ไล่โกง-ไม่เอาความรุนแรง 25 March, 2014
หากคนไทยยังเพิกเฉย ไม่ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น อนาคตอันใกล้ สังคมไทยจะติดหล่มความรุนแรง จนยากที่จะเยียวยารักษาบาดแผลอันสืบเนื่องมาจากความเห็นต่าง ขัดแย้งทางการเมือง ที่ดำรงมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา
โจทย์ใหญ่ที่พัฒนาไปสู่ความรุนแรง แบ่งแยกที่สำคัญคือ ความคิดเห็นทางการเมืองของสองฝ่ายสองฝั่ง ที่พร้อมจะห้ำหั่นกัน โดยขาดสติ ยั้งคิดยั้งทำ โดยเฉพาะเมื่อมีพฤติกรรมรวมหมู่ เช่น กรณีล่าสุดที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือเหตุการณ์รุมทำร้ายพระภิกษุบริเวณพื้นที่หน้าสำนักงาน ป.ป.ช.
โดยกลุ่ม กวป. หรือกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยนายศรรักษ์ มาลัยทอง แกนนำ กวป. เผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่ม กปปส. แล้วเข้ารุมทำร้ายพระภิกษุ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันกลุ่ม กวป.ก็ยังเข้าทำลายข้าวของ รื้อเวทีของกลุ่ม กปปส. ซึ่งมีกำลังน้อยกว่า
เหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้น มิใช่เรื่องที่ควรจะเมินเฉย หรือปล่อยให้ผ่านเลยไป เพราะการปะทะหรือเผชิญหน้ากันดังกล่าว หากไม่ตัดไฟเสียแต่ต้นลม รังแต่จะขยายวงกว้าง กระจายรูปแบบแห่งความรุนแรงไร้สติไปอย่างไม่มีขีดจำกัดในแต่ละพื้นที่ ภายใต้ความพิกลพิการของหน่วยงานดูแลความเรียบร้อยอย่างหน่วยงานตำรวจ ที่ไม่ทำหน้าที่
โดยเฉพาะการประกาศชุมนุมใหญ่ของทั้ง 2 ฝ่ายคือ กปปส. และกลุ่ม นปช. โดยฝ่ายแรกจะมีในวันที่ 29 มีนาคมที่จะถึงนี้ และตามด้วยกลุ่ม นปช.ที่จะมีการชุมนุมใหญ่ระดมพล ในวันที่ 5 เมษายน ซึ่งไม่มีการยืนยันว่าการชุมนุมจะยุติหรือยืดเยื้อในระดับใด
แน่นอนว่าประชาชนแต่ละฝ่ายมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง โดยการชุมนุมแสดงถึงความคิดเห็นต่าง ซึ่งเป็นวิถีทางพัฒนาประชาธิปไตย โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ที่มีการแบ่งแยก แบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน
แต่ความเห็นต่างหรือแนวคิดที่แตกต่างกันระหว่างคน 2 กลุ่ม ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิใช่เป็นศัตรูที่ต้องเข้าห้ำหั่น เข่นฆ่า ทำร้ายกันให้ถึงกับสูญเสียชีวิต หรือบาดเจ็บล้มตาย ด้วยเหตุแห่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางการเมือง และนำมาซึ่งการเผชิญหน้ากัน
บทเรียนแห่งความรุนแรงที่มีบ่อเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง คนในสังคมควรหันมาพิจารณาและร่วมมือกันปฏิเสธ ยับยั้ง หาแนวทางยุติอย่างชัดเจน ก่อนที่ความรุนแรงจะกลายเป็นความเคยชินและชินชา กระทำต่อเพื่อนร่วมชาติแค่เพียงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
จิตสำนึกต้านความรุนแรงทุกรูปแบบ ต้องก่อตัวขึ้นในหัวใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่มฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุน หรือต่อต้านรัฐบาล รวมถึงกลุ่มที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่ต้องสร้างจุดยืนชัดเจน การไม่เอาความรุนแรงต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
เพื่อที่เราจะไม่ต้องนำพาประเทศไปสู่หล่มเหวแห่งความรุนแรงอย่างถอนตัวไม่ขึ้น และนี่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่ต้องตระหนักให้มั่น ในนาทีที่บ้านเมืองกำลังเดินไปสู่หน้าผา เนื่องด้วยมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นชนวนสำคัญ เพราะนอกจากคนไทยต้องเท่าทันทั้งรัฐบาลโกง แต่ต้องพร้อมประกาศเจตนารมณ์ไม่เอาความรุนแรงด้วยเช่นกัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น