เพื่อไทยตั้งวงสัมมนาถกแก้ รธน.5-6 ม.ค. ยันพร้อมคุย ปชป.
| |
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยจะสัมมนาในวันที่ 5-6 มกราคมนี้ เพื่อดูทิศทางของพรรคในปี 2556 และประเมินผลงานทุกเรื่อง
ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ทางพรรคมีความพยายามที่จะพูดคุยกับผู้นำฝ่ายค้านตลอดเวลา ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าในปีใหม่นี้อาจจะประสานและพูดคุยกันในทางบวกมากขึ้น ข้อไหนที่ตกลงกันไม่ได้ก็จะมอบอำนาจคืนให้ประชาชนตัดสินใจเพื่อหาทางออก นอกจากนี้ นายจารุพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังเตรียมการเรื่องการจัดเวทีสานเสวนา เพื่อหาคนกลางมากำหนดทิศทาง ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะต้องใช้ความรอบคอบ อีกทั้งต้องทำความเข้าใจกับวิทยากรเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และอาจจะรวม 4 เขตเลือกตั้งเป็น 1 เขต เมื่อเฉลี่ยแล้วจะมีคนเข้าฟังเสวนารวมทั่วประเทศประมาณ 75,000 คน ซึ่งเป็นไปตามสำนักงานสถิติ ที่พอรับได้ คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้--จบ-- | |
.....ASTV ผู้จัดการออนไลน์
| |
10 ข่าวเด่นเศรษฐกิจรอบปี 55 เตือนรัฐหาทางปิดช่องโหว่
| |
อันดับ 1 ยอดจองรถคันแรกทะลัก
ต้องยอมรับว่านโยบาย “รถคันแรก” ของรัฐบาลปูกรรเชียง...ได้ทำให้วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต้องพลิกประวัติศาสตร์กันทีเดียว เพราะทั้งมือเก่ามือใหม่ต่างเฮโลมาขอใช้สิทธิกันกว่า 1.3 ล้านคันทีเดียว ก็...รัฐบาลลดเงินสดสำหรับการซื้อรถยนต์คันแรกให้ตั้ง 1 แสนบาท ไม่ว่าใครก็ต้องโดดเข้ามาร่วมวงด้วยทั้งนั้น
ที่สำคัญรถคันแรก...ยังผลักดันให้ยอดผลิตรถยนต์ของไทยทะลุ 2.4 ล้านคัน ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่อุตสาหกรรมนี้มียอดซื้อ-ยอดขาย-ยอดผลิต แบบถล่มทลาย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะยอดคืนเงินรถคันแรกมีจำนวนมากกว่า 8 หมื่นล้านบาทและมีโอกาสทะลุไปถึง 1 แสนล้านบาททีเดียว หากนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนสร้างรถไฟฟ้าจะได้ประโยชน์กับประเทศมากกว่าไม่รู้กี่เท่า
แต่ในแง่ของรัฐบาลแล้วกลับมองว่านโยบายประชานิยมชิ้นนี้ ถือเป็นประโยชน์กับประเทศเสียเหลือเกิน เพราะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศแบบตรงเป้าแถมยังช่วยส่งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยไปถึงฝั่งฝันกลายเป็นผู้ผลิต 1 ใน 10 ของโลกเป็นครั้งแรก ที่สำคัญยังสามารถเรียกคะแนนคนชั้นกลางได้อีกมากทีเดียว เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนกล้าทำกล้าตัดสินใจเช่นนี้มาก่อน
ด้วยเหตุนี้จึงต้องยกให้ ’โครงการรถยนต์คันแรก“ กลายเป็นสถานการณ์ฮอตฮิตที่สุดในปี 2555 จนต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์
อันดับ 2 แฉ ''รับจำนำข้าว'' ฉาวโฉ่
โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด...เป็นอีกหนึ่งนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชูโรงเป็น “ผลงานเด่น” แข่งขันกับนโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันให้แซดว่าโครงการรับจำนำข้าวนั้นใช้เงินงบประมาณมากที่สุดในบรรดานโยบายประชานิยม เพราะแค่ปีแรกรัฐบาลได้ใช้วงเงินไปมากถึง 3.3 แสนล้านบาท เพื่อรับจำนำข้าวเปลือก 21-22 ล้านตัน
นอกจากนี้ตลอดการรับจำนำ ยังเต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาวเกิดขึ้นทั้งระบบ จนกลายเป็นประเด็นร้อนอภิปรายดุเดือดกันในสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เร่งสอบสวนถึงความไม่ชอบมาพากลในหลายประเด็น
เริ่มตั้งแต่การทุจริตในระบบจำนำ เกิดการลักลอบนำข้าวเปลือกจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเกษตรกรไทย รวมถึงการโกงความชื้นของโรงสี จนส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับจำนำไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนั้นในขั้นตอนระบายข้าว ต้องประสบปัญหาขายข้าวออกยาก เพราะราคาจำนำราคาสูงกว่าตลาดถึง 50% โดยข้าวเปลือกเจ้าสูงถึงตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ 20,000 บาท จนกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยปีนี้ให้ตกลง จากเคยเป็นแชมป์ส่งออกที่หนึ่งของโลก ตกอยู่ที่สาม ยอดส่งเหลือแค่ 6.5 ล้านตัน ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ส่งออกได้ 10.6 ล้านตัน
การระบายข้าวออกยากสร้างผลกระทบต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนไปขายด้วยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) แทน แต่การขายจีทูจี ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวเลขลม มิหนำซ้ำยังมีข้อครหาว่าฮั้วขายหลอก ไม่ได้ส่งออกจริง แต่เป็นคนในและนอกประเทศสมยอมขายข้าววนเวียนในประเทศแทน จากปัญหาทั้งหมดทั้งการใช้งบประมาณมากและขายข้าวไม่ออก ส่งผลให้ประเมินว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากการจำนำปีละเป็นแสนล้านบาท และทำให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จนเกินขีดอันตราย หากรัฐบาลยังดื้อรั้นจำนำต่อไป
อันดับ 3 กิตติรัตน์หลุดวลีเด็ด ''ไวท์ไลน์''
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ได้กล่าวในการสัมมนา 1 ปี ยิ่งลักษณ์กับอนาคตเศรษฐกิจไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยยอมรับว่าการที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายมูลค่าการส่งออก 15% ทั้งที่ทำไม่ได้จริง .. ทำให้มีคำถามว่าทำไม่ได้และตั้งเป้าหมายไว้ทำไม จึงอยากชี้แจงว่าในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้รับอนุญาต ให้พูดไม่จริงในบางเรื่อง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “White lie” ที่แปลว่าโกหกสีขาว
ด้วยวลีเด็ดในครั้งนี้ทำให้รองนายกฯโต้งกลายเป็น ’เป้า“ โจมตีทันทีโดยมีการตั้งกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านในวันที่ 13 ก.ย. และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่า รองนายกฯโต้ง เป็นถึงหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อให้การส่งออกเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ได้ออกมา
ยอมรับว่าต้องโกหกเพราะทำไม่ได้ ซึ่งทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในฝีมือการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ตัวของรองนายกฯโต้งก็ยืนยันว่า ตัวเองไม่โกหก ไม่เคยโกหก และไม่ประสงค์โกหก
อันดับ 4 พิษค่าแรงเปิดศึกประธาน สอท.
อีกหนึ่งนโยบาย...ค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่สร้างคะแนนเสียงให้รัฐบาลแบบถล่มทลาย และไม่มีวันยอมถอยแม้จะมีเสียงเรียกร้องจากเอกชนมากเท่าใดก็ตาม ด้วยเหตุนี้เอง จึงกลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดเหตุความปั่นป่วนแบบไม่น่าเชื่อกับองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่อย่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เกิดศึกไล่ “ประธาน” ออกจากตำแหน่งเพราะไม่พอใจผลงานที่ไม่สามารถต่อรองให้รัฐบาลชะลอนโยบายค่าแรง 300 บาท ออกไปก่อน
แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง...เพราะเหตุผลกลในที่แท้จริงเป็นที่รู้กันอยู่ว่ามี ’เรื่องอื่น” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าได้ทำให้เกิดประวัติศาสตร์ขึ้นในส.อ.ท.ที่ดำเนินการมาเมื่อ 45 ปีที่แล้ว ต้องแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายโดยกลุ่มตัวแทนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจาก 300 บาทมากนัก กับตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดที่เดือดร้อนอย่างหนักกับค่าจ้างที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์ครั้งนี้แม้ทำให้ใครหลายคนมองว่าเป็นเรื่อง “ตลก” ของภาคเอกชน เพราะแทนที่จะช่วยกันเรียกร้องเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนแก่สมาชิกในองค์กรแต่กลับพบว่าภายในองค์กรกลับเกิดความแตกแยกซะเองโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเอสเอ็มอีที่ต้องการให้ “พยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล” ประธาน ส.อ.ท. ออกจากตำแหน่ง เพราะไม่สามารถแสดงบทบาทในฐานะของประธานได้อย่างเต็มที่
แต่สุดท้าย...จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ เกิดขึ้นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน
อันดับ 5 ผู้นำ 2 บิ๊กโลก เยือนไทย
อีกหนึ่งสถานการณ์สำคัญในปีมะโรงที่ผ่านมา คือเรื่องราวของผู้นำโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทยและเลือกเดินทางมาเยือนแม้ว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นเพียงการแวะเยี่ยมก่อนเดินทางไปร่วมประชุมที่ประเทศกัมพูชา...ก็ตาม แต่ผลของการเดินทางเยือนของทั้ง 2 ผู้นำ ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในเวทีโลก
เริ่มจาก ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา“บารัค โอบามา” ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรก เมื่อกลางเดือนพ.ย. 55 หลังจากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสหรัฐเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งการเดินทางมาครั้งนี้มีหัวข้อที่เกี่ยวโยงทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ การขอให้ไทยเข้าร่วมข้อตกลงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ทำให้เกิดประเด็นให้ตามกันต่ออย่างร้อนแรง โดยเฉพาะข้อดี-ข้อเสีย หากไทยจะเข้าร่วมในข้อตกลงนี้
ถัดจากนั้นมาไม่กี่วัน...ผู้นำของชาติมหาอำนาจอีกฝั่งโลก คือ “เหวิน เจียเป่า” นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งสาระในการเยือนไทยในครั้งนี้ ทางไทยและจีนได้หารือแบบทวิภาคี ก่อนประกาศความร่วมมือได้ลงนามความตกลงและเอกสารความร่วมมือไทย-จีน รวม 4 ฉบับ เกี่ยวข้องกับด้านการศึกษา การค้าข้าว การกระชับความสัมพันธ์ และการโอนตัวผู้ต้องโทษผู้พิพากษา ยังสนใจเรื่องลงทุนในไทยด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน
อันดับ 6 โครงการประชานิยมสร้างหนี้พุ่ง
ผลงานหลังเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับนโยบายประชานิยมที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและกระตุ้นการใช้จ่ายเงินหวังให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโต โดยหลายคนหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันมาในเรื่องของนโยบายประชานิยมที่จะสร้างหนี้ แม้แต่สถาบันจัดอันดับของต่างประเทศเองก็พร้อมจะปรับลดเครดิตของประเทศไทยลงทันที หากผลพวงของนโยบายประชานิยมทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง โดยล่าสุดยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 ต.ค. 55 มีจำนวนกว่า 4.82 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 43.27% ของจีดีพี ขณะที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน.ได้ประมาณการว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะสูงสุดในปี 59 ที่ระดับ 49.9% ของจีดีพี ซึ่งเป็นหนี้ที่รวมเงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำและการกู้เงินเพื่อลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศแล้ว
เชื่อแน่ว่า...ณ จุดนี้ รัฐบาลต้องพยายามเดินเครื่องทุกอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต เพราะยิ่งเศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นเท่าใด จะยิ่งทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดน้อยลงมากเท่านั้น ซึ่งเป็นเทคนิคของคณิตศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า...ทำไมรัฐบาลจึงเร่งบู๊ทเศรษฐกิจให้โตมากขึ้น เพราะนั่นหมายความว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะน้อยลงตามไปด้วย
