เสื้อแดงรุกนิรโทษกรรมเพื่อไทยแบ่งรับแบ่งสู้ลุ้น'มี-ไม่มี'ชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ?
| |
ความพยายามทำให้เกิดการนิรโทษกรรม นักโทษทางการเมืองเริ่มขึ้นใต้ดินตั้งแต่วันแรกที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คราวนั้นการเดินเรื่องถูกกระทำผ่าน นายวัฒนา เมืองสุข นักการเมืองคนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนคู่ขนานกับการแต่งตั้ง นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) และการจัดทำ ข้อเสนอผ่านคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) องคาพยพของ ดร.คณิต ณ นคร ในฐานะประธานคณะกรรมการ คอป. ได้จัดการสอบสวน สืบสวน โดยใช้อนุกรรมการถึง 116 คน จัดประชุมถึง 34 ครั้ง ในเวลา 3 ปี แต่แล้วข้อเสนอทั้งหมดก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชักกระทรวงยุติธรรม มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ถูกนำไปปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม จู่ ๆ ก็มีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ แล้วรับลูกโดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย และการขานรับจากแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้ง 3 ส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นายอุกฤษ มงคลนาวิน ในฐานะประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการ ส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) บอกหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 พ.ศ. .... ว่า "ไม่มีนัยใดแอบแฝงทั้งสิ้น""ก่อนการยกร่างกฎหมายนี้ ได้มีการหารือในด้านวิชาการ และบุคลากรที่เกี่ยว ข้องกับการคุมขัง อาทิ อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่ง คอ.นธ.ได้ทราบถึงความทุกข์ยากของประชาชน ที่ถูกจับกุม และถูกดำเนินคดี ทั้งที่ออกมาแสดงความเห็นและร่วมชุมนุมทางการเมืองตามสิทธิ์ จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกสีเสื้อ" "ข้อเสนอนี้ยกเว้นแกนนำผู้ชุมนุม โดยใช้หลักเมตตาธรรม ทั้งนี้เมื่อช่วงการชุมนุมทางการเมืองเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 เคยมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 มาแล้ว ดังนั้นการพิจารณาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ประชาชนในยุคนี้จึงสามารถทำได้" ร่างกฎหมายนิรโทษฉบับ "ดร.อุกฤษ" ถูกส่งตรงถึงมือ ส.ส. และ ส.ว.ทั้ง 600 คนแล้ว เพื่อให้ร่วมพิจารณา "การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถือเป็นทางเลือกที่มากกว่าการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ที่กลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมเสนอรัฐบาล โดยส่วนตัวผมมองว่าการออก พ.ร.ก.นั้นเป็นการมัดมือชก" นายอุกฤษกล่าวในจังหวะเดียวกันนี้ เกิดอุบัติเหตุการสื่อสารระหว่างแนวร่วม นปช.กับแกนนำพรรคเพื่อไทยขึ้น เมื่อคนเสื้อแดงบุกไปที่พรรคเพื่อขอให้กรรมการบริหารปลด นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะแสดงความคิดเห็นคัดค้านการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม กลุ่ม นปช.ต้องการให้ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม ลบล้างความผิดให้แก่ทุกกลุ่ม ทั้งผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมทางการเมือง ทั้งผู้ที่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนดำเนินคดี หรือผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ให้การสอบสวนดำเนินคดียุติ ผู้ที่ถูกฟ้องคดีอยู่ในศาล ให้ศาลสั่งยุติ และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ ข้อเสนอของฝ่ายเสื้อแดงที่ต้องการให้นิรโทษกรรมผู้ต้องคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง เพื่อหวังให้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการปรองดองในชาติ แต่แกนนำฝ่ายเพื่อไทยบางคนเห็นว่า การออกเป็นพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก. อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ที่ระบุว่า จะออกเป็น พ.ร.ก.ได้ต่อเมื่อเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ แกนนำพรรคเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า ปีนี้ พรรคต้องการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ให้ออกผลงานด้านเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม หากไปจดจ่อกับเรื่องการออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม อาจทำให้รัฐบาลพบกับอุบัติเหตุทางการเมืองได้ แม้แต่ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน และอาจถูกร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความให้ตกไป หรือคณะรัฐมนตรีอาจถูกยื่นถอดถอนก็เป็นได้ ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง เห็นด้วยกับหลักการนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ให้มีการนิรโทษกรรมเพื่อขจัดความขัดแย้ง โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง นายจาตุรนต์ระบุว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ที่ต้องทำให้หลายฝ่ายเห็นตรงกันเสียก่อนก็คือ เป็นความจำเป็นที่รัฐบาล พรรคการเมือง องค์กรประชาธิปไตยหรือผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ควรเห็นร่วมกันว่าในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมในขั้นตอนนี้ ควรเริ่มด้วยการลดความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีความแตกต่างทางความคิด และเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นสามารถกลับมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ขณะที่ทุกฝ่ายเปิดเกมรุกให้เกิดการนิรโทษกรรมอย่างปราศจากวาระซ่อนเร้น ไม่มีเงื่อนไข แต่พรรคเพื่อไทยยังคงติดกับดักเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเกรงภัยอุบัติเหตุการเมือง แบ่งรับแบ่งสู้กับคนเสื้อแดงที่ติดอยู่ในคุกในตะราง เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังเห็นมุมเดียว เงื่อนไขเดียว คือเกรงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ผลประโยชน์ การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองในรอบใหม่ คงได้ผลไม่ต่างจากรอบแรกที่เกิดขึ้นเมื่อพรรคเพื่อไทยก้าวขึ้นบัลลังก์อำนาจใหม่ ๆ อาจเป็นเพราะข้อเสนอรอบนี้ไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในบรรทัดต้น ๆ ก็เป็นได้--จบ-- ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 31 ม.ค. - 3 ก.พ. 2556-- | |
.....ประชาชาติธุรกิจ
|
วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556
เสื้อแดงรุกนิรโทษกรรมเพื่อไทยแบ่งรับแบ่งสู้ลุ้น'มี-ไม่มี'ชื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ?เมื่อ ๓๐ ม.ค.๕๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น