วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

นปช.หงอนายใหญ่ เมินผนึกแนวร่วมกดดันรัฐบาลวิปฯชงพรบ.นิรโทษให้กฤษฎีกา เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖



นปช.หงอนายใหญ่ เมินผนึกแนวร่วมกดดันรัฐบาลวิปฯชงพรบ.นิรโทษให้กฤษฎีกา


          กรุงเทพฯ * รุกคืบ "พ.ร.บ.นิรโทษฯ" ฉบับอุกฤษ วิปรัฐบาลส่งร่างให้กฤษฎีกาเทียบฉบับปี 2516 นปช.แบไต๋ไม่กล้าทำกลัว "นายใหญ่" โกรธ ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ชี้ผู้ใหญ่ขอร้องภาพไม่สวยหากไปกดดันพวกเดียวกัน "อภิสิทธิ์" ดุ-อัดขี้ข้านพดล ไม่สนเสียงแมลงหวี่รอฟังแม้วท้า เชื่อเหตุตีปี๊บลดกระแสแดงงอน
          การโยนหินถามทางกรณีร่างพระราช บัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชา ชน ระหว่างวันที่ 19 ก.ย.49 - 10 พ.ค.54 ที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรม การอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอ เริ่มมีความเคลื่อน ไหวมากขึ้น  โดยล่าสุดเมื่อวันจันทร์ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวหลังประ ชุมวิปว่า นายอุกฤษได้ส่งให้ ส.ส.และ ส.ว. พิจารณาแล้ว ดังนั้น วิปรัฐบาลจึงจะส่งร่างดังกล่าวให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปดูในรายละเอียด ว่าข้อเสนอดังกล่าวมีประเด็นใหม่หรืออะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะนายอุกฤษอ้างว่าเคยมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมใน ลักษณะนี้มาแล้วเมื่อปี 2516 ส่วนร่าง พ.ร.ก. นิรโทษกรรมของคนเสื้อแดงนั้นยังไม่เห็นรายละเอียด
          "ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะเกิดปัญหานั้น อย่าเพิ่งคิดไปไกล เพราะตอนนี้ยังไม่มีอะไรเลย ยังไม่ได้ทำอะไรเลย แค่ส่งจดหมายมาเราก็รับมาดูแค่นั้น ยังไม่ได้นัดหารือกันด้วยซ้ำไป เพียงแต่ให้ฝ่ายกฎหมายหรือผู้รู้กฎหมายไปดูในรายละเอียดมาก่อนเท่านั้น" นายอุดมเดชเลี่ยงตอบในคำถามที่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
          นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโส ธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประ ธานวิปรัฐบาล กล่าวเรื่องนี้ว่า จะนำ ร่างไปดูในรายละเอียด และในสภาฯ เองก็มีร่าง พ.ร.บ.ปรองดองอยู่ในวาระ โดยทั้ง 2 ร่างมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน และตามหลักการเสนอกฎหมาย หากมีเรื่องอื่นอยู่แล้วก็ทำไม่ได้ เรื่องนี้จึงต้องพูดคุยกัน เพราะคำตอบทั้งหมดคือทุกคนต้องการเห็นประเทศเดินหน้า จะต้องพูดคุยกันว่ากฎหมายนี้จะ ครอบคลุมถึงใคร เพราะเราเคยมีกฎ หมายแบบนี้มาแล้วที่ให้กับประชาชน ส่วนเจ้าหน้าที่นั้นค่อยว่ากัน
          ผู้สื่อข่าวถามว่า เห็นด้วยหรือไม่หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะยกเว้นเฉพาะผู้สั่งการ นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ถูก เพราะหลักต้องเป็นอย่างนั้น การที่ประชาชนออกมาเพราะเขาอยากเห็นประเทศเดินหน้า อยากมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
          ถามต่อว่า การเขียนกฎหมายสามารถยกเว้นตัวบุคคลได้หรือไม่ นายพีรพันธุ์ตอบว่า กฎหมายจะเขียนยกเว้นตัวบุคคลไม่ได้ อยู่ที่พฤติกรรม และไม่ได้เป็นการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหนึ่งในหลายคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เช่น การออกกฎหมายที่มาจากการปฏิวัติเมื่อ 19  ก.ย. ซึ่งสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับประเทศ เราก็ต้องเลิกตรงนี้
