วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

คุมแดงไม่อยู่ 'ปู' พัง เมื่อ ๓๐ ม.ค.๕๖



คุมแดงไม่อยู่ 'ปู' พัง


          ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
          "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี กำลังเจอมรสุมจากคนสีเดียวกันรุมเร้า
          ทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หลังจากกลุ่มคนเสื้อแดงในนาม"กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล" มาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่29 ม.ค. เพื่อเรียกร้องการนิรโทษกรรมทางการเมืองให้กับมวลชนคนเสื้อแดง
          ความแตกต่างของเสื้อแดงระหว่าง "กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล" และ "แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.)อยู่ที่สถานะทางการเมือง
          กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลไม่ได้ขึ้นตรงกับ นปช.และพรรคเพื่อไทยพูดแบบภาษาชาวบ้านก็คือ"แดงอิสระ" ผิดกับเสื้อแดง นปช. ในองคาพยพของ "ธิดา ถาวรเศรษฐ์" "จตุพร พรหมพันธุ์"และ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" อยู่ภายใต้โครงสร้างของพรรคเพื่อไทย
          เพราะฉะนั้น เวลาเสื้อแดงในปีก นปช. มีวาระเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นประเด็นใดก็ตามมักจะไม่ค่อยสร้างความระคาย
          ผิวให้กับนายกฯ ปูเท่าไรนัก แค่ใช้กลไกพรรคก็สามารถสยบโอหังแกนนำและ สส.เสื้อแดงได้อย่างเชื่อมือ
          ดังจะเห็นได้จากความพยายามของ "ธิดาจตุพร-ณัฐวุฒิ" เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการ
          นิรโทษกรรมมักจะไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาล และทันทีที่พรรคมีประกาศิตลงมาให้หยุดเคลื่อนไหวแกนนำ นปช.เองก็น้อมรับแบบไม่มีเงื่อนไข
          แต่กับการเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลนั้น รัฐบาลไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้ เนื่องจากมวลชนกลุ่มนี้ไม่ได้มีส่วนเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย อย่างมากที่สุดก็อาจเคยเป็นบุคคลที่ลงคะแนนเสียงเลือกให้ยิ่งลักษณ์มาเป็นนายกฯ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถสั่งซ้ายหันขวาหันได้
          ปัจจัยที่ส่งเสริมให้กลุ่มดังกล่าวมีพลังในการขับเคลื่อนคือ การนำความรู้สึกของมวลชนเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหว
          โดยกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลถือกำเนิดขึ้นจากการถูกกระทำโดยมาตรา 112 ซึ่งผลของบทบัญญัตินั้นทำให้คนเสื้อแดงที่เคยร่วมเป็นร่วม
          ตายกับแกนนำ นปช. ต้องติดคุก
          เดิมทีพวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ว่าเมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลภายหลังเสื้อแดงได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเพื่อล้มพรรคประชาธิปัตย์ จะเข้ามาช่วยปลดล็อกคดีทางการเมือง โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะไม่สามารถช่วยเหลือคดีอาญาแผ่นดินได้ก็ตาม
          ปรากฏว่าผ่านมากว่า 1 ปี รัฐบาลกลับทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน อ้างแค่ว่าต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้ แต่เมื่อมาดูที่คดีมาตรา112 ในส่วนที่จตุพรถูกฟ้องคดีกลับได้รับการยกคำร้องในชั้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
          ไม่เพียงเท่านี้ บรรดาขุนศึกของ นปช. กลับได้รับการปูนบำเหน็จให้มีเก้าอี้ในกระทรวงทบวง กรม มากมาย ตามมาด้วยการเสียชีวิตของ "นพดล ตั้งนพกุล"หรืออากง sms และ"วันชัย รักสงวนศิลป์"ยิ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับมวลชนฐานรากที่ต้องติดคุกมากขึ้นไปอีก
          อย่าลืมว่าในความเป็นจริง คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นหัวหน้าครอบครัว หมายความว่า ครอบครัวย่อมประสบปัญหากับการดำรงชีวิตโดยที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็น จึงเป็นที่มาของการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันรัฐบาลไม่แปลกที่จะรู้สึกสะเทือนใจกับผลลัพธ์ของมาตรา 112