อันดับ 7 ช็อก...พี.ซี.แอร์ ทิ้งผู้โดยสาร
“พีซีแอร์” หยุดบินลูกทัวร์ตกค้างวุ่นกลายเป็นหัวข่าวตามสื่อทุกแขนง จนสร้างความร้อนระอุให้กับแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ที่เรียกได้ว่าแทบไม่เคยได้ยินสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แต่สายการบินพีซีแอร์ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ให้อีกหนึ่งเรื่อง โดยค้างค่าธรรมเนียมกับสนามบินในเกาหลี จนเป็นเรื่องเป็นราวถูกระงับไม่ให้บินกลับไทย เดือดร้อนถึงลูกทัวร์ทั้งหลายที่เดินทางไปเกาหลีกับบริษัททัวร์ที่ใช้บริการพีซีแอร์ แม้ว่าสุดท้ายแล้วสายการบินจะจัดการปัญหาได้ โดยหยุดบินชั่วขณะ จัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง ลูกค้าที่ตกค้างในไทยและเกาหลีจนเรียบร้อย แต่ปัญหาที่ตามมายังไม่จบ เพราะบริษัททัวร์บางส่วนได้สำรองค่าใช้จ่ายให้ลูกทัวร์ที่เดือดร้อนจากการตกค้างในเกาหลี รวมทั้งเสียค่าใช้จ่ายเปลี่ยนสายการบินให้ลูกค้า ซึ่งขณะนี้ก็ยังเรียกร้องค่าเสียหายกับพีซีแอร์กันอยู่
นอกจากนี้ยังมีลูกทัวร์บางรายที่ต้องรับกรรม เพราะบริษัททัวร์บางบริษัทไม่ได้ช่วยออกค่าใช้จ่าย หรือรับผิดชอบอะไรจากกรณีนี้ทั้งสิ้น โดยอ้างว่า เป็นความผิดของพีซีแอร์ ไม่ได้ผิดที่ทัวร์ ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัวมากว่าหากเกิดปัญหาแบบนี้อีกในอนาคตจะทำเช่นไร เพราะบริษัททัวร์ก็นิยมใช้เที่ยวบินเช่าเหมาลำ(ชาร์เตอร์ไฟลต์) จัดทัวร์ไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อประหยัดต้นทุนการทำทัวร์
งานนี้จึงต้องรอดูภาครัฐว่า จะวางมาตรฐานอะไรไว้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมากรมการท่องเที่ยวระบุว่าจะเจรจากับกรมการบินพลเรือน ขอให้วางกฎเกณฑ์กำกับดูแลชาร์เตอร์ไฟลต์ระหว่างประเทศ ในการดูแลนักท่องเที่ยวกรณีเกิดปัญหา แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรออกมา เงียบหายไปพร้อมกับข่าวคราวพีซีแอร์ที่หยุดบินไป
อันดับ 8 เสริมสุขปิดตำนาน ''เป๊ปซี่''
ไม่เพียงแต่เรื่องราวจากนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น ในแง่ของภาคเอกชนเองก็มีเรื่องราวที่สร้างประวัติศาสตร์ให้กับไทยด้วยเช่นกัน เมื่อ “เป๊ปซี่” และ “เสริมสุข” ได้ประกาศยกเลิกการเป็นพันธมิตรที่ยาวนานถึง 50 ปีทีเดียว หลังจากที่ เป๊ปซี่ ต้องการซื้อกิจการของเสริมสุข เพื่อทำหน้าที่บริหารธุรกิจน้ำดำในไทยเองทั้งหมด ตามนโยบายของบริษัทแม่ในสหรัฐ
แต่งานนี้ค่ายเสริมสุข ไม่ตอบตกลงและยอมจบการเป็นพันธมิตรระหว่างกันเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับปล่อย “เอส โคล่า” มาสู้กับเป๊ปซี่ทันที ด้วยการใช้งบการตลาดกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์พร้อมประกาศลั่นการันตีภายใน 3 ปีจะครองตลาดน้ำอัดลมในไทย ฟาก “เป๊ปซี่” ก็ไม่น้อยหน้าประกาศเดินหน้าลงทุนใหญ่ 18,400 ล้านบาทในช่วง 3 ปีเช่นกัน ทั้งสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง พื้นที่ 96 ไร่ เป็นโรงงานผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมขนาดใหญ่สุดในโลก งบที่เหลือทำการตลาด พัฒนาบุคลากร รวมทั้ง ประกาศเลิก ขวดแก้ว เข้ามาทำตลาด ใช้เป็นขวด พีอีที แทน และย้ำกระแสคนรุ่นใหม่ใช้ขวด พีอีที มากกว่า ขวดแก้ว ด้วย พร้อมมั่นใจ ยังไงเป๊ปซี่ จะเป็นผู้นำในตลาด น้ำอัดลมสีดำของไทยต่อไป ด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50%
การตัดสัมพันธ์กันครั้งนี้ถือเป็นการปิดตำนานเสริมสุข-เป๊ปซี่แบบถาวร แต่หลังจากนี้ต้องมาดูการแข่งขันของทั้ง 2 ค่ายว่าจะร้อนระอุและสามารถถึงจุดหมายได้มากน้อยอย่างไรต่อไป
ส่วนคู่แข่ง อย่าง ’โค้ก“ ที่เป็นผู้นำในตลาด น้ำอัดลมไทย ก็ใช้งบการตลาดตลอดปีกว่า 600 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 63 ปี และเดินหน้าแจกโค้ก ทั่วประเทศ 1 ล้านขวดด้วย ยืนยัน โค้กก็จะเป็นผู้นำในตลาดน้ำอัดลมไทยต่อไป เรื่องนี้ห้ามกะพริบตาเด็ดขาด !!! ทุกแบรนด์ต่างประกาศขอเป็นที่หนึ่งในไทยทั้งหมด แต่ใครจะมาที่หนึ่งและสามารถเอาใจคนไทยกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศได้
อันดับ 9 เสียชื่อไฟดับทั่วเกาะสมุย
กลายเป็นข่าวดังรับไฮซีซั่น หลังแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตทั้งของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ อย่างเกาะสมุยและเกาะพงัน ไฟฟ้าดับทั้งเมือง หลังสายเคเบิลใต้ดินขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 240 ตารางมิลลิเมตร ระเบิดที่จุดต่อสายพังกา อ.เกาะสมุย ซึ่งเริ่มเจอปัญหามึดสนิททั้งเมืองตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.จนกระทั่งเพิ่งมีไฟใช้กันวันที่ 7 ธ.ค. ในช่วงเช้าตรู่ งานนี้เดือดร้อนไปทั่วทั้งเกาะ โดยผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในเกาะสมุยได้พากันไปกว้านซื้อน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันทุกแห่งในเกาะสมุย เพื่อสำรองเครื่องปั่นไฟบริการนักท่องเที่ยว ขณะที่ปั๊มน้ำมันหลายแห่งน้ำมันหมดไม่เพียงพอกับความต้องการ และได้สร้างความโกลาหลเป็นอย่างมาก
ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทยอยเดินทางกลับโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์สเต็มทุกเที่ยวบิน ทำให้บริเวณสนามบินเกาะสมุยแน่นขนัด อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อันดับ 10 ทีวีจอดำรับศึกบอลยูโร
กลายเป็นประวัติศาสตร์ของ “คอบอล” คนไทยอีกเช่นกันที่ตลอดปี 55 ปัญหาจอดำถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาระดับโลกกลายเป็นโรคฮิตระบาดมาตลอดทั้งปี เกิดจากเจ้าของลิขสิทธิ์บอกว่าดูได้เฉพาะเสาอากาศเท่านั้น เพราะหากปล่อยสัญญาณผ่านดาวเทียมจะเป็น
การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ได้รับมา ปมขัดแย้งนี้ร้อนถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องโดดมาเคลียร์ แต่ปัญหาจอดำยังมีถึงทุกวันนี้ เพราะปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ และผู้ซื้อลิขสิทธิ์ภาคเอกชนจากไทยไม่สามารถกำหนดเองได้ โดยเฉพาะการเปิดให้จานดาวเทียมรับสัญญาณ เพราะจะทำให้สัญญาณรั่วไหลไปประเทศอื่น จนเจ้าของลิขสิทธิ์เสียผลประโยชน์ และถึงวันนี้ปัญหา จอดำ ยังไม่มีทีท่าได้รับการแก้ไข
| |
.....เดลินิวส์ออนไลน์
| |
“เพ้ง” เชื่อ “ป๋าเปรม” ส่งซิกถอย ย้ำชัดต้องล้างผิด เชื่อ “นช.แม้ว” ไม่แคร์กลับบ้าน
| |
รมว.พลังงานยกโอวาท “ป๋าเปรม” สัญญาณถอยคนละก้าว แนะล้างผิดให้ทุกคน โดดป้อง
“ทักษิณ” อยู่นอกสบายกว่ายังไม่อยากลับมาแย่งงาน “ยิ่งลักษณ์” โอ่พี่ชายดูแลน้องสาวเหมือนลูกคนหนึ่ง ชูมือหนุนประชามติก่อน-หลังแก้ รธน. ชี้ความเห็นต่างในพรรคสุดงดงาม เชื่อมติพรรคออกทุกคนพร้อมทำตาม วันนี้ (1 ม.ค.) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงานกล่าวถึงการประเมินสถานการณ์การเมืองไทยในปี 2556 ว่า เชื่อว่ามีสัญญาณที่ดีจากหลายด้าน เพราะทุกคนทราบดีว่าในระยะยาวประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูง จะเกิดความเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐ เพราะความขัดแย้งจะเป็นอุปสรรคของทุกอย่าง และนำไปสู่ความตกต่ำของรัฐ มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยยังโชคดีที่มีวัฒนธรรมของการให้อภัยกัน เหมือนที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้กล่าวในโอกาสปีใหม่กับผู้นำเหล่าทัพเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ว่า ความเห็นต่างไม่ใช่ความแตกแยก ต้องคำนึงถึงความสามัคคีและการให้อภัยกัน ส่วนตัวจึงเชื่อว่า เมื่อมีสัญญาณจากผู้หลักผู้ใหญ่ออกมาเช่นนี้ ทุกฝ่ายก็ต้องถอยคนละก้าว เพื่อมานั่งตรึงตรองและให้สติกับคู่ขัดแย้งแล้วจึงค่อยกลับมาคุยกันใหม่“วันนี้หลายคนมีคดีติดตัวจากความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าอยู่ฝ่ายไหนใส่เสื้อสีใด หากยึดหลักการให้อภัยจริง ต้องลบล้างความผิดให้แก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมและไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความสงบในประเทศ” นายพงษ์ศักดิ์ระบุส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า ความต้องการกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบันนั้น นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เป็นเพียงความเชื่อของคนบางกลุ่มที่ก้าวไม่ข้าม พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น เพราะส่วนตัวเชื่อว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณอยู่ที่ต่างประเทศก็มีความสุขดีอยู่ และอาจจะสบายมากกว่าด้วยซ้ำ ช่วงแรกๆอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่วันนี้เริ่มชินกับการใช้ชีวิตที่เมืองนอกแล้ว อย่างไรก็ดีเมื่อมีกลุ่มคนที่จับจ้อง พ.ต.ท.ทักษิณมองอีกมุมก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ช่วยล่อเป้าให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ทำงานสบายขึ้น และในฐานะผู้ใกล้ชิดตนก็เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้สนใจเรื่องได้กลับหรือไม่กลับประเทศ“อย่าลืมว่าคนที่เป็นนายกฯ ตอนนี้ คือน้องสาวของท่าน คงไม่มีพี่ชายคนไหนที่อยากจะมาแย่งงานน้องสาว และถ้าพี่กลับมาจริง คนก็จะแห่กันไปหา บทบาทน้องสาวก็จะถูกบดบังลงไป ซึ่งคงไม่มีพี่คนไหนต้องการเช่นนั้น อย่าลืมว่าท่านทักษิณดูแลนายกฯยิ่งลักษณ์มาตั้งแต่เด็ก ดูแลกันเหมือนลูกคนหนึ่งด้วยซ้ำ” รมว.พลังงานกล่าวสำหรับประเด็นแนวทางการแก้ไขรัฐมนตรีที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันในพรรคเพื่อไทยนั้น นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ความเห็นแย้งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดีในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีอยู่ในทุกองค์กร ที่สุดท้ายแล้วเมื่อมีการอภิปรายแสดงความเห็นแล้วเป็นมติหรือแนวทางขององค์กรออกมา ทุกคนก็จะยอมรับ ดีกว่าการที่มีคนพูดเป็นเสียงเดียวกำลังแนวทางแบบผูกขาดออกมา จะทำให้องค์กรตกต่ำลงด้วย การถกเถียงของ 3 แนวทางภายในพรรคเพื่อไทยและผู้สนับสนุนนั้น ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่ดีมาก ทั้งผู้ที่ไม่อยากลงประชามติ ที่ดูตามสถิติเก่าว่าคนจะออกมาให้สิทธิ์ไม่ถึง หรือผู้ที่อยากลงประชามติก็เพราะต้องการให้ประชาชนยอมรับตั้งแต่เริ่มกระบวนการ หรือแม้แต่ผู้ที่เห็นว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตราก็ตาม ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ใช่ความแตกแยก เพราะในพรรคเพื่อไทยอยู่กันด้วยเหตุและผล นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นควรให้มีการออกเสียงประชามติเสียก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะต้องมีการออกไปบอกถึงสาเหตุที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้จุดใดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนบ้าง และจะแก้มาตราใดบ้าง เป็นการสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น หากประชาชนลงประชามติเห็นด้วยให้แก้ไขแล้ว เมื่อแก้ไขแล้วเสร็จก็ต้องมีการประชามติถามว่าประชาชนพอใจฉบับที่แก้ไขมาหรือไม่อีกด้วย อย่างไรก็ตามหากพรรคมีมติออกมาอย่างไร ตนก็พร้อมที่จะสนับสนุน | |
.....ผู้จัดการออนไลน์
| |
คอลัมน์: วิเคราะห์: ปัจจัยเสี่ยง การเมืองปีมะเส็งแก้รัฐธรรมนูญ มะเร็งร้ายรัฐบาล'ปู'?
