วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"บทเรียนตำรวจ"7ขั้นตอนสลายม็อบ 24 พฤศจิกายน 2555 เวลา 20:04 น.




"บทเรียนตำรวจ"7ขั้นตอนสลายม็อบ

"บทเรียนตำรวจ"7ขั้นตอนสลายม็อบ
โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ
พลันที่เกิดเหตุวุ่นวายระหว่างตำรวจที่รักษาแนวกั้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยามเมื่อวันที่ 24 พ.ย.บริเวณสะพานมัหวานรังสรรค์ที่ยื้อยุดจะเข้ามาในพื้นที่หวงห้ามที่ตำรวจประกาศห้ามเข้าเด็ดขาด กระทั่งเลยเถิดถึงกับมีการตัดลวดหนามที่กั้นและใช้กำลังคนผลักดันเจ้าหน้าที่ทั้งทุบตี จนเป็นเหตุให้มี “แก๊สน้ำตา” ถูกขว้างเข้ามากลางฝูงชนจำนวนหลายสิบลูก ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือประชาชนก็ได้รับบาดเจ็บกันอย่างถ้วนหน้า
ข้อสงสัยก็ดังกระหึ่มโลกออนไลน์ว่า สิ่งที่ตำรวจทำด้วยการใช้แก๊สน้ำตานั้น เป็นขั้นตอนที่ควบคุมฝูงชนที่เหมาะสมกับจังหวะแล้วหรือยัง เพราะฝ่ายถูกกระทำอย่างผู้ชุมนุมก็บอกว่าไม่ได้รับการเจรจาก่อนขว้างแก๊สน้ำตา หรือประกาศใดๆ จากทางตำรวจ ขณะเดียวกันทางตำรวจเองก็ยืนยันชัดเจนว่ามีการบอกกล่าวไปก่อนแล้ว
เพราะด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่ระบุไว้ถึงการจัดการตามหลักสากล ที่ควรจะปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงจากเบาไปหาหนัก คือ
1.จัดรูปขบวนตั้งแนวแสดงกำลังที่อาจทำให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนแนวคิด
2.ใช้โล่ดัน หากผู้ชุมนุมจะบุกรุกเข้ามา
3.ใช้น้ำฉีด
4.ใช้เครื่องกระจายเสียงระดับสูง (ทำให้หูดับ)
5.ใช้แก๊สน้ำตา
6.ใช้กระบอง
7.หากจำเป็นจริงๆ ต้องใช้กระสุนยาง
หรือที่สำคัญที่สุดในขั้นตอนเหตุใดตำรวจจึงใช้แก๊สน้ำตาเข้าควบคุมฝูงชนในเหตุการณ์ช่วงเช้าของการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ม็อบเกิดเดือด มีการเคลื่อนกำลังคนเตรียมจะเปิดพื้นที่ให้ได้ ส่อว่าเหตุการณ์จะรุนแรง แม้พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะระบุว่าเป็นความชอบธรรมที่สามารถปฏิบัติได้โดยการใช้แก๊สน้ำตา พร้อมยืนยันว่าเป็นการทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและหลักสากลทุกประการ
กระนั้นก็ตาม เมื่อม็อบลุกฮือสุ่มเสี่ยงต่อการรุนแรงอีกครั้งในช่วงบ่าย กำลังตำรวจก็พลันกลับลำทันเน้นให้ใช้ความอดทนอดกลั้นเป็นพิเศษตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ฝากย้ำฝากเตือนไปถึงตำรวจที่อยู่ในพื้นที่ ให้ทนต่อแรงยั่วยุจากผู้ชุมนุม ก่อนสุดท้ายจะไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ ตามมาเช่นช่วงเช้า
เพราะความนิ่งของตำรวจที่สยบความเคลื่อนไหวของม็อบ ทำให้แรงยั่วยุทั้งคำหยาบคาย การกระตุ้นให้ต้องลงมือรุนแรงเป็นอันตกไป กำลังตำรวจเพียงแต่ยื้อไว้ในจุดที่ “ห้ามเข้า” เท่านั้น
น่าสำคัญที่ว่าหากตำรวจยังคงยื้อยุดในช่วงเช้า ทนต่อแรงกดดันด่าทอต่างๆ นานา เหตุการณ์บาดเจ็บจากพิษของแก๊สน้ำตา และการยั่วยุจนทำให้สองฝ่ายเข้าปะทะกัน คงไม่เกิดขึ้น ภาพที่แย่ๆ ก็ไม่ได้แพร่ออกไปทั่วโลก ถือเป็นบทเรียนและงานอีกชิ้นที่ตำรวจต้องพิจารณาหากจะมีม็อบมาเยือนอีกครั้งในโอกาสหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น