วันพุธที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2556

ซื้อเวลาต้มเปื่อยแดง รัฐบาลเมินรับลูก‘นิติราษฎร์’29มกราฯเจ็บ‘อีกนานแค่ไหน’ เมื่อ ๓๐ ม.ค.๕๖




 แดงอิสระขนได้แค่พันคน บังอาจบี้รัฐบาลรับลูกนิติราษฎร์ออกนิรโทษกรรม “เหลิม” ขึ้นเวทีพูดความจริง  “เอาใจกันทำไม่ได้” เพราะต้องดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เจรจาจบ! ขยายเวลาไปถึงเมษายน แกนนำทำอะไรไม่ได้พามวลชนกลับพร้อมตัดพ้อ “ต้องรออีกนานแค่ไหน”  ขณะที่ “ณัฐวุฒิ” ปัดแนวร่วม 29 มกราฯ ไม่เกี่ยว นปช. “ยิ่งลักษณ์” เมินฐานเสียง ดอดให้กำลังใจตำรวจแทน ก่อนจะชิลๆ ต่อที่จามจุรีสแควร์
    เมื่อเช้าวันอังคาร กลุ่มคนเสื้อแดงในนาม “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันบริเวณหมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า   ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและขจัดความขัดแย้ง ที่เป็นข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ ให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี 
นางสุดา รังกุพันธ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วม 29 มกราฯ   กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อยื่นร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ที่กลุ่มนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ เช่น ให้ผู้ที่มีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ้นจากความผิด ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549-9 พ.ค.2554 
เธอกล่าวว่า 6 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีการยึดอำนาจจากคณะรัฐประหาร ทำให้ประเทศเกิดวิกฤติทางการเมือง รวมทั้งส่งผลให้ประเทศเสียหายมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนถูกทำร้าย จับกุม และมีบางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งนี้ เฉพาะปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ถึง 1,857 ราย
ต่อมาเวลา 10.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ไปเป็นตัวแทนรับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากนายกฯ ติดภารกิจทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ร.ต.อ.เฉลิมได้รับหนังสือพร้อมกับแจกันดอกไม้ ก่อนที่จะขึ้นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ของกลุ่มผู้ชุมนุม
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า รัฐบาลกับคนเสื้อแดงเป็นพวกเดียวกัน ถ้าไม่มีคนเสื้อแดงวันนั้น จะไม่มีตนที่มาเป็นรองนายกฯ ในวันนี้ แต่ครั้งนี้ไม่ได้ปราศรัยเพื่อการปลุกระดม แต่มาเพื่อยุยงให้พี่น้องเรียกร้องขอความเป็นธรรม เมื่อตนได้รับหนังสือแล้วจะนำไปมอบและหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในทันที
เขาบอกกับคนเสื้อแดงว่า ก่อนหน้านี้ตนได้เขียนกฎหมายไว้ 6 มาตราเพื่อนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ยกเว้นผู้สั่งการให้สั่งฆ่าประชาชนที่จะไม่ได้รับอานิสงส์ จากนั้นเมื่อนายกฯ ได้มอบหมายให้ตนติดตามผลคดีของกลุ่ม นปช. จึงได้เรียกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ มาเพื่อขอสำนวนการสอบสวน  ซึ่งมีหลายคดี เช่น คดีนายพัน คำกอง ศาลตัดสินว่าเสียชีวิตมาจากกระสุนเจ้าหน้าที่ และมีการแจ้งข้อหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และผู้อำนวยการ ศอฉ. ขณะนั้น ในข้อหาจ้างวาน ใช้ ฆ่าผู้อื่นเรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการละเว้นโทษให้กับผู้ที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาด
