เอกชนเกาะติดคอรัปชั่น ยื่นศาลฯแฉพรก.กู้ลวงโลก
29 January 2556
"องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น" เดินหน้าตรวจสอบทุจริตรัฐบาลปู เล็งเกาะติดโครงการรับจำนำข้าว-เงินกู้ 2.2 ล้านล้าน-ป้องกันน้ำท่วม ปชป.ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาล รธน.พิจารณา พรก.เงินกู้ 3.5 แสนล้าน แฉไร้แผนใช้จ่ายเงิน ครบ 1 ปีเบิกจ่ายแค่ 1% แถมยังจะกู้อีก 2.2 ล้านล้าน ชี้เจตนาใช้เงินโดยมิชอบเลี่ยงการตรวจสอบ "โต้ง" งัวเงียเปิดเอกชนยื่นซองประมูล ก.พ.นี้
เมื่อวันจันทร์ องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) นำโดย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย), นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย), คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม รองประธานองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย), ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล คณะกรรมการองค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) ได้ร่วมแถลงแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านการทุจริต
โดยนายประมนต์กล่าวว่า องค์กรได้ปรับนโยบายการบริหารงานในรูปแบบมูลนิธิ เพื่อสร้างองค์กรให้น่าเชื่อถือ ผนึกกำลังและประสานงานทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน, ภาคประชาสังคม, ภาครัฐและสื่อมวลชน ร่วมดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อขับเคลื่อนพลังสังคมต่อต้านการคอรัปชั่นของชาติที่ทรงประสิทธิภาพ พร้อมขยายเครือข่ายสู่ภูมิภาคและต่างประเทศ ชี้นำนโยบายรัฐ
พร้อมกันนี้ ได้ประกาศแผนปฏิบัติการปี 2556 ภายใต้ 4 พันธกิจ เกาะติดโครงการคอรัปชั่น ติดตามเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เช่น โครงการรับจำนำข้าวและพืชผลทางการเกษตร, โครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท, โครงการเงินกู้ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาทเพื่อป้องกันน้ำท่วม, นำร่องโครงการ "ข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการจากภาคเอกชน” เพื่อสนับสนุนการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
สำหรับแผนปฏิบัติการในปี 2556 จะยึดหลักการปลูกฝัง ป้องกัน และเปิดโปงด้วย 4 พันธกิจ ได้แก่ 1.สร้างความน่าเชื่อถือขององค์กรต่อต้านคอรัปชั่น เป็นศูนย์กลางให้ความรู้ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อภาครัฐ รวมถึงการกระตุ้นสร้างจิตสำนึก ให้เกิดการต่อต้านคอรัปชั่นที่มีศักยภาพสูงสุด 2.สร้างเครือข่ายการทำงาน ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล เช่น การร่วมมือกับ ป.ป.ช.ออกกฎระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้รัดกุม โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และการร่วมทำงานกับองค์กรอิสระต่างๆ เช่น สสส. ในการจัดกิจกรรมต้านคอรัปชั่นให้กระจายสู่ชนบท การขยายเครือข่ายปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ในการสนับสนุนโครงการโตไปไม่โกง
3.สนับสนุน ชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย ทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อให้การต่อต้านคอรัปชั่นเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและบังเกิดผล เช่น การผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายคอรัปชั่น การยกเลิกอายุความของคดีคอรัปชั่น และให้มีกฎหมายลงโทษบริษัทเอกชนที่ทำการคอรัปชั่น และสุดท้ายคือ การสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดต้นแบบของสังคม ทั้งในระดับองค์กรและระดับบุคคล นอกจากนี้ จะร่วมกันส่งเสริมบทบาทหน้าที่ของสื่อในการต่อต้านคอรัปชั่นอีกด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความมั่นใจว่าจะเดินหน้ากู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท และมั่นใจว่ายอดหนี้จะไม่เกิน 50% ของจีดีพีประเทศ ว่า ตนไม่เข้าใจทำไมนายกฯ ถึงบอกว่าหนี้จะไม่เกิน 50% เพราะหากบวกหนี้ที่กู้เพิ่ม 2.2 ล้านล้านบาทเข้าไปก็จะเกิน 50% ทันที นอกจากจะกู้ทีละนิด ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการลงทุนในหลายโครงการ แต่เรายืนยันว่าหลายโครงการไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้ สามารถให้เอกชนมาร่วมลงทุนได้ หรือใช้ระบบงบประมาณมาดูแลเรื่องการเงินได้
