วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

แดงจี้รัฐบาลรับกม.นิรโทษโหมหนัก!นัดชุมนุมเสนอร่างนิติราษฎร์ เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖



แดงจี้รัฐบาลรับกม.นิรโทษโหมหนัก!นัดชุมนุมเสนอร่างนิติราษฎร์


          เสื้อแดงเดินหน้ารุกหนัก ชุมนุมใหญ่กด ดันรัฐบาลรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ดันนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง 'โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม' เข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง ทั้ง 'สมยศ' และ 'สุรชัย' หนุนรัฐบาลนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทันที ไม่เช่นนั้นป่วยการที่จะพูดเรื่องปรองดอง ด้าน 'สมยศ' เผยขอให้ช่วยได้ประกันตัว พ้อหมดกำลังใจ นอนไม่หลับ หวั่นซ้ำรอย 'อากง' 'มาร์ค' ยันปชป.พร้อมยกมือ หนุนกฎหมายนิรโทษ แต่ทักษิณต้องยอมรับกระบวนการศาล
          เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ม.ค. นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมทีมงาน เดินทางมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขตลาดยาว กทม. เพื่อเยี่ยมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร 'วอยซ์ ออฟ ทักษิณ' ที่เพิ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 11 ปี ในคดีความผิดอาญามาตรา 112 และคดีหมิ่นประมาท
          โดยนายโรเบิร์ตให้สัมภาษณ์ว่า ตนมาแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับนายสมยศ เพื่อให้กำลังใจ และพูดคุยขั้นตอนการต่อสู้คดี ซึ่งอยากฝากให้คนเสื้อแดงมาเยี่ยมนายสมยศมากๆ และควรทำทุกอย่างเพื่อบรรเทาทุกข์นายสมยศ
          นายโรเบิร์ตกล่าวว่า รัฐบาลไทยควรปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดทันที ซึ่งตนเห็นด้วย กับการออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม เพราะรัฐบาลไม่สามารถพูดเรื่องปรองดองได้ หากมีนักโทษการเมืองอยู่ แม้พรรคประชาธิปัตย์เป็นคนนำคนเหล่านี้เข้าคุก รัฐบาลต้องนำคนเหล่านี้ออกจากคุกให้ได้ ทั้งนี้ตนจะเดินทางไปเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ด้วย
          เมื่อถามถึงความคืบหน้าการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ นายโรเบิร์ตกล่าวว่า ขณะนี้เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น ขอเสนอให้รัฐบาลลงนามรับรองปฏิญญากรุงโรม เพื่อให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการได้เต็มที่
          จากนั้นคณะของนายโรเบิร์ต เข้าเยี่ยมนายสมยศผ่านแนวกระจกกั้น แล้วจึงเยี่ยมนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ แกนนำกลุ่มแดงสยามที่ถูก คุมขังด้วยคดี ม.112 ด้วย
          ด้านนายสมยศให้สัมภาษณ์ว่า ตกใจที่ศาลมี คำพิพากษาเช่นนั้น เพราะเท่าที่อ่านบทความในฐานะบรรณาธิการ ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร และยืนยันว่าไม่มีเจตนาทำผิด หลังฟังคำพิพากษาก็ยังกินข้าวไม่ค่อยได้ นอนไม่หลับต้องพึ่งยานอนหลับ ทั้งนี้ อยากให้คนที่อยู่ข้างนอกช่วยให้ตนได้ประกันตัว เพราะอย่างคดียิงคนตายยังได้ประกันตัว ต่อไปหากตนอุทธรณ์และชนะคดี ก็เท่ากับว่าติดคุกฟรีหลายปี ตอนนี้รู้สึกห่อเหี่ยวมาก กังวลว่าต้องเสียชีวิตในคุกเหมือน 'อากง' หรือนาย อำพล ตั้งนพกุล บางครั้งคิดอยากฆ่าตัวตายเพราะเครียด
          ขณะที่นายสุรชัยกล่าวว่า เห็นใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯที่เจอแรงกดดันหลายฝ่าย แต่อยากให้นายกฯช่วยให้พวกตนได้รับอิสรภาพ เหมือนที่ช่วยนายวีระ สมความคิด ที่ถูกคุมขังในเรือนจำประเทศกัมพูชา และอยากให้คนเสื้อแดงช่วยกันผลักดันพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ซึ่งไม่ต้องนิรโทษแกนนำก็ได้
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นคณะของนาย โรเบิร์ตเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองที่เรือนจำหลักสี่ โดยมีน.ส.อลิซาเบตตา โปเลงกี น้องสาวนายฟาบิโอ โปเลงกี ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่ถนนราชดำริเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขังด้วย