| |
สถานการณ์การเมืองที่ร้อนระอุตั้งแต่ ปี 2555 จะเชื่อมโยงไปถึง ปี 2556 อย่างชนิดที่ต้องติดตามกันวันต่อวัน อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งจากแนวคิดทางการเมืองของคนในสังคม ที่เรื้อรังมาจากเชื้อความรุนแรงจากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553 ศึกชงผู้ว่าฯ กทม. เริ่มกันในช่วงต้นปีมะเส็ง บรรยากาศการเมืองในกรุงเทพฯ จะคึกคักเป็นพิเศษ จากการงัดกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำการบริหารในกรุงเทพ มหานคร ภายหลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมดวาระลง ในวันที่ 10 มกราคม 2556 ก่อนถึงวันเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเบื้องต้นเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ทำให้พรรคคู่แข่งทางการเมือง อย่าง เพื่อไทย และประ ชาธิปัตย์ อุบไต๋ไม่ยอมเปิดตัวคู่แข่งเกรงคู่ต่อสู้ทางการเมือง แค่แย้มชื่อผู้สมัครของแต่ละฝ่ายโยนหินถามทางคนเมืองกรุง เอาไม่เอา เพราะการเมืองเดาใจคนเมืองกรุงยาก การคัดผู้สมัคร จึงเน้นคุณภาพ ควบคู่กับฐานเสียง และไม่ทิ้งเสียงบริสุทธิ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชน แคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่กำลังมาแรงในพรรคเพื่อไทย ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผู้ว่าฯกทม.ในวันที่ 10 มกราคม และ กรณ์ จาติกวณิช อดีตขุนคลังยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ใครจะได้เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จนถึงวันนี้ยังไม่มีข้อยุติ ทั้งยังจะเป็นปัญหาสร้างรอยร้าวลึกภายในพรรคอีกด้วย เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ต้นปี 2556 จึงเป็นการประลองกำลังทางการเมืองของ2 พรรคใหญ่ก่อนประกาศสงคราม "แก้รัฐธรรมนูญ" ในลำดับต่อไป * แก้รัฐธรรมนูญ ปัจจัยเสี่ยงรัฐบาล ต้องยอมรับปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอันดับ 1 ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คงไม่พ้นประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เรื้อรังมาตั้งแต่รัฐบาลเริ่มตั้งไข่ด้วยซ้ำ เพราะพรรคเพื่อไทยหยิบเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ในวาระ 1 และ วาระ 2 แต่พอจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 เกิดสะดุดอย่างกะทันหัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แม้ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาให้ดำเนินการได้แต่ต้องผ่านการทำประชามติก่อน รัฐบาลจึงชงวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.291 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ทำหน้าที่ขอประชามติ แต่อยู่ๆ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ สั่งเบรกแนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของ คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่มีนายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนจาก 4 พรรคร่วมรัฐบาล ให้เปลี่ยนรูปแบบใหม่โดยทำประชามติก่อน ว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วยให้แก้ไขเป็นรายมาตรา นัยว่าต้องการลดความขัดแย้งทางการเมือง อย่างไรก็ตามข้อเสนอของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ณ ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เพราะเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2555 พรรคเพื่อไทยไม่ฟันธงทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่างทางเลือกที่หนึ่ง คือ เดินหน้าโหวตวาระ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแกนนำกลุ่มเสื้อแดง เพราะเห็นว่าเสียงพรรคร่วมรัฐบาลท่วมท้นผลโหวตไม่พลิกล็อกแน่นอน จึงคัดค้านข้อเสนอที่สอง คือการขอประชามติ เพราะเป็นห่วงว่า หากทำประชามติ ต้องใช้เสียงจากประชาชนเกิน 24.7 ล้านเสียง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง บวกกับแรงต้านจากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมพลังนอกสภา ที่จับมือรณรงค์ไม่ให้คนมาใช้สิทธิลงประชามติ ส่วนทางเลือกที่สาม แก้ไขรายมาตรา เป็นการชงของ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกติงว่า การแก้ไขทั้ง 9 ประเด็น 81 มาตรา ต้องใช้เวลานานถึง 3 ปี จึงเป็นห่วงว่าจะไม่เสร็จทันอายุของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รธน. สร้างปมสังคมไทย "ลับ ลวง พราง" รศ.ดร.ชัยชนะ อิงคะวัติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง สะท้อนมุมมองทางการเมืองที่เป็นผลมาจากปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญกลายเป็นจุดวิกฤติทางการเมืองไปแล้ว เนื่องจากเวลานี้สภาพสังคมไทยมีความซับซ้อนมาก อยู่ในสถานการณ์ที่ เรียกว่า "ลับ ลวง พราง" "วิกฤติของสังคมไทยเวลานี้ คือ วิกฤติความขัดแย้งในเรื่องของวิธีคิด"รศ.ดร.ชัยชนะ ระบุและว่าปัจจัยเสี่ยงการเมืองไทย นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เห็นว่า ต้องให้ความสำคัญสนใจกันที่เรื่องของกระบวนการเป็นหลัก โดยกระบวนการแรกนั้น มองว่า การที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สามารถทำได้ง่าย มีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอยู่ ที่ปรากฏชัด ก็คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีองค์กรของตนเองขับเคลื่อนเรื่องนี้มาโดยตลอด ขณะที่การรวมตัวกันของ องค์การพิทักษ์สยาม ของพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ได้สร้างประสบการณ์ให้กับสังคมในลักษณะหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีแนวร่วมอีกจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการรวมตัวกันในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.ชัยชนะ ระบุว่า ไม่สามารถที่จะคาดการณ์แนวโน้มความรุนแรงได้ เนื่องจากลักษณะของการเมืองไทยมีลักษณะที่แปลกไม่เหมือนที่อื่น "หากดูจากสถานการณ์ทั่วไปแล้ว มองว่า ไม่ดี โดยส่วนตัวได้แต่หวังว่า สถานการณ์การเมืองไทยปี 2556 น่าจะดีขึ้นกว่านี้" เป็นความคาดหวังของ ศ.ดร.ชัยชนะ และคนไทยทุกคน ที่ฝันอยากได้ของขวัญปีมะเส็ง จากนักการเมือง ซึ่งไม่ต้องการอะไรนอกจากความปรองดอง ลดขัดแย้ง และก้าวสู่สังคมสันติ การเมืองไทยปี56 ยังน่าเป็นห่วง!! แนวโน้มสถานการณ์การเมืองไทย ปี 2556 ในมุมมองนักวิชาการรัฐศาสตร์ ต่างระบุตรงกันว่า "ไม่ดีนัก" โดยดร.ปรีชา สุวรรณทัต นักวิชาการอิสระ ระบุถึงแนวโน้มการเมืองไทยปีหน้าว่า ขอใช้คำว่า "น่ากังวลใจ" และ "น่าเป็นห่วงมาก" สังเกตได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความปรองดองสมานฉันท์ที่พูดกันมานาน แต่ยังไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนได้ เนื่อง จากพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐบาล ยังตรงข้ามกับคำพูดอยู่ "แนวโน้มการเมืองไทยคงไม่ดีกว่าเดิม หรือไม่อาจจะแย่มากกว่านั้น" ดร.ปรีชา ระบุ พร้อมย้ำว่า สาเหตุหลักมาจากตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังไม่ยอมหยุด ดังจะเห็นได้จากการออกมาปรากฏตัวผ่านช่อง 11 (เอ็นบีที) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน ด้าน ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวสอด คล้องกันว่า แนวโน้มการเมืองไทยปีหน้าก็คงจะยุ่งๆ เหมือนกับปีนี้ แต่เชื่อว่าจะยุ่งมากกว่านี้ อันเนื่องมาจากการแก้ ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้ เกิดการประท้วง เกิดการคัด ค้าน ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย "เรื่องของรัฐธรรมนูญเห็นชัดเจนมาก ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของการตีความทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่อง ที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม" ศ.ดร.สุจิต กล่าวและว่า เมื่อมองถึงความจำเป็นต้องใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนคนไทยจำนวนมาก การที่รัฐบาลจะบอกว่า เหมาะสมที่จะให้มีการแก้ไข ซึ่งคงไม่ใช่ เพราะโดยส่วนตัวแล้วก็ยังเห็นว่า รัฐบาลสามารถที่จะบริหารงานให้เดินหน้าต่อไปได้ ดังนั้น จะบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เหมาะคงไม่ใช่ "แน่นอนว่าการแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องเสียเงินอยู่ดี ประเด็นที่จะแก้ บางจุดมี แต่จะถึงขนาดที่ต้องยกร่างกันทั้งฉบับ มันก็คงไม่ใช่ กรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ยกคำร้องมาตรา 28 วรรค 2 แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไปทำประชามติก่อนนั้น ตีความเกินกว่า รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า นั่นเป็นข้อคิดเห็น เป็นข้อเสนอแนะของศาลที่ควรรับฟัง" ศ.ดร.สุจิต กล่าวให้ข้อคิด
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 3 - 5 ม.ค. 2556--
| |
.....ฐานเศรษฐกิจ
| |
“สามารถ” เชียร์ พท.ดองเค็มชำเรา รธน.วาระ 3-หนุนแก้รายมาตรา ชี้อธิบายง่าย
| |
อดีตคณะทำงานพรรคร่วมฯ แก้รัฐธรรมนูญ เสนอพรรคเพื่อไทยค้างวาระ 3 ในสภาไว้เฉยๆ หวังแสดงเจตนาไม่ได้ช่วย “ทักษิณ” หรือไม่เช่นนั้นเดินหน้าโหวตวาระ 3 ถ้าไม่ผ่านก็แก้รายมาตราได้ โอดประชามติขวากหนามเยอะ หวั่นถูกยื่นศาล รธน.ตีความ
วันนี้ (1 ม.ค.) นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ยอมรับว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ทั้ง 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การโหวตลงมติวาระสาม 2. การแก้ไขเป็นรายมาตรา 3. การทำประชามติ ล้วนแต่มีปัญหาและมีกับดักทุกแนวทาง ไม่ว่าจะใช้แนวทางใดก็มีปัญหาทั้งนั้น จึงต้องรอบคอบ เลือกวิธีที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด ทั้งนี้ถ้าต้องเลือกแนวทางที่มีปัญหาน้อยที่สุดมี 2 แนวทาง คือ 1. ให้คาการแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ค้างไว้ในสภาฯ เฉยๆ รอจนสภาหมดอายุ กฎหมายดังกล่าวก็จะตกไปเอง พอมีรัฐบาลใหม่ค่อยมาว่ากันใหม่ แต่อาจเสียความรู้สึกประชาชน และคนเสื้อแดง แต่เราอธิบายได้ว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีปัญหามากมาย หากทำไปจะยิ่งสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง จึงไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้หวังว่าประชาชนจะเข้าใจ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่า ไม่ได้ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2. เดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไป ถ้าไม่ผ่านก็ให้ไปแก้ไขเป็นรายมาตราต่อไป ส่วนตัวเชียร์ให้ใช้แนวทางนี้ เพราะอธิบายได้ง่ายที่สุด ส่วนการทำประชามติมีขวากหนามมากมาย ต้องใช้เสียงประชามติมหาศาล และมีปัญหาตามมาคือ หากทำประชามติโดยยึด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ที่ใช้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และต้องได้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธินั้น จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เป็นการทำประชามติที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ระบุถึงการทำประชามติว่า ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ คือ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่า 24 ล้านเสียง จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 48 ล้านคน ซึ่งเนื้อหากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขัดกันอยู่ จึงเป็นกับระเบิดที่จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่นอกจากนี้ การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ หากไปทำประชามติก็จะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่ระบุว่า การทำประชามติต้องไม่ทำในเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้เป็นรายมาตรา ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่วาระ 1-3 ก็มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทางได้ทุกมาตรา ทุกเส้นทางเต็มไปด้วยกับระเบิด ยอมรับว่า โอกาสแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จคงยาก จึงต้องทำด้วยความรอบคอบที่สุด | |
