ขายชาติซ้ำรอยปี05 ‘ภุมรัตน์’ชี้มี‘สายลับอิทธิพล’เปลี่ยนนโยบายเอื้อเขมร
หลังนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำแถลงการณ์ของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาแถลงซ้ำเพื่อโจมตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในกรณีปราสาทพระวิหาร ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำตัวเป็นโฆษกให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ไม่อยากให้มีการตอบโต้กันไปมา เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขอฝากเอาไว้ อยากให้คำนึงตรงนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกลายเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่ นายกฯ ตอบว่า เราไม่อยากให้ลุกลามไปเป็นเกมการเมือง แต่ต้องเรียนในแง่ขอความร่วมมือมากกว่า ในการพูดคุยอะไรต่างๆ ควรจะมีหลักฐานต่างๆ ที่ชัดเจน ไม่ใช่ระบบการพูดลอยๆ เพราะประเด็นพวกนี้ละเอียดอ่อน
ซักว่านายอภิสิทธิ์ยังตอบโต้สมเด็จฮุน เซน น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า อย่างที่เรียน ถ้ามีหลักฐานก็เรียนเชิญได้เลย ความสัมพันธ์อันดีถือเป็นประโยชน์ที่เราจะได้มีโอกาสเจรจาต่างๆ เรื่องการค้า ขณะเดียวกันเรื่องข้อพิพาททางกฎหมาย เราต้องเดินหน้าในการปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่ อันนี้แยกจากกัน
"การต่อสู้คดีก็คือการต่อสู้คดี เราไม่มีการลดละอยู่แล้ว เราต้องทำอย่างเต็มที่ อันนี้เป็นหน้าที่ คือภารกิจหลักอยู่แล้ว ไม่มีใครเอาความสัมพันธ์ส่วนตัวมาทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติเสียไปหรอก"
ทั้งนี้ วันที่ 25 มกราคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เชิญนายสุรพงษ์ , นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย, พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ผู้นำเหล่าทัพ ทีมทนายปราสาทพระวิหาร พร้อมทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานในเรื่องคดีปราสาทพระวิหารที่ทำเนียบรัฐบาล และสอบถามความคืบหน้าข้อมูลที่จะนำไปชี้แจงให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันที่ 15-19 เมษายนนี้
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นห่วงอะไรเลย มีแต่เพียงผู้สื่อข่าวห่วง บริเวณปราสาทพระวิหารทหารไทยและกัมพูชายังพูดคุยกันรู้เรื่อง ปัญหาเล็กน้อย แก้ไขร่วมกันก็จบ ไม่ต้องถึงระดับข้างบน ทั้งนี้ขอร้องสื่อว่าอย่าไปเขียนว่าเป็นห่วง เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีอะไรเลย
"วันนี้ผมก็ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ พล.อ.เตีย บัณห์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมของกัมพูชา ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร คุยกันง่าย”
ถามย้ำว่า ไม่รู้สึกห่วงคำตัดสินของศาลโลกใช่หรือไม่ เขากลับย้อนถามกลับว่า “คุณถามอย่างนี้ได้อย่างไร มันต้องห่วงกันทุกคน ใครจะไม่ห่วง เขาห่วงกันทุกคน ไม่มีใครอยากให้แพ้คดี ความเป็นห่วงนั้นอยู่ในใจไม่แสดงออก ไม่เขียนมาให้มีปัญหาทำให้ทุกคนเห็นภาพลบมาโดยตลอด ผมอยากให้ทุกคนคิดอยู่ในใจ"
ซักว่า ถ้าศาลโลกตัดสินในเชิงว่าไทยแพ้คดี การสู้รบก็ไม่เกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ไม่มี ถ้าแพ้ ให้เกิดขึ้นมาก่อน ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น ขอไม่พูดอะไร
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลว่า มีการอนุมัติแต่งตั้งให้ พล.ท.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ เจ้ากรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าคณะเผยแพร่ข้อมูลในส่วนของกระทรวงกลาโหม ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศได้แต่งตั้งให้นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะ
"ปึ้งศักดิ์" อยู่ฝั่งไหนกันแน่
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของนายสุรพงษ์ว่า เป็นเรื่องที่น่าหดหู่มากที่ รมว.การต่างประเทศของไทย อยู่ดีๆ มาทำหน้าที่เป็นโฆษกให้กับรัฐบาลกัมพูชา ซึ่งเป็นคู่พิพาทของไทยในคดีเกี่ยวกับดินแดนในศาลโลก ซึ่งตนเห็นว่าคนเป็น รมว.การต่างประเทศ ไม่น่าจะขาดสำนึกว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไรขนาดนี้ และรัฐบาลเองก็มัวแต่ห่วงประเด็นการเมือง มากกว่าสนใจงานสำคัญคือการปกป้องประโยชน์ของประเทศ