          นายทรงรัก นิตยาคิต ตัวแทนกลุ่มเสื้อแดง กทม. 50 เขต กล่าวว่า อยากให้เรียกคนเหล่านี้ว่าผู้ต่อสู้ทางการเมือง มากกว่านักโทษการเมือง และแม้ว่าความเป็นอยู่ในเรือนจำหลักสี่จะดีกว่าที่เก่า แต่หลายคนก็ยังเครียด มีผู้ต้องขังคนหนึ่งกำลังไม่สบายเพราะมีปัญหาที่ลำไส้ ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งไปหาหมอ จึงอยากให้รัฐบาลเดินหน้าพ.ร.ก.นิรโทษกรรมและปล่อยตัวผู้ต้องขังเหล่านี้โดยเร็ว
          วันเดียวกัน น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กล่าวถึงการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในวันที่ 29 ม.ค. นี้ ว่าเป็น การชุมนุมเพื่อผลักดันข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ฉบับนิติราษฎร์ โดยใช้ชื่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้ในนามว่า 'แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง' และใช้คำขวัญว่า '29 มกรา หมื่นปลดปล่อย' เพราะตั้งเป้าจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมไว้ที่ 1 หมื่นคน ซึ่งนัดหมายรวมตัวกันในเวลา 08.00 น. ที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อทำความเคารพผู้ทำการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 จากนั้นในเวลาประมาณ 09.30 น. จะเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นร่างดังกล่าวให้กับคณะรัฐมนตรี
          "รัฐบาลปล่อยให้ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชา ธิปไตยถูกคุมขังนานเกินไป ไม่กล้าลงมาคลุกคลีปัญหา เหมือนกลัวจะเสียภาพพจน์ และพยายามลอยตัวหนีปัญหาตลอดเวลา หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิรโทษฯ ด้วยตนเอง จะแสดงถึงความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง" น.ส.สุดากล่าวและว่า เมื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนิรโทษฯ เสร็จแล้ว จะปักหลักที่หน้าทำเนียบเพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาลด้วย
          รายงานข่าวจากกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลระบุว่า กิจกรรม "29 มกรา หมื่นปลดปล่อย" มีเสียงตอบรับการเข้าร่วมจากองค์กรประชาชนกว่า 100 องค์กร อาทิ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายญาตินักโทษการเมือง เครือข่ายญาตินักโทษ 112 ศูนย์ประสานงานเพื่อประชาธิปไตย แดงธนบุรี 50 เขต กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มแดงอิสรชน พร้อมด้วยเครือข่ายนักวิชาการและนักศึกษาจำนวนมาก อาทิ ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) นำโดยนางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนแนวทางดังกล่าวไปก่อนหน้านี้ และกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดย นายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม.ธรรมศาสตร์ บุตรชายของนายสมยศ นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ที่ถูกตัดสินจำคุกในความผิด ม.112
          รายงานข่าวยังระบุว่า ขบวนของแนวร่วม 29 มกราฯ ยังมีรถจักรยานยนต์ รถสามล้อ และรถแท็กซี่เข้าร่วมขบวนด้วย โดยจะตั้งเวทีชุมนุมด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยในช่วงบ่ายจะจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์ของการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองในประเทศไทย และการอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มนักเขียนและบรรณาธิการจากกลุ่มแสงสำนึก สลับกับการเล่นดนตรีและอ่านบทกวีจากกลุ่มกวีราษฎร์ ไปจนเวลา 22.00 น. จึงยุติการชุมนุม
          ทั้งนี้ ยังมีการแปลคำขวัญ "29 มกรา หมื่นปลดปล่อย" เป็นภาษาต่างประเทศทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ ภาษาลาว เขมร พม่า เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศทวีปอื่นๆ อีกกว่า 30 ภาษา อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน รัสเซีย อาหรับ เพื่อนำไปทำเป็นโปสเตอร์ชุมนุมด้วย