.....ผู้จัดการออนไลน์
| |
ทิศทางเสื้อแดง แผนขับเคลื่อนปี "56
| |
กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง ผ่านเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือด 2553 มาถึง 2 ปีกว่า คำถามสำคัญสำหรับคนเสื้อแดง คือจะทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางการต่อสู้ในอนาคตอย่างไร ในสถานการณ์ที่คล้ายปกติ แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่บรรยากาศการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐ ประหารกันยาฯ 2549 ก็ดูอึดอัดและอึมครึมไปทุกองคาพยพ
จากการสำรวจเสียงทั้งจากกลุ่มเสื้อแดงกระแสหลัก และกลุ่มเสื้อแดงอิสระ กระทั่งมองผ่านความเห็นจากกลุ่มเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ว่าในปี 2556 นี้ คนเสื้อแดงจะไปทางไหน
แดดแรงจัดยามบ่ายกลางโบนันซ่า เขาใหญ่ ในงานคอนเสิร์ตของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้คนเสื้อแดงอ่อนกำลังลง เหมือนที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามดิสเครดิตว่าคนเสื้อแดงกำลังแตกแยก
ราวๆ 1 ทุ่ม ความร้อนระอุอ่อนแรง คนเสื้อแดงทยอยมาเพิ่ม บนเวทีปราศรัย แกนนำนปช.ขึ้นเรียงหน้าแถลงการณ์ผ่านเสียงของนางธิดา โตจิราการ ประธานนปช. กังวานชัด
นปช.เรียกว่า"ปฏิญญาโบนันซ่า" แต่ในอีก 2 ชั่วโมง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมาจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า"ประชามติ 24 ล้านเสียงเป็นเรื่องหมูๆ" ดูจะเห็นไปคนละทางกับ นปช. ที่ยืนยันให้ลงมติวาระ 3 ทันที
ต่อประเด็นนี้ ประธาน นปช.มองว่าความเห็นต่างนั้นเกิดขึ้นได้ สำคัญที่ต้องรู้ว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู ด้วยความที่ประชาชนเสียสละและมาด้วยใจ เขาอาจมีอิสรภาพในการต่อสู้มากกว่า เพราะไม่ต้องหอบเครื่องหลังรุงรังเหมือนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการต่อสู้
"ไม่ใช่ว่าคุณทักษิณ หรือรัฐบาลพูดอะไรมาแล้วพวกเขาต้องเชื่อทั้งหมด แบบนี้เป็นเผด็จการ ประชาชนไม่เชื่อในอำนาจบนยอดพีระมิด แต่นปช.ต้องประเมินจากความจริง ไม่สามารถดันทุรังได้"
สำหรับทิศทางการต่อสู้ในอนาคต นางธิดามองว่าวันนี้คนเสื้อแดงไม่ได้เพิ่มเฉพาะปริมาณเท่านั้น แต่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ดูจากการตั้งคำถามและการโต้ตอบ เขาสามารถตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับ นปช. ตรงนี้สะท้อนว่าเขาติดตามและวิเคราะห์ตลอดเวลา
อาจารย์ธิดาพูดถึงการเปิดโรงเรียนการเมือง นปช.ว่า ได้เริ่มต้นในปี 2552 หยุดไปในปี 2553 และมาเปิดใหม่ในปี 2555 ขณะนี้มี 7 โรงเรียนแล้ว เราไปเปิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีแต่คนกลัว เชื่อไหมว่ามีประชาชนเข้าร่วมเป็นพันคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่สวมฮิญาบมาเป็นร้อยคน และตั้งเป้าว่าในปีใหม่นี้จะเปิดเพิ่มที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วย
"ที่ทำได้เพราะความตื่นตัวของประชาชน ไม่ได้มาจากการฝันเอาเอง" ประธาน นปช.ทิ้งท้าย ลงจากโบนันซ่าข้ามมาที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก บ่ายโมงตรงทุกวันอาทิตย์ คนเสื้อแดงประมาณ 30-40 คนปักหลักกลางแดดจ้า แม้จะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุมของนปช. แต่ใช่ว่าประเด็นเสวนาที่หน้าศาลจะเบาบางไม่ จากการชุมนุมอดอาหารนานถึง 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.2555 ที่เริ่มต้นโดยนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ลูกชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ที่ต้องคดีหมิ่นเบื้องสูง จากนั้นนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ปักหลักอีก 23 วัน จนเกิดเป็นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล กระทั่งกรณีการเสียชีวิตในเรือนจำของ"อากง" หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2555 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลก็ประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2555 เป็นต้นมาทุกอาทิตย์ นางสุดา รังกุพันธุ์ หัวเรือหลักของกลุ่ม เล่าว่าเราเป็น กลุ่มที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชา การทั้งในอุดมศึกษา และนักวิชาการอิสระที่เห็นปัญหาของกระบวน การยุติธรรมไทย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการประกันตัวของนักโทษการเมือง ซึ่งสามารถผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้กับประชาชนที่หน้าศาลได้ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) มีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาการเมืองถึง 1,857 คน วันนี้พวกเขารับรู้ว่าความอยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับคนเสื้อแดงเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีอากง ที่อาจจะมีคนเป็นแบบอากงอีกหลายคน เพียงแต่เรายังไม่เคยรู้ "กรณีอากง แม้จะใช้เงินประกันสูงถึง 2 ล้านบาทก็แล้ว ใช้ตำแหน่งทางวิชาการก็แล้ว ใช้เหตุผลทางสุขภาพและภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวก็แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว จนกระทั่งเสียชีวิตไป"
อาจารย์สุดากล่าวถึงข้อเรียกร้องของนปช. ในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองว่า ส่วนตัวดีใจที่ นปช.พูดเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ยังไม่เห็นรูปธรรม นปช.สามารถเสนอร่างกฎหมายนิรโทษฯ ต่อสภาได้ เพราะนปช.มีนักกฎหมายที่มีศักยภาพ
"นักโทษการเมืองเขายังมีลมหายใจก็จริง แต่เป็นลมหายใจที่ถูกพันธการด้วยโซ่ตรวน พวกเขาต้องได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วต้องได้รับการเยียวยาเสมือนว่าเขาไม่เคยต้องโทษ ถ้ายังปล่อยให้มีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่ เจตนารมณ์ในการสร้างรัฐธรรมนูญด้วยกันก็แทบไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีบรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพ"
อาจารย์สุดากล่าวถึงเป้าหมายและทิศทางการเคลื่อนไหวในปีใหม่นี้ว่า"แม้พวกเราจะไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนที่สนใจได้มากนัก เช่น ไม่สามารถจัดรถให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ามาร่วมได้ แต่เราก็พยายามแก้จุดอ่อนตรงนี้ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต"
1.เสื้อแดงชุมนุมใหญ่ที่โบนันซ่าเขาใหญ่ เมื่อปลายปี 2555 2.จากสุไหงโก-ลก และสงขลา ก็มาร่วมชุมนุม 3.กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล 4.กวีราษฎร์แถลงการณ์ 5.โปสเตอร์งานกวีราษฎร์ ขณะที่การจัดกิจ กรรมทุกอาทิตย์นั้น ภาษาของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ผู้ร่วมจัดคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ใช้คำว่า"กระบวนท่ามาตร ฐาน" คือ พวกเราเลือกที่จะชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปอยากเข้ามามีส่วนร่วม
เกือบทุกครั้งที่คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ไม่ได้มีแต่ภาพของแกนนำเท่านั้น กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมก็ถูกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งละครและการอ่านบทกวีจึงมักเป็นเสน่ห์ของการชุมนุมในครั้งหลังๆ
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง สมาชิกกลุ่มประกายไฟ ผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรมประกายไฟการละคร เล่าว่าภาพที่คนจำเราได้ คือการไปแกล้งนอนตายที่หน้าบ้านพิษณุโลก เพื่อคัดค้านคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จากนั้นเวลามีการรำลึกเหตุ การณ์ราชประสงค์ การนอนตายก็ได้รับความนิยมขึ้นมา
กระทั่งละคร"แม่พลอย" จากบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ก็เปิดการแสดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555 ในงานรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ด้วยการเล่าถึงคนแบบแม่พลอยที่หลงอยู่ในสังคมเก่า โดยนำแถลงการณ์ของคณะราษฎรมาใส่เพิ่ม แล้วตีความว่าคนแบบแม่พลอยนั้นมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เข้าใจ
ในฐานะนักเคลื่อนไหว ภรณ์ทิพย์มองว่าสิ่งสำคัญในวันนี้ คือ"ต้องสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ แม้หลายคนในฝ่ายเดียวกันจะไม่ชอบ แต่ถือว่าเราบอกมิตรในขณะที่ยังเป็นมิตรกันอยู่ เราจึงไม่ทิ้งการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถ้ากล้าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแล้ว ก็ต้องกล้าที่จะวิจารณ์ฝ่ายเดียวกันด้วย"
ด้าน"วาดดาว" กลุ่มกวีราษฎร์ มองการใช้ศิลปะของถ้อยคำในการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า ความอึดอัดคับข้องใจทางการเมืองเอื้อให้เกิดบทกวี "อย่าได้รังเกียจความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่จงรังเกียจถ้อยคำจากการสะกดจิต ประเทศชาติมิอาจลอยอยู่ได้กับถ้อยคำโกหกพกลม มีแต่มือที่มองเห็นของประชาชนเท่านั้น ที่จะประคองผืนแผ่นดินแห่งนี้" ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของกวีราษฎร์ ในการเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง วาดดาวบอกว่ากวีราษฎร์เกิดจากคนธรรมดาที่สนใจการเมืองและชอบเขียนบทกวี รวมตัวกันในโชเซี่ยลมีเดีย กระทั่งหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง รัฐบาลขณะนั้นใช้ ม.112 กำราบผู้เห็นต่างทางการเมือง จนกลุ่มนิติราษฎร์ออกมาเสนอแก้ไข ม.112 แต่กลับถูกโจมตีอย่างหนัก กวีราษฎร์จึงออกมาสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขดังกล่าว
ล่าสุด เมื่องานรำลึกการรัฐประหารกันยาฯ 2549 กวีราษฎร์ส่งแคมเปญ"ก.ย.19 ทากันยุง" เข้าสู่สังคมในวงเล็กๆ แต่กลับได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมโซเชี่ยลมีเดีย มีการตีความกันว่า ยุงคืออะไร และการถูกยุงกัดตลอดเวลานั้นเป็นอย่างไร
"ความจริงคนเสื้อแดงได้ไปไกลกว่าบทกวีแล้ว บทกวีทำหน้าที่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์ และสะท้อนสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของมวลชนเท่านั้น" วาดดาวบอกด้วยว่าวันนี้สมาชิกเริ่มหลากหลายขึ้น ตอนนี้มีทั้งงานศิลปะทั้งละคร หนังสั้น ดนตรี และในปลายเดือนม.ค.นี้ จะมีกิจกรรม"ความฝันอันสูงสุด" เพื่อจะบอกว่า ภายใต้สังคมไทย ทุกคนมีสิทธิที่จะฝัน และความฝันอันสูงสุดของทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ส่วน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มองการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้เสื้อเหลือง ถือว่าได้ใช้สัญ ลักษณ์แล้ว เพียงแต่รูปแบบไม่ได้ถูกพัฒนาต่อ กระทั่ง นปช.สวมเสื้อแดงและสร้างวาทกรรม"เดงทั้งแผ่นดิน" ตรงนี้มีพลังมาก "โดยเฉพาะการเทเลือดของคนเสื้อแดง ผมขนลุกเลย ผมกลัว ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสยดสยอง และทำให้คนเสื้อแดงฮึกเหิมขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าพร้อมต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ ผมคิดว่าเป็นไอเดียขั้นสุดยอดของคนเสื้อแดงแล้ว" สมบัติมองว่าปัจจุบัน นปช.ไม่มีนักกลยุทธ์ เรื่องแบบนี้ต้องการความเชี่ยวชาญ เราไม่มีเสื้อของเสื้อเดง เพราะว่าไม่สวย ถ้าออกแบบดีๆ สามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ ทำอย่างไรให้เป็นสากลนิยม และ ดูไม่ก้าวร้าว