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวชี้แจงอยู่บนเวทีนั้น นายไม้หนึ่ง ก.กุนที หนึ่งในแกนนำ ได้ถามว่ารัฐบาลจะมีคำตอบให้ได้เร็วที่สุดเมื่อไหร่ และจะนำเข้าที่ประชุม ครม.เลยหรือไม่ เนื่องจากทางกลุ่มต้องการให้รัฐบาลเร่งปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทันที และเมื่อการประชุม ครม.เสร็จสิ้น จะสามารถให้คำตอบได้เวลา 18.00 น.หรือไม่ พวกเราอยากให้เป็น ร.ต.อ.เฉลิม หรือตัวแทนจากรัฐบาลเดินทางไปให้คำตอบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หมุดคณะราษฎร ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า
“หากรัฐบาลนิ่งเฉย หรือไม่ให้คำตอบภายในเวลาที่ทางกลุ่ม 29 มกราฯ กำหนด กลุ่มผู้ชุมนุมจะเดินทางมาปิดทำเนียบรัฐบาล และตั้งเวทีปราศรัยถาวร” เขากล่าว พร้อมกับเสียงตะโกนของคนเสื้อแดงว่า 29 มกรา. คือวันปลดปล่อย ออกมาเป็นระยะ
“เหลิม” กล่อมเสื้อแดง
    ร.ต.อ.เฉลิมชี้แจงว่า อย่าเพิ่งเรียกว่าเป็นนักโทษทางการเมือง เนื่องจากศาลยังไม่ได้ตัดสินว่าเป็นผู้กระทำความผิด รับปากว่าเมื่อรับเรื่องแล้วจะขอนำเรื่องดังกล่าวไปอ่านและศึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่คิดช่วย แต่มันมีหลักนิติรัฐ นิติธรรม ดังนั้นขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมใจเย็นๆ เพราะตนจะตัดสินคนเดียวไม่ได้ ต้องนำไปหารือ
    “หากตัดสินใจได้คนเดียว ไอแค็กเดียวก็จบแล้ว แต่มันมีขั้นตอนให้กฤษฎีกาอ่าน ผมจะเร่งรัดให้เร็วที่สุด เขาให้มารับเรื่องอย่างเดียว ทำหน้าที่เป็นบุรุษไปรษณีย์ ดังนั้นขอไปอ่านไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจหน่อย ถ้าทำได้จะทำทันที” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิมพยายามชี้แจงและเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยประโยคที่ว่า “อย่าเรียกว่านักโทษการเมือง เพราะศาลยังไม่ได้ตัดสินเป็นผู้กระทำผิด” นั้น ทำให้ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ส่ายหน้า และตะโกนออกมาว่า “ถ้าไม่ผิด แล้วติดคุกทำไม ทำไมรัฐบาลไม่ปล่อย ทำไมรัฐบาลไม่เร่งช่วยเหลือประชาชน”
เป็นที่สังเกตได้ว่าปฏิกิริยาของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจคำชี้แจงของ ร.ต.อ.เฉลิม เนื่องจากไม่สามารถให้ความชัดเจนได้   ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมพยายามขอลงจากเวทีหลายครั้ง โดยอ้างว่าต้องรีบนำข้อเรียกร้องทั้งหมดไปแจ้งให้ทางรัฐบาลรับทราบ แต่แกนนำกลุ่มไม่ยอม พยายามคาดคั้นเอาตำตอบจาก ร.ต.อ.เฉลิมให้ได้ แต่ ร.ต.อ.เฉลิมได้กล่าวตัดบทและเดินลงจากเวทีทันทีด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยประจำตัว ร.ต.อ.เฉลิม ได้นำรถส่วนตัวมาจอดรอรับเพื่อขับพาไปร่วมประชุมครม. แต่ทาง ร.ต.อ.เฉลิมปฏิเสธที่จะขึ้นรถ และเดินทางไปยังตึกบัญชาการ ซึ่งระหว่างเดินอยู่ได้แจ้งให้นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นำข้อเรียกร้องไปแจ้งกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์หลังรับหนังสือจากกลุ่มแนวร่วม 29 มกราฯ ว่า ได้ชี้แจงไปแล้ว เชื่อว่าคงจะทำให้เริ่มเข้าใจ แต่ความรู้สึกของคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็จะแสดงออกมาอย่างนี้ เรื่องนี้ไม่เคยเห็นมาก่อนที่จะใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญนิรโทษฯ หรืออภัยโทษ เพราะตนเคยได้รับผลพวงจากการอภัยโทษเมื่อปี 2524 