          "ต้องการให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมฯ เข้าสู่วาระการประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันให้เป็นกฎหมายในการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งมีประชาชนถูกดำเนินคดี 1,857 ราย ขณะนี้มีนักโทษการเมืองถูกคุมขัง 24 คน และมีนักโทษการเมืองเสียชีวิตขณะถูกคุมขังแล้ว 2 ราย" ข้อเสนอถึงรัฐบาลจาก สุดา รังกุพันธุ์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล
          ทั้งนี้ ภาวะที่เกิดขึ้นจากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลไม่ได้เป็นประโยชน์กับรัฐบาล โดยข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์สุดาไม่สามารถลงมือทำในทางปฏิบัติได้ เนื่องจากเป็นแนวทางที่ล้อมาจากคณะนิติราษฎร์ กลุ่มบุคคลสำคัญที่เคลื่อนไหวให้แก้ไข
          มาตรา 112 มาโดยตลอด
          หากรัฐบาลตอบรับไปเพื่อลดกระแสย่อมถูกมองได้ว่าเป็นการยอมรับข้อเสนอของนิติราษฎร์ซึ่งไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล
          ในทางกลับกัน ครั้นรัฐบาลจะไม่ทำอะไรเลยปล่อยให้กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลโหมกระแสต่อไปเรื่อยๆก็เกรงว่ารัฐบาลอาจจะเสียมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม กระเทือนถึงคะแนนจัดตั้งในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต
          เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งเป็นรัฐบาล ต้องเสียฐานคะแนนจากมวลชนเสื้อเหลืองไปจำนวนไม่น้อยจากการรบกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนต้องแพ้การเลือกตั้งเมื่อปี2554
          แน่นอนรัฐบาลพรรคเพื่อไทยย่อมไม่อยากตกในสภาพแบบนั้น เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจรัฐ ดังนั้น ทางออกในเวลานี้จำเป็น
          ต้องเล่นบทเอาใจมวลชนบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าลอยแพมวลชน เห็นได้จากท่าทีก่อนหน้านี้ของ "พานทองแท้ ชินวัตร" ลูกชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ"ตกลงเอาจริงหรือเปล่า ที่ว่าอภัยโทษหมดทุกคน ยกเว้น ทักษิณ-อภิสิทธิ์-สุเทพ ยืนยันมาเลยครับ เปิดประชุมสภาสมัยนี้ จะได้เห็นทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันบำบัดทุกข์-บำรุงสุข แบบไร้รอยต่อ ทักษิณฯ โดนโทษจำคุก 2 ปีโทษฐานที่เมียไปซื้อที่ดิน กับอภิสิทธิ์-สุเทพฯสลายการชุมนุม มีคนตายเกือบร้อย สมน้ำสมเนื้อกันดี ดีลนี้ตกลงเลยครับ" จากเฟซบุ๊กส่วนตัวพานทองแท้
          สอดรับด้วย "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมายคู่ใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมารับลูกเช่นกัน "หวังว่าพรรคประชาธิปัตย์จะรับคำท้าด้วยดีลูกย่อมมั่นใจความบริสุทธิ์ของพ่อ เราควรมาเริ่มต้นกันใหม่ หรือ Set Zero หรือไม่"
          ก่อนตบท้ายด้วยนายกฯ ปู ที่มอบหมายให้ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ รับข้อเสนอของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลไว้พิจารณาเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
          ทั้งหมดเป็นกระบวนการสื่อสารไปยังมวลชนว่ารัฐบาลได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วและพร้อมให้เกิดการนิรโทษกรรม ไม่ได้เมินเฉยกับข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงตามที่มีการโจมตี เพียงแต่จะเริ่มนับหนึ่งได้ต่อเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ยอมเล่นเกมนี้ด้วย
          เท่ากับว่าบริหารความขัดแย้ง รักษาฐานมวลชนเพื่อเป็นไม้ค้ำให้ยิ่งลักษณ์ด้วยการโยนภาระการนิรโทษกรรมทั้งหมดไปยังพรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐบาลตระหนักดีว่าถ้าคุมเกมนี้ไม่อยู่รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน m--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

.....โพสต์ ทูเดย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น