วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

เพื่อแม้วดักคอ ‘ปู’ไม่พ้นสภาพ อุ้มเน่าคาเก้าอี้ เมื่อ 4 มี.ค.57

เพื่อแม้วดักคอ ‘ปู’ไม่พ้นสภาพ อุ้มเน่าคาเก้าอี้


5 เสือ" ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขต "อ๋อย-เหลิม" ชี้เป็นอำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งให้ครบทุกเขต ดักคอศาล รธน.สั่ง "ยิ่งลักษณ์" พ้นสภาพรักษาการนายกฯ หลังครบ 30 วันเปิดสภาไม่ได้ ระบุอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่  
    นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวเมื่อวันจันทร์ หลังการประชุม กกต. ว่าที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดลงคะแนนเลือกตั้งใน 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องมาจาก กกต.ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในการเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นจะนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดลงคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการลงคะแนนเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง 28 เขต เลือกตั้งภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ในวันที่ 17 มีนาคม ทาง กกต.จะให้ประธาน กกต.ทั้ง 15 จังหวัดไปร่วมประชุม
    นายภุชงค์ยังกล่าวถึงกรณีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ในการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง 28 เขตภาคใต้ว่า วันนี้ที่ประชุม กกต.ได้เห็นชอบกับคำร้องที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากที่ในช่วงเช้าได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย แต่เนื่องจากมี กกต.บางคนติดภารกิจ จึงยังไม่ได้มีการลงนามครบทั้ง 5 คน แต่มีการนัดที่จะลงนามในเช้าวันอังคารนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน โดยประเด็นที่จะมีการยื่นต่อศาลมี 3 ประเด็น เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่จะครอบคลุมเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยได้
    เลขาธิการ กกต.ยังกล่าวถึงการเลือกตั้ง ส.ว.ว่า กกต.ได้มีการกำหนดให้มีการรับสมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ 77 จังหวัด เริ่มตั้งแต่วันที่ 4-8 มีนาคม และกำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตเลือกตั้งวันที่ 23 มีนาคม เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 16-23 มีนาคม ส่วนวันเลือกตั้งคือ วันที่ 30 มีนาคม โดยกรุงเทพฯ จะใช้อาคารวุฒิสภาเป็นที่รับสมัคร ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้สมัครในการหาเสียงในแต่ละจังหวัดจะไม่เท่ากัน สูงสุดคือ 5 ล้านบาท ต่ำสุด 1 ล้านบาท ซึ่งผู้สมัครสามารถหาเสียงได้ แต่ต้องเป็นการหาเสียงในเรื่องของบทบาทหน้าที่ในการเป็น ส.ว. เช่น หาเสียงว่าจะทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร จะตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ รัฐบาลอย่างไร เป็นต้น
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลรักษาการของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะหมดหน้าที่ในวันที่ 4 มีนาคม ว่าข้อกำหนดให้เปิดประชุมรัฐสภาภายใน 30 วัน หลังจากมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์นั้น เป็นข้อกำหนดในการเลือกตั้งปกติ แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ปกติ มีปัญหาขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นต้องมาดูรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้อง ว่าจะต้องมีการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งก็ต้องดูว่า กกต.จะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งแล้วเสร็จตามที่กำหนด และเมื่อยังไม่มีรัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลชุดนี้ต้องรักษาการต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งมาปฏิบัติหน้าที่ หากจะมี ครม.อื่นมารับหน้าที่ได้โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จะเกิดได้สองทางเท่านั้นคือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ครม.ปัจจุบันพ้นหน้าที่ไป และมีการทำรัฐประหาร
    นายจาตุรนต์กล่าวต่อว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ครม.ชุดปัจจุบันพ้นหน้าที่ ตนก็จะไม่ทำหน้าที่ รมว.ศธ.ต่อ แต่ก็ต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะกล้าวินิจฉัยไปในทางที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเรื่องแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่บ้าระห่ำถึงขั้นวินิจฉัยแบบขัดรัฐธรรมนูญ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทบ.) ไม่บ้าระห่ำทำรัฐประหาร ครม.ชุดปัจจุบันก็จะทำหน้าที่ต่อไป 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นการพูดดักคอศาลรัฐธรรมนูญ นายจาตุรนต์กล่าวว่า รัฐมนตรีก็มีสิทธิ์พูดดักคอและวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องใช้อำนาจหน้าที่ก้าวก่ายศาลรัฐธรรมนูญ ตนใช้สิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แถลงพร้อมแจกเอกสาร ชี้แจงข้อถกเถียงกรณีปัญหาการจัดเลือกตั้ง 28 เขตไม่ได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ หากไม่สามารถเรียกประชุมสภาครั้งแรกได้ภายใน 30 วัน ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 181 บัญญัติเป็นกรณีเฉพาะว่าต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ และการบริหารราชการแผ่นดินต้องมีความต่อเนื่อง โดยไม่มีสุญญากาศ 
    นอกจากนี้ยังไม่มีบทบัญญัติว่า ครม.จะต้องพ้นตำแหน่งเมื่อใด ส่วนกรณีการซาวเสียงเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 172 จะต้องทำภายใน 30 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก แต่เมื่อไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ตามมาตรา 127 ได้ ก็ถือว่าเงื่อนเวลา 30 วัน ที่กำหนดไว้ดังกล่าว ยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่งได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
    ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรคหก จะต้องดำเนินให้มีสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.จะต้องดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวน 180 วัน และยืนยันรัฐบาลไม่สามารถตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ เพราะจะเป็นการออก พ.ร.ฎ.ซ้อนขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การยุบสภาฯ จะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกันเท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น