          ที่รัฐสภา ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมวุฒิสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา หารือว่ากรณีแกนนำนปช.จะยื่นหนังสือต่อนายกฯ ให้ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 184 หากทำจะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งนายกฯ อาจถูกยื่นถอดถอนได้ ซึ่ง ไม่เข้าใจว่าที่ผ่านมานปช.ชอบอ้างว่าชุมนุมโดยอหิงสา ปราศจากอาวุธ ชุมนุมโดยสงบ ไม่มี ชายชุดดำ เมื่อบอกว่าตัวเองไม่ผิดแล้วมาเรียก ร้องให้ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรมทำไม ไม่ว่ากลุ่ม พันธมิตรฯ หรือพรรคฝ่ายค้านเขายินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ทำไมออกมาเรียกร้องเพียงฝ่ายเดียว เพราะกระบวนการยุติธรรมก็กำลังดำเนินการอยู่
          นายวันชัย สอนสิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เห็นด้วยกับพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ยกเว้น 2 ประเด็น คือ 1.คดีจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน และ 2.คดี ทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 2 ประเด็นนี้ไม่ควรได้รับนิรโทษกรรมโดยเด็ดขาด
          ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า การออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม นายกฯ ต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่งน.ส. ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะมี คำถามว่าพ.ร.ก.ดังกล่าว เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ที่บัญญัติว่าการออกพ.ร.ก.จะต้องจำเป็น เร่งด่วนและฉุกเฉินหรือไม่ และหากพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวผ่านไปได้ จะถือเป็นการชิมลางหรือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำการทุจริตในโอกาสต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้ หากแกนนำนปช.นำเรื่องนี้ไปหารือกับนายกฯ จริง ก็ต้องมีคำตอบให้ชัดเจน ส่วนการดำเนินการของฝ่ายค้านนั้น ตนคิดว่ายังไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้นก็ยังไม่จำเป็นต้องตอบตอนนี้
          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชา ธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ยอมรับคำท้าที่จะไม่นิรโทษกรรมพ.ต.ท. ทักษิณ กับนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ว่า เป็นความพยายามลดกระแสปัญหากับคนเสื้อแดงที่มีคดีความ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงนำเรื่องการนิรโทษกรรมมาพูด
          นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน เราพร้อมยกมือให้ ใครสนใจก็ให้เสนอมา และขอให้ประกาศเลยว่าทุกคนยอมรับคำตัดสินของศาล และต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง จะเสนอในสมัยประชุมสภานี้เลยก็ได้ แต่ไม่มีประเภทนิรโทษให้คนใดคนหนึ่ง หรือมีสิทธิพิเศษ และไม่มีการล้างคดีทุจริตพ่วงมาด้วย เอาคดีที่คนเสื้อแดงถูกดำเนินคดี พรรคประชาธิปัตย์พร้อมยกมือให้ แต่ขอให้เจ้าตัวออกมาพูดดีกว่า ไม่เช่นนั้นจะมาบิดพลิ้ว จึงอยากให้เจ้าตัวบอกว่า ยอมรับคำพิพากษาของศาลคำเดียว ให้พ.ต.ท. ทักษิณ ตน และนายสุเทพ เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการศาลกันไป
          ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมส.ส.พรรคว่า ในที่ประชุมไม่ได้หารือถึงพ.ร.ก.นิรโทษกรรม แต่ถือเป็นสิทธิที่นำเสนอได้ ไม่ว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เพราะถือว่าเป็นเหยื่อทางการเมืองที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาที่บ้านเมืองต้องการความปรองดอง แต่ต้องรับฟังความเห็นและเหตุผลของผู้ที่เห็นต่างด้วย เมื่อถามถึงแกนนำนปช.เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เรียกร้องให้ออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นการกดดันรัฐบาล เป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นที่เขาสามารถทำได้
--จบ--
          --ข่าวสด ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

.....ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น