“จะคิดอย่างไรที่รัฐมนตรีต่างประเทศมาขยายความงานแถลงของกัมพูชา ทั้งที่เวลาที่กัมพูชาแถลงแล้วกระทบกับประเทศไทย เช่น กล่าวหาว่าประเทศไทยไปรุกรานอธิปไตย แต่รัฐมนตรีกลับไม่ตอบโต้ แต่เวลากัมพูชาด่ารัฐบาลที่แล้วก็เอามาขยายความ ผมก็เลยไม่รู้ว่าตกลงเป็นโฆษกรัฐบาลกัมพูชา หรือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย แล้วอย่างนี้จะให้คนมั่นใจได้อย่างไรว่าไปต่อสู้กับกัมพูชาในศาลแล้วจะอยู่ข้างไหน” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ผลประโยชน์เรื่องก๊าซและน้ำมันในอ่าวไทยนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าบันทึกความเข้าใจปี 2544 (MOU 2544) นั้น มีความไม่ถูกต้องในเรื่องของหลักการการขีดเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ จากที่ได้มีการยกเลิกกัมพูชาต่างหากเป็นฝ่ายต้องการที่จะเจรจาเพื่อหาความตกลง และทางออก เพราะกัมพูชานั้นมีความต้องการที่จะเร่งรีบเพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซและน้ำมันในอ่าวไทยเป็นอย่างมาก จนเป็นเหตุให้ในการพบปะอย่างไม่เป็นทางการตามที่นายกฯ ฮุน เซน กล่าวอ้าง
"ผมขอท้าว่า หากนายฮุน เซน มีหลักฐานว่ามีการเจรจาใดๆ ที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเอาเรื่องส่วนตัวมาก่อนเรื่องของชาติ ก็ขอให้เปิดเผย แต่อย่าออกแถลงการณ์ไร้สาระให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องเอาเวลาราชการ ภาษีของคนไทย ไปแปลคำพูดอย่างนี้ออกมาอีก" นายชวนนท์ระบุ
ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วันเดียวกันนี้ เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน และกลุ่มสยามสามัคคี ได้ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางของไทยต่อการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยปราสาทพระวิหาร”
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา ได้อภิปรายเป็นคนแรก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ได้ประเมินผลการวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามคำฟ้องของกัมพูชา คาดว่าน่าจะออกมา 3 แนวทาง คือ 1.พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม. มีความเกี่ยวข้องกับแผนที่มาตรา 1 ต่อ 2 แสน 2.พื้นที่รอบปราสาทจะต้องมีการกำหนดอาณาเขตกันต่อไป และ 3.ให้มีการปักปันเขตแดนโดยผ่านกลไกคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ข้อถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากหากมีการนำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน มาใช้กำหนดอาณาเขตทางบกทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออธิปไตยของไทย เท่ากับเราจงใจสละอธิปไตย เพราะที่ผ่านมาเราใช้แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 5 หมื่นมาโดยตลอด
แนะทำประชามติ
ด้าน ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตทนายผู้ประสานงานคณะทนายฝ่ายไทยในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี 2505 ได้อภิปรายว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่อยู่ดีๆ การขอให้ตีความคำพิพากษาที่ผ่านมา 50 ปีมาแล้ว เพราะปกติต้องไม่เกิน 1-2 ปี ดังนั้น นอกจากแนวทางต่อสู้ในเรื่องเขตอำนาจของศาลโลกที่เป็นปัญหาแรกที่ศาลต้องพิจารณา และผู้ที่เป็นจำเลยหากไม่ยินยอมก็ต้องมีการคัดค้านอำนาจศาลแล้ว ยังต้องนำคำพิพากษาแย้งของเมื่อปี 2505 ขึ้นมาอ้างอิงถึงด้วย เพราะบางประเด็นคำพิพากษาหลักไม่ได้พูดถึง โดยเฉพาะเรื่องแผนที่ที่คำพิพากษาหลักไม่ได้กล่าวว่าถูกหรือผิด แต่คำพิพากษาแย้งมีระบุชัดเจนว่าแผนที่ที่ใช้อ้างอิงนั้นผิด
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า พลังของประชาชนจากช่วงนี้ไปจนถึงศาลโลกตัดสินออกมาแล้ว จะมีความหมายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อถึงเวลาที่ศาลพิพากษาออกมากระทบอธิปไตยของเรา ประชาชนคนไทยก็ต้องตะโกนดังๆ ว่าไม่ปฏิบัติตาม และที่สำคัญต้องเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า เมื่อถึงเวลานั้นรัฐบาลไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจโดยลำพัง ต้องมีการสอบถามประชาชนเสียก่อน โดยจัดให้มีการประชามติ และก็ไม่ต้องรอให้มีการชุมนุมก่อนด้วย
