ถึงเวลา"นิรโทษกรรม"?!
| |
รายงานพิเศษ ประเด็นนิรโทษกรรมถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการเคลื่อนไหวใน 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.กลุ่มนิติราษฎร์ เสนอนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุม ไม่เกี่ยวกับระดับแกนนำ 2.กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล สนับสนุนร่างของนิติราษฎร์ 3.กลุ่มนปช. เสนอพ.ร.ก.นิรโทษกรรม และ 4.คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) เสนอพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ทำให้เกิดคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะตรากฎหมาย ดังกล่าว และขอบเขตของผู้ได้รับอานิสงส์ควรครอบคลุมใคร เหตุการณ์ใด วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นด้วยกับหลักการร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่เสนอโดยคอ.นธ) ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน โดยให้ส.ส. และส.ว.ดำเนินการ ซึ่งเป็นร่างที่นิรโทษกรรมเฉพาะบุคคลที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองหรือแสดงออกทาง การเมือง ไม่ว่าการฝ่าฝืนกฎหมายห้ามชุมนุม การต่อสู้ขัดขืน การทำร้ายร่างกายหรือทรัพย์สินผู้อื่นในช่วง 19 ก.ย.2549-10 พ.ค.2554 แต่ไม่รวมนักการเมือง แกนนำ หรือผู้มีบทบาทนำคนออกมาชุมนุม หลักการนี้จะคล้ายๆ กับพ.ร.ก.นิรโทษกรรมที่นปช.เสนอ เกือบทุกฝ่ายเห็นด้วยกับหลักการนี้ที่ต้องการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเป็นหลักการที่มาถูกทางแล้ว คลายความขัดแย้งในสังคมได้ เพราะผู้ที่มาชุมนุมทางการเมืองอย่างสุจริตใจนั้น เพียงต้องการแสดงออกทางการเมือง เช่นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือไม่เห็นด้วยกับการทำงานของรัฐบาลในห้วงเวลานั้นๆ เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว บางคนก็ต้องการเพียงไปฟังหรือร่วมชุมนุมเท่านั้น เพียงแต่ว่าไปอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ชุลมุนขึ้น ทำให้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดไปด้วย แต่ผมตั้งข้อสงสัยไว้ว่าหากบุคคลธรรมดาที่กล่าวมานั้น ไปร่วมชุมนุมโดยกระทำการใดที่ร้ายแรง เช่น ทำร้ายร่างกายผู้อื่นอย่างรุนแรง หรือทำลายทรัพย์สินเสียหายอย่างรุนแรง จะนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ เพราะร่างพ.ร.บ.นี้ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องอาญา เพียงแต่กล่าวไว้ว่าการนิรโทษกรรมนี้ไม่ได้ตัดสิทธิที่ภาคเอกชนหรือประชาชนที่จะเรียกร้องความเสียหายทางแพ่ง ซึ่งการดำเนินคดีทางแพ่งอย่างเดียวคงยังไม่พอ ควรมีวิธีการอื่นๆ ด้วย เช่น เสนอให้ดำเนินคดีแต่รอลงอาญา หรือขอโทษและแสดงความรับผิดชอบ เหตุการณ์การชุมนุมผ่านมานานแล้ว ผู้ชุมนุมที่ได้รับเคราะห์กรรมความไม่เป็นธรรมยังมีอยู่เยอะ คนที่รอการเยียวยายังมีอยู่ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะนำเรื่องนี้มาคุยกัน การเสนอนิรโทษกรรมที่ผ่านมามักมีปัญหาหรือข้อขัดแย้ง เนื่องจากพ่วงนักการเมืองหรือแกนนำเข้ามารับประโยชน์ จึงเป็นปัญหาเหมือนการเสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่เกิดความตึงเครียด เพราะนักการเมืองเล่นไม่ซื่อและไปอ้างว่าเป็นการปรองดอง ผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบยกเข่ง สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ แกนนำ"ปฏิญญาหน้าศาล" การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองควรทำตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและเรียกร้องการเลือกตั้ง ต้องถูกจองจำถึง 2 ปีกว่า ตามตัวเลขศูนย์ศปช. มีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาทางการเมืองถึง 1,857 คน ถูกดำเนินคดีในศาลถึง 59 แห่งทั่วประเทศ จนกรณีอากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ที่ถูกจำคุกด้วย ม.112 แม้พยายามยื่นขอประกันตัวแต่ก็ไม่ได้ กระทั่งเสียชีวิตในคุก จนมาถึงกรณีนายวันชัย รักสงวนศิลป์ นักโทษการเมืองอีกคนที่เสียชีวิตในคุก จะให้รอไปเรื่อยๆ 1 ปี หรือ 1 วาระของรัฐบาลไม่ได้ วันนี้ประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ยิ่งรัฐบาลต้องการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ยิ่งต้องสร้างบรรยากาศให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนทุกคนโดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่อยู่ในคุก ออกมามีส่วนร่วมกำหนดวาระการแก้รัฐธรรมนูญ หาทางออกให้ประเทศร่วมกัน ประโยชน์การนิรโทษกรรมไม่ได้ตกอยู่กับคนแค่ 1,857 คนที่ถูกดำเนินคดีเท่านั้น