วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556

คอลัมน์: รายงานพิเศษ: โอกาส'แพ้-ชนะ'คดีเขาวิหาร เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖



คอลัมน์: รายงานพิเศษ: โอกาส'แพ้-ชนะ'คดีเขาวิหาร


          หลังนายกฯ เรียกประชุมทีมกฎหมายต่อสู้คดี 'เขาวิหาร' พร้อมฝ่ายความมั่นคง ไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ ไทยจะหยิบกรณีศาลโลกไม่สามารถตัดสินเรื่องเขตแดนได้ เพราะจะตีความนอกกรอบคำพิพากษาเดิมไม่ได้
          รัฐบาลมาถูกทางแล้วหรือไม่ มีความเห็นจากนักวิชาการที่เกาะติดปัญหา พร้อมประเมินโอกาสแพ้-ชนะของไทย
          ชำนาญ จันทร์เรือง
          อ.พิเศษ รัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่
          การมอบหมายให้ทหารรักษาอธิปไตย ให้กระทรวงการต่างประเทศดูแลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถือเป็นบทบาทที่ถูกต้องแล้วของทหาร รวมทั้งของกระทรวงการต่างประเทศ
          ส่วนที่ฝ่ายต้านไม่เห็นด้วยที่ศาลโลกจะวินิจฉัยคำร้องขอของกัมพูชา โดยเห็นว่าเป็นคดีที่มีคำตัดสินไปแล้วนั้น โดยปกติไม่ว่าศาลไหนก็แล้วแต่ ถ้าคดีไม่มีมูลพอที่จะรับฟ้องไว้เขาจะไม่ออกคำสั่งรับคุ้มครองชั่วคราว
          กรณีนี้ศาลโลกออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แสดงว่าคดีมีมูลที่พอจะพิจารณาได้ แต่จะพิจารณาขนาดไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับศาลโลก
          แต่อาจไม่ลึกถึงขนาดต้องกำหนดเส้นเขตแดนเลย ซึ่งปกติศาลจะไม่ทำขนาดนั้น เพราะศาลโลกมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาให้เกิดสันติภาพ คดีใดที่ตัดสินมาแล้วไม่เกิดสันติภาพเขาก็จะไม่ตัดสิน
          เป็นไปได้ว่าอาจตีความบางส่วนเท่านั้น แต่คงไม่ถึงขั้นขีดเส้นเขตแดนใหม่แน่นอน
          ผมคิดว่าอย่างไรศาลก็ต้องตีความแต่จะมากน้อยขนาดไหนเท่านั้นเอง เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลจะไม่มีคำตัดสินใหม่ออกมาอยู่แล้ว
          สิ่งที่ศาลจะทำคือการอธิบายคำพิพากษาให้ชัดขึ้นเท่านั้น และการตัดสินจะวิน-วินทั้งสองฝ่าย เพราะศาลก็จะพยายามให้สมประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย
          เรื่องที่จะเกิดขึ้นเป็นการตีความคำพิพากษา เป็นการอธิบายคำพิพากษา ซึ่งสามารถทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ไม่มีอายุความ
          ไทยต่อสู้ในแง่ที่ว่าสิ่งที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลกในครั้งนี้เป็นการอุทธรณ์ไม่ใช่การตีความ ซึ่งจำเป็นต้องสู้ตรงจุดนี้
          แนวทางการต่อสู้ที่จะทำให้การต่อสู้ออกมาเป็นมรรคผลคือ การยอมรับการประกาศโดยชัดเจนว่าสมัยก่อนไทยกำหนดเขตแดนตรงจุดนั้น ซึ่งกัมพูชายอมรับโดยดุษณี ก็ต้องต่อสู้ในแนวทางนี้ และต้องบอกว่าอยู่มาตั้งนานทำไมถึงยกประเด็นนี้ขึ้นมาในช่วงนี้
          กรณีสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา ตอบโต้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่กระทบต่อรูปคดี เนื่องจากตุลาการผู้พิพากษาระดับศาลโลก เป็นระดับปรมาจารย์ด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ
          ส่วนที่โพลระบุรัฐบาลชี้แจงปัญหานี้ต่อประชาชนน้อยไป ผมมองกลับกันว่ารัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องนี้มากเกินไปด้วยซ้ำ ทะเล่อทะล่าออกตัวเสียก่อน ปกติการดำเนินคดีในศาลจะตอบได้อย่างเดียวก็คือเราทำเต็มที่ เราพยายามทำทุกอย่างแล้ว
          การพยายามอธิบายมากๆ จะไปเข้าทางฝ่ายตรงข้าม การชี้แจงในประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย ประเด็นการต่อสู้ไม่มีที่ไหนเขาทำกัน
          พวงทอง ภวัครพันธุ์
          คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
          มาตรา 60 ของธรรมนูญศาลโลก ไม่ได้ระบุเงื่อนเวลา การยื่นร้องศาลของคู่กรณีจึงไม่มีอายุความและสามารถทำได้โดยลำพัง เช่นกรณีที่กัมพูชายื่นต่อศาลโลกครั้งนี้ก็เป็นไปโดยที่ไทยไม่ได้เป็นภาคีของศาลโลกแล้ว
          แต่เนื่องจากการตีความครั้งนี้ไม่ใช่การเริ่มพิจารณาคดีใหม่ แต่เป็นการตีความคำพิพากษาเดิมที่ยังมีผลผูกพันกับไทย เนื่องจากคดีเดิมไม่ได้ยุติเมื่อไทยยุติการเป็นภาคี
          ถามว่าข้อต่อสู้ของฝ่ายไทยโอกาสจะชนะจะ 50/50 หรือไม่ คาดเดายาก และที่ผ่านมา เราก็คาดการณ์ผิดมาแล้วเมื่อปี 2505
          อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมากว่า 50 ปี กัมพูชาก็ไม่เคยประท้วง จึงต้องดูว่ากัมพูชามีหลักฐานอะไรที่จะนำมาแสดง ช่วงเดือนเม.ย. ที่ศาลโลกเริ่มกระบวนการไต่สวนจะชัดเจนขึ้นว่ากัมพูชาจะมีไม้เด็ดอะไร
          ที่ผ่านมาเคยเตือน เขียนบทความก็หลายครั้ง สิ่งที่พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์มุ่งแต่จะคัดค้านเรื่องปราสาทพระวิหาร ซึ่งเราเสียไปแล้ว การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเสร็จสิ้นแล้ว
          การมุ่งคัดค้านเรื่องดังกล่าวได้นำมาสู่ความขัดแย้ง การปะทะกัน เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องก็ผลักดันให้กัมพูชานำเรื่องกลับไปตีความ เมื่อกลับไปอ่านก็จะเห็นว่ามีจุดอ่อนของเราด้วยเหมือนกัน
          การพยายามเล่นกระแสชาตินิยมจนผลักเรื่องนี้เข้าสู่ศาลโลก ถือเป็นวิธีการที่ไม่ชาญฉลาด หากแยกแยะและมุ่งไปเรื่องพื้นที่ 4.6 ตร.ก.ม. ที่ไทยยังมีสิทธิ์ที่จะอ้างอำนาจอธิปไตยและการบริหารจัดการร่วมกัน ป่านนี้ก็คงไม่ต้องมานั่งใจตุ๊มๆ ต้อมๆ ว่าจะเสียดินแดน
          ส่วนการประชาสัมพันธ์ หรือการชี้แจงกับประชาชน มองว่ารัฐบาลนี้ชี้แจงเองไม่ได้ นาย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ซึ่งแนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะพูดดีหรือไม่ดีแค่ไหน ฝ่ายต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ฟัง
