วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

เมื่อ กกต.เล่นกับไฟ เมื่อ 5 มี.ค.57

เมื่อ กกต.เล่นกับไฟ


 มติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้เห็นชอบอนุมัติงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 20,000 ล้านบาท ตามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/2557 เสนอมานั้น มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะหากพิจารณาจากท่าทีของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ที่เคยแสดงทัศนะผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้เทียบเคียงกับการที่ กกต.อนุมัติงบกลาง 712 ล้านบาทนั้น เรียกว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างยิ่ง เพราะนายสมชัยระบุชัดแจ้งว่า การอนุมัติงบ 712 ล้านบาทไม่ได้แปลว่างบกลาง 20,000 ล้านบาทต้องอนุมัติ เนื่องจากวงเงินทั้ง 2 แตกต่างกัน คือ โดยวงเงิน 712 ล้านบาท เป็นการค้างจ่ายในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มสุดท้ายที่มีปัญหาตกสำรวจ และขอตัดจ่ายหนี้ครั้งเดียว ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป รวมถึงไม่มีผลต่อการหาเสียง เนื่องจากเป็นหนี้เก่าที่เกี่ยวข้องกับชาวนาเพียง 3,000 รายเศษ แต่วงเงิน 20,000 ล้านบาทที่ขอมาเป็นงบกลางใหม่ เป็นชาวนาในฤดูการผลิต 2556/2557 และเป็นเงินที่นำไปใช้หมุนเวียน หากขายข้าวหรือออกพันธบัตรได้จะเอามาคืน และวงเงินดังกล่าวเกี่ยวข้องกับชาวนาจำนวนนับแสนรายทั่วประเทศ
นายสมชายยังทิ้งท้ายโดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 มาตรา 181 ไว้ว่า ประเด็นที่ กกต.ต้องพิจารณาคือ 1.เป็นความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ 2.ก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไปหรือไม่ และ 3.เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่
แต่แล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ. นายสมชัยก็ได้โพสต์ข้อความตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น หลังจาก กกต.มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 20,000 ล้านบาทให้รัฐบาล โดยระบุว่า เพื่อสร้างเหตุผลความชอบธรรม 1.คำขอดังกล่าวเป็นการขอใช้งบกลางในกรณีฉุกเฉินจำเป็น ซึ่งอยู่ในอำนาจอนุมัติของ กกต. 2.วงเงิน 20,000 ล้านบาทที่ให้เป็นการยืม ไม่ใช่จ่ายขาด และต้องนำเงินจากการขายข้าวมาคืน 3.วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณประมาณการแล้วว่า ถ้าให้ยืมออกไปและสามารถมาใช้คืนในเดือนพฤษภาคมจะไม่มีผลกระทบต่อวงเงินที่ต้องสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินทุกกรณีที่เกิดขึ้น 4.ได้รับคำยืนยันจากอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศว่า รายได้จากการจำหน่ายข้าวอยู่ที่ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน ตัวเลขที่ได้จากการระบายข้าว 3 เดือน คือ 24,000 ล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาคืนงบกลางตามกำหนด 5.กำหนดให้ใช้คืนภายใน 31 พฤษภาคม 2557 เป็นการประมาณการในด้านกรอบเวลาว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีฐานะเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดต่อไป 6.ส่วนประเด็นที่อาจจะมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่ กกต.เห็นว่า วงเงินดังกล่าวจะถูกนำไปชำระหนี้ใบประทวนที่ค้างจ่ายของเดือนพฤศจิกายน 2556 จำนวน 20,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการยุบสภา จึงไม่มีผลต่อการเลือกตั้ง
เรียกว่าเป็นการตอบคำถามแบบเบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำเสมือนจะไม่มีข้อโต้แย้ง แต่หากพินิจพิเคราะห์จากคำชี้แจงของนายสมชัยดูเหมือน กกต.จะมีการตีความ และขยายขอบเขตอำนาจในมาตรา 181 วงเล็บ 2 และ 3 อย่างน่าคิด เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (2) ระบุว่าชัดว่า ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน และ (3) ระบุว่า ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ซึ่งในวงเล็บ 2 นั้นชัดแจ้งว่าเป็นอำนาจที่ กกต.มีสิทธิ์และอำนาจเต็ม แต่ในวงเล็บ 3 นั้น กกต.ต้องพิจารณาใคร่ครวญอย่างรอบคอบว่าการอนุมัตินั้นจะมีผลผูกพันต่อ ครม.ชุดใหม่หรือไม่ ซึ่งงานนี้ กกต.เล่นเกมซื้ออนาคต รวมทั้งยังตีความการใช้งบประมาณว่าเป็นการยืมไม่ใช่จ่ายขาดอีกต่างหาก
ที่น่าสนใจคือ การอ้างอิงตัวเลขจากสำนักงบประมาณว่าไม่กระทบกระเทือนต่องบกลางเอย หรือแม้แต่ข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศในการจำหน่ายข้าวในสต็อกรัฐบาลในแต่ละเดือนว่าจะได้เท่านั้นๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งมวลก็เป็นการคาดการณ์อนาคตที่ไม่มีความแน่นอนมารับประกันทั้งสิ้น หากเผอิญระยะเวลา 3 เดือนของการกู้ยืมเงินงบประมาณที่ไม่เคยมีมาก่อนครั้งนี้ได้เกิดเหตุไม่คาดฝัน ทั้งจากน้ำมือมนุษย์และธรรมชาติขึ้นมา งบกลางมีไม่เพียงพอใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ยังไม่นับรวมถึงการระบายสต็อกหากไม่เป็นไปตามแผน เงินได้ไม่ครบขึ้นมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
แต่ที่น่าข้องใจเป็นอย่างยิ่งคือ กรณีตีความว่าไม่มีผลต่อการเลือกตั้งแต่ประการใด ทั้งที่การเลือกตั้งก็ยังอยู่ในช่วงลูกผีลูกคนอยู่ โดยการอ้างว่าเงิน 20,000 ล้านบาทนั้นจะนำไปจ่ายเงินใบประทวนค้างจ่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการยุบสภานั้น กกต.แน่ใจได้อย่างไร เพราะอาจมีการซิกแซ็กจ่ายค่าข้าวของชาวนาในพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของรัฐบาลก่อนก็เป็นได้ ด้วยการอ้างว่าการขึ้นทะเบียนใบประทวน ที่สำคัญการประเมินว่าในช่วงเดือน พ.ค.นั้นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงอยู่ในสถานะรักษาการนั้นก็น่าคิดอย่างยิ่งว่าใช้อะไรเป็นหลักประกัน
    เข้าใจว่า กกต.มีแรงกดดันอย่างยิ่งในการพิจารณางบประมาณก้อนดังกล่าว เพราะหากไม่อนุมัติก็อาจถูกรัฐบาลโยนบาปกลายเป็นเครื่องเซ่นสังเวยของชาวนาที่กำลังทุกข์ร้อน และได้แปรเปลี่ยนเป็นความเดือดดาลในปัญหาค่าข้าวที่รัฐบาลค้างจ่ายได้ แต่เมื่อ กกต.เลือกเล่นกับไฟโดยการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว กกต.เองก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา หากไฟจำนำข้าวร้อนลวกมือจนถึงขึ้นอาจทำให้ต้องพ้นเก้าอี้ก็เป็นได้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น