30 มี.ค.เลือกตั้ง ส.ว.ทั่วปท. อย่าให้สภาทาสเกิดขึ้นอีก 28 March, 2014
นับจากวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2557 ก็เหลือเวลาอีกแค่ 3 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั่วประเทศ 77 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม ที่ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จังหวัดหนึ่งมี ส.ว. 1 คน หลังการเลือกตั้งก็จะได้ ส.ว.รวม 77 คน
และเมื่อเลือกมาแล้วก็ต้องรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ใช้เวลาสักระยะในการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งเพื่อประกาศเป็น ส.ว.ต่อไป หากคนไหนที่ได้รับเลือกมีเรื่องร้องเรียนและ กกต.เห็นว่ามีมูล ก็อาจต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อไป อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันไว้ว่า กกต.น่าจะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว.เสร็จสิ้นไม่น่าจะเกิน 45 วัน หลังการเลือกตั้งวันที่ 30 มี.ค.นี้ เนื่องจากการเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ค่อยแข่งขันกันรุนแรงเหมือนเลือกตั้ง ส.ส. การร้องเรียนการทำผิดกฎหมายต่างๆ เลยน้อยกว่ามาก
ก็ต้องขอเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ว.ในวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค.นี้ โดยพร้อมเพรียงกัน อย่านอนหลับทับสิทธิ์ ยิ่งต้องยอมรับว่าการเลือกตั้ง ส.ว.รอบนี้ บรรยากาศการเลือกตั้งค่อนข้างเงียบกว่าการเลือกตั้ง ส.ว.ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปี 2543 และเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อปี 2551 ค่อนข้างมาก หลายคนก็หวั่นใจกันไม่น้อยว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์กันน้อย โดยเฉพาะคนกรุงเทพมหานคร หลังเห็นกระแสการเลือกตั้ง ส.ว.ดูจะเงียบกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ก็เชื่อว่าในช่วงโค้งสุดท้ายไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง ประชาชนจำนวนมากก็คงหาข้อมูลผู้สมัครแต่ละคนกันไว้แล้ว และคงมีคำตอบในใจแล้วว่าจะเลือกผู้สมัครคนไหนเป็น ส.ว.ในจังหวัดตัวเอง เพื่อให้เข้าไปทำหน้าที่ ส.ว.รวม 6 ปี นับแต่วันที่ 30 มี.ค.นี้
โดยหน้าที่หลักๆ ของ ส.ว.ก็คือการเป็นสภากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ นอกจากนี้ก็มีหน้าที่อื่นๆ เช่น การตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารในที่ประชุมวุฒิสภา-การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติในเรื่องสำคัญๆ หรือการตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านช่องทางคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาที่จะพิจารณาเรื่องที่ ส.ว.เห็นว่ามีความสำคัญสมควรต้องมีการนำเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการ แล้วก็เรียกฝ่ายบริหารหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องในกระทรวงต่างๆ มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง
นอกจากนี้วุฒิสภายังมีหน้าที่ในการลงมติคัดเลือกองค์กรอิสระอย่าง คณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เป็นกรรมการ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน รวมถึงการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรายชื่อกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น
และยังมีหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือ การทำหน้าที่ลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อัยการสูงสุด ผู้พิพากษา และบรรดาองค์กรอิสระทุกองค์กร หากถูก ป.ป.ช.ลงมติชี้มูลในคดีความผิดต่างๆ ก็จะต้องส่งเรื่องมาให้วุฒิสภาลงมติถอดถอนด้วย เช่น หากเป็นนักการเมืองโดนวุฒิสภาถอดถอนก็ต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปี
เหมือนอย่างเช่นที่หลายฝ่ายกำลังจับตากันว่า กรณีที่ ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหากับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในคดีรับจำนำข้าว และแจ้งข้อกล่าวหากับ 308 ส.ส.-ส.ว.ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่โดน ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไปก่อนหน้านี้ สุดท้ายก็ต้องให้วุฒิสภาลงมติถอดถอน ซึ่งแม้โดยข้อเท็จจริงจะพบว่า ที่ผ่านมาวุฒิสภาไม่เคยลงมติถอดถอนใครได้เลย เพราะจำนวนเสียงถอดถอนไม่ถึง แต่หน้าที่ในส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ซึ่งทำให้วุฒิสภามีความสำคัญทางการเมืองไปโดยปริยาย
การลงมติเลือก ส.ว. ในวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค.นี้ จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการลงมติเลือกกันให้ดีๆ มีการตรวจสอบข้อมูลผู้สมัครแต่ละคนว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เป็นนอมินีหรือร่างทรงนักการเมือง พรรคการเมืองคนไหนหรือไม่ ในเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมือง หรือการเป็นเครือญาติกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองของผู้สมัคร ส.ว.บางคน เป็นเรื่องที่จริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เป็นเรื่องที่พอเข้าใจกันได้ โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่เป็นสังคมอุปถัมภ์ ขอเพียงว่า หากได้เป็น ส.ว.แล้ว ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่เอาความเป็น ส.ว.ไปรับใช้หรือตอบแทนทางการเมืองกับคนหรือพรรคการเมืองที่ตัวเองมีความสัมพันธ์ด้วย
ดังนั้นประชาชนก็ต้องพิจารณาว่าบุคคลที่จะเลือกเป็น ส.ว. หากมองดูแล้วถ้าคนคนนั้นได้รับเลือกเป็น ส.ว.ก็อาจเข้าไปทำหน้าที่แบบไม่เป็นอิสระ จะเอาตำแหน่ง ส.ว.ของตัวเองไปเป็นฐานการเมืองให้กับพรรคการเมืองบางพรรคเพื่อให้ยึดกุมวุฒิสภาไว้ได้ จนสร้างความได้เปรียบทางการเมืองบางอย่าง จนทำให้วุฒิสภาสูญเสียความเป็นสภาสูงที่ต้องอิสระ และพร้อมจะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กรแบบตรงไปตรงมา ถ้าประชาชนไม่มั่นใจในตัวผู้สมัครคนนั้น ก็จงอย่าได้เลือกเข้าไปเป็น ส.ว.เด็ดขาด จะได้ไม่เสียใจภายหลัง ว่าตัวเองคือผู้ทำให้วุฒิสภากลายเป็นสภาทาสอีกครั้ง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น