั้งหมดเลย  17  ฉบับ   ฉบับนี้เป็นฉบับที่  18  ก็คือการเพิ่มเติมประโยชน์สิทธิให้กับประชาชน   และประโยชน์ของสาธารณะมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการแก้ไข   รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ปิดประตูว่าไม่สามารถแก้ไขได้   ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขได้ตามมาตรา  291  ที่บอกว่า   การแก้ไขรัฐธรรมนูญใครมีอำนาจในการแก้ไข   แม้กระทั่งประชาชน  50,000  ชื่อ   ก็มีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้   แต่จะต้องเป็นการแก้ไขในรายมาตราที่เห็นว่ามันมีข้อบกพร่อง   มันมีอะไรต่าง ๆ  ให้แก้ได้นะครับ        
แต่ทีนี้ผมมาดูภาพรวมของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ   ที่นักการเมืองพวกนี้กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ใน  3  ฉบับที่ว่านะครับ   ไม่ว่าจะเป็นมาตรา  68  มาตรา  190  และมาตรา  237   ทุกเรื่องเลยนะครับ   มันเป็นเรื่องที่แก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองบางกลุ่ม   บางพวก   ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรจากนี่เลย   และยังตัดสิทธิ์เสียสิทธิประโยชน์ไป   ในการที่เขาจะแก้ไขมาตรา  68  ด้วยซ้ำ   นี่คือภาพรวมนะครับก็คือการแก้ไขเท่านี้   ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร   แต่กับเสียประโยชน์ลงไปอีก   แต่นักการเมืองจะได้ประโยชน์ขึ้นมาอีก   ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านการทำงาน   การทำงานของส.ว. เขาก็จะสามารถเป็น ส.ว. ได้ทุกยุค   ทุกสมัย   หมดเทอมแล้วสามารถสมัครได้อีก   ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่อนุญาตให้ต้องเว้นวรรคไปก่อน   ทีนี้ในการยุบพรรคก็เหมือนกัน   ก็เขียนไว้ชัดเจนถ้าหากว่ากรรมการบริหารพรรครู้เห็นเป็นใจ   หรือรู้เห็นแล้วไม่แก้ไขในเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง   เขาก็ยุบพรรค
สำราญ   :   และจำนวน  3  มาตรา   3  ร่าง  4  มาตรา   ท่านประสงค์อยากเน้นมาตราไหนเป็นพิเศษไหมครับ   คือรู้สึกรับไม่ได้   หนักหนาสาหัสกว่าเรื่องอื่น ๆ
ประสงค์   :  คือมาตรา  68   นะครับที่ไปตัดสิทธิ์ประชาชน   คุณสำราญคงจำได้นะครับ   พรรคเพื่อไทยเคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาหนหนึ่งแล้ว   แก้ไขมาตรา  291   ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาออกมาแล้วว่า   มันขัดรัฐธรรมนูญเพราะว่าเขาจะแก้ไขทั้งฉบับนั่นเอง   ความจริงแล้วสำคัญทุกมาตราที่เขาจะแก้ไขกัน   มันแย่ทุกมาตรา   แต่ว่าในสายตาของผมก็คือ  มาตรา  68   ที่นอกจากไปตัดสิทธิของประชาชน   ในการไม่ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ   อันนี้จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป   ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันให้ดี   เป้าหมายจริง ๆ ของเขาก็คือ   การแก้ไขทั้งฉบับ   หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา  309  
สำราญ   :   ผมอยากให้ท่านประสงค์ฝากอะไรนิดหนึ่ง   คือที่เขาแก้ไข  เขาไปเน้นที่มาตรอัยการ   ว่าจากนี้ไปถ้าแก้ไขเสร็จเราไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้   ในวรรคสอง   มาตรา  68  ได้เขียนไว้อย่างนี้นะครับ
ในกรณีที่บุคคลกระทำการใดตามวรรคหนึ่ง   ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว   ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง   เมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อวรรคหนึ่ง   ให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว   แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำดังกล่าว