          เมื่อถามถึงแนวโน้มการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภาฯ นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ถ้าทุกคนยอมรับได้ ซึ่ง ส.ส.ต้องนำไปศึกษา แต่จะใช้เวลาเท่าไหร่ยังตอบไม่ได้ ส่วนตัวเองก็ไม่ใช่ว่าเห็นด้วย แต่โดยหลักประเทศควรปรองดองและก้าวเดินไปข้างหน้า หากออกเป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรมก็ทำได้
          "คนที่ทุกข์ทรมานต้องทนมากี่ปี เขาอยู่อย่างนี้ แล้วเขาไปเกี่ยวข้องอะไร เรื่องนี้ ส.ส.ทุกพรรคต้องช่วยกันพิจารณา หันหน้าพูดคุยกัน อาจจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็ได้" นายพีรพันธุ์ตอบคำถามเรื่องของความเร่งด่วน
          ด้านนายขวัญชัย ไพรพนา ประ ธานชมรมคนรักอุดร กล่าวถึงกรณีเตรียมนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในภาคอีสานมาร่วมชุมนุมกับกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ที่หน้าทำเนียบรัฐ บาล ในวันที่ 29 ม.ค.ว่า ขอโทษกลุ่มปฏิญญาฯ ที่ ไม่สามารถนำมวลชนไปร่วมชุมนุมได้ เพราะผู้ใหญ่ขอร้อง และมองว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล จึงไม่อยากไปกดดัน หากเราเดินทางไปภาพจะออกมาไม่เหมาะสม
          แดงงดร่วมกดดันรัฐบาล
          "หากไปแค่ 1-2 คนจะไม่ว่าอะไรเลย นี่เล่นไปบีบรัฐบาลกันหลายพันคน  ทางกลุ่มไม่เห็นด้วย แต่หากใครจะไปในนามส่วนตัวก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่เราจะไม่ทำในนามองค์กรอย่างแน่นอน" นายขวัญชัยกล่าวและว่า ชมรมคนรักอุดรยังเหมือนเดิมคือพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศ และสนับสนุนรัฐบาล ดังนั้น คนเสื้อแดงกลุ่มอื่นต้องเข้าใจว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปกดดันรัฐบาล ต้องตระหนักว่าที่คนเสื้อแดงเติบโตมาทุกวันนี้ เพราะคนรักทักษิณ เพราะมี ส.ส.  อย่าไปเพ้อฝันว่าจะตั้งพรรคเสื้อแดง นั่นมันคือการหลงตัวเอง
          นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.กล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวไม่ได้ทำในนาม นปช. แต่เป็นการนำของนางสุดา รังกุพันธ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแกนนำ ที่นำข้อเสนอการนิรโทษกรรมของกลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์มาเสนอรัฐบาล ไม่ได้นำข้อเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของ นปช.มายื่นให้รัฐบาล งานนี้เปรียบเสมือนงานกฐินคนละกอง เราเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษทุกกลุ่มทุกสี แต่เขาเสนอในลักษณะให้แก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่เหมือนกัน เราจะเอากฐินของเขาแล้วทิ้งกฐินของเรามันไม่ได้
          "ข้อเสนอของ นปช. เราไม่ได้ออกมาในลักษณะกดดันรัฐบาล ส่วนนี้เราก็ได้บอกไปแล้ว งานนี้ดิฉันก็ไม่ได้ไปร่วมกับเขา" นางธิดากล่าว
          สำหรับกิจกรรมของกลุ่มปฏิญญา หน้าศาลนั้น ในวันที่ 29 ม.ค.จะจัดกิจกรรม "10,000 ปลดปล่อย" เวลา 08.00 น. โดยนัดหมายแนวร่วมให้พบกันที่หมุดคณะราษฎร ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 เพื่อวางมาลัยดอกไม้เคารพคณะผู้อภิวัฒน์สยาม 2475 และวีรชนประชาธิปไตย พร้อมกับร่วมร้องเพลงชาติสยาม 24 มิ.ย. เวลา 09.30 น. เดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อชุมนุมและยื่นร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนิรโทษกรรมฉบับนิติราษฎร์ต่อรัฐบาล อ่านแถลงการณ์แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมืองทุกองค์กร และคาดว่าจะเลิกเวทีประมาณ 22.00 น.
