วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

'ผบ.ทบ.'ค้านตั้งศูนย์พักพิงช่วย'โรฮิงญา' เมื่อ 22 ม.ค.56



'ผบ.ทบ.'ค้านตั้งศูนย์พักพิงช่วย'โรฮิงญา'


          "ประยุทธ์" ค้านตั้งศูนย์พักพิงชาวโรฮิงญาเพิ่มหวั่นกระทบความมั่นคง กร้าวสั่งฟันทหารเอี่ยวฮึ่มไล่ออกดำเนินคดีอาญา ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงเจาะใจชาวโรฮิงญานราฯ หาทางช่วยตามหลักมนุษยธรรม ชี้ส่งกลับพม่า คือ ส่งไปตาย ส่วน "หมอเจตน์" แนะรัฐบาลยกโรฮิงญาอพยพเป็นวาระแห่งชาติ เร่งส่งไปประเทศที่ 3 ชี้ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยชนเป็นหลัก
          เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายสงวน อินทร์รักษ์ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำ จ.นราธิวาส พร้อมคณะรวม 9 คน ได้เดินทางมาเยี่ยมเยาวชนชาวโรฮิงญา 18 คน ที่ถูกส่งตัวมาพักอาศัยเป็นการชั่วคราวที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาส นั้น และได้พูดคุยกับ ด.ช.มูหามัด อาแบร อายุ 14 ปี ผ่านนายมูฮัมหมัด อามีน ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม เพื่อหาข้อเท็จจริงกรณีชาวโรฮิงญาที่เดินทางจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า เข้ามาอาศัยในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งทางนายวินัย สะเล็ม ตัวแทนสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย (บีอาร์ทีเอ) ได้ยื่นเรื่องผ่าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ไม่ให้ส่งตัวโรฮิงญาที่ถูกจับกุมกลับประเทศพม่า เนื่องจากรัฐยะไข่อยู่ในสภาวะที่ไม่แตกต่างจากสภาวะสงคราม เมื่อส่งตัวกลับจะถูกทารุณกรรมจนเสียชีวิตได้
          ซึ่งข้อมูลทั้งหมด นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และนายสงวน อินทร์รักษ์ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำ จ.นราธิวาส จะรวบรวมไว้เพื่อเข้าที่ประชุมร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยว ข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในวันที่ 28 ม.ค. เพื่อหาทางออกร่วมกัน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. หลักประกันการส่งชาวโรฮิงญากลับพม่า แล้วจะปลอดภัย 2. แนวนโยบายที่จะดำเนินการกับชาวโรฮิงญาที่อพยพ และถูกจับกุมในประเทศไทย และ 3. การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่อาจจะมีมากขึ้น จากผลพวงของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เป็นการจูงใจให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองมากขึ้นตามไปด้วย
          โดยนางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ เปิดเผยว่า เรื่องชาวโรฮิงญาถือว่าเป็นผู้หนีภัยความตาย ไม่สมควรที่จะส่งกลับประเทศพม่า ถ้าส่งกลับก็ต้องตาย ชาวโรฮิงญาเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการพูดคุยกันในระดับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งพม่าก็อยู่ในกลุ่มนี้ น่าจะมีทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหาของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า ส่วนการช่วยเหลือเยาวชนชาวโรฮิงญา จำนวน 18 คน ที่พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จ.นราธิวาส ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมไปถึงอาหารการกิน จนทำให้สุขภาพของเยาวชนชาวโรฮิงญาทั้ง 18 คน เริ่มปรับสภาพได้ และเริ่มมีสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นตามลำดับ
          ส่วนที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11รอ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวเรื่องเดียวกันว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ที่ผ่านมาทุกลมมรสุมสงบลงในซีกฝั่งทะเลอันดามันก็จะมีการลักลอบเข้าเมืองมาโดยตลอด ทุกปีจะมีการลักลอบเข้าประมาณ 200-300 คน โดยเดินทางเข้ามาบริเวณชายฝั่งเพื่อลัดเลาะไปยังประเทศอื่น ซึ่งไทยไม่ได้เป็นประเทศปลายทาง แต่เมื่อเข้ามาแล้วทางไทยก็จะให้การดูแลเรื่องมนุษยธรรม เพราะตามหลักการกลุ่มบุคคลดังกล่าวอยู่ในสถานะผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ใช่หลบหนีภัยจากการสู้รบ ซึ่งการดำเนินการทางกฎหมายไทยมีความชัดเจน หากกลุ่มชาวโรฮิงญาขึ้นฝั่งไทยแล้วจะต้องถูกดำเนินคดีก่อนที่จะส่งตัวกลับประเทศต้นทาง โดยมีการกำหนดชัดเจนตามนโยบายของรัฐบาล
          "ถ้ามีการลักลอบเข้ามาบริเวณตามแนวชายแดนนั้นจะเป็นขบวนการ เจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้าไปเกี่ยวข้องหาผลประโยชน์ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ไปเกี่ยวข้องต้องถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะทหารที่จะต้องถูกไล่ออกและดำเนินคดีอาญา ซึ่งชาวโรฮิงญาที่ลักลอบเข้ามาส่วนใหญ่จะเข้ามาทางเรือและทางบก แต่สิ่งที่เรากังวลและได้นำเรียนรัฐบาลแล้ว ถ้าให้เขาอยู่นานเกินไปก็จะมีการลักลอบเข้ามาเพิ่มเติม เพราะปัญหาเกิดจากต้นทาง ไทยอยู่กลางทางไม่ใช่ประเทศปลายทาง หากมีการรับไว้มาก ๆ ชาวโรฮิงญาจากต้นทางก็จะมาที่ไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเราต้องดูว่าเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ต้องหาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน หรือต้องหาทางให้เขากลับไปประเทศต้นทางให้ได้ ส่วนใครจะรับหรือไม่นั้นผมไม่รู้และไม่อยากพูดว่าต้นทางมาจากไหน เพียงแต่ต้องผลักดันกลับประเทศต้นทางหรือประเทศที่สาม แต่ไม่ใช่ประเทศไทย" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
          พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีบางฝ่ายออกแนวคิดจัดตั้งศูนย์พักพิงชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้นว่า หากจะตั้งก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุมระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานด้านความมั่นคง แต่ตนมีความเห็นว่าจะต้องดูแลไปสักระยะก่อนที่จะมีการผลักดันไปประเทศต้นทางและประเทศที่ 3 เราเป็นประเทศพุทธที่ดูแลทุกคน แต่หากอะไรที่เป็นปัญหาระยะยาวเราไม่สอนให้คนไทยรังเกียจ ดังนั้นอย่าไปรังเกียจเขาเป็นคนที่น่าสงสาร แต่เราจะดูแลเขาอย่างไรทุกคนต้องช่วยกัน รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงก็ลำบากใจ โดยเราจะต้องหาทางออกที่ไม่เป็นปัญหากับเราในอนาคต แต่ต้องให้เขายอมรับด้วย เดี๋ยวจะหาว่าเราไม่มีมนุษยธรรม อย่างไรก็ตามขอให้ใจเย็น เพราะเชื่อว่าเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้
          วันเดียวกันที่รัฐสภาในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา หารือว่า ขอเสนอแนะไปยังรัฐบาลถึงชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีการสู้รบจากประเทศพม่า เข้ามายังประเทศไทยมากในช่วงนี้ 1. ขอให้นายกรัฐมนตรียกเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบังกลาเทศ 2. ประเทศไทยอาจต้องตั้งศูนย์อพยพชั่วคราวแม้ไม่อยากทำ เพราะการอพยพไปประเทศที่ 3 เป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลา ซึ่งไทยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการตั้งศูนย์ชั่วคราว
          3. ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องสร้างความสมดุลระหว่างมนุษยชนและความมั่นคง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกัน โดยกระทรวงการต่างประเทศต้องเป็นเจ้าภาพ ต้องคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เพราะขณะนี้สังคมโลกจ้องมองอยู่ และต้องระวังจะถูกโยงเป็นเรื่องการค้ามนุษย์โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะส่งผลถึงการกีดกันทางการค้า 4. รัฐบาลไทยต้องหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) กาชาดสากล และ 5. ต้องเร่งดำเนินการส่งชาวโรฮิงญาไปประเทศที่ 3 ที่เป็นประเทศมุสลิมให้เร็วที่สุด
          "สรุปแล้วเราต้องรับชาวโรฮิงญาไว้ตามหลักมนุษยธรรม แต่ต้องรีบดำเนินการส่งต่อประเทศที่ 3 ป้องกันการหลบหนีเข้ามาเพิ่ม และต้องมีการกวาดล้าง ปราบปรามนายหน้าค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด" นพ.เจตน์ กล่าว
          วันเดียวกันที่บริเวณปอเนาะเชคดาวูด อัลฟาฎอนี บ้านปาเระ หมู่ 2 ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี  นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดสภาอูลามา  ฟาฎอนี ดารุสสลาม มูลนิธิ ถึงปัญหาโรฮิงญา ว่า ขอให้ทุกคนช่วยเหลือตามมนุษยธรรม และขอชื่นชมต่อจุฬาราช มนตรี ที่แสดงจุดยืนชัดเจน ที่จะช่วยเหลือโรฮิงญา  เพราะมุสลิมคือพี่น้องกัน ดังนั้นเราต้องทำแบบอย่างจุฬาราชมนตรี  ที่ต้องช่วยกันหาที่พักพิง หาอาหาร
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์  บรรยายอยู่นั้นปรากฏว่าขณะกำลังพูดได้มีเสียงสะอื้น และน้ำตาซึมอย่างเห็นได้ชัด
          สำนักข่าวเอเอฟพีประจำประเทศไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ว่า เจ้าหน้าที่ทางการไทยกำลังดำเนินการสอบสวน ตามข้อกล่าวหาที่ว่า มีทหารกองทัพไทยหลายนายเกี่ยวข้องกับขบวนการลักลอบนำชาวโรฮิงญาจากพม่าเดินทางเข้าสู่มาเลเซีย โดยเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองระดับสูงของไทยที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ เผยต่อเอเอฟพีว่า มีทหารของกองทัพไทยเกี่ยวข้อง บางคนเป็นถึงหัวหน้าหน่วยงานท้องถิ่น และว่า กลุ่มชาวโรฮิงญาไม่สามารถอยู่ที่นั่นได้ หากไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็น การลักลอบนำพาคนผ่านแดนต้องเกี่ยวพันกับนายหน้า ชาวโรฮิงญาต้องจ่ายเงินประมาณ 40,000-60,000 บาทต่อหัว เพื่อเดินทางผ่านดินแดนไปยังประเทศมาเลเซีย
          ทางด้าน นายภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า กองทัพกำลังดำเนินการสอบสวนตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งปรากฏเป็นข่าวครั้งแรกในสื่อท้องถิ่น แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบพยานหลักฐานว่ามีการกระทำผิดใด ๆ.
--จบ--
          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น