บ.ก.ลายจุดยังตอบโจทย์ในการเคลื่อนไหวสำหรับนักกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในปีนี้ว่ามีอยู่ 2 เรื่อง เป็นสิ่งที่ต้องคิดต้องทำ คือ 1.ต้องสื่อให้ได้ว่าที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้ทำไม อันเก่าแย่อย่างไร อันใหม่ดีกว่าอย่างไร และ 2. เรื่องปล่อยตัวนักโทษการเมือง
"เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี้ ซับซ้อนมาก ผมยังคิดไม่ออก เคยคิดว่าจะแก้ผ้า แต่จะให้คนออกมาแก้ผ้าก็เป็นเรื่องยาก บางเรื่องผมทำคนเดียวได้ บางเรื่องต้องใช้คนช่วย เช่น เรื่อง 112 ผมก็คิด แต่มีเงื่อนไขและบริบทที่ทำให้ผมทำไม่ได้ ผมคิดว่านิติราษฎร์ทำได้ไกลที่สุดแล้ว" สมบัติทิ้งท้าย
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนที่ผ่านประสบการณ์ในการเคลื่อนไหว ทำให้หลายคนได้ครุ่นคิด ตั้งคำถามสำหรับการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกฝ่ายในอนาคตอันใกล้นี้
หน้า 21
| |
.....เว็บไซต์ข่าวสด
| |
นานาทรรศนะนักวิชาการ มองการเมืองปี 56 "ติดหล่มหรือก้าวข้าม"
| |
(ที่มา:มติชนรายวัน 2 ม.ค.2556) หมายเหตุ - นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ และนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ให้ความเห็นและวิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทยในปี 2556 วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ ขวบปีแรกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ผ่านไปอย่างไม่ยาก เพราะประชาชนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ในพรรคเพื่อไทยหลายส่วนยังคาดหวังให้รัฐบาลมีโอกาสพิสูจน์ฝีมือ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดเจนว่าต้องการให้โอกาสรัฐบาลทำงานปีแรกให้เต็มที่ เพื่อฝ่ายค้านจะพิสูจน์ให้เห็นปัญหา ส่วนกลุ่มอำนาจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตร กลุ่ม นปช. กองทัพ และบรรดาอำมาตย์ต่างยังรอจับจังหวะทิศทางลม ไม่มีใครกล้าแหกโค้ง ที่พอเห็นคือม็อบ "เสธ.อ้าย" พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ที่มาแล้วถูกลืมไปอย่างรวดเร็ว แต่ในปี 2556 ปัจจัยหนุนรัฐบาลเหล่านี้ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ประชาชนบางส่วนอาจมีความอดทนน้อยลง และคาดหวังมากขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้ ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์อาจซ่อมแซมพรรคและพร้อมที่จะเดินเกมรุกได้มากขึ้น ย่อมจะทำให้กลุ่มอำนาจอื่นๆ ออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างที่ชัดเจน เราต้องไม่ลืมว่า ประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย รวมถึงแกนนำ นปช.บางคน และกลุ่มเสรีนิยม ไม่ได้ฝักใฝ่หรือผูกพันอะไรกับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่อาศัยพรรคเพื่อไทยเป็นหมากในการต่อรองอุดมการณ์ทางการเมือง ถือเป็นเคราะห์ดีบวกกับความสามารถของทั้งพรรคและกลุ่มแกนนำประชาชนที่สามารถประคองความสัมพันธ์ได้ แม้พรรครัฐบาลจะตีตนห่างไปเรื่อยๆ เห็นได้จากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เรื่องเขตอำนาจศาลอาญาโลก หรือการเร่งเสนอให้มีการนิรโทษกรรมอย่างกว้าง คำถามคือ สภาวะความสัมพันธ์ระหว่างพรรคและประชาชนเหล่านี้จะอ่อนแอลงไปอีกหรือไม่ ในขณะเดียวกัน หากหันมามองพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มประชาชนคนเสื้อเหลือง หรือแกนนำพันธมิตร หรือกลุ่มอนุรักษนิยม ถือว่าเคราะห์ไม่ดีนัก ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ประสบความล้มเหลวในฐานะพรรคการเมืองที่จะประสานประโยชน์และอุดมการณ์ทางการเมืองของคนเหล่านี้เข้าด้วยกัน บวกกับความยึดมั่นในจุดยืนของแกนนำพันธมิตร หากมองในแง่ดีมองได้ว่าพันธมิตรมีอุดมการณ์แน่วแน่ เช่น กรณีปราสาทพระวิหารโดยไม่ได้สนใจว่าจะมีพรรคการเมืองใดเป็นหมาก ดังนั้น จุดเปลี่ยนทางการเมืองที่น่าจับตามองมาก ในปี 2556 คือ ฝั่งของพรรคเพื่อไทย-เสื้อแดง-เสรีนิยม จะประสบเคราะห์เหมือนที่ ประชาธิปัตย์-เสื้อเหลือง-อนุรักษนิยม เคยติดหล่มมาหรือไม่ ในทางกลับกันฝั่งของพรรคประชาธิปัตย์-เสื้อเหลือง-อนุรักษนิยม จะหาวิธีรวมพลังและประคองความสัมพันธ์ให้ได้ลมใต้ปีกเหมือนที่อีกฝั่งเคยทำมาได้หรือไม่ หากมีการพลิกสถานการณ์ทั้งสองฝั่งการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ เพื่อไทย-เสื้อแดง-เสรีนิยม และ ประชาธิปัตย์-เสื้อเหลือง-อนุรักษนิยม ติดหรือแตกกันได้นั้น ต้องจับตาอยู่หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมถูกผูกโยงไปถึงการทวงความรับผิดชอบจากผู้ทำรัฐประหาร รวมถึงการดึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในยามปกติ หากผิดต้องเอาผิด แต่ต้องเอาผิดจากคนกระบวนการที่ถูกต้องและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย อีกปัจจัยในปีก 2556 ที่มองข้ามไม่ได้ คือ การตีความคดีปราสาทพระวิหาร โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แม้ผลในทางกฎหมายที่เป็นไปได้อาจไม่รุนแรง เช่น ให้ไทยและกัมพูชากลับไปเจรจาเขตแดนกัน แต่ผลกระทบทางการเมืองอาจถูกตีขยายให้ลุกลามได้ โดยเฉพาะวาทกรรมขายชาติ-เสียดินแดน ที่หลายครั้งถูกนำมาเป็นเครื่องมือให้คนในชาติฆ่ากันเองหากไม่ระวัง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพิจารณาคดีการสลายการชุมนุม คดีอาญาของแกนนำ นปช. และ แกนนำพันธมิตร ซึ่งอาจจะมีความคืบหน้าตลอดปี 2556 หากมาประจวบกับช่วงที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และช่วงที่มีผลการตีความคดีปราสาทพระวิหาร ยิ่งหากมีการผลักกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาด้วยแล้ว จะเกิดสภาวะที่บีบให้ เพื่อไทย-เสื้อแดง-เสรีนิยม และ ประชาธิปัตย์-เสื้อเหลือง-อนุรักษนิยม ต้องคิดให้ดีว่า จะเลือกติดหรือเลือกแตกกัน และกลุ่มอำนาจอื่นๆ ก็จะอาศัยทิศลมทางการเมืองตามมาสมทบอีกระลอก สุดท้าย ในปี 2556 อยากเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ แสดงภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น อยากเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงวิสัยทัศน์ว่าพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสรีนิยมจะนำพาประเทศไปในอุดมการณ์ทิศทางใด อยากเห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ลงดาบบุคคลในรัฐบาลหรือเอกชนที่เอี่ยวทุจริต หรือทำงานเฉื่อยแบบไม่ยั้งมือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยิ้มได้ สวยได้ แต่เด็ดขาด แน่วแน่ได้ ในเวลาเดียวกัน ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2556 คงไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายสุดขั้วทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม เนื่องจากแนวโน้มทางการเมืองยังคงอยู่ในบรรยากาศที่จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเกิดความปรองดองต่อไป สำหรับประเด็นที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะหยิบยกขึ้นมาเป็นชนวนหรือเงื่อนไขทางการเมืองเพื่อระดมคนออกมาทำสงครามมวลชน อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อเสถียรภาพของรัฐบาลมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.การทำประชามติ 3.เรื่องเขาพระวิหารที่จะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน หากมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาล้มรัฐบาลจริง คิดว่าคงจะประสบความสำเร็จยาก เพราะทั้งหมดเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้หลายรอบและยังไม่สามารถเอาชนะในทางการเมืองได้ ดังนั้น การสร้างความปรองดองยังเป็นเรื่องหลักในทางการเมืองต่อไป เพราะต้องยอมรับว่ารัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างได้เปรียบมากกว่าฝ่ายอื่นๆ ทั้งในแง่การเมืองและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ในปี 2556 รัฐบาลจะยืนอยู่ในมุมที่ได้เปรียบในการบริหารนโยบายสาธารณะสำคัญๆ หลายเรื่องให้คืบหน้าต่อไป อาทิ การบริหารจัดการน้ำ หรือ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เนื่องจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะไม่สามารถต้านได้ดีกว่าช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลคงจะไม่นำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง ขณะเดียวกันพลังของฝ่ายต่อต้านได้ผ่านจุดสูงสุดและคงจะไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้ อีกทั้งยังขาดผู้นำในการขับเคลื่อนมวลชนด้วย ดังนั้น มีโอกาสน้อยมากที่รัฐบาลจะถูกรบกวนด้วยปัจจัยทางการเมือง อีกทั้งในปี พ.ศ.2556 ผลของนโยบายหลายๆ อย่างของรัฐบาลจะเห็นผลมากขึ้น อาทิ นโยบายรถคันแรกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตอย่างชัดเจนขึ้น หรือนโยบายค่าแรง 300 บาท จะส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศชัดเจนยิ่งขึ้น ฝ่ายตรงข้ามหมดโอกาสในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไปโดยปริยาย บทบาทของกองทัพ คงอยู่ในโหมดของความปรองดองกับรัฐบาลต่อไป เพราะรัฐบาลยังไม่เคยแสดงท่าทีว่าจะดำเนินนโยบายใดที่มีผลกระทบกระเทือนต่อฝ่ายของกองทัพ ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น เห็นได้ว่าที่ผ่านมาปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยแตะต้อง รวมไปถึงงบประมาณของกองทัพที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งการดำเนินคดีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงรัฐบาลไม่เคยนำกองทัพเข้ามามีส่วนรับผิดชอบ ดังนั้น ไม่มีเหตุใดที่ทำให้รัฐบาลกับกองทัพจะขัดแย้งกัน อีกทั้งโอกาสที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะใช้กองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อล้มรัฐบาลคงเกิดขึ้นได้ยากในช่วงเวลาแห่งความปรองดองนี้ สำหรับความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ ฝ่ายเสื้อแดงค่อนข้างจะชัดเจนว่าต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าโหวตวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภา และไม่ต้องการลงประชามติ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งดังกล่าวจะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งขั้นแตกหัก แต่จะเป็นความขัดแย้งธรรมดาๆ เท่านั้น เพราะยังไม่มีเหตุผลร้ายแรงใดที่ทำให้คนเสื้อแดงถึงขั้นเลิกสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ส่วนคดี 99 ศพ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง อาจจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงได้ คิดว่าผลสรุปทั้งหมดของคดีความจะยังไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องออกแรงอะไรในการล้มรัฐบาล เชื่อว่าในแง่กฎหมายทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ คงยังไม่โดนอะไร แต่ในทางการเมือง 2 คนนี้จะถูกลอยแพจากฝ่ายที่คนเสื้อแดงเรียกว่า "อำมาตย์" ให้เป็นแพะรับบาปในเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ทั้งหมด ซึ่งในประวัติศาสตร์เหตุการณ์รับบาปลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับคนที่เคยเป็นมือเป็นไม้ให้กับฝ่ายตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว--จบ-- | |
.....มติชนออนไลน์
| |
ปชป.2556 รับ รุก ลุย!