“เรื่องทั้งหมดรัฐบาลทำไม่ได้ แต่เป็นเรื่องของสภาที่จะพิจารณา ซึ่งจะมีขั้นตอน โดยรัฐบาลจะพิจารณาดูว่าช่องทางไหนทำได้ก็จะมีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา และประสานกับคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เพื่อขอความเห็นชอบจากพรรค ซึ่งจะยื่นได้หลายช่องทาง โดยรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย แต่เนื้อหาสาระต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม เรื่องอย่างนี้จะใช้อารมณ์ไปหักล้างกฎหมายไม่ได้ แต่อะไรที่จะให้ความเป็นธรรมกับคนเสื้อแดงหรือภาคส่วนอื่น รัฐบาลมีหน้าที่ต้องทำและดำเนินการ แต่ต้องเป็นไปตามกลไก”
    รองนายกฯ กล่าวต่อว่า ตนไม่เคยเห็นการออกพระราชกำหนดในระหว่างการประชุมสภา เรื่องอย่างนี้ ต้องเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือพระราชบัญญัติปรองดอง แต่หากไปออกเป็นพระราชกำหนด ก็จะมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ฟันธงได้ว่าสิ่งที่ทำไปโมฆะ เสียเปล่า ต้องยึดหลักเกณฑ์ ทั้งนี้ไม่ปฏิเสธว่าพี่น้องเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตยจนมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่และพรรคเพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาล แต่การปกครองดูแลพี่น้องประชาชนต้องดูแลทั้งประเทศและยึดหลักกฎหมาย
    “เงื่อนไขที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ตัวแทนรัฐบาลไปชี้แจงรายละเอียดอีกครั้งในเวลา 18.00  น.นั้น มันเป็นไปไม่ได้ ใครก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีไหนก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลต้องเน้นความเสมอภาค” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว และย้ำว่า “เรื่องแบบนี้มันต้องพูดความจริง จะไปเอาใจกันทำไม่ได้ จะทำได้อย่างให้ได้ข้อยุติในเวลา 18.00 น.ในวันเดียว แค่อ่านเอกสาร 7-8 ซองยังสรุปไม่ได้เลย ส่วนที่จะมีการหารือกับกฤษฎีกาเพื่อนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ครม.หรือไม่นั้น ก็เป็นหน้าที่ของกฤษฎีกา”
ปูซื้อเวลานิรโทษฯ
    ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเบื้องต้นได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นตัวแทนรับข้อเสนอ เท่าที่ทราบมีหลายแนวทางที่ส่งมาให้รัฐบาล โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คงจะรับข้อเสนอทั้งหมดรวบรวมส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูข้อดี-ข้อเสียต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการออกนิรโทษกรรม ระหว่างการออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติเหมาะสมกว่ากัน  นายกฯ กล่าวว่า กลับไปเหมือนเดิม ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จะต้องช่วยดูว่ามีแนวทางอย่างไรให้เกิดความสงบมากกว่า นี้คือจุดมุ่งหมายที่อยากขอ ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมยื่นคำขาดขอคำตอบรัฐบาล 6 โมงเย็นวันนี้นั้น อย่างที่เรียน มีขั้นตอนตามกฎหมาย และต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาก่อน เราคงต้องรับเรื่อง และต้องเรียนจริงๆ ว่าในขั้นตอนกฎหมายเราไม่สามารถที่จะตอบได้ทันที แต่จะรับเรื่องนี้ทั้งหมดส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
    ซักว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า “ยังไม่ทราบ ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดู เพราะมีหลายรูปแบบ   ต้องดูในรายละเอียด อย่างที่เรียน เราเร่งในการเอาข้อมูลต่างๆให้กฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อดี-ข้อเสียต่างๆ และดูว่าจะมีแนวทางออกอย่างไร ซึ่งแนวทางออกนั้นต้องว่าไปตามขั้นตอนของฝ่ายนิติบัญญัติด้วย โดยเราต้องทำหน้าที่รวบรวมก่อน ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปศึกษาก่อน”
