แดงสิงห์บุรีเหิม! บุกสธ.ขู่ตัดน้ำไฟ
นปช.สิงห์บุรีเหิมบุกปิดสาธารณสุขจังหวัด กดดันหมอปลดป้ายไม่เอารัฐบาลโกงทุกโรงพยาบาล สะพัด! รพ.ท่าช้างโดนเสื้อแดงตัดไฟต้องใช้เครื่องปั่นกระแสไฟ "ยิ่งลักษณ์" เดินสายเยี่ยมตำรวจคุมม็อบ เอาใจสีกากีสั่ง "อดุลย์" ดูแลเบี้ยเลี้ยงค้างจ่าย "เลขาฯ สมช." แบะท่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน "เหลิม" ปากแข็งบอกแล้วแต่นายกฯ "กองทัพ" จัดทหาร 56 กองร้อย ตั้ง 37 จุดตรวจรอบสวนลุมพินี
เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.30 น. ได้มีกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 100 คน นำโดยนายปรีชา พงษ์การุณ ประธาน นปช.สิงห์บุรี รวมตัวชุมนุมหน้าสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เรียกร้องให้สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรีปลดป้ายข้อความ "ไม่เอารัฐบาลโกง" โดย นพ.ชัยวัตร จัตตุพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ได้ลงมาพบกับผู้ชุมนุม และชี้แจงว่าเป็นเพียงการแสดงออกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอม นพ.ชัยวัตรจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ปลดป้ายออก จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้สั่งให้ นพ.ชัยวัตรสั่งการไปยังสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลในแต่ละอำเภอให้เอาป้ายลง ซึ่งมีบางโรงพยาบาลยังไม่ยอมเอาลง และกลุ่มเสื้อแดงยังคงชุมนุมต่อที่หน้าสาธารณสุขจังหวัด
ต่อมา นพ.สุขสันติ พักธรรมนัก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง ซึ่งรู้ข่าวว่าสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี โดนกลุ่มเสื้อแดงปิด ก็ได้นำเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลท่าช้าง และชาวบ้านในเขตอำเภอท่าช้างประมาณ 60 คน เดินทางไปให้กำลังใจนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงก็พบกับกลุ่มเสื้อแดงที่ปิดทางเข้าสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรีอยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกันระยะห่างผู้ชุมนุมจากโรงพยาบาลท่าช้างกับคนเสื้อแดงประมาณ 100 เมตร เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกัน และให้ นพ.ชัยวัตรเดินทางไปรับช่อดอกไม้ให้กำลังใจจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าช้าง จากนั้นกลุ่มโรงพยาบาลท่าช้างก็ได้เดินทางกลับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้กลุ่มโรงพยาบาลท่าช้างกลับไปแล้ว แต่กลุ่ม นปช.สิงห์บุรียังคงปิดทางเข้าสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี โดยประกาศว่าถ้าในวันนี้ไม่เอาป้ายไม่เอารัฐบาลโกงลงให้หมด จะใช้มาตรการตัดน้ำตัดไฟ
แดงสิงห์บุรีตัดไฟ รพ.