| |
...ธนพล บางยี่ขัน เปิดศักราชใหม่ 2556 อุณหภูมิการเมืองไทยเริ่มไต่ระดับความร้อนแรง กับสารพัดปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงบานปลายนำไปสู่ความขัดแย้ง ประชาธิปัตย์...กับบทบาทฝ่ายค้าน 159 เสียงในวันนี้ ยังมีโจทย์ใหญ่ให้ต้องฝ่าฟัน ทั้งรักษาฐานเสียงเดิม และเดินหน้าเตรียมพร้อม สู้กับกระแส "เพื่อไทย"สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่จนทำให้ทุกก้าวย่างของ "ประชาธิปัตย์" ต่อจากนี้ ล้วนแต่เต็มไปด้วยขวากหนามที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้ เริ่มต้นด้วย "ศึกใหญ่" ตั้งแต่ต้นปี เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะหมดวาระวันที่ 10 ม.ค. และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 17 ก.พ.นี้ โดยสุดท้ายคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ได้ตัดสินใจส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์บริพัตร ลงรักษาแชมป์ต่ออีกสมัย สยบความปั่นป่วนภายในไม่ให้บานปลายกลายเป็นปัญหาลุกลามต่อไปในวันหน้า สำหรับศึกที่แพ้ไม่ได้ครั้งนี้!!! ประชาธิปัตย์จำเป็นต้องทำทุกวิถีทาง วางทุกยุทธศาสตร์ เพื่อรักษาฐานที่มั่นสำคัญของพรรคอย่าง กทม.ไว้เพื่อเป็นหลักสู้กับกระแส"เพื่อไทย"ที่กำลังตีขนาบบีบเข้ามาเรื่อยๆเวลานี้ แม้จะผูกขาดเก้าอี้มาต่อเนื่อง3 สมัย และผลโพลยังตอกย้ำความเหนียวแน่นของคนกรุงที่มีต่อ "ประชาธิปัตย์" ยังแซงหน้า "เพื่อไทย" ทว่า ครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวสะท้อนให้เห็นผ่านขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครของพรรค ซึ่งยื้อเวลาไม่กล้าผลีผลามประกาศส่ง "คุณชายหมู" ลงสนามอีกรอบเพราะสารพัดแผล ที่รู้อยู่แล้วว่าจะถูกขุดคุ้ยขึ้นมารุมถล่มขยายแผลในช่วงหาเสียง จนเตรียมเล็งดัน "กรณ์ จาติกวณิช"มาเป็นทางเลือกใหม่ แต่อีกด้านหนึ่งทาง "เพื่อไทย"ย่อมคาดหวังกับสนาม กทม. ที่เป็นจุดอ่อนของพรรคมาเนิ่นนาน หากปล่อยทิ้งไว้ย่อมเป็นปัญหาระยะยาวกับการบริหารงานในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การวางตัว พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มาท้าชิงกับประชาธิปัตย์งวดนี้ดูจะสูสีกว่าครั้งอื่นๆที่ผ่านมาด้วยทั้งภาพลักษณ์ ความสดใหม่ ที่ทำให้แชมป์เก่าต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง กระบวนการเปิดฉากถล่มม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยิ่งดุเดือดขึ้น เริ่มต้นจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังจะแจ้งข้อกล่าวหากับ 11 ผู้บริหาร กทม. ซึ่งรวมถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เกี่ยวกับปัญหาสัญญาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ไม่กี่วันหลังประชาธิปัตย์ประกาศส่งคุณชายหมูลงสมัคร ยังไม่รวมกับ "แผลใหม่" การก่อสร้างสนามฟุตซอล อารีนา หนองจอก งานใหญ่ของ กทม.ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ออกโรงไล่บี้เร่งก่อสร้างให้ทันการแข่งขัน แต่ทว่าสุดท้ายฟีฟ่ากลับไม่ประกาศรับรองให้ใช้เป็นสนามแข่งขัน ที่เชื่อว่าจะต้องถูกถล่มอีกหลายระลอกในช่วงก่อนถึงวันเลือกตั้ง แต่ก่อนถึงศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 6 ม.ค.นี้ ประชาธิปัตย์ต้องลุ้นกับสนามเลือกตั้งซ่อมชลบุรี เขต 2 ที่จะเป็น "ดัชนีชี้วัด" กระแสความนิยมของพรรคที่ตั้งเป้าจะขยายฐานในพื้นที่ภาคกลางตะวันออก ซึ่งพรรคตั้งความหวังและส่งทัพใหญ่ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงต่อเนื่อง อีกงานใหญ่ที่ "ประชาธิปัตย์" ต้องเผชิญในปีนี้ยังหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่ง "เพื่อไทย"กำลังเล็งหาช่องทางเดินหน้าลุยให้สำเร็จลุล่วงอย่างที่ตั้งใจ หลังจากที่ได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้ ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรกับที่ขั้นตอนยังค้างรอลงมติในวาระ 3 ทางเลือกกับการทำ "ประชามติ" ที่เพื่อไทยเตรียมใช้เป็นใบเบิกทาง เดินหน้าลุยลงมติในวาระ 3 แบบไม่ต้องไปเสี่ยงกับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ สุดท้ายอาจไปไม่ถึงฝั่งฝันด้วยความวิตกว่าผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนทำให้ทุกอย่างที่เดินหน้าไว้ต้องพังพาบลงไป ทางออกใหม่ๆ อย่างการเลือกแก้ไขเป็นเพียงรายมาตรา จึงเป็นแผนสำรองที่เตรียมไว้ลุยต่อไป แต่สำหรับ "ประชาธิปัตย์" ที่ประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้ด้วยเหตุผลว่ามีเรื่องอื่นที่เร่งด่วนจำเป็นต้องทำอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะปัญหาปากท้องประชาชนรวมทั้งเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป้าหมายลึกๆ แล้วเป็นไปเพื่อปลดล็อกล้างผิด ปูทางให้"คนแดนไกล" กลับประเทศแบบไร้ความผิด การคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็น"งานใหญ่" ของประชาธิปัตย์ ที่ต้องฟันฝ่าในเร็ววันนี้ เพราะลำพัง 159 เสียง ที่กำลังถูกโดดเดี่ยว จากพรรคอื่นย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทัดทานเสียงข้างมาในสภาได้ งานนี้จึงต้องรุกทุกทาง สร้างแนวร่วมกับภาคส่วนอื่นๆเพิ่มพลังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องเริ่มคัดค้านตั้งแต่การเดินสายรณรงค์ทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้ลงประชามติ หรือลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องรอดูความชัดเจนจากทางเพื่อไทยว่าจะสรุปออกมาอย่างไร คู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมกับ พ.ร.บ.ล้างผิด ที่มีเป้าหมายเพื่อคนคนเดียวมากกว่าเป้าหมายเพื่อการปรองดองที่แท้จริงแม้จะถูกแรงบีบด้วยการตั้งข้อหา "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในกรณีการ สลายการชุมนุมทางการเมืองจนมีผู้เสียชีวิตกว่า90 ศพ แต่ทั้งคู่ยังยืนยันว่าจะต่อสู้ตามกระบวนการโดยไม่เข้ากระบวนการนิรโทษกรรม จากนี้ไปแรงบีบไปยังแกนนำทั้ง อภิสิทธิ์และ สุเทพ คงจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะสารพัดคดีที่จะขับเคลื่อนโดยดีเอสไอที่จะออกมาต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้ อีกด้านหนึ่ง "ประชาธิปัตย์" ยังเตรียมแผนเปิดเกมรุกกับการเดินหน้าต่อไปในปีนี้ โดยผลสรุปสัมมนาคณะกรรมการบริหารพรรคและ สส.ที่โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เดือนที่แล้ว เตรียมที่จะผลักดัน 4 พันธกิจ ทั้ง 1.การทำงานในสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่จำกัดเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการตั้งกระทู้ถาม แต่จะต้องทำงานในเชิงตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะหลายนโยบายที่สร้างความเสียหายและไม่โปร่งใส 2.จัดทำ "พิมพ์เขียวประเทศไทย" ที่จะจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของประเทศในเดือน มี.ค.นี้ และจัดต่อเนื่องไปจนครบ 1 ปี ก็จะตกผลึกออกมาเป็นรูปร่างว่าจะเดินหน้าประเทศไทยไปอย่างไรต่อไป ถัดมาที่แผนระยะยาวสำหรับเตรียมปรับโหมดเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ด้วยการพันธกิจข้อที่ 3 เพิ่มการทำงานมวลชนของพรรคด้านเยาวชนและสตรีให้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่ และ 4.แบ่งงานรองหัวหน้าพรรคให้รับผิดชอบเป็นกลุ่มจังหวัด กำหนดโซนย่อยให้สะดวกต่อการบริหารให้มีความคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่จะชี้วัดกันในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หนทางจากนี้จึงเป็นเส้นทางที่ "ประชาธิปัตย์"ต้องทุ่มเททุกสรรพกำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย m--จบ-- | |
.....โพสต์ ทูเดย์
| |
หนุนปู-มาร์คจับมือ
| |
สร้างปรองดอง ทักษิณก็ขานรับ "เติ้ง"เป็นกาวใจ
โพลชี้ชาวบ้านอยากเห็นยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ช่วยกันพัฒนาชาติ นพดลเชื่อ "ทักษิณ" ขาน รับแนวคิด "เติ้ง" เป็นกาวใจสร้างปรองดอง ด้านวิสุทธิ์แนะ "ปู-มาร์ค"
ทรง ตั้งวงถกหาทางออกปมแก้รธน. เชื่อมี ส.ส.ร.ปัญหาจบแน่ ประธานวิปรบ.มั่นใจพรรคเพื่อไทยได้ข้อสรุปแก้รธน.กลางเดือนม.ค.นี้ สามารถเชียร์แก้รายมาตรา หวั่นทำประชามติ โดนยื่นศาลรธน.ตีความซ้ำรอบสอง เสนอให้ดองร่างแก้ไขรธน.วาระ 3 จนหมดอายุรัฐบาล ตัดข้อครหาช่วย"ทักษิณ" อภิสิทธิ์จี้ถอนร่างแก้รธน.-กฎหมายปรองดองพ้นสภา ปลดล็อกเงื่อนไขขัดแย้ง "อนุทิน"พร้อมทำประชามติหากประเทศได้ประโยชน์ ลั่นไม่คิดร่วมรัฐบาลเพราะมีเสียงมากเพียงพอและเชื่ออยู่ครบเทอม พท.ได้ข้อสรุปแก้รธน.กลางเดือนนี้
วันที่ 1 ม.ค. 2556 นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร(วิป)พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงกรณีส.ว.สายเลือกตั้งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าจะยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อเป็นอีกทางเลือกของรัฐสภาเพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนว่า ถือเป็นอีกความเห็นที่มองว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้นอาจทำได้สำเร็จก่อน ซึ่งแล้วแต่ว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน ในส่วนของพรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะแก้รัฐธรรมนูญในทิศทางใด ยังอยู่ในช่วงที่เปิดให้ทุกฝ่ายได้หารือถึงข้อดีและข้อเสีย เพราะมีทั้งฝ่ายที่อยากเดินหน้าลงมติในวาระ 3 บางส่วนอยากแก้เป็นรายมาตรา ขณะที่อีกส่วนอยากให้ทำประชามติ ซึ่งความเห็นต่างที่เกิดขึ้นภายในพรรคไม่เป็นปัญหา เมื่อได้ข้อสรุปก็ถือเป็นมติที่สมาชิกจะยอมรับ
นายอุดมเดชกล่าวว่า ส่วนการสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่จ.นครราชสีมา วันที่ 6-7 ม.ค.นี้จะได้ข้อสรุปเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น อาจหารือร่วมกันอีกครั้ง ก่อนจะได้ข้อสรุปประมาณกลางเดือนม.ค.นี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 วางยาไว้ในกรณีที่ไม่อยากให้แก้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเดินทางไหนอาจถูกตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญได้ ที่ผ่านมาหลายฝ่ายกังวลกับการใช้ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรม นูญ แต่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป ส่วนที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ระบุการแก้รัฐ ธรรมนูญจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤตอีกนั้น หากทุกคนยอมรับกติกาและรับฟังเสียงส่วนใหญ่ก็จบ อย่าเอาเสียงของตัวเองเป็นเสียงสำคัญ และอย่ามองว่าคนเห็นต่างเป็นศัตรูไปเสียหมด ฉะปชป.มุ่งปกป้องเผด็จการ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายจุรินทร์ระบุการแก้รัฐธรรมนูญจะนำพาประเทศไปสู่วิกฤตอีกครั้งว่า ถือเป็นมุมมองของฝ่ายค้านที่เริ่มศักราชใหม่ แต่ยังมีแนวคิดแบบเดิมๆ ธาตุแท้เดิมๆ ที่มุ่งปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากรากเหง้าของเผด็จการ ตนไม่เข้าใจว่าทำไมแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคที่เคยหาเสียงว่าถ้าได้เป็นส.ส.หรือชนะเลือกตั้งก็จะสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พอมาเป็นฝ่ายค้านกลับความจำสั้น ลืมคำพูดที่สัญญาไว้กับประชาชน
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญถือเป็นความต้องการของประชาชน จึงเลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล อยากให้พรรคประชาธิปัตย์คิดในเชิงบวก คิดถึงประชาชนให้มาก ขอให้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนใจและหันมาสนับสนุนแนวทางตามระบอบประชาธิปไตย โดยร่วมกับพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล แก้ไขรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน รวมทั้งเพื่อนำพาประเทศสู่การยอมรับของนานาชาติ อัด"จุรินทร์"ดิสเครดิตนายกฯ นายพร้อมพงศ์กล่าวถึงนายจุรินทร์ให้นายกฯสอบตก เพราะไม่ให้ความสำคัญในการตอบกระทู้ถามในสภาว่า เป็นการให้คะแนนอย่างมีอคติ มีนัยยะการเมือง ขาดมาตรฐาน และลดความน่าเชื่อถือของนายกฯ ทั้งที่ผลโพลจากหลายสำนักให้นายกฯสอบผ่าน และมีคะแนนนำนายอภิสิทธิ์ในทุกด้าน วันนี้ประชาชนเข้าใจ รู้ว่านายกฯทำงานหนัก บริหารราชการปีกว่าไม่เคยหยุดทำงาน แม้เป็นผู้หญิงก็ได้รับการยอมรับ วันนี้เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง การค้าขายก็ได้รับการยอมรับ "ผมขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้กำลังใจนายกฯบ้าง บรรยากาศประเทศจะได้ดีขึ้น ประชาชนมีความสุข ขอให้ฝ่ายค้านทำงานอย่างสร้าง สรรค์ ดีกว่าค้านทุกเรื่อง อยากให้ชมรัฐบาลบ้างในบางเรื่องที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือฝ่ายค้านบ้าง" นายพร้อมพงศ์กล่าว "สามารถ"เชียร์แก้รายมาตรา นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 กล่าวว่า ยอมรับว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การโหวตลงมติวาระ 3 2.การแก้ไขเป็นรายมาตรา 3.การทำประชามติ ล้วนมีปัญหาและมีกับดักทุกแนวทาง ไม่ว่าจะใช้แนวทางใดก็มีปัญหาทั้งนั้น จึงต้องรอบคอบ เลือกวิธีที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด นายสามารถกล่าวว่า ทั้งนี้ มีอยู่ 2 แนวทางที่มีปัญหาน้อยสุดคือ 1.ให้คาการแก้รัฐธรรม นูญวาระ 3 ค้างไว้ในสภา รอจนสภาหมดอายุ กฎหมายดังกล่าวจะตกไปเอง พอมีรัฐบาลใหม่ค่อยมาว่ากันใหม่ แต่อาจเสียความรู้สึกประชาชนและคนเสื้อแดง แต่เราอธิบายได้ว่ารัฐบาลพยายามเต็มที่แล้ว แต่มีปัญหามาก หากทำไปจะยิ่งสร้างความแตก แยกในบ้านเมือง หวังว่าประชาชนจะเข้าใจ แสดงให้เห็นเจตนาว่าไม่ได้ช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ 2.เดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไป ถ้าไม่ผ่านก็ให้แก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งผมเชียร์ให้ใช้แนวทางนี้ เพราะอธิบายง่ายที่สุด เผยมีกับดักทุกแนวทาง นายสามารถกล่าวว่า ส่วนการทำประชามติมีขวากหนามมาก ต้องใช้เสียงประชามติมหา ศาล และมีปัญหาตามมา คือหากทำประชามติโดยยึดพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 ที่ใช้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และต้องได้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธินั้น จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการทำประชามติที่ไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระบุถึงการทำประชา มติว่าต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ คือต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่า 24 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 48 ล้านคน ซึ่งเนื้อหากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขัดกันอยู่ จึงเป็นกับระเบิดที่จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่ นายสามารถกล่าวว่า นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ หากไปทำประชามติก็จะขัดมาตรา 165 ที่ระบุการทำประชามติต้องไม่ทำในเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้เป็นรายมาตรา ต้องพิจารณาตั้งแต่วาระ 1-3 ก็มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทางได้ทุกมาตรา ทุกเส้นทางเต็มไปด้วยกับระเบิด ยอมรับว่าโอกาสแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จคงยาก จึงต้องทำด้วยความรอบคอบที่สุด วิสุทธิ์แนะ"ปู-มาร์ค"ถกทางออก นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า ทราบว่ากฎหมายปรองดองจะชะลอไปก่อน ซึ่งตนเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ร่วมกันหารือหาทางออกก็เป็นเรื่องดีจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และถ้าตกลงกัน เป็นการถอยคนละก้าวเดินไปข้างหน้าใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุด อีกทั้งจะสร้างภาพให้ผู้นำฝ่ายค้านและนายกฯ มีภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศ รองประธานสภากล่าวว่า ส่วนทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ภายในพรรคเพื่อไทยยังมีข้อเสนอหลากหลาย แต่เห็นว่าแนวทางการทำประชามติจะทำให้สถาน การณ์เบาลงได้ เพราะสอบถามชาวบ้านเมื่อมีผลออกมาแล้วก็น่าจะเกิดการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าจะให้ทางออกกับประเทศได้ ส่วนใครที่ห้ามประชาชนไม่ให้ออกมาใช้สิทธิเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และการใช้เสียงลงมติ 24 ล้านเสียงนั้น คิดว่าไม่ลำบาก เนื่องจากประชาชนอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง และจากการประเมินยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่จะผ่านไปได้ด้วยดี ไม่ห่วงเสื้อแดงขัดแย้งพท. นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะทั้งนายกฯ และนายอภิสิทธิ์ มีประชาชนศรัทธาทั้งประเทศ เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง น่าจะหาทางออกได้ แต่อย่ามาตั้งแง่เพราะไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม หากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปัญหาน่าจะจบลงได้ เพราะส.ส.ร.ไม่ใช่คนของพรรคใด ซึ่งขณะนี้ต้องรอให้ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยพูดคุยกันน่าจะได้ข้อสรุป กลางเดือน ม.ค.