    ถามว่า คนเสื้อแดงกลุ่มดังกล่าวกำลังกดดันรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ  กล่าวว่า ถือว่าเป็นในแง่ของอุดมการณ์ และเป็นแนวทางที่นำเสนอรัฐบาล ทุกหน่วยงานไม่ว่ากลุ่มไหนส่งเรื่องมา รัฐบาลคงต้องรับเรื่องทั้งหมดไปดำเนินการตามขั้นตอน ตามกฎหมายต่อไป 
ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เพราะทุกท่านมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ รัฐบาลมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เรียกร้องต่างๆ รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และเป็นไปอย่างสงบ   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 16.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์   ได้เดินตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อป้องกันการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วม 29 มกราฯ เสร็จจากนั้นนายกฯ ได้ เดินทางไปยังอาคารจามจุรีสแควร์ โดยตรวจดูการสัญจรของประชาชนบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน ก่อนที่นายกฯและคณะได้ร่วมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารฟูจิ
    ทั้งนี้ นายกฯ ได้โพสต์ภาพถ่ายในเฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra พร้อมคำบรรยายว่า “นายกฯ ยิ่งลักษณ์ แวะให้กำลังใจตำรวจที่มาดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล” ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ที่สนับสนุนรัฐบาล โดยหลายคนเข้าไปแสดงความเห็นตัดพ้อ เช่นว่า  “ทำไมเวลาพี่น้องเสื้อแดงอยู่กันเต็มไปหมดทำไมไม่มารับหนังสือที่พวกเราไปยื่นให้ล่ะคะท่านนายกฯ พวกเราเป็นคนเลือกท่านมานะ”
29 มกราฯ รอต่อไป
กลับไปที่การชุมนุมของ “แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ที่ปักหลักอยู่ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อรอคำตอบของรัฐบาล โดยเวลา 18.30 น. พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ได้เดินทางไปพบกับผู้ชุมนุมเพื่อทำความเข้าใจ
    พล.ต.ต.ธวัชพยายามชี้แจงว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าใจในปัญหาและมีความห่วงใยกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องนี้ ซึ่งได้เรียกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและชี้แจงให้รีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ ขั้นตอนในการดำเนินการนั้น จะแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมงไม่ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถดำเนินการได้เอง หากสามารถทำได้เองก็คงจะมีการปล่อยตัวตั้งแต่การประกาศนโยบายไปแล้ว
“สิ่งที่กลุ่ม 29 มกราฯ เสนอมานั้น รัฐบาลจะมองเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบก่อน แล้วค่อยเสนอกลับมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนนำเข้าสู่รัฐสภา” พล.ต.ต.ธวัชกล่าว และว่า หลังจากนี้จะประสานผ่านทางนางสุดา รังกุพันธ์ แกนนำฯ เพื่อนำความคืบหน้ามาชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อไป ขอยืนยันว่าจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
นางสุดากล่าวว่า ตนเข้าใจว่ารัฐบาลต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เราจึงกำหนดเวลาให้รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องนี้จนถึงสมัยประชุมนิติบัญญัติ ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ และยืนยันว่ากลุ่ม 29 มกราฯ จะกลับมารวมตัวชุมนุมใหม่อีกในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อต้องการที่ฟังคำตอบว่าจะมีการนำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ พล.ต.ต.ธวัชชี้แจงข้อเท็จจริงบนเวทีอยู่นั้น มีเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอใจตลอดเวลา อีกทั้งตะโกนถามว่า “ต้องรออีกนานเท่าไร กี่ปี กี่เดือน”  ซึ่งแกนนำบนเวทีต้องคอยห้ามปรามอยู่ตลอดเวลา