          นางสุดากล่าวถึงการจัดกิจ กรรมว่า เป็นเสียงสะท้อนที่ออกมา
          ถือเป็นเรื่องธรรมชาติ ในสังคมประ ชาธิปไตยย่อมมีการวิพากษ์วิจารณ์ติติง บางครั้งฝ่ายที่เห็นชอบก็ชื่นชม ไม่ชอบใจก็ติติง ถือเป็นเรื่องปกติมาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ส่วนกระแสข่าวแกนนำ นปช.บางส่วนพยายามสกัดมวลชนไม่ให้เข้าร่วมนั้น เรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน หวังว่าคงไม่เกิดขึ้น
          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประ ธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม นายกฯ ต้องให้ความเห็นชอบ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องประกาศจุดยืนและท่าทีที่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะมีคำถามว่า พ.ร.ก.เข้าข่ายขัดรัฐต่อธรรมนูญ มาตรา 184 ที่บัญญัติว่าการออก พ.ร.ก.จะต้องจำเป็น เร่งด่วน และฉุกเฉินหรือไม่ และหาก พ.ร.ก.ผ่านไปได้แล้วก็จะถือเป็นการชิมลาง หรือเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การนิรโทษกรรมผู้ที่กระทำการทุจริตในโอกาสต่อไปหรือไม่
          ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ทางช่องบลูสกาย ถึงกรณีนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ท้า ปชป.ตามที่นายพานทองแท้ ชินวัตร เสนอว่า ทำให้เข้าใจความหมายของคำว่าขี้ข้า และชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองไม่สงบเพราะมีคนอยากพ้นผิด ซึ่งความคิดที่ว่าจะนิรโทษกรรมทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ใช่เรื่องความปรองดอง ทุกคนต้องรับคำตัดสินศาล ซึ่ งจุดยืนยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นถ้าหาก พ.ต.ท.ทักษิณสนใจจริง ก็จะรอฟังจากเจ้าตัวไม่ฟังจากคนอื่น เพียงแค่บอกว่ายอมรับ คำสั่งคำพิพากษาของศาล คำเดียวเท่านั้น เสร็จแล้วเราจะมาช่วยกันเดินหน้าแกะรอยปัญหาว่า ใครสมควรได้รับการนิรโทษกรรม แต่แกนนำใหญ่โดยเฉพาะอย่างน้อยที่สุด 3 คน คือ ตนเอง, พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุเทพ ต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งข้อนี้เสนอมานานแล้ว ส่วนการออกมาของนายนพดลและนายพานทองแท้นั้น เป็นความพยายามลดกระแสปัญหาของเสื้อแดง ที่ไม่ได้รับการนิรโทษกรรมหรือความช่วยเหลือจากคดีความต่างๆ
          "ถ้ารัฐบาลเสนอพระราชบัญ ญัติให้นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการประกาศภาวะฉุกเฉิน พรรคประชาธิปัตย์ยกมือให้เลย แต่ต้องถอนกฎหมายที่จะล้างผิดคนทุจริตออกไปเลย" นายอภิสิทธิ์กล่าว
          ทะแนะโกรธถูดอัดขี้ข้า
          นายนพดลกล่าวเรื่องนี้ว่า นายอภิสิทธิ์พูดจาก้าวร้าว ไม่สร้างสรรค์ ดูหมิ่นดูแคลนคนอื่น ทั้งๆ ที่ไม่ได้โจมตี
          หรือพาดพิงนายอภิสิทธิ์เลย เพียงแสดงความเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมด้วยความบริสุทธิ์ใจ และเห็นว่าคดีความต่างๆ ที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคดีที่เกิดหลังการรัฐประหาร และสอบสวนโดยคนที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ทำไมนายอภิสิทธิ์ถึงไม่แสดงความเห็นอย่างนักการเมืองที่มีวุฒิภาวะ และพูดจาอย่างสร้างสรรค์
          "ผมเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ พ.ต.ท. ทักษิณ ไม่ได้เป็นขี้ข้า แต่ถ้าจะเป็นขี้ข้าใคร ก็ขอเป็นขี้ข้านักการเมืองที่มาจากประชาชน และทำประโยชน์ให้ประชาชนมากมาย ไม่ขอเป็นขี้ข้านักการเมืองที่ดีแต่แกว่งปากไปวันๆ และแพ้เลือกตั้งทุกครั้ง" นายนพดลตอบโต้
          นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเคยเสนอให้นิรโทษกรรมประชาชนที่มีคดีความ โดยให้เหลือ 3 คน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ, นายสุเทพ และนายอภิสิทธิ์ไว้นานแล้ว ทำไม พ.ต.ท.ทักษิณถึงเพิ่งมารู้สึกรู้สาตอนนี้ ซึ่งน่าสังเกตว่า การ โยนข้อเสนอดังกล่าว ประกอบกับที่ พ.ต.ท. ทักษิณใช้ให้นายอุกฤษออกมาตีปี๊บเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองตอนนี้นั้น เพื่อเตะถ่วงกลบเกลื่อนกระแสความผิดหวังของคนเสื้อแดง ที่อยากให้นิรโทษกรรมต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. มองเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดี ยุติธรรม นิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชน ส่วนเรื่องคนเสื้อแดงเสนอ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้รัฐบาลประกาศนั้น ถ้ารัฐบาลกลัวถูกครหา ก็ควรโยนให้สภาฯ ออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อตัดปัญหา คิดว่า 3 เดือนก็จบ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยเหมือนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะชาวบ้านก็ถามจะเอาอย่างไร เราก็ตอบไม่ได้ ถ้าออกมาไม่ว่าอย่างไรจะได้ไปอธิบายบอกกับชาวบ้านได้
          วันเดียวกัน ในการประชุมวุฒิสภา ได้ให้สมาชิกหารือก่อนพิจารณาวาระ โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการโยนหินถามทางเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.ก.นิรโทษกรรม และดูรุนแรงมากขึ้นเมื่อศาลพิพากษาจำคุกนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ซึ่งเรื่องนิรโทษกรรมนั้นเห็นด้วยอย่างยิ่ง  แต่สิ่งที่อยากจะให้ได้บันทึกไว้ในที่ประชุมนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.คดีเกี่ยวกับการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบัน ไม่ควรให้นิรโทษกรรมโดยเด็ดขาด และ 2.คดีเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นตั้งแต่ก่อนและหลังเหตุการณ์ปฏิวัติไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรมโดยเด็ดขาด เช่นกัน.--จบ--

.....ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น