ประสงค์   :   มาตรา  68  เดิมเขาให้ประชาชนมีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยนะครับ   แต่นี่มาเขียนใหม่อย่างนี้ลักษณะอย่างที่ผมบอกนะครับ   คืออยู่ดี ๆ ไปตัดสิทธิ์ของประชาชน
สำราญ   :   ส่วนมาตรา  190  ผมดูตามร่างแล้วก็คือไปตัดหลายประเด็นออก   มาตรา  190   คือเขาให้ยกของเก่าแล้วใช้อันนี้แทนก็คือบอกว่า   พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจการทำหนังสือสัญญา   สันติภาพ   สัญญาสงบศึก  สัญญาอื่นกับนานาประเทศ   หรือกับองค์กรระหว่างประเทศ   วรรคต่อไปบอกว่า   หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย   หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ   หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา   ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านี้เองครับ   ก็คือเขียนดูเหมือนจะทำว่ายังมีเหมือนเดิม   แต่ถ้าไปส่องกล้อง  ไปเอ็กซเรย์แล้วเขาบอกว่าตัดอำนาจไป 3 – 4  ประเด็น   เขาอ้างเพื่อความสะดวกในการที่จะทำมาค้าขาย   หรือจะติดต่อกับต่างประเทศ   ท่านคิดว่าท่านสามารถรับฟังได้ไหมครับ
ประสงค์   :   พูดง่าย ๆ  ก็คือว่า   ธุรกิจการเมืองติดขัดต่อมาตรา  190   มาก   ยิ่งมีอำนาจรัฐไปเป็นรัฐบาลไปเจรจาซ่อนเงื่อนซ่อนงำอะไรไว้   ไปตรวจพบเข้าก็มีความผิดมาตรา  190  ยังคงเดิมอยู่   เพราะฉะนั้นผมไม่ไว้ใจนักการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ที่ครอบงำโดยนักธุรกิจการเมือง   หากินกันข้างนอก   ทำไมถึงให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนรับทราบไม่ได้ว่าทำสัญญา   หรือทำข้อตกลงอะไรกับเขา  
สำราญ   :   สุดท้ายประเด็นเรื่องของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)   เขาก็จะแก้ให้มี  200  คน   มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด   แล้วก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องได้   ไม่มีขอบเขต   ท่านคิดว่าลึก ๆ เขาหวังผลอะไรครับ
ประสงค์   :   คือลึก ๆ นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐปัจจุบันในขณะนี้   ต้องการที่จะครอบงำวุฒิสภาทั้ง  200  คนได้หมดเลย   ครอบงำ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรของสภาร่างนะครับ   เพราฉะนั้นวุฒิสภาที่เขาให้มีส่วนหนึ่งมาจากการสรรหา   ก็เพื่อความมุ่งหมายว่าไม่ให้การเมืองเข้าไปครอบงำ   เพราะว่าการเลือกตั้งนะครับ   มันต้องอาศัยฐานเสียงของนักการเมืองในจังหวัดต่าง ๆ    เพราะฉะนั้นวุฒิสภาความจริงมันเป็นสภาสูงที่ควรจะมีบทบาทในการตรวจสอบฐานอำนาจสภาร่าง   แปลว่าเลือกตั้งทั้งหมดไม่มีปัญหาครับ   ถ้าเลือกตั้งทั้งหมดจะไปมีทำไมครับสภาสูง   มีสภาร่างสภาเดียวก็ช้ำใจเต็มทีแล้ว   จะเลือกตั้งสภาสูงให้เข้ามาช่วยกันปู้ยี่ปู้ยำยำกันอีก   อย่างนี้รัฐธรรมนูญที่แบ่งแยกเอาไว้   สรรหาเพื่อให้วุฒิสภานอกจากได้บุคคลที่หลากหลายอาชีพ   ที่ฝ่ายเลือกตั้งไม่สามารถที่จะมีอาชีพบางอาชีพเข้ามาได้   เขาก็กำหนดให้มีการสรรหา   ซึ่งสภาพการปัจจุบันที่มีวุฒิสภาสรรหา   คุณสำราญก็เห็นแล้วว่าเป็นปากเป็นเสียงรักษาชาติ   รักษาผลประโยชน์ของประชาชน   เป็นปากเป็นเสียงค้านอำนาจได้จริง ๆ ในชุดของพวกสรรหาเท่าที่ผมติดตามดูนะครับ   แต่ว่าพวกที่มาจากการเลือกตั้งมันอยู่ใต้อาณัติพรรคการเมืองหมดเลย   ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์อะไรก็ตาม   เพราะฉะนั้นผมว่าถ้าหากเลือกตั้งทั้งหมด   ก็ยุติสภาไปเลยก็หมดเรื่อง   เงินภาษีของประชาชนจะได้ไม่ต้องไปเสียอีก  มีสภาร่างสภาเดียว