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา ในฐานะตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำข้อมูลที่อ้างว่านำมาจากเว็บไซต์วิกิลีกส์ ซึ่งเป็นรายงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 15 พ.ค.2550 พร้อมกล่าวว่า เป็นรายงานในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่ามีการตกลงผลประโยชน์พลังงานระหว่าง 2 ประเทศในทางลับช่วงก่อนการรัฐประหาร โดยข้อมูลดังกล่าวระบุถึงเจ้าหน้าที่ทูตของทางการสหรัฐ ทำหนังสือรายงานไปยังรัฐบาลว่า ในระหว่างที่หอการค้า US-ASEAN ไปเยือนกัมพูชา รมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ได้กล่าวกับตัวแทนของบริษัทยักษ์ใหญ่ว่า “รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศเกือบตกลงกันได้ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในไทย และถ้ามีอีก 6 เดือนตกลงสำเร็จแน่”
นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ กล่าวตอนท้ายการเสวนาว่า ระหว่างที่เจรจาไม่ได้ ทำไมเราไม่ให้ชุมชนที่อยู่ตรงนั้นของทั้งสองประเทศไปคุยกันว่าเขาจะพัฒนาร่วมกันได้อย่างไร ตรงนั้นน่าจะเป็นคำตอบมากกว่า ส่วนวิธีอื่นเราลองมาหมดแล้ว ทั้งการเจรจาของสองฝ่าย สู้รบจนเสียเลือดเสียเนื้อ ไปเจรจาในระดับอาเซียนก็เคยมีมาแล้ว ไปยูเอ็นหรือศาลโลกก็ไปแล้ว
นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เขียนบทความลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 24 ม.ค. ถึงปัญหาเขาพระวิหาร โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า "คนขายชาติ พ.ศ.2556" เนื้อหาได้ย้อนไปถึงคดีจารกรรมของฝรั่งเศสในประเทศไทย ที่จารชนฝรั่งเศสล้วงตับไทยเอาไปให้เขมรสู้ในศาลโลก เมื่อปี 2505
บทความระบุว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้ปรารภว่า เวลาทูตฝรั่งเศสมาพบปะหารือข้อราชการ ทำไมทูตฝรั่งเศสรู้ตื้นลึกหนาบางของไทยดี ทั้งที่บางเรื่องเป็นการประชุมลับ หน่วยข่าวจึงต้องรับไปทำต่อ อีกท่านหนึ่งบอกว่า มีผู้หวังดีแจ้งให้ทราบว่า ข้าราชการในทำเนียบนายกรัฐมนตรีบางคนซึ่งมีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยผิดปกติ จึงได้มีการขยายผลสืบสวน จนพบเครือข่ายจารกรรมฝรั่งเศสขยายตัวอย่างกว้างขวาง
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองฝรั่งเศส ซึ่งอำพรางตัวมาเป็น “เลขานุการโท” ในสถานทูตฝรั่งเศส เป็นผู้วางแผนปฏิบัติการทั้งหมด โดยใช้คนไทยเชื้อชาติฝรั่งเศส 2 คน คือ ยอนนา ชอง ปอล ปรั๊ก และ มิแชล ลามาช ซึ่งพูดภาษาไทยได้ โดยเฉพาะคนหลังเรียนที่โรงเรียนฝรั่งแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มีเพื่อนฝูงเป็นคนไทยมากมาย เป็น “สายลับหลัก” จนนำไปสู่การ “รีครูต” ข้าราชการไทยในกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องมาเป็น “สายลับปฏิบัติการ” คอยส่งความลับทางราชการให้
ข้าราชการไทยที่ถูกจัดตั้งเป็นสายลับเท่าที่พิสูจน์ทราบได้มี 6 คน คนหนึ่งทำงานอยู่ในทำเนียบนายกรัฐมนตรี อีกคนทำงานอยู่กองกลาง กระทรวงมหาดไทย อีกคนทำงานอยู่ในสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทย อีกคนทำงานในสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีตำรวจสองคน คนหนึ่งทำงานอยู่ฝ่ายสารบรรณ กรมตำรวจ และอีกคนเป็นเวรนำสาร ทั้งหมดล้วนเข้าถึงเอกสารลับของทางราชการทั้งสิ้น
เป็นที่น่าตกใจที่จากการตรวจสอบภายหลังการจับกุม พบว่า ในช่วงปี 2501–2508 สำเนาโทรเลขที่รับ-ส่งระหว่างกรุงเทพฯ กับสถานทูตไทยในต่างประเทศ ที่หลุดรั่วไปถึงฝรั่งเศสมีจำนวนไม่น้อยกว่า 576 ฉบับ ส่วนหนึ่งในนั้นเป็นความลับเกี่ยวกับท่าทีของไทยในการต่อสู้คดีเขาพระวิหาร
วันนี้ฝรั่งเศสและกัมพูชาไม่จำเป็นต้องสร้างจารชน (Secret Agents) เช่นในอดีต สิ่งที่ฝรั่งเศสและกัมพูชาน่าจะได้ไว้แล้ว เราเรียกว่า “สายลับอิทธิพล” (Agent of Influence) ที่ไม่จำเป็นต้องซุกซ่อนตัวเหมือนเช่นจารชน แต่เป็นคนที่มีตำแหน่งใหญ่โต เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงสังคม และอาจมีรูปและข่าวออกในหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง บางคนอาจเป็นรัฐมนตรีหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลในการกำหนด เปลี่ยนแปลงนโยบายที่อาจเอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายตรงข้าม หรือแอบตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับฝ่ายตรงข้ามโดยประชาชนไม่รู้
บทความทิ้งท้ายว่า ผลของคดีปี 2556 จะซ้ำรอยกับปี 2505 เพราะมีคนไทยขายชาติหรือคนไทยหัวใจเขมร หรือไม่อย่างไร.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น