วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

50 ประเด็น'คำถาม-ตอบ'ปราสาทพระวิหาร เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖



50 ประเด็น'คำถาม-ตอบ'ปราสาทพระวิหาร ที่สังคมและคนไทยควรรู้ (ตอนที่ 1) ศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหารว่าอย่างไร ?


          ทีมข่าวเฉพาะกิจ : รายงาน
          นับเป็นโอกาสดี ที่ทีมข่าวเดลินิวส์ ได้รับข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ ในวาระครบรอบ 50 ปีนับแต่ศาลโลกมีคำพิพากษาในคดี ปราสาทพระวิหาร (ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2505) จึงได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง ปราสาทพระวิหาร เกือบทุกแง่มุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อมานำเสนอในรูปแบบ คำถาม-คำตอบ จำนวน 50 ข้อ เนื้อหาค่อนข้างกระชับและเข้าใจได้ง่าย ให้แก่ผู้อ่านทั้งโดยส่วนตัวและสังคมไทยโดยรวม
          หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ตัดสินว่า ปราสาทพระวิหาร ตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และให้ไทยถอนกำลังออกจากตัวปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียงปราสาท ซึ่งประเทศไทยได้ปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2554 กัมพูชาได้ยื่นขอให้ศาลโลก ตีความพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 โดยอ้างเหตุผลว่า "ไทยกับกัมพูชามีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความหมาย หรือขอบเขตของความพิพากษาเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นขอบเขตบริเวณใกล้เคียงของปราสาทพระวิหาร"
          ดังนั้นประเทศไทยก็ต้องกลับไปต่อสู้ คดีในศาลโลกอีกครั้งหนึ่งตามผลของการรับอำนาจศาลในคดีเดิมเมื่อกว่า 50 ปีมาแล้วเพื่อคัดค้านความฟ้องของกัมพูชาและรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อใกล้กำหนดที่ศาลโลกจะมีความตัดสินคดีฯ คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี 2556 อย่างไรก็ดีคดีนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติ ศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านเทคนิคซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยและซับซ้อนมาก เพื่อประโยชน์ในการติดตามและทำความเข้าใจความเป็นมาของเรื่องราวในอดีตจนถึงสถานะล่าสุดเกี่ยวกับคดีฯ ตลอดจน การดำเนินการที่ผ่านมาของทางการไทยในการต่อสู้คดีฯ ทำให้กระทรวงการต่างประเทศ ได้รวบรวมข้อสงสัยต่าง ๆ ที่มีผู้สอบถามเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหารอยู่บ่อยครั้ง จัดเรียงเป็น คำถาม-คำตอบ จำนวน 50 ข้อ ให้ประชาชนได้รับรู้
          สำหรับคำถามแรกคงหนีไม่พ้นกรณี1. ศาลโลกตัดสินคดีปราสาทพระวิหารเมื่อใด ว่าอย่างไร ? ตอบ : ศาลโลกได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 ตัดสินให้ (1) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา (2) ไทยต้องถอนกำลังทหารหรือตำรวจ ซึ่งไทยส่งไปประจำที่ปราสาทพระวิหารหรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท (3) ไทยต้องคืนบรรดาโบราณวัตถุที่ไทยอาจได้โยกย้ายออกไปจากปราสาทพระวิหารหรือบริเวณปราสาท อย่างไรก็ตาม ศาลโลกไม่ได้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดนระหว่าง ประเทศทั้งสอง และไม่ได้ตัดสินว่าเขตแดนจะต้องเป็นไปตาม แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ตามที่กัมพูชากล่าวอ้าง