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกิจกรรมของกลุ่ม 29 มกราฯ ไม่ได้เป็นกิจกรรมของ นปช. เพียงแต่ประชาชนที่มาชุมนุมเป็นพี่น้องคนเสื้อแดงที่มีอุดมการณ์เรื่องประชาธิปไตย  ส่วนจุดยืนของจุดยืนของ นปช.จะสนับสนุนร่างใดนั้น เราเห็นว่าร่าง พ.ร.ก.นิรโทษกรรมน่าจะดำเนินการได้ และจะทำการได้ด้วยรวดเร็ว จึงยังมีจุดยืนนี้อยู่
ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นแกนนำในการที่จะล้มรัฐบาลอย่างแน่นอน และคาดว่ากระแสข่าวลือดังกล่าวเป็นการปล่อยข่าวจากฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการเสี้ยมให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง นปช.และรัฐบาล
“ผมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย และระหว่าง นปช.กับพรรคเพื่อไทยก็มีการพูดคุยหารือกันมาโดยตลอด แม้จะมีเรื่องที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็สามารถพูดคุยหาทางออกได้เสมอ ในส่วนของพระราชกำหนดนิรโทษกรรมนั้น อยู่ระหว่าง เตรียมการหารือกับนายกรัฐมนตรี”
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์อยากให้คนเสื้อแดงรับทราบว่า พรรคไม่ขัดข้อง และเห็นด้วยกับแนวทางนิรโทษกรรม ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องไม่มีการพ่วงคดีอาญาและคดีการทุจริตเข้ามาด้วย โดยเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้อง
“ไม่ควรเอากลุ่มคนเสื้อแดงมาเป็นตัวประกัน เพื่อที่จะนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และหากรัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามแนวคิดดังกล่าวก็สามารถมาคุยกับฝ่ายค้านได้ พร้อมให้การสนับสนุน โดยต้องคุยกันในจุดที่เห็นตรงกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางการปรองดองที่ไม่สามารถเดินหน้าได้ เพราะติดขัดอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการเอาประโยชน์ของบางคนมาเกี่ยวข้อง แต่หากรัฐบาลยังดึงดันจะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรตั้งหลักใหม่ เดินหน้าแนวทางการปรองดองจากจุดร่วมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังรอฟังคำตอบจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในการรับคำท้าของตนเกี่ยวกับการที่จะไม่นิรโทษกรรม พ.ต.ท. ทักษิณ แลกกับไม่นิรโทษกรรมให้ตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แต่ต้องเดินทางกลับประเทศไทยมาสู้คดี
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของแนวร่วม 29 มกราฯ ว่า เป็นการกดดันรัฐบาล เพราะวันนี้ไฟลนก้นแกนนำแล้ว บางคนศาลตัดสินและอุทธรณ์ไม่ได้แล้วก็ต้องถูกจับคุก คดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องรับออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้แกนนำเท่านั้น ไม่ใช่กลุ่มประชาชนที่เหลือประมาณ 30  คน เนื่องจากบางคนที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศาลได้ตัดสินและบางคนก็พ้นโทษแล้ว ซึ่งกลุ่มที่เหลืออยู่ก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษก็ได้
"ขอฟันธงว่ารัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมอย่างแน่นอน โดยจะนำเข้าสภาก่อนที่จะแปรญัตติพ่วงให้กับแกนนำทุกคน รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ  แต่ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วย และไม่ต้องการเรื่องนี้ เพราะจะเป็นจุดด่างให้พรรคประชาธิปัตย์” นายนิพิฏฐ์กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น