          และความสามารถในการอภิปรายของนายสุรพงษ์เองก็ต่ำ อธิบายไม่เป็น คนที่จะออกมาอธิบายเรื่องนี้ต้องรู้จักใช้คำและภาษาที่ดีกว่านี้ ต้องอธิบายได้ว่าการต่อสู้โอกาสของเราเป็นอย่างไร
          รัฐบาลอาจตั้งทีมชี้แจงหรือไม่ก็ได้ แต่คนที่จะชี้แจงเรื่องนี้ต้องรู้เรื่องนี้อย่างละเอียด มีความสามารถ มีความน่าเชื่อถือในสายตาประชาชนทั่วไป ส่วนตัวคิดว่าฝ่ายที่เหมาะสมจะออกมาชี้แจงคือ ทีมกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศ
          โดยหลังการแถลงคำชี้แจงต่อศาลโลกในเดือนเม.ย. ต้องออกมาชี้แจง
          บุญเรือง คัชมาย์
          นักวิชาการท้องถิ่นอีสานใต้
          อ.พิเศษ ม.ราชภัฏสุรินทร์
          การให้ฝ่ายทหารดูแลเรื่องอธิปไตย กระทรวงการต่างประเทศดูแลเรื่องความสัมพันธ์ เป็นสิ่งดีที่ให้แต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเอง ส่วนการต่อสู้คดี รัฐบาลมีนักกฎหมายและทีมงานที่คอยดูแลอยู่ ไม่ได้หยุดนิ่ง
          การตอบโต้ระหว่างสมเด็จฮุนเซน กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่าจะมีผลต่อคดีในศาลโลก เพราะต่างคนต่างก็แสดงความคิดเห็นของตนเอง
          แนวทางที่ไทยจะนำไปใช้สู้คดี ทั้งกรณีศาลโลกไม่มีอำนาจตัดสิน หรือพิพากษาเรื่องเขตแดน สืบเนื่องจากคำพิจารณาเมื่อปี 2505 ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องดังกล่าว
          ผมมองว่าหากจะนำกรณีนี้ไปโต้แย้งอาจไม่สามารถทำได้ เพราะเท่ากับไทยไม่ยอมรับศาลโลก เพราะโดยใจความแล้วนั้นหน้าที่ของศาลโลกก็เพื่อพิจารณาปัญหาทุกอย่าง
          ผมว่าศาลโลกทราบดีว่ากรณีดังกล่าวเป็นความขัดแย้ง คำตัดสินหรือพิจารณาอาจจะสร้างปัญหาขึ้นได้ จึงอาจจะยังไม่พิจารณา แต่หาทางประนีประนอม หรืออาจเปิดทางให้ภาคีที่สามหรือกลุ่มประเทศอาเซียนเข้ามาช่วยหาทางออก
          ส่วนประเด็นที่กัมพูชาละเมิดเอ็มโอยู โดยสร้าง
          กระต๊อบในพื้นที่พิพาทสามารถยกไปคุยได้และศาลโลกต้องรับฟัง อาจมีผลบ้างไม่มากก็น้อย
          อย่างไรก็ตามขณะนี้เราไม่ได้สู้คดีว่าปราสาทพระวิหารเป็นของใคร แต่ต้องตีความเรื่องพื้นที่รอบนอก หรือพื้นที่ข้างเคียงว่าอยู่ตรงไหนกันแน่
          ส่วนการทำความเข้าใจและชี้แจงต่อประชาชน รัฐบาลก็มีการทำงานอยู่ แต่ฝ่ายค้านมักออกมาขัดขวางทำให้ประชาชนสับสน ไขว้เขว ทางที่ดีผมเสนอให้ผู้ดูแลเรื่องนี้ทำงานไป ส่วนคนอื่นๆ คอยช่วยเพิ่มเติม เพราะความผิดพลาดที่ผ่านมามักเกิดจากการโจมตีของอีกฝ่าย
          หากคำตัดสินออกมาแล้วไม่เป็นประโยชน์ต่อไทย เราก็จำเป็นต้องฟังศาล เพราะจะเอาตัวออกห่างจากศาลโลกไม่ได้ การต่อสู้ครั้งนี้ต้องหาหนทางที่ประนีประนอม ต้องช่วยกันหาทางว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยสันติวิธี
          ทุกวันนี้ หนทางของสันติภาพมันมีอยู่ แต่ไม่เดินกัน
--จบ--
          --ข่าวสด ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--

.....ข่าวสด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น