          2. ไทยปฏิบัติตามคำตัดสินศาลโลกอย่างไรบ้าง ? ตอบ : เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2505 รัฐบาลไทยออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลโลก แต่ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติจะยินยอมปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากคำพิพากษา ต่อมาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2505 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ รมว.การต่างประเทศในขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งการปฏิบัติตามคำพิพากษาแก่ผู้รักษาการเลขาธิการสหประชาชาติโดยระบุว่า ไทยขอสงวนสิทธิที่ไทยมีหรืออาจมีในอนาคตที่จะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา
          จากนั้นคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ให้ไทยปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก โดยกำหนดขอบเขตปราสาท คือ ทางทิศเหนือที่ระยะ 20 เมตรจากบันไดนาคไปทาง ทิศตะวันออกจนถึงช่องบันไดหัก และทางทิศตะวันตกที่ระยะ 100 เมตร จากแกนของตัวปราสาทไปทางทิศใต้จนจดขอบหน้าผา รวมทั้งให้สร้างป้ายแสดงเขต และล้อมรั้วลวดหนาม กระทั่งวันที่ 15 ก.ค. 2505 ฝ่ายไทยได้นำเสาธงไทยออกจากพื้นที่นั้น และถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากปราสาท
          3. ไทยส่งมอบเฉพาะปราสาทที่เป็นหิน แต่พื้นดินใต้ตัวปราสาทยังเป็นของไทยอยู่จริงหรือไม่ ? ตอบ : ไม่ใช่ พื้นดินใต้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชาเช่นเดียวกับ ตัวปราสาท ด้วยผลของคำตัดสินของศาลโลกที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
          4. สรุปว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 หลังศาล โลกตัดสินปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาใช่หรือไม่ ? ตอบ : ใช่5. การสงวนสิทธิ์ในจดหมายของ พ.อ. ถนัด คอมันตร์ สงวนสิทธิ์ว่าอย่างไรและขณะนี้มีผลหรือไม่ ? ตอบ : วันที่ 6 ก.ค. 2505 พ.อ.ถนัด คอมันตร์ รมว.การต่างประเทศ ได้มีหนังสือถึงรักษาการเลขาธิการสหประชาชาติว่า รัฐบาลไทยได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2505 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา แต่ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ไทยจะปฏิบัติตามพันธกรณีต่าง ๆ อันเป็นผลมาจากคำพิพากษาตามข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติโดยในหนังสือดังกล่าวได้แจ้งด้วยว่า ไทยขอสงวนสิทธิ์ที่ไทยมีหรืออาจมีในอนาคตที่จะเรียกเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมา โดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่หรือจะเกิดขึ้นในภายหลัง
          ทั้งนี้ กระบวนการทางกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปตามกฎบัตรสหประชาชาติ และธรรมนูญศาลโลก กล่าวคือ คำพิพากษาของศาลโลกถือเป็นที่สุดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก แต่หากจะขอให้ศาลพิจารณาแก้ไขคำพิพากษาตามข้อ 61 ของธรรมนูญศาลโลกแล้ว คู่กรณีก็ต้องเสนอหลักฐานใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปีหลังจากที่ศาล มีคำพิพากษา ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515
          6. ไทยหรือกัมพูชาสามารถรื้อฟื้นคดีปราสาทพระวิหารได้หรือไม่ ? ตอบ : ไม่ได้ เพราะเลยกำหนดเวลา 10 ปี ในการยื่นขอให้ศาลโลกแก้ไขคำตัดสินแล้ว (ข้อ 61 ของธรรมนูญศาลโลก) และคำตัดสินของศาลโลกถือเป็นที่สุด (ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลโลก)
          7. การรื้อฟื้นคดี กับการยื่นขอตีความ คำพิพากษาเหมือนกันหรือไม่ ? ตอบ : ไม่เหมือนกัน การรื้อฟื้นคดี คือ การขอให้ศาลโลกเปลี่ยนคำพิพากษา เช่น ขอให้ศาลโลกตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย ซึ่งทำไม่ได้แล้วเพราะเลยกำหนดเวลา 10 ปีมาแล้ว แต่การขอตีความ คือ การขอให้ศาลอธิบายว่า คำตัดสินเดิมหมายความว่าอย่างไร ซึ่งสามารถทำเมื่อใดก็ได้ เพราะไม่มีกำหนดเวลา
