วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

จับตาคดีถวิลเขย่าเก้าอี้ปู 27 March, 2014


จับตาคดีถวิลเขย่าเก้าอี้ปู 27 March, 2014 


ไม่ต้องเลียบค่ายไหว้ครู ปมเด้ง "ถวิล" ส่อทำ "ปู" หลุดจากเก้าอี้นายกฯ ศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุม 2 เมษายน พิจารณารับคำร้องหรือไม่ ฟันเมื่อไหร่รัฐบาลไปทั้งยวง เกิดสุญญากาศการเมืองทันที "ยิ่งลักษณ์" ส่งทนายไป ป.ป.ช. ขอคัดสำเนาโกงข้าวเพิ่ม กวาดไม่เลือกแม้กระทั่งคำแถลงนโยบายของตัวเอง 
    นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีการพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) หรือไม่ จากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี เนื่องจากคณะตุลาการงดการประชุมในสัปดาห์นี้
           เขากล่าวว่า คำร้องดังกล่าวประธานวุฒิสภาได้ส่งมาถึงสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่าในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสัปดาห์หน้า (2 เม.ย.) คงจะได้มีการพิจารณา
    ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 268 บัญญัติว่า "นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ"
    ส่วนรัฐธรรมนูญมาตรา 266 บัญญัติว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้
    (2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
    (3) การให้ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง
    สำหรับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) เมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 และมาตรา 269 
    เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลปกครองสูงสุดเคยวินิจฉัยในคดีย้ายนายถวิลไว้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการประจำของราชการส่วนกลางและราชการส่วนภูมิภาค ย่อมมีอำนาจดุลพินิจในการบริหารงานบุคคลหมุนเวียนสับเปลี่ยนบทบาทหรือการทำหน้าที่ของข้าราชการเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาได้ 
    แต่ในการใช้อำนาจดุลพินิจดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายแล้ว ยังจะต้องมีเหตุผลรองรับที่มีอยู่จริงและอธิบายได้ ซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อ้างเหตุผลในการโอนผู้ฟ้องคดีว่าผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพ มีข้อบกพร่องหรือไม่สนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะถือได้ว่ามีเหตุผลอันสมควรที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งโอนได้ตามความเหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ" 
    นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เปิดเผยว่า ทางรัฐบาล โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการกับนายถวิล ฐานวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมืองด้วยการขึ้นเวทีหรือร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวเป็นแกนนำกลุ่ม กปปส.ได้ แต่รัฐบาลต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่านายถวิลได้กระทำความผิดด้วยการละเมิดมาตรา 82 (9) ว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการประจำ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 โดยจะต้องมีการคณะกรรมการและกระบวนการสอบสวนอย่างถูกต้องโปร่งใส และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ตามมาตรา 82 มีโทษสูงสุดคือ ตัดเงินเดือนประจำ ตามด้วยการว่ากล่าวตักเตือนและภาคทัณฑ์เท่านั้น โดยไม่ถึงขั้นขับหรือไล่ออกจากราชการแต่อย่างใด
    เธอเผยว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียน หรือตั้งกรรมการสอบเรื่องแบบนี้มาก่อน ว่ามีข้าราชการประจำวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง หรือผิดมารยาททางการเมือง อย่างเช่นไปขึ้นเวที เดินขบวน หรือไปร่วมชุมนุมทางการเมือง จึงค่อนข้างเป็นกังวลในการพิจารณา
    ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และกรรมการ กปปส. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ป.ป.ช.มูลยิ่งลักษณ์ต้องพ้นสภาพทั้ง ครม.!” ว่า คนเสื้อแดงในนาม กวป. รุกกดดันและคุกคาม ป.ป.ช.แรงขึ้น หนักขึ้น ทั้งบนดินและใต้ดินในขณะนี้ เพราะเครือข่ายระบอบทักษิณคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า โอกาสที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทุจริตโครงการจำนำข้าวนั้นเป็นเรื่องที่ยากมากๆ แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 
    นายสุริยะใสกล่าวว่า ที่สำคัญนโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า ครม.อาจต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ไม่ใช่ความผิดเฉพาะตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์คนเดียว ในฐานะหัวหน้า ครม.เท่านั้น สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของนายพิชิต ชื่นบาน หัวหน้าทีมกฎหมายรัฐบาล ที่ระบุว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภาและ ครม. ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง
       นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์อ้างว่าต้องอยู่ในตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญว่า อย่าเลือกปฏิบัติตามมาตราที่เป็นประโยชน์กับตัวเองเท่านั้น เพราะการยอมรับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ การดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลต้องทำทั้งสิ้น ที่สำคัญคือการแสดงออกของ กปปส. เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องไม่คิดว่าเป็นศัตรู ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้ง 309 มาตรา ไม่ใช่อ้างเฉพาะบางมาตราเพื่อรักษาอำนาจ
    ที่สำนักงาน ป.ป.ช. วันเดียวกันนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอคัดสำเนาเอกสารพยานหลักฐานเพิ่มเติ่มเพื่อใช้ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว  กล่าวภายหลังคัดสำเนาเพิ่มเติมว่า เอกสารที่ทำหนังสือขอคัดสำเนาเพิ่มเติมมีทั้งหมด 19 รายการ แต่เอกสารที่ได้เพิ่มเติมมาทั้งหมด 280 แผ่น ได้แก่ 1.รายงานการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต 2.สำเนาคำแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ 3.สำเนาคำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2555 4.กระทู้ถามเรื่องการตรวจสอบการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และปัญหาโครงการรับจำนำข้าว โดย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ถามนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 5.สำเนาเอกสารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ 6.สำเนาหนังสือกระทรวงการคลัง ลับ ที่ กค.0201/17315 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ซึ่งไม่ตรงกับ 19 รายการที่ขอไป
    ถามว่า หากไม่ได้เอกสาร 19 รายการที่ขอไป จะมีผลต่อการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือไม่ นายนรวิชญ์ กล่าวว่า 19 รายการที่ขอไป เป็นเอกสารตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหา เพราะฉะนั้นถ้า ป.ป.ช.บอกว่าไม่มีเอกสารดังกล่าว คณะทำงานก็จะหารือกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อไป มันจะต้องเริ่มตรงที่ว่าโครงการนี้มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ บิดเบือนกลไกตลาดหรือไม่ และมีหลักฐานอะไร ถ้ามีหลักฐานแล้วนายกรัฐมนตรีไปรับรู้ตรงไหน เมื่อไร แล้วถึงจะต้องเอาหลักฐานมาดูว่ารับรู้ตรงไหน จึงจะสามารถกล่าวหาได้ว่านายกรัฐมนตรีละเว้น เราจะได้ชี้แจงได้ถูก 
    "สมมุติว่าบอกว่ามีหลักฐานเรื่องการทุจริตจีทูจีแล้วนายกรัฐมนตรีไปรับรู้ตรงไหน จะได้ชี้แจงได้ตรงประเด็น เพราะอะไรที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่มีข้อเท็จจริงของข้อกล่าวหา เราก็ไม่สามารถที่จะชี้แจงได้” นายนรวิชญ์กล่าว
          นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.วันที่ 27 มี.ค.นี้ มีวาระที่คณะทำงานรับผิดชอบสำนวนการไต่สวนถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนทน์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยมิชอบ จะรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้รับทราบถึงความคืบหน้าการไต่สวนกรณีดังกล่าว ส่วนจะสามารถลงมติชี้มูลนายสมศักดิ์ได้เลยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. แต่หากเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอจะชี้มูลได้อาจจะให้คณะทำงานกลับไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น