"การที่รัฐบาลคิดกู้เงินก้อนใหญ่ ก็เพื่อหลบเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ ซึ่งจะเป็นอันตรายในเรื่องวินัยทางการเงิน และหากดูเรื่องเงินกู้ในโครงการป้องกันน้ำท่วมที่ผ่านมา ก็เห็นได้ว่าคงมีเจตนาหลีกเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้าง และจะนำไปสู่การทุจริตและการรั่วไหลของงบประมาณ ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินหน้าโดยทำเป็น พ.ร.ก.นั้น คิดว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะไม่ได้เข้าเงื่อนไข และศาลรัฐธรรมนูญคงจะเห็นว่า การขอกู้ 3.5 แสนล้านที่บอกว่าเร่งด่วนนั้น แต่เวลาเอาจริงกลับยังไม่มีความชัดเจน แต่หากเป็น พ.ร.บ.ก็น่าคิด เพราะระบบของงบประมาณและข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมศึกษาเรื่องนี้แล้ว เพราะถือว่าหมิ่นเหม่ที่จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีต รมว.การคลัง เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 โดยนายกรณ์กล่าวว่า หลังจากที่ได้ติดตามการใช้งบประมาณ รัฐบาลกลับไม่มีแผนใช้จ่ายเงินกู้ และไม่ปรากฏโครงการจัดการน้ำของรัฐบาลดำเนินการเป็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เนื่องจากการมีการยอดเบิกจ่าย 4,639.34 ล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบยอดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่ามีการเบิกจ่ายไปประมาณร้อยละ 1 ของยอดเงินกู้ทั้งหมดเท่านั้น ทั้งที่ระยะเวลาในการกู้เงินครบ 1 ปีแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับข้ออ้างของรัฐบาลที่บอกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และยังพบว่าเงินที่เบิกจ่ายไปแล้ว มีการเบิกจ่ายในส่วนอื่นที่ไม่ใช่กระบวนจัดการบริหารน้ำ
"แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมิได้ดำเนินการตามคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ขึ้น แสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล และรัฐบาลสามารถบรรจุรายการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณ 55 ได้"
เขาบอกว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีก 5 เดือน ยังไม่มีแผนหรือโครงการที่เป็นรูปธรรม รัฐบาลยังมีแผนการที่จะกู้เงินอีกระลอกใหญ่ เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2556 ด้วยการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พ.ศ. ... วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท สำหรับระยะเวลา 7 ปี ทั้งที่โครงการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า การกู้เงินนอกระบบงบประมาณขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่าย และขาดความโปร่งใสอย่างไร
"จึงเห็นว่ารัฐบาลกำลังมีเจตนาที่จะนำเงินมหาศาล ไปใช้ในกิจการโดยมิชอบที่ไม่มีผู้ใดสามารตรวจสอบได้ ซึ่งจะขัดต่อหลักวินัยการเงิน การคลัง และงบประมาณตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ เชื่อว่าหากมีการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทจริง ซึ่งจะคล้ายกับการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยพรรคประชาธิปัตย์จะต้องมีการพิจารณาในข้อกฎหมาย ขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้ดุลยพินิจพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบรรทัดฐาน"
เมื่อถามว่า การที่ยื่นจดหมายเพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้รัฐบาลตรา พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นการพิจารณาที่ผิดพลาดและไม่ทันเกมรัฐบาลหรือไม่ นายกรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยนั้น ศาลไม่มีข้อมูลที่จะประเมินได้ว่าข้อมูลที่รัฐบาลอ้างว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริง หากไม่มีการอนุมัติกู้เงินจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศนั้น เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งวันนั้นเข้าใจได้ว่าศาลคงให้เกียรติรัฐบาล เพราะเชื่อว่ารัฐบาลน่าจะไม่เอาข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมาชี้แจงต่อศาล แต่วันนี้ปรากฏแล้วว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น เราจึงนำมาเป็นข้อมูลให้ศาลพิจารณาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาครั้งต่อไป
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามแผนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถเริ่มเปิดให้เอกชนที่มีความพร้อมเข้ามายื่นซองประมูลใน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทได้ ในช่วงเดือน ก.พ.ถึง เม.ย.56 โดยในส่วนของกระทรวงการคลังยืนยันว่า แหล่งเงินกู้ที่จะใช้มีความพร้อมและจะดำเนินการกู้ได้เต็มวงเงินแน่นอน ซึ่งเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่กำหนดว่า ต้องกู้เงินเต็มจำนวนภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้” นายกิตติรัตน์กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น