วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

สภาทนายฟ้องช่วยชาวนา ดำเนินคดีนายกฯ-12ราย เมื่อ 4 มี.ค.57

สภาทนายฟ้องช่วยชาวนา ดำเนินคดีนายกฯ-12ราย


ได้ฤกษ์ 5 มี.ค.สภาทนายความฟ้องศาลปกครองช่วยชาวนาดำเนินคดี "ยิ่งลักษณ์"-รัฐมนตรี-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกราวรูด 12 ราย ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดทยอยฟ้องเช่นกัน "หลวงปู่" พามวลชนจี้ สตง.เร่งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว อายัดบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีในรัฐบาล 
      นายสุนทร พยัคฆ์ อุปนายกสภาทนายความด้านช่วยเหลือประชาชน สภาทนายความแห่งประเทศไทย เผยเมื่อวันจันทร์ว่า ในวันที่ 5 มี.ค. สภาทนายความจะเดินทางไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ร่วมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมเป็น 12 จำเลยร่วม เพื่อให้รับผิดชอบต่อการผิดนัดชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวต่อชาวนาไทยทั่วประเทศ โดยจะร้องให้รัฐบาลชดใช้เงินและดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระหนี้ล่าช้าในอัตรา 7.5% จนกว่าจะชำระหนี้ได้ และเรียกร้องให้มีการเปิดโกดังเพื่อตรวจสอบข้าวที่เป็นทรัพย์สินของชาวนา และคืนข้าวให้ชาวนา ซึ่งหากไม่มีข้าวก็จะดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ต่อไป
     เขากล่าวว่า สภาทนายความกำลังพิจารณาและศึกษาแนวทางการเอาผิดพรรคการเมืองที่ทำนโยบาย และทำให้ชาติเสียหายมหาศาลด้วยว่า ในอนาคตควรจะมีมาตรการเอาผิดทางกฎหมายอย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมที่คดีทุจริตลำไย นักการเมืองไม่ติดคุกเลย แต่ชาติเสียหายจำนวนมาก ในขณะที่โครงการจำนำข้าว ผู้รู้ทุกคนเสนอรัฐบาลนี้มาตั้งแต่ต้นว่าไม่ควรทำ เพราะยังไงก็ขาดทุนมหาศาล ทั้งนี้คดีดังกล่าวต้องเร่งดำเนินการให้ทันอายุความ 1 ปี
    สำหรับบุคลที่สภาทนายความจะแจ้งดำเนินคดีแทนชาวนา ประกอบด้วย 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  2.คณะรัฐมนตรี 3.คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) 4.นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมว.พาณิชย์ 5.นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ 6.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.การคลัง ในฐานะบุคคลธรรมดาและในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐ 7.กระทรวงพาณิชย์ 8.องค์การคลังสินค้า  9.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 10.องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 11.กระทรวงการคลัง 12.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบาย เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ชาวนาจากกระทรวงพาณิชย์ และชาวนาที่ปักหลักข้างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางมายื่นเอกสารเพิ่มเติมเพื่อฟ้องรัฐบาลในโครงการจำนำข้าว ซึ่งมีนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิเศษ ปฏิบัติราชการในหน้าที่เลขานุการอัยการสูงสุดลงมารับเรื่องจากชาวนา  
    นายปรเมศวร์กล่าวว่า การรับเรื่องร้องทุกข์ของชาวนาในวันที่ 28 ก.พ. มีกว่า 200 เรื่อง แต่มีเรื่องที่สมบูรณ์เพียงแค่ครึ่งเดียว ซึ่งหลังจากนั้น อสส.ได้แยกเอกสารที่พร้อมจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยในขณะนี้ อสส.ได้ตั้งคณะทำงานมาหนึ่งชุดในการเขียนคำฟ้อง ซึ่งได้ร่างคำฟ้องเสร็จแล้ว และจะให้ชาวนาชุดแรกในจังหวัดเดียวกันที่มีความพร้อมยื่นฟ้องในวันที่ 5 มี.ค. หลังจากนั้นจะทยอยฟ้องต่อไป 