เฟซบุ๊กเพจ "ศูนย์ต้านนิรโทษกรรม" ได้โพสต์ข้อความไว้ว่า เมื่อเวลา 14.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงได้ตัดไฟโรงพยาบาลท่าช้าง ทำให้ไฟฟ้าในโรงพยาบาลดับต้องใช้เครื่องปั่นไฟ แต่ยังไม่สามารถทำให้กระแสไฟฟ้าใช้ได้ทั่วทั้งโรงพยาบาล จน ผอ.รพ.ท่าช้างต้องสั่งให้เจ้าหน้าที่ปลดป้ายต้านรัฐบาลโกงออก
ทั้งนี้ ช่วงที่กลุ่มเสื้อแดงชุมนุมเมื่อปี 53 วันที่ 29 เม.ย.53 นายพายัพ ปั้นเกตุ อดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.ก็ได้นำการ์ดและผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงจำนวนมากเดินทางไปที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (กทม.) เพื่อขอตรวจค้นพื้นที่ภายในว่ามีกองกำลังทหารอยู่ในโรงพยาบาลหรือไม่ และทันทีที่ไปถึงนายพายัพได้เจรจากับ ศาสตราจารย์ นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยการเจรจาเป็นไปอย่างเคร่งเครียด และมีการ์ดเสื้อแดงจำนวน 4 คน ที่ไม่รอผลการเจรจาตัดสินใจวิ่งฝ่าเข้าไปในโรงพยาบาล ทำให้ในวันต่อมาแกนนำคนเสื้อแดงต้องออกมาแถลงขอโทษทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่กระทำการไม่เหมาะสม
ขณะที่วันเดียวกัน (3 มีนา 57) เวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เดินทางไปตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) จำนวน 17 กองร้อย ที่สนามกีฬาบุณยะจินดา สโมสรตำรวจ บางเขน โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มาต้อนรับและรายงานสถานการณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กำชับ พล.ต.อ.อดุลย์ เรื่องการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนที่ดูแลพื้นที่แต่ละกระทรวง โดยเจ้าหน้าที่ที่ประจำภายในตึก หากมีจำนวนมากให้แบ่งออกมาช่วยในส่วนอื่น และการทำงานให้ประเมินร่วมกับเจ้ากระทรวง จะได้ทราบว่าในพื้นใดที่น่าเป็นห่วง และฝากให้ดูเรื่องเบี้ยเลี้ยงตำรวจสันติบาลประจำทำเนียบรัฐบาลที่ไม่ออกมา 3 เดือนแล้ว
จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส., ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ ผบ.ตร. ได้แวะทักทายตำรวจที่อยู่ในระหว่างพักรับประทานกลางวัน ซึ่งวันนี้ ผบ.ตร.จัดซุ้มอาหารเลี้ยงให้กับกำลังพลเป็นพิเศษ นอกเหนือจากข้าวกล่องที่ได้รับในแต่ละวัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ถึงการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดวันที่ 23 มี.ค.ว่า ต้องให้ ศรส.ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติการประเมินสถานการณ์ และส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ไม่มีการประชุม ครม.เนื่องจากไม่มีวาระที่สำคัญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายกฯ ตรวจเยี่ยมกำลังตำรวจชั่วระยะหนึ่งก็ได้เดินทางกลับเซฟเฮาส์ทันที โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนติดตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกฯ เดินทางออกไปแล้ว ปรากฏว่ากลุ่ม กปปส.สีลมได้เคลื่อนขบวนมาชุมนุมหน้าสโมสรตำรวจเพื่อกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อทราบว่านายกฯ ไม่อยู่แล้วจึงเดินทางกลับ
ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกันว่า ศรส.ไม่ห่วงในเรื่องกฎหมายที่จะใช้ควบคุมการชุมนุม เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งห้าม ศรส.กระทำการ 9 ข้อ ทำให้อำนาจการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินลดน้อยลงอยู่แล้ว ดังนั้น หากการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด ผลการบังคับใช้ก็คงไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่มีก็ตาม
"จะมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้นเป็นหน้าที่ของนายกฯ โดยส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น หรือหากจะกลับไปใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ผมก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งหากผมไม่ต้องทำหน้าที่ผู้อำนวยการ ศรส.แล้ว ก็แค่กลับไปเป็น รมว.แรงงานเหมือนเช่นเดิม" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