เมื่อถามว่าเป็นห่วงอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบเก่า ตอนนี้ใช้ระบบรัฐสภาแก้ปัญหาของประเทศดีกว่า อยากให้มีการเจรจากันได้ ส่วนท่าทีของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับพรรคเพื่อไทยที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้น ตนไม่เป็นห่วง เพราะเป็นเพียงการแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่ความแตกแยก เป็นเรื่องธรรมดา พรรคเพื่อไทยกับนปช.ฆ่ากันไม่ตาย ขายกันไม่ขาด มีแหล่งที่มาเหมือนกันจะคุยเข้าใจกันได้ แม้จะมีคนอยากให้แตกแยกก็เป็นเรื่องยาก
"มาร์ค"จี้รบ.ปลดล็อกขัดแย้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง ในปี 2556 ว่า ตนอยากให้รัฐบาลปลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองทั้งหมด ก้าวข้ามปัญหาเรื่องที่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายปรองดอง และหันมาทำงานแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ตนอยากให้รัฐบาลทำการเมืองให้กลับสู่ภาวะปกติ ส่วนความขัดแย้งทางการเมืองก็ปล่อยให้กระบวน การยุติธรรมหาคำตอบจะดีที่สุด "รัฐบาลต้องแสดงให้เห็นว่าการกระทำต่างๆ ไม่ใช่การช่วยเหลือพวกพ้อง หรือลบ ล้างคำพิพากษา ทำเท่านี้ก็ปลดเงื่อนไขต่างๆ ได้หมดแล้ว จะแก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอะไร คงไม่มีใครขัดข้อง แต่รัฐบาลกลับยืนยันว่านั่นคือสิ่งต้องทำ แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาบางอย่าง พรรคจึงต้องคัดค้านเพราะเป็นปมอันตรายและมีความเสี่ยงจะเกิดการเผชิญหน้า และมีความรุนแรงตามมาด้วย" นายอภิสิทธิ์กล่าว แนะก้าวพ้น"ทักษิณ" นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากรัฐบาลยังเดินหน้าจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 309 จะทำให้ความขัดแย้งขยายวง เพราะรัฐบาลไม่สามารถตอบได้ว่าทำไปเพื่อใคร ซึ่งฝ่ายค้านเรียกร้องมาตลอดว่าถ้าละวางประโยชน์ของบางคนก็จบ ทั้งนี้ พรรคยืนยันจะคัดค้านโดยปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย แต่ถ้าการเมืองถูกผลักออกจากในสภา บนท้องถนน พรรคจะสนับสนุนให้มีการใช้สิทธิในกรอบกฎหมาย เราไม่จำเป็นต้องไปนำการชุมนุมเอง เพราะประชา ชนก้าวพ้นเรื่องตัวบุคคลไปสู่หลักการว่า ต้องรักษาความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นม็อบพล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ แกนนำองค์การพิทักษ์สยาม คงไม่เกิด มีแต่รัฐบาลที่ยึดติดกับตัวบุคคล ทั้งที่แค่สละทิ้งไป 1 คน เรื่องก็จบแล้ว เมื่อถามถึงข้อเสนอในการปลดล็อกความขัดแย้ง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ง่ายที่สุดคือ นำรัฐธรรมนูญกับกฎหมายปรองดองออกจากวาระพิจารณาของสภา จากนั้นค่อยมาพูดคุยกันหาข้อสรุป ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ ที่จะถูกดำเนินการพร้อมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์นั้น ตนเห็นว่ามีการตั้งธงไว้ว่าจะดำเนินคดีกับตนมากๆ แต่ไม่หวั่นไหวจะใช้ความจริงต่อสู้จนถึงที่สุด เพราะเชื่อว่าความบริสุทธิ์จะเอาชนะทุกสิ่ง "อนุทิน"ยันไม่โหวตวาระ3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า มติพรรคออกมาแล้วว่าจะไม่มีการยกมือสนับสนุนหากโหวตวาระ 3 ส่วนการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรม นูญนั้น พรรคต้องดูว่าเรื่องใดต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น หลักของพรรคคือ สิ่งใดที่ทำแล้วบ้านเมืองเดินต่อไปได้ด้วยดี ไม่สะดุดและไม่แตกแยกในสังคม ไม่กระทบสถาบันที่เคารพ พรรคพร้อมสนับสนุนและมีส่วนร่วมให้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในประเทศของเรา ซึ่งพรรคพร้อมเป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำสิ่งที่คนไทยอยากจะเห็นให้กลับมาสู่คนไทยอีกครั้งหนึ่ง นายอนุทินกล่าวว่า พรรคยังคงเป็นฝ่ายค้าน ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล เราจะไม่เล่นการเมืองแบบไม่มีเหตุผล ไม่ใช่เป็นฝ่ายค้านแล้วค้านอย่างเดียวและทุกวันนี้ยืนยันว่าพรรคยังไม่เคยคิดเข้าร่วมรัฐบาล ส.ส.ทุกคน ผู้บริหารพรรค พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่เพราะสามารถทำกิจกรรมการเมืองได้ทุกอย่าง สปิริตของพรรควันนี้แน่นขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านการเลือกตั้งมาใหม่ การเป็นรัฐบาลไม่ใช่ประเด็นหลักของพรรค ย้ำไม่คิดร่วมรัฐบาล นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ยังมีความเข้มแข็งบริหารประเทศต่อไปได้ ถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดทำนองคลองธรรมหรือสิ่งที่ค้านกับความเห็นของประชาชน ในสภาถือว่ารัฐบาลมีความเข้มแข็งมาก หวังว่ารัฐบาลจะมีนโยบายที่ทำให้สังคมไทยกลับสู่ความปกติสุข นำสังคมแตกแยกกลับมาเป็นสังคมร่มเย็นเป็นสุขอยู่ด้วยกัน ถ้ารัฐบาลตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นในประเทศ พรรคภูมิใจไทยพร้อมสนับ สนุนในทุกรูปแบบ "เชื่อว่ารัฐบาลอยู่ได้ครบเทอม ถ้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ รัฐบาลอย่าคิดว่ามีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งแล้วจะอยู่ได้ ผมไม่เคยเห็นรัฐบาลใดที่ทำในสิ่งที่ขัดกับประชาชนแล้วจะอยู่ได้ ยังมีกระบวนการอีกมากมายกดดันคนที่ทำไม่ดีอยู่ในระบอบนี้ไม่ได้" นายอนุทินกล่าว และว่าหากพรรคภูมิใจไทยจะเป็นรัฐบาล ต้องดูที่การเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะยังไม่มีเหตุผลว่ารัฐบาลในขณะนี้ต้องมีเสียงเข้าไปเสริมแม้แต่เสียงเดียว "ทักษิณ"หนุนแนวคิด"เติ้ง" นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา อาสาเดินสายเจรจาทุกฝ่ายเพื่อสร้างความปรองดอง หลังพ้นโทษถูกตัดสิทธิทางการเมืองวันที่ 2 ธ.ค.56 ว่า เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างความปรองดองของนายบรรหาร ว่าทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน หากนายบรรหารจะขับเคลื่อนเรื่องการสร้างความปรองดองก็ทำได้ทันที เพราะการสร้างความปรองดองไม่เกี่ยวกับตำแหน่งการเมือง ซึ่งนายบรรหารเป็นอดีตนายกฯ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย คิดว่าทำได้
เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความเห็นอย่างไรกับแนวคิดของนายบรรหาร นาย นพดลกล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้คุยกันมา 2-3 วันแล้ว แต่เชื่อว่าผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายคงมีการพูดถึงแนวคิดต่างๆ อยู่บ้าง แนวทางสร้างความปรองดองอยู่ในใจของพรรคเพื่อไทยและพ.ต.ท.ทักษิณอยู่แล้ว แต่ต้องคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ให้รู้เรื่องก่อน เพราะบ้านเมืองยังมีคนได้ประโยชน์จากความขัดแย้ง ทั้งนี้ การจะสร้างความปรองดองได้ ทุกฝ่ายต้องเข้าใจถึงสาเหตุความขัดแย้งให้ตรงกันก่อน จากนั้นจึงหาทางเยียวยา ตนเห็นว่าแนวทางปรองดองจะสำเร็จได้ต้องอยู่ภายใต้กติกา 3 ข้อคือ 1.หาความจริง 2.การเยียวยาความถูกต้อง 3.การวางกติกาในอนาคตให้เป็นธรรม ไม่ใช่การตีความกติกาโดยใช้สองมาตรฐาน
"ปึ้ง"ไฟเขียวนาซ่าศึกษาอากาศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐ หรือนาซ่า อาจขอใช้ประ เทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงว่า ทางนาซ่ายังไม่ได้จัดสรรงบประมาณมาอีกหรือไม่ แต่รัฐบาลไทยมีความพร้อมแล้ว เพราะได้เปิดสภาชี้แจงตามมาตรา 179 เสร็จสิ้น คิดว่าไม่มีปัญหา แต่อาจต้องประชา สัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่าไทยได้ประโยชน์อะไร เพราะเรื่องนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายให้ไทย โพลหวัง"ปู-มาร์ค"ร่วมพัฒนาปท. วันที่ 1 ม.ค. 2556 สวนดุสิตโพลเผยแพร่ผลสำรวจความเห็นในหัวข้อ "ความคาดหวังของคนไทยในปี 2556" จากประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 1,558 คน วันที่ 25-31 ธ.ค.2555 พบว่า ร้อยละ 60.14 คาดหวังต่อนักการเมืองไทย ในปี 2556 ให้เลิกทะเลาะเบาะแว้ง ไม่แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ร้อยละ 25.56 เลิกทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่นึกถึงแต่ประโยชน์ของตัวเอง มุ่งทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 14.30 ช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับการเมืองไทย ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พึ่งพาได้ ความคาดหวังต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ในปี 2556 ร้อยละ 49.24 เป็นผู้นำที่ดี ตั้งใจทำงาน ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ ทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ร้อยละ 28.41 นำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า แก้ปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และร้อยละ 22.35 สร้างความสามัคคีปรองดอง เปลี่ยนการเมืองไทยให้เป็นการเมืองที่ขาวสะอาด ขณะที่ความคาดหวังต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2556 ร้อยละ 42.21 ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ให้หมดไป ร้อยละ 41.33 ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องยุติธรรม และร้อยละ 16.46 เป็นตัวหลักสำคัญในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นทางการเมือง สำหรับความคาดหวังต่อรัฐบาล ในปี 2556 ร้อยละ 40.58 มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนหรือเห็นแก่พวกพ้อง ร้อยละ 37.72 บริหารบ้านเมืองด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่โกงกิน ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม และร้อยละ 21.70 นโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรงควรทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน 2 ส่วนความคาดหวังต่อฝ่ายค้าน ในปี 2556 ร้อยละ 41.27 ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน นำความรู้ความสามารถที่มีมาใช้พัฒนาบ้านเมืองอย่างเต็มที่ เห็นแก่ส่วนรวม ร้อยละ 36.55 ทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ดี ไม่เล่นเกมการเมือง ไม่ค้านทุกเรื่อง ร้อยละ 22.18 เป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่ดี ช่วยกันพัฒนาการเมืองไทยให้ดีขึ้น พัทลุงยังท่วม-นครศรีฯหนีคลื่น เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในจ.พัทลุง ว่าหลายพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัด อาทิ ต.ชุมพล ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ และต.นาท่อม อ.เมือง เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลังฝนหยุดตก แต่ยังมีน้ำท่วมขังบริเวณที่ราบลุ่มและริมทะเลสาบ ต.ปรางหมู่ ต.พญาขัน ต.ชัยบุรี ต.ลำปำ อ.เมือง และบ้านปากคลองเก่า ต.มะกอกเหนือ ต.พนางตุง อ.ควนขนุน มีชาวบ้านกว่า 3,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะบ้านปลายทอง บ้านเขาจิงโจ้ ต.พญาขัน ที่ถูกน้ำท่วมเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 1 เดือนแล้ว โดยรวมจ.พัทลุงมีชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 5,000 ครอบครัว พื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 20,000 ไร่ อบจ.พัทลุงลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและเตรียมให้ความช่วยเหลือแล้ว ที่จ.นครศรีธรรมราช อิทธิพลของลมมรสุมกำลังแรงทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าแนวชายฝั่งบริเวณ ต.ขนาบนาค และต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จนแนวป้องกันคอนกรีตแตกกระจายหลายจุด คลื่นบางลูกสูงถึงเสาไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ต้องตัดกระแสไฟในบางจุด ส่วนบริเวณม.2 และม.3 ต.แหลมตะลุมพุก คลื่นที่ซัดหาฝั่งและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ชาวบ้านต้องอพยพเรือขึ้นฝั่ง บางครอบครัวเตรียมอพยพไปอยู่นอกหมู่บ้าน เนื่องจากไม่สามารถทนต่อกระแสลมและคลื่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี | |
.....เว็บไซต์ข่าวสด
| |
รองปธ.สภาฯแนะ'ปู-มาร์ค' หันหน้าคุยแก้รธน.-ปรองดอง
| |
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ แนะ “ปู-มาร์ค” ตั้งวงถกหาทางออกให้ ปท. ปมแก้ รธน. เชื่อมี ส.ส.ร.ปัญหาจบแน่ เผยกลาง ม.ค. ยุทธศาตร์ พท.เคาะแนวทาง...