ชาวนาระทม
    ด้านนายระวี  รุ่งเรือง แกนนำชาวนา กล่าวว่า วันนี้มีชาวนายื่นเอกสารเพิ่มเติมกว่า 500 คน จากภาคต่างๆ โดยในวันที่ 4 มี.ค. ชาวนาจะเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในเวลา 10.00 น. เพื่อไปกดดันรัฐบาลและพิสูจน์ว่าพวกตนเป็นชาวนาตัวจริงที่เดือดร้อน ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง มาเพื่อทวงเงินที่รัฐบาลไม่เคยขอโทษต่อความผิดพลาด  ตรงกันข้ามกลับคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐบาลมากกว่า
    ขณะที่นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า ได้มีการเจรจาขอคืนพื้นที่คืนจากกลุ่มเครือข่ายชาวนา ที่ปักหลักชุมนุมที่กระทรวงพาณิชย์มายาวนานต่อเนื่อง หลังจากที่การชุมนุมของ กปปส.ได้มีการยุบเวทีและย้ายไปชุมนุมที่เดียวในสวนลุมพินี และเชื่อว่าชาวนาน่าจะยุติการชุมนุมเร็วๆ นี้ เพราะมั่นใจต่อการหาเงินมาจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาได้เพิ่มขึ้น และเตรียมการเพาะปลูกข้าวเปลือกรอบใหม่
    ปลัดกระทรวงพาณิชย์อ้างว่า การระบายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีน แม้เป็นรัฐบาลรักษาการ แต่อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศก็สามารถดำเนินการได้ในฐานะคู่สัญญา และความคืบหน้าจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายกันเร็วๆ นี้ที่ประเทศจีน  พร้อมกันนี้ได้มีการเจรจาขายข้าวกับอีกหลายประเทศ ซึ่งก็มีความคืบหน้าแล้วเช่นกัน
    เช้าวันเดียวกัน หลวงปู่พุทธอิสระนำชาวนาและมวลชนประมาณ 300 คน พร้อมรถบัส, รถกระบะติดเครื่องขยายเสียง, รถกระบะส่วนตัว และรถจักรยานยนต์ขึ้นทางด่วนเคลื่อนไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อติดตามเรื่องการตรวจสอบการใช้เงินในโครงการจำนำข้าว
     ต่อมา นายระวีได้นำชาวนามาสมทบที่ด้านหน้า สตง.  โดยหลวงปู่พุทธอิสระปราศรัยให้ สตง.เร่งตรวจสอบการใช้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล  และข้าวที่เก็บไว้ในโกดังที่มีปัญหาเสื่อมคุณภาพ พร้อมให้อายัดบัญชีทรัพย์สินของรัฐมนตรีในรัฐบาล ก่อนที่จะส่งตัวแทนชาวนายื่นหนังสือลอดรั้ว สตง.เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลในโครงการต่างๆ โดยให้เวลาดำเนินการ 7 วัน หลังจากนั้นจะเดินทางมาติดตามความคืบหน้า
    นายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า ในวันที่ 3 มี.ค.จะครบ 1 สัปดาห์หลังจากที่ชาวนาภาคกลางที่นำโดยนายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา เดินทางกลับภูมิลำเนาหลังบุกกรุงเทพฯ แค่ครึ่งทาง เพราะเชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะใช้หนี้ค้างค่าข้าวตามสัญญาให้ชาวนา จึงขอให้นายชาดาและแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนาร่วมกันประณาม น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาล พร้อมทั้งขอให้เร่งจ่ายเงินคืนให้ชาวนาโดยด่วน  เพราะยังไม่รู้ว่าชาวนาจะได้เงินคืนชาติไหน ทั้งที่เอาข้าวเขาไปกว่า 6 เดือนแล้ว ไม่คิดว่าชาวนาไทยต้องกินใช้เหมือนปุถุชนคนอื่นหรือ
ธ.ก.ส.ระดมทุน
    ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดและความชัดเจน ถึงแนวทางการออกพันธบัตรของ ธ.ก.ส. ในการระดมทุนเพื่อจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายและคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงของธนาคาร ไปพิจารณาในรายละเอียดตามข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่
      "รายละเอียดในการออกพันธบัตร ธ.ก.ส.ครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงความชัดเจน ว่าจะต้องให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหรือไม่ วงเงินที่จะออกควรเป็นเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ทุกอย่างต้องพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด โดยแนวทางเบื้องต้นเห็นว่า หากมีข้อสรุปออกมาแล้วอาจต้องมีการทดสอบตลาดด้วยว่า ให้ความสนใจแค่ไหนอย่างไร โดยอาจออกพันธบัตรเป็นลอต ลอตแรกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าตลาดตอบรับดีก็ค่อยดำเนินการอย่างชัดเจนต่อไป" นายลักษณ์กล่าว
      รายงานข่าวจาก ธ.ก.ส.ระบุว่า ยอดการบริจาคและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนา ณ วันที่ 3 มี.ค.57 มียอดรวมทั้งสิ้น 121.34 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบริจาคเข้ากองทุนที่ 1 (แบบไม่ประสงค์รับเงินคืน) จำนวน 10.54 ล้านบาท  ในส่วนนี้แบ่งเป็นเงินบริจาคของ ธ.ก.ส.เอง จำนวน 10 ล้านบาท และเงินบริจาคของประชาชนทั่วไปอีกราว 5.43 แสนบาท หรือคิดเป็น 1 บัญชี 
    ขณะที่ยอดบริจาคเข้ากองทุนที่ 2 (แบบประสงค์รับเงินคืน แต่ไม่รับผลตอบแทน) อยู่ที่ 108.96 ล้านบาท ในส่วนนี้แบ่งเป็นเงินสมทบจากกองทุนต่างๆ ที่ ธ.ก.ส.บริหารจัดการอยู่ราว 100 ล้านบาท และเงินบริจาคของประชาชนจำนวน  8.96 ล้านบาท หรือคิดเป็น 152 บัญชี ขณะที่ยอดบริจาคเข้ากองทุนที่ 3 (แบบประสงค์รับเงินคืนและรับผลตอบแทน) มียอดบริจาคทั้งสิ้น 1.84 ล้านบาท คิดเป็น 61 บัญชี
    อย่างไรก็ตาม ประชาชนหรือองค์กรต่างๆ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมบริจาคเงินและส่งเงินสมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนาได้ โดยการบริจาคเงินเข้ากองทุนที่ 1 สามารถบริจาคได้ตามความประสงค์ ขณะที่การส่งเงินสมทบเข้ากองทุนแบบที่ 2 และ 3 นั้น สามารถส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้ไม่จำกัดจำนวน โดยมียอดขั้นต่ำตั้งแต่ 1 พันบาทขึ้นไป ทั้งนี้ กองทุนช่วยเหลือชาวนาจะเปิดรับบริจาคและส่งเงินสมทบตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.- 30 มิ.ย.57 โดยกองทุนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้
    นอกจากนี้ ยังพบว่าในวันที่ 3 มี.ค. นายเศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินและนักแสดงอาวุโส ได้เดินทางมามอบเงินสมทบเข้ากองทุนรูปแบบที่ 2 (แบบไม่รับผลตอบแทน) เป็นวงเงิน 1 แสนบาท
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.ได้ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีชื่อเสียงในสาขาต่างๆ อาทิ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต รมว.การคลัง, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง, นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์,  นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) รวมถึงนางทักษอร เตชะณรงค์ (แอฟ) และนายเกียรติกมล ล่าทา (ตุ้ย เอเอฟ) เพื่อให้มาร่วมกิจกรรมเปิดตัวกองทุนช่วยเหลือชาวนาในวันที่ 5 มี.ค.นี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น