สำราญ   :   จริง ๆ หลายประเทศก็ไม่มีสภาสูงเลยนะครับ
ประสงค์   :   ใช่ครับ   ถ้าผมร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผมจะร่างให้สภาสูงมาจากการแต่งตั้งทั้งนั้นครับ   ถ้ามีนะครับ   ถ้าหากว่าไม่มีสภาสูงเลยผมชอบใจมาก
สำราญ   :   ท่านประสงค์ดูแล้วถ้าประเมินสถานการณ์เพราะมันต้องผ่านวาระหนึ่ง   วาระสอง   แล้วกำหนดปลายปีคิดว่าจะไปเป็นวาระสามไหมครับ
ประสงค์   :   ผมตอบสั้น ๆ เลยนะครับ   ขณะนี้การเมืองภาคประชาชนตื่นตัวแล้วก็เข็มแข็งพอ   แล้วก็ติดตามสถานการณ์มาได้ตลอด   ผมเชื่อว่าประชาชนขณะนี้ต่างฝ่ายต่างหันหน้าเข้าหากัน   แล้วก็คงจะไม่ยอมนักการเมืองที่จะฉุดลากประเทศไทยไปสู่หุบเหวแห่งหายนะต่อไปอีก   ตั้งแต่เดือนเมษายน   ผมเชื่อว่าเรื่องทั้งหลายทั้งปวงมันจะเกิดขึ้นให้เห็นหลายอย่าง   ซึ่งผมไม่อาจจะพูดได้ในขณะนี้ให้ติดตามดูให้ดีนะครับ   การเมืองภาคประชาชนจะเป็นพลังสำคัญในการที่จะหยุดยั้งบ้านเมืองให้ไปสู่ความหายนะ   จากการกระทำของนักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้   ผมเชื่ออย่างนั้นและผมมองอย่างนั้นอยู่แล้วครับ
สำราญ   :   ท่านประสงค์ได้บอกว่าประชาชนหันหน้าเข้าหากันแล้ว   ที่ผ่านมาเป็นดาวกระจาย   หรือว่าเป็นอะไรครับ
ประสงค์   :   ผมแบ่งเป็นกลุ่มเป็นอะไรต่าง ๆ มีการนำแต่ละกลุ่มอะไรต่าง ๆ ออกไป   ในขณะนี้เท่าที่ผมติดตามประชาชนกลุ่มใหญ่ ๆ ต่างฝ่ายต่างหันหน้าเข้าหากัน   จับมือกัน   เพื่อที่จะดำเนินการในการเมืองภาคประชาชน   ในการที่จะหยุดยั้งนักการเมือง   เขาจะเปลี่ยนแปลงประเทศของเขาเอง   ผมมองอย่างนั้นนะครับ   แล้วก็เห็นหนทางนั้นเป็นไปได้สูง   ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ครับ
สำราญ   :   ท่านหมายถึงว่าสถานการณ์ให้จับตานอกสภาเป็นพิเศษด้วย   นับจากเมษายนนี้เป็นต้นไป   และคิดว่าความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจะดำเนินการไปในทิศทางแบบไหนครับ
ประสงค์   :  การออกมาต่อต้านอย่างรูปธรรมชัดเจน   แล้วก็บรรดาข้าราชการดี ๆ ทั้งหลายยังมีอยู่อีกเยอะ   ผมคิดว่าฝ่ายราชการเหมือนกันก็คงจะร่วมมือร่วมใจกับประชาชนคราวนี้นะครับ
สำราญ   :   สุดท้ายแล้วท่านคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญ  3  ร่าง  4  มาตรา  4  ประเด็นจะผ่านไหมครับ
ประสงค์   :   คือแก้ไม่ได้ก็แล้วกันนะครับ   แต่ถ้าผ่านในขั้นต้นก็อาจจะผ่านไปได้   แต่พอวาระสุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้ครับ   สรุปก็คือไปได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง   สุดท้ายผมขอให้ประชาชนรวมตัวกัน   รักษาบ้าน   รักษาเมือง   แล้วก็ดำเนินการตามสิทธิอำนาจที่กฎหมายสูงสุดที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้กับพวกท่านนะครับ   ขณะนี้สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังถูกนักการเมืองกระทำการลักษณะที่ทำให้ตกต่ำเสียหายลงไป   เป็นหน้าที่ของท่านแล้วนะครับ   ถ้าท่านไม่ต้องการให้บ้านเมืองเสียหายมากไปกว่านี้ให้ท่านทำหน้าที่ของท่าน   ท่านมีสิทธิของท่านตามรัฐธรรมนูญในการต่อต้านขัดขวางทุกอย่าง ที่เป็นการทำให้บ้านเมืองเสียหาย   ผมอยากจะขอให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกัน   เรือกำลังจม   เราต้องช่วยตัวเองกันก่อนนะครับไม่ให้เรือมันจม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น