มุมวิพากษ์ ‘แก้ รธน.50’
| |
รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าววิพากษ์ในเงื่อนประเด็นเหล่านี้อย่างน่าสนใจว่า...รัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา และมีผู้ที่ต่อต้านไม่ยอมรับจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อโจมตีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นเรื่อง ที่น่าแปลกใจว่าเมื่อใดก็ตาม ที่ฝ่ายพลังประชาธิปไตยพยายามจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นเรื่องยากทุกครั้ง “ความไม่เป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ถูกโจมตีมีหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องการขยายอำนาจตุลาการมากเกินไปจนครอบงำองค์กรอิสระทั้งหมด การ ให้สิทธิตุลาการในการยุบพรรคการเมือง และลงโทษกรรมการพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำความผิดการกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกลากตั้งครึ่งสภาและมีอำนาจเท่าเทียมวุฒิ-สมาชิกเลือกตั้งการมีบทเฉพาะกาลต่ออายุตุลาการ และการมีมาตรา 309 รับรองความชอบธรรมของคณะรัฐประหารตลอดกาล แต่กลุ่มพลังที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่ามาตราเหล่านี้เป็นความถูกต้องจึงคัดค้านการแก้ไขเสมอ” กระทั่งครั้งล่าสุดที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และรัฐสภา ได้พิจารณาผ่านวาระที่ 2 มาแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เหลือเพียงการผ่านวาระที่ 3 แต่ในที่สุดการลงมติก็ต้องค้างเติ่ง เพราะวันที่ 1 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจสั่งระงับการลงมติวาระที่ 3 โดยอ้างว่าได้รับคำร้องว่าการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของรัฐสภาอาจเป็น “การกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 68 แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า...การพิจารณาของรัฐสภาไม่เป็นไปตามข้อหานั้น แต่ศาลก็แนะนำให้มีการลงประชามติเสียก่อน พรรคร่วมรัฐบาลจึงถอยและ ยังไม่ได้มีการผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนชี้แจงว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเกินเลยและแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ พรรคร่วมรัฐบาลควรเดินหน้าลงมติวาระที่ 3 เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ชะลอเวลา โดยตั้งคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล เป็นประธาน ในที่สุดเดือนธันวาคมก็เป็นที่ชัดเจนว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จะแก้ปัญหาด้วยการยืดเวลาต่อไป โดยเสนอให้มีการทำประชามติตามมาตรา 165 ที่ระบุว่า “กรณี ใดที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศ ชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้” เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยอ้างการเสนอทำประชามติคือ เพื่อให้เป็นการดำเนินตาม แนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญนำเสนอ และเพื่อไม่ให้ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ในสังคมไทยอีกต่อไป จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะผลักดันให้มีการลงประชามติในประเด็นใด และลักษณะใด ซึ่งจะต้องมีการจัดทำรายละเอียดก่อนทำประชามติ แต่ไม่ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคร่วมรัฐบาลจะเสนอให้ลงประชามติในลักษณะ ใด กลุ่มฝ่ายต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังคัดค้านด้วยข้อหาเดิมๆ คือ กล่าวหาว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นไปเพื่อฟอกผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำจดหมายเปิดผนึกระบุว่าการเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเป็นการทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันล้มประชามติ!!! ที่มา: http://www.siamturakij.com | |
.....เว็บไซต์สยามธุรกิจ
|
วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556
มุมวิพากษ์ ‘แก้ รธน.50’ เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น