          8. หลังจากปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลกประเทศไทยยึดถือแนวเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารอย่างไรและกัมพูชายึดถือเส้นเขตแดนใด ? ตอบ : ไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนตามข้อบทของอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1904 ส่วนเส้นขอบเขตปราสาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ก.ค. 2505 นั้น ไทยไม่ถือว่าเป็นเขตแดน สำหรับกัมพูชายึดถือเส้นตามแผนที่ 1 : 200,000 ดังนั้น จึงยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับเส้นเขตแดนในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากไทยและกัมพูชายังตกลงกันไม่ได้ และยังต้องเจรจากันในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC)
          สันปันน้ำ คือแนวสันต่อเนื่องในภูมิ ประเทศเมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วนซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้โดยปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ ทั้งนี้ตรงบริเวณปราสาทพระวิหารจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง
          9. แผนที่ชุด L7017 คืออะไร ?ตอบ : แผนที่ลำดับชุด L7017 คือ แผนที่ประเทศไทยมาตราส่วน 1 : 50,000 ที่จัดทำขึ้นโดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่งมีการพิมพ์หลายครั้ง โดยในแต่ละครั้งได้มีการปรับปรุงรายละเอียดให้ถูกต้องและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
          10. ทำไมจึงมี "พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร" ? ตอบ : "พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่ไม่เกิน 10 ปีมานี้ โดยเป็นผลจากการที่กัมพูชาต้องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวโดยไม่ได้ปรึกษาหารือกับไทยตามที่เคยตกลงกันไว้ที่จะร่วมมือพัฒนาเขาพระวิหารและบูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและยั่งยืนระหว่างสองประเทศในการยื่นขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กัมพูชาต้องกำหนดพื้นที่กันชน (Buffer zones)รอบ ๆ ปราสาท ซึ่งได้ปรากฏแน่ชัด อย่างเป็นทางการต่อสาธารณชนในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 23 มิ.ย.- 2 ก.ค. 2550 ว่า พื้นที่ที่กัมพูชาต้องการล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,000 ไร่ ในการนี้กัมพูชาได้อ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 โดยถ่ายทอดเส้นตามที่กัมพูชาเข้าใจเอาเอง และไม่ตรงกับเส้นที่กัมพูชาอ้างในคดีเดิม ปี พ.ศ. 2505
          ดังนั้นเรื่อง"พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร" จึงเป็นปัญหาเขตแดนที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งไทยและกัมพูชามีพันธกรณีต้องแก้ไขร่วมกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการเจรจาในกรอบคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเขตแดน.
          ผ่าความจริง เขาพระวิหาร
          ตามอ่านย้อนหลังเรื่องราวปัญหา ปราสาทพระวิหาร ที่ทางทีมข่าวเดลินิวส์ ได้นำมาเสนอเป็นสกู๊ปต่อเนื่อง ไว้ในเว็บไซต์เดลินิวส์ www.dailynews.co.th (คลิกเข้าไปในหัวข้อ "บทความ" แล้วเปิดอ่าน "ผ่าความจริงเขาพระวิหาร") มีทั้งหมด 7 ตอนด้วยกัน ไล่ตั้งแต่เรื่อง 1. ข้อมูลทั่วไป-สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส2. คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรณีปราสาทพระวิหาร 3. การแก้ปัญหาเขตชายแดนของฝ่ายไทย 4. แนวทางแก้ไขตามกรอบ UNSC 5.การแก้ไขปัญหาไทย-กัมพูชา ในกรอบศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ 6. ปราสาทพระวิหารกับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และ7. มองไปข้างหน้า : ท่าทีของไทยต่อความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา (ในตอนสุดท้ายมีคลิปชี้แจงรายละเอียดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น).

.....เดลินิวส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น