แต่เกิดกับคนทุกคนที่ต้องการเห็นสังคมเป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองไม่คืบหน้า อาจเพราะรัฐบาลกังวลความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอีก หลังถูกเพ่งเล็งอย่างหนักจากฝ่ายตรงข้าม ทั้งเรื่องโหวตวาระ 3 และทำประชามติ ซึ่งถูกโยงว่าช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกอบกับความกังวล คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจนทำให้ติดล็อกไปหมด อีกส่วนคือรัฐสภาไม่กล้าหาญพอ เห็นได้จากการปัดตกร่างแก้ไข ม.112 โดยไม่เปิดโอกาสประชาชนผู้เข้าชื่อชี้แจงเหตุผล กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมด้วยเครือข่ายญาตินักโทษการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยต่างๆ ในนาม "แนวร่วม 29 มกรา ปลดปล่อยนักโทษการเมือง" จึง ผลักดันร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง ฉบับนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นอิสระจากนักการเมือง มีความชอบธรรม เพราะผูกพันกับทุกองค์กรของรัฐ เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนได้ถกเถียง กรอบเวลาที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอมาในร่างนี้ เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภา 9 พ.ค.2554 โดยการนิรโทษกรรมเน้นว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ขณะที่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีภายใต้การประกาศใช้พ.ร.กฉุกเฉินให้นิรโทษกรรมทันที ส่วนกรณีอื่นๆ ให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมาพิจารณา ระหว่างพิจารณาให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนทันที พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เหตุการณ์สลายการชุมนุม 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ถือว่าเริ่มคลี่คลาย ลดความเคลือบแคลงสงสัยจากสังคมไปบ้างแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็เริ่มเดินหน้า ผ่านการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบสวนหาข้อเท็จจริงร่วมกับตำรวจและอัยการ ทำสำนวนส่งฟ้องศาล และศาลทยอยตัดสินแล้วว่าการเสียชีวิตของคนเสื้อแดงที่ร่วมชุมนุมเกิดจากฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ คดีนายพัน คำกอง นายชาญณรงค์ พลศรีลา นายชาติชาย ชาเหลา และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่ศาลยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ กลุ่มนปช.จึงเสนอพ.ร.ก.นิรโทษกรรมเพื่อช่วยเหลือนักโทษการเมืองอีกหลายรายที่ยังถูกคุมขัง ซึ่งบางรายก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว คดีความก็ไม่คืบหน้า ผมเห็นด้วย เพราะประชาชนที่ติดคุกนานเป็นปี เท่ากับว่าชีวิตเขาถูกทำลาย ไม่สามารถทำมาหากินได้ ครอบครัวอาจแตกแยก และหากศาลตัดสินว่าจำเลยไม่มีความผิด เราจะทำอย่างไร ก็ต้องให้เขาได้รับสิทธิเยียวยาจากสิ่งที่สูญเสียไป ข้อเสนอกลุ่มนิติราษฎร์ก็คล้ายกัน คือช่วยเหลือนักโทษการเมืองโดยยกเว้นระดับแกนนำ นับเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ แต่การให้อำนาจคณะทำงานทั้ง 5 คนนั้น จะเชื่อถือได้อย่างไร หากการทำงานไม่ต่างจากองค์กรอิสระ เราจะทำอย่างไร การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมของหลายๆ กลุ่มในช่วงเวลานี้นับว่าเหมาะสม แต่เหมาะสมเพียงแค่เหตุการณ์เฉพาะหน้า ทำได้เพียงบรรเทาความขัดแย้งในระยะสั้น เพราะภาพใหญ่อย่างพ.ร.บ.ปรองดองที่จะแก้ความขัดแย้งในระยะยาวยังค้างอยู่ในสภา รัฐบาลซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญที่ต้องผลักดันกลับไม่กล้าเดินหน้าอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากเกรงว่าจะถูกล้ม เช่น กรณีการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 และการทำประชามติ รัฐบาลก็ไม่กล้าเดินหน้า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปโอกาสที่จะจบความขัดแย้งอย่างราบรื่นคงยาก ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายยังหาทางบรรจบกันไม่ได้ อีกทั้งมองว่าหลักเกณฑ์การสร้างความปรองดองคือต้องค้นหาความจริง อย่างที่กระบวนการยุติธรรมกำลังเดินเหน้า เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด และต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้น หน้า 3 ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod | |
.....เว็บไซต์ข่าวสด
|
วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2556
ถึงเวลา"นิรโทษกรรม" เมื่อ ๒๙ ม.ค.๕๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น