ผอ.ศรส.กล่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ชอบแสดงจุดยืนยึดมั่นในประชาธิปไตย แต่กลับมีพฤติกรรมขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแนวทางที่ขัดแย้งกัน และเวที กปปส.ก็เป็นเพียงเวทีระบายความรู้สึกที่ใช้คำพูดไม่เหมาะสม สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่มีความเห็นต่าง รวมถึงกลุ่มที่เป็นกลางทางการเมืองอีกด้วย ดังนั้น จึงขอเตือนให้นายสุเทพให้เกียรติ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกฯ ของไทยด้วย
แบะท่าลด กม.คุมม็อบ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การยุบรวมเวทีของ กปปส. น่าจะเป็นการยุบรวมเพื่อปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการต่อสู้ใหม่ ทั้งนี้ อาจรวมถึงการปรับเปลี่ยนมาตรการดูแลความปลอดภัยแก่ผู้ร่วมชุมนุมให้ดีกว่าเดิม
"ศรส.จะประเมินสถานการณ์การชุมนุมแบบวันต่อวัน จะไม่ประมาท และการยุบรวมเป็น 1 เวทีแล้วนั้น หากสถานการณ์เบาบางลงในสัปดาห์หน้า อาจจะมีการปรับมาใช้ พ.ร.บ.มั่นคงแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ได้" เลขาฯ สมช.กล่าว
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะกรรมการ ศรส.แถลงผลประชุม ศรส.ว่า ผู้ชุมนุมบริเวณถนนแจ้งวัฒนะต้องเลิกการชุมนุม โดย ศรส.กำลังพยายามขอร้องและเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งแต่งตั้ง พล.ต.สุรชาติ จิตต์แจ้ง หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ กระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าคณะผู้เจรจากับพระพุทธอิสระ เพื่อขอให้มีการเปิดถนนแจ้งวัฒนะ และสถานที่ราชการในบริเวณดังกล่าวทั้งหมด โดยจะเริ่มเจรจาตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.เป็นต้นไป
ด้านความเคลื่อนไหวกลุ่ม กปปส. หลังจากย้ายมาปักหลักชุมนุมภายในสวนลุมพินี วันนี้ (3 มี.ค.) ช่วงเช้า นายวิทยา แก้วภราดัย แกนนำ กปปส. ได้นำมวลชนเคลื่อนไปยังจุดต่างๆ อาทิ กรมศุลกากร และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เนื่องจากได้ข่าวว่ามีข้าราชการกลับไปทำงานตามปกติแล้ว แต่ปรากฏว่ายังไม่มีข้าราชการเข้ามาทำงาน จากนั้นมวลชนได้เคลื่อนขบวนต่อไปยังบริษัท เอ็มลิ้งค์ เอเชีย คอเปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) ซ.สุขุมวิท 62 เพื่อต่อต้านท่อน้ำเลี้ยงบริษัทในตระกูลชินวัตร ก่อนเดินทางกลับมายังเวทีสวนลุมพินี
ที่กองทัพบก พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก แถลงผลประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกว่า ขณะนี้ทหารจะยังไม่มีการปรับลดจุดตรวจและภารกิจ เพื่อป้องปรามไม่ให้มีการใช้อาวุธสงคราม ใช้ความรุนแรง หรือกระทำผิดกฎหมายในทุกพื้นที่ ซึ่งหากพื้นที่ใดมีความสุ่มเสี่ยงมาก ก็จะสลับกำลังจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยไปดูแล เพื่อเพิ่มการดูแลรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น
มีรายงานว่า แม้กลุ่ม กปปส.จะยุบเวทีไปรวมตัวที่สวนลุมพินีจุดเดียว แต่ พล.ต.วราห์ บุญญะสิทธิ์ ผบ.พล.1 รอ. ยังคงให้กำลังทหาร 56 กองร้อย จำนวน 176 ชุดปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ แต่ปรับกำลังโดยยุบภารกิจชุดปฏิบัติการมวลชน และจุดตรวจความมั่นคงบริเวณพื้นที่ราชประสงค์, ปทุมวัน, อโศกมนตรี มารักษาความปลอดภัยบริเวณรอบสวนลุมพินีประมาณ 37 จุด
วันเดียวกัน 7 องค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ได้ร่วมประชุมประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
โดยนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยผลประชุมว่า ทั้ง 7 องค์กรภาคเอกชนขอสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากันด้วยความจริงใจ เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งการเจรจาที่จะประสบความสำเร็จ จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสามัคคีปรองดองของประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่ควรสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเริ่มเจรจา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น