วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

เหลว!งม‘โบอิ้ง’ในมหาสมุทร 27 March, 2014

เหลว!งม‘โบอิ้ง’ในมหาสมุทร 27 March, 2014 


 ดาวเทียมยุโรปพบวัตถุลอยน้ำ 122 ชิ้นในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ที่อาจเป็นซากชิ้นส่วนจากโบอิ้ง 777 แต่การบินค้นหาในวันพุธยังคว้าน้ำเหลว ขณะญาติผู้โดยสารประเดิมจ้างบริษัทกฎหมายจากสหรัฐฟ้องเรียกค่าเสียหายจากมาเลเซียแอร์ไลนส์และโบอิ้งแล้ว
    เมื่อวันที่ 26 มีนาคม รัฐบาลมาเลเซียแถลงความคืบหน้าของปฏิบัติการค้นหาเครื่องบินโดยสารของมาเลเซียแอร์ไลนส์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 ที่หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม ว่ามีภาพถ่ายจากดาวเทียมชุดใหม่ที่ตรวจพบวัตถุลอยน้ำ 122 ชิ้นในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้กินพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองเพิร์ทของออสเตรเลียทางทิศตะวันตกราว 2,557 กิโลเมตร วัตถุบางชิ้นมีขนาดใหญ่ถึง 23 เมตร
    ฮิชัมมุดดิน ฮุสเซน รักษาการรัฐมนตรีคมนาคม กล่าวว่า ภาพเหล่านี้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม โดยบริษัท แอร์บัสดีเฟนซ์แอนด์สเปซ จากฝรั่งเศส ส่งมอบให้มาเลเซียเมื่อวันที่ 25 มีนาคม และมาเลเซียได้ส่งต่อไปยังศูนย์ประสานงานและกู้ภัยออสเตรเลียที่เมืองเพิร์ทเมื่อวันอังคาร และถึงแม้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัตถุน่าสงสัยเหล่านี้เป็นชิ้นส่วนจากเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีอาร์หรือไม่ แต่ก็ถือเป็นเบาะแสใหม่ที่จะช่วยนำทางปฏิบัติการค้นหาได้
    ภาพถ่ายชุดล่าสุดนี้เป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมชุดที่ 4 แล้วที่พบวัตถุลอยน้ำที่อาจเป็นชิ้นส่วนจากเที่ยวบินปริศนานี้ แต่หลายวันที่ผ่านมาการค้นหาทั้งทางน้ำและทางอากาศ ที่ขณะนี้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ซีกตะวันตกและตะวันออก ยังคงไม่สามารถพบหรือกู้วัตถุใดๆ ได้ การค้นหาเมื่อวันอังคารถูกระงับเนื่องจากสภาพอากาศไม่อำนวย แต่ในวันพุธการค้นหาทั้งทางอากาศซึ่งใช้เครื่องบินทหารและพลเรือนรวม 12 ลำ กับเรือจากหลายชาติ กลับมาปฏิบัติการได้ตามปกติ แต่สำนักงานความปลอดภัยทางทะเลของออสเตรเลียซึ่งทำหน้าที่ประสานงานเปิดเผยช่วงเย็นว่า การบินค้นหาในวันพุธไม่พบวัตถุใดๆ ขณะที่พยากรณ์อากาศทำนายว่าสภาพอากาศจะแย่ลงอีกครั้งในวันพฤหัสบดี
    ก่อนหน้านี้ พลเรือโทเรย์ กริกส์ ของออสเตรเลีย เปิดเผยว่า อุปกรณ์ทันสมัยของกองทัพเรือสหรัฐที่สามารถระบุตำแหน่งของกล่องดำส่งมาถึงเมืองเพิร์ทแล้ว คาดว่าจะนำส่งเข้าไปยังพื้นที่ค้นหาได้ในไม่กี่วันข้างหน้า แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายกล่าวเตือนว่าการค้นหากล่องบันทึกข้อมูลการบินหรือการสื่อสารของนักบินที่ว่านี้เป็นงานยากเย็น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีทั้งภูเขาไฟใต้น้ำและเทือกเขาใต้น้ำที่ทำให้พื้นมหาสมุทรไม่ราบเรียบ ขณะที่แบตเตอรี่ของตัวส่งสัญญาณจากกล่องดำจะหมดภายใน 2 สัปดาห์
    รัฐบาลมาเลเซียคงต้องการหลักฐานเพิ่มเติมมายืนยันต่อครอบครัวของผู้โดยสารและลูกเรือ 239 คนบนเที่ยวบินนี้ นอกเหนือจากคำประกาศอย่างลอยๆ ของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก เมื่อคืนวันจันทร์ที่ว่าเครื่องบินตกทะเลห่างไกลทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดียแล้วและไม่มีผู้รอดชีวิต ที่กรุงปักกิ่ง บรรดาญาติผู้โดยสารชาวจีนซึ่งมีมากกว่า 150 คนบนเครื่องลำนี้ ยังคงชุมนุมร้องขอคำอธิบายจากสายการบินและรัฐบาลมาเลเซียต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ขณะที่นายกฯ หลี่เค่อเฉียง ของจีนเร่งเร้านายกฯ มาเลเซีย ยอมให้จีนส่งผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมเข้าร่วมในการสอบสวน จีนยังเรียกร้องให้มาเลเซียส่งมอบข้อมูลใหม่ที่ได้จากการวิเคราะห์ของบริษัทโทรคมนาคมดาวเทียม อินมาร์แซต ของอังกฤษให้ด้วย
    อีกด้านหนึ่ง บริษัทกฎหมาย ริบเบ็กลอว์ชาร์เตอร์ดอินเตอร์เนชั่นแนล จากสหรัฐ เปิดเผยว่า บริษัทได้ยื่นคำร้องเบื้องต้นต่อศาลสหรัฐในมลรัฐอิลลินอยส์เมื่อวันอังคาร เพื่อเตรียมการฟ้องร้องทางแพ่งต่อบริษัทโบอิ้ง ผู้ผลิตเครื่องบินลำนี้ และบริษัทมาเลเซียแอร์ไลนส์ เป็นจำเลย และเชื่อว่าจะสามารถเรียกเงินชดเชยให้ครอบครัวผู้โดยสารได้รายละหลายล้านดอลลาร์ "เราเชื่อว่าจำเลยทั้งสองรับผิดชอบต่อหายนภัยที่เกิดกับเที่ยวบิน เอ็มเอช 370" แถลงการณ์ของริบเบ็กกล่าว
    ริบเบ็กยื่นฟ้องในฐานะตัวแทนของจานัวรี สิเรการ์ ทนายความชาวอินโดนีเซียซึ่งเป็นบิดาของฟีร์มัน จันทรา สิเรการ์ วัย 25 ปี ผู้โดยสารของเที่ยวบินนี้ สิเรการ์กล่าวว่าเขาต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ลูกชายและผู้เสียชีวิตทุกคน นอกจากเขาแล้วบริษัทริบเบ็กกำลังเจรจากับญาติผู้โดยสารชาวจีนและมาเลเซียเกี่ยวกับการฟ้องร้องด้วยเช่นกัน .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น