วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

ชงกก.สิทธิอาเซียนแก้'โรฮิงญา'ดีเอสไอลั่น6เดือนผลักดันออก เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖



ชงกก.สิทธิอาเซียนแก้'โรฮิงญา'ดีเอสไอลั่น6เดือนผลักดันออก


          กสม.จ่อนำปัญหาชาวโรฮิงญาสู่เวทีอาเซียน เตรียมตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริง พร้อมลงพื้นที่จัดเวทีเสวนาหาทางออก เตรียมประสานพม่ารับตัวกลับพร้อมผลักดันออกนอกประเทศภายใน 6 เดือน
          ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)วานนี้ (28 ม.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯและอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซีอาร์ )มาชี้แจง กรณีที่นายวินัย สะเล็ม สมาคมโรฮิงญาประเทศไทย พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้ช่วยเหลือเรื่องชาวโรฮิงญาถูกจับกุมที่จ.สงขลาไม่ให้ส่งกลับ
          ประเทศพม่า
          ทั้งนี้ จากการชี้แจงของผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลว่ายอดของชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามาทางทะเลอันดามันจะถูกควบคุมตัวมีทั้งสิ้น 1,486 คน มีเด็กกับผู้หญิงอีกจำนวน 264 คน ซึ่งถูกส่งไปอยู่ในบ้านพักเด็ก และครอบครัวใน5จังหวัดภาคใต้ โดยรัฐบาลได้จัดแพทย์เข้าดูแลเรื่องสุขภาพ และการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่
          อย่างไรก็ตาม นายสมชาย หอมละออ อนุกรรมการสิทธิฯ ได้พยายามที่จะซักถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าในการตรวจสอบมีการมุ่งหาข้อเท็จจริงที่ทำให้โรฮิงญาเดินทางออกจากประเทศต้นทางว่ามาจากสาเหตุใดหรือไม่ และประเทศต้นทางคือประเทศใด และถ้ารัฐบาลดำเนินการกับโรฮิงญาเหล่านี้ในฐานะผู้หลบหนีเข้าเมือง จะทำให้การพูดคุยกับประเทศต้นทางถึงสาเหตุที่ทำให้โรฮิงญาต้องอพยพออกมาทำได้ยาก และสุดท้ายก็จะมีปัญหาเรื่องของการกลับไปประเทศต้นทาง
          นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ผู้อำนวยการกองสังคมกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีการประสานกับองค์กรต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบข้อมูล เพื่อที่ต่อไปจะได้หารือถึงทางออกร่วมกันในระดับนโยบายรัฐบาล และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะดูแลบุคคลดังกล่าวระยะหนึ่งก่อน แต่ไม่ใช่การดูแลจนไม่มีที่สิ้นสุด
          เบื้องต้นให้ถือว่าโรฮิงญาที่เข้ามาเป็น ผู้ลักลอบเข้าเมือง ซึ่งการตรวจสอบสัญชาติ ถิ่นที่มา ประเทศต้นทาง และทางออกของปัญหาว่าที่สุดจะให้เดินทางกลับไปประเทศต้นทาง ไปอยู่ร่วมกับครอบครัวที่อยู่ประเทศที่สาม หรือถ้าไม่มี ก็จำนำไปสู่การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ทั้งหมดจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาซึ่งได้ตั้งกรอบการทำงานไว้เบื้องต้น 6 เดือน และเชื่อการกำหนดสถานะของโรฮิงญาจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการหาทางออก
          ขณะที่นายเอ็ม โกลัม อาบัส  ผู้แทน ยูเอ็นเอสซีอาร์ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและชุมชนในพื้นที่ ที่ดูแลชาวโรฮิงญา และจากการลงไปดูในพื้นที่ทำให้ได้มุมมองในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่มีทักษะในการดูแลปัญหาดังกล่าวในเชิงลึก และการจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืนควรใช้การหารือแบบทวิภาคี พหุภาคี เพราะปัญหา โรฮิงญาไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง
          ด้าน นายหม่อง จอนุ ประธานสมาคม โรฮิงญาประเทศไทย กล่าวว่า การที่รัฐบาลพม่า อ้างว่าโรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นชาวเบงกาลี ของประเทศบังคลาเทศนั้นไม่จริง  โรฮิงญาในรัฐยะไข่เป็นชาวพม่า มีบัตรประชาชนตั้งแต่ปี1983 ทั้งหมดถูกรัฐบาลพม่าปราบปรามมานับ 10 ปี ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ปีที่ผ่านมาหนักมากทำให้ผู้หญิงและเด็กต้องอพยพหนีตายออกมา
          "ทุกวันนี้มีชาวโรฮิงญาหนีออกมาวันละไม่ต่ำกว่า 100 คน มีอีกหลายพันคนที่ถูกซื้อไปขายแรงงานโดยไม่ได้รับเงินอยู่ในเรือประมงกลางทะเล ซึ่งตนอยากขอให้นานาประเทศเรียกร้องไปยังสหประชาชาติให้ส่งกองกำลังสันติภาพเข้าไปในรัฐยะไข่ เพื่อให้การคุ้มครองคนในพื้นที่ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะยังมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้อยู่ต่อไปอีก" ประธานสมาคมโรฮิงญาประเทศไทย กล่าว
          อย่างไรก็ตาม หลังการประชุมนพ.นิรันดร์ ระบุว่าจะนำปัญหาดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อให้นำปัญหาเข้าสู่เวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน และ จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาข้อเท็จจริงโดยจะเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม เบื้องต้นได้ประสานกับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์มนุษยาวิทยาสิรินธรแล้ว รวมทั้งจะลงพื้นที่จัดเวทีเสวนาที่จ.สงขลา เพื่อให้ข้อเท็จจริง สภาพปัญหา เพื่อนำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
          วันเดียวกัน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.ไพศิษฏ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มชาวโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเห็นร่วมกันว่า เป็นการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และ ยังไม่พบว่าเป็นขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากตามกฎหมายค้ามนุษย์จะต้องมีการบังคับใช้แรงงาน ตัดอวัยวะเพื่อนำไปเป็นขอทาน ทารุณเยี่ยงทาส หรือบังคับไปค้าประเวณี
          แต่จากการเข้าช่วยเหลือพบว่าในที่เกิดเหตุเป็นเพียงการนำโรฮิงญามากักขังเพื่อพักรอ ยังไม่มีหลักฐานว่ามุสลิมโรฮิงญาเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปสถานที่ใด ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีความผิดฐานลักลอบหลบหนีเข้าเมือง แต่มีลักษณะเป็นขบวนการนำคนต่างเข้าหลบหนีเข้าเมืองและให้ที่พักพิงแก่คนต่างด้าว
          "ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าจะต้องผลักดันกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาออกนอกประเทศ โดยระหว่างนี้ทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม คือ จัดหาที่พักและอาหาร แต่คงจะต้องผลักดันให้ออกจากประเทศไทยภายใน 6 เดือน ซึ่งทางการไทยจะประสานไปยังประเทศพม่าให้รับคืน" พ.ต.ท.ไพศิษฏ์ กล่าว
          "เผยโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมืองไม่ใช่ค้ามนุษย์"--จบ--
          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

.....เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น