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำหน้าที่ในสภาฯ ในปี 2556 ว่า อยากให้สมาชิกเริ่มต้นปี 2556 ด้วยเรื่องที่ดี อยากให้สภาเป็นที่ศรัทธาของประชาชน เป็นทางออกของประเทศได้ ไม่อยากให้มีเหตุการณ์ที่ไม่ดี อยากให้นำปีเก่ามาเป็นบทเรียนและปีใหม่ก็อยากให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศ ส่วนการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดองนั้น ทราบว่าเรื่องปรองดองจะชะลอไปก่อน แต่เป็นห่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านกับ น.ส.ยิ่งลักษ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกันหารือหาทางออกก็เป็นเรื่องดี ที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และถ้าตกลงกัน เป็นการถอยคนละก้าวเดินไปข้างหน้าใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุด อีกทั้งเป็นการสร้างภาพให้ทั้งผู้นำฝ่ายค้านและนายกฯ จะเป็นภาพพจน์ที่ดีต่อประเทศ นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนทางออกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ภายในพรรคเพื่อไทยก็ยังมีข้อเสนอหลากหลาย แต่ตนเห็นว่าแนวทางการทำประชามติจะทำให้สถานการณ์เบาลงได้ เพราะสอบถามชาวบ้านเมื่อมีผลออกมาแล้วก็น่าจะเกิดการยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อว่าจะให้ทางออกกับประเทศได้ ส่วนใครที่ห้ามประชาชนไม่ให้ออกมาใช้สิทธิ์เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และการใช้เสียงลงมติ 24 ล้านเสียงนั้น คิดว่าไม่ลำบาก เนื่องจากประชาชนอยากมีส่วนร่วมทางการเมือง และจากการประเมินยอมรับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ก็จะผ่านไปได้ด้วยดี “ตอนนี้นักวิชาการหลายคนมีความเห็นดีๆ หลายด้าน ต้องมีทางออกให้บ้านเมือง เพียงแต่ยังไม่ได้นั่งคุยกันเท่านั้น เรื่องนี้ไม่ต้องมีตัวกลาง เพราะทั้งนายกฯ และนายอภิสิทธิ์ มีประชาชนศรัทธาทั้งประเทศ เป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง น่าจะหาทางออกได้ แต่อย่ามาตั้งแง่เพราะไม่มีประโยชน์” นายวิสุทธิ์ กล่าว รองประธานสภาฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปัญหาก็น่าจะจบลงได้ เพราะ ส.ส.ร.ไม่ใช่คนของพรรคการเมืองใด ซึ่งขณะนี้ต้องรอให้ฝ่ายยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยพูดคุยกันน่าจะได้ข้อสรุป กลางเดือน ม.ค. เมื่อถามว่าเป็นห่วงอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายวิสุทธิ์ ตอบว่า ไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปเป็นแบบเก่า ตอนนี้ใช้ระบบรัฐสภาแก้ไขปัญหาของประเทศดีกว่า อยากให้มีการเจรจากันได้ ส่วนท่าทีของกลุ่ม นปช. กับพรรคเพื่อไทย ที่ในระยะหลังมีความคิดเห็นแตกต่างกันนั้น ตนไม่รู้สึกเป็นห่วง เพราะเป็นเพียงการแตกต่างทางความคิด ไม่ใช่ความแตกแยก เป็นเรื่องธรรมดา พรรคเพื่อไทยกับ นปช.ฆ่ากันไม่ตายขายกันไม่ขาด มีแหล่งที่มาเหมือนกัน ก็จะคุยเข้าใจกันได้ แม้จะมีคนอยากให้แตกแยกก็เป็นเรื่องยาก. | |
.....หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
| |
ส.พระปกเกล้า แนะรัฐให้ความรู้แก้ รธน. ระบุทุกฝ่ายควรยอมรับผลประชามติ
| |
นายวุฒิสาร ตัณไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า แนะรัฐสื่อสาร ปชช.ให้เข้าใจ แก้ รธน. ระบุผลของประชามติทุกคนต้องยอมรับ...
เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นายวุฒิสาร ตัณไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในฐานะหัวหน้าอดีตคณะผู้วิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลว่า วันนี้การเมืองตั้งอยู่บนความไม่ไว้ใจกัน มีความเห็นแตกต่าง เรื่องสำคัญคือการสื่อสารให้ประชาชนมั่นใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขเรื่องอะไร เนื้อหาสาระอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการ ก็ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนได้รู้ ส่วนการทำประชามติ เรื่องนี้ไม่ได้มีการบังคับตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลทำตามคำแนะนำของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามติต้องมีประเด็นชัดเจนว่าจะถามประชาชนว่าอย่างไร นายวุฒิสาร กล่าวต่อไปว่า ประเด็นคำถามจึงมีความสำคัญว่าจะให้ประชาชนเลือกอย่างไร หากทำประชามติผ่านไปได้ ทุกคนก็ต้องยอมรับผล เพราะเป็นคำตัดสินของประชาชน ไม่ใช่เมื่อทำประชามติเสร็จ แต่มีคนไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาเคลื่อนไหวอีกสังคมก็จะอยู่ไม่ได้ ส่วนการที่ฝ่ายค้านรณรงค์คว่ำประชามติ มองว่าเป็นสิทธิที่จะรณรงค์ไม่ให้ไปออกเสียง แต่ฝ่ายไหนจะรณรงค์อย่างไรก็ต้องไปดูข้อกฎหมายด้วย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องชี้แจงว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติจะสำเร็จหรือไม่นั้น เห็นว่าขณะนี้รัฐบาลทอดเวลาออกไป ทุกฝ่ายต้องประเมินข้อดีข้อเสียว่าหากทำไปแล้วจะเป็นอย่างไร. | |
.....หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
| |
"บัญญัติ"แนะรัฐทำเพื่อคนส่วนใหญ่ดีกว่า "เติ้ง"เดินปรองดอง
| |
"บัญญัติ"แนะรัฐทำเพื่อคนส่วนใหญ่ดีกว่า โดยเอาปัญหาชาติเป็นหลักแล้วสังคมจะเข้าใจและจะวางใจเอง เชื่อว่าดีกว่า ให้ "บรรหาร" เดินปรองดอง เพราะยังไม่เคยเห็นใครทำได้สำเร็จ...
เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2556 นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เตรียมเดินสายสร้างความปรองดองว่า ที่ผ่านมามีคนพยายามเดินสายสร้างความปรองดองแล้วแต่ไม่เห็นว่ารายใดจะทำได้สำเร็จ ตนว่าการปรองดองในวันนี้ไม่มีอะไรดีกว่ารัฐบาลตั้งหน้าตั้งตาทำงานเพื่อ ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ เอาปัญหาชาติเป็นหลักแล้วสังคมจะเข้าใจและจะวางใจเอง กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า การที่จะคิดเรื่องปรองดองแต่พฤติกรรมไม่ได้เป็นแบบนั้นยิ่งจะทำให้สังคมขาด ความไว้วางใจมากขึ้นและจะทำให้เป็นปัญหาได้ แม้แต่กฎหมายยังทำให้คนปรองดองไม่ได้ เพราะอยู่ที่พฤติกรรมของแต่ละคน โดยเฉพาะส่วนที่มีอำนาจรัฐ ซึ่งการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนที่มีอำนาจมากกว่าหรือมีผลประโยชน์ มากกว่ายอมละอำนาจหรือผลประโยชน์ลงมาจะทำให้การปรองดองเกิดขึ้นได้ "ทั้งนี้ตนไม่ทราบว่านายบรรหาร ศิลปอาชา จะเป็นตัวแทนของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เคยทำเรื่องดังกล่าวหรือไม่ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือรัฐบาลต้องทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริงและเอา ประโยชน์ของชาติเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง" นายบัญญัติ กล่าว. | |
.....หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
| |
6ปี'เหลือง-แดง'แกนนำคดีเพียบ
| |
เกศินี แตงเขียว, ปิยะนุช ทานุเกษตรไชย
นับจากวันที่เกิดความวุ่นวายในการชุมนุมของกลุ่มสี ทั้ง"เหลือง-แดง" หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจ "รัฐบาลทักษิณ" เมื่อเดือนก.ย. 2549 เรื่อยมา จนถึงการขับไล่ "รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์" เดือนต.ค. 2551 และ "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ช่วงเดือน เม.ย. 2552 - พ.ค. 2553 ความวุ่นวายได้กลายเป็นคดีของกลุ่มสี จำนวนมาก ล่าสุด หลังสถานการณ์ผ่านไป 6 ปี เหล่าแกนนำกลุ่มสีเหลือง-แดง ต้องผลัดกันลุ้นว่า อัยการจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในหลายคดี กลุ่มเหลือง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" มีคดีสำคัญอย่าง ชุมนุมปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองปี 2551 ที่แกนนำพันธมิตรฯ ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย โดยมีแนวร่วม รวมแล้ว 114 คน ตกเป็นผู้ต้องหาด้วย ซึ่งอัยการคดีอาญานัดฟังคำสั่ง 20 ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา แต่ได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ออกไปเป็นวันที่ 7 ก.พ. 2556 หลังจากคดีนี้อัยการใช้เวลา 1 ปีเศษในการพิจารณาตรวจหลักฐาน 24 ลัง 165 แฟ้ม กว่า 8,000 แผ่น ตามที่พนักงานสอบสวนส่งมากับสำนวนเมื่อเดือนมี.ค. 2554 จนทำให้ต้องเลื่อนนัดฟังคำสั่งกว่า 17 ครั้ง แต่ละครั้งนาน 1-2 เดือน ก็เพราะความจำเป็นและเหตุผลที่ว่า คดีมีรายละเอียดจากเหตุการณ์พันธมิตรฯ ชุมนุมต่อเนื่องนาน 193 วัน ที่ต้องรวบรวมพิสูจน์ตรวจสอบประกอบข้อกฎหมายที่จะชี้ว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นครบองค์ประกอบความผิดที่จะลงโทษตามกฎหมายได้หรือไม่ ขณะที่คดีเหล่าแกนนำพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุมบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดล้อมรัฐสภาปี 2551 อีก 2 สำนวน อัยการได้มีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยร่างคำฟ้องเรียบร้อยหลังจากใช้เวลา 1 ปี8 เดือนในการตรวจสำนวนที่ได้รับมาพร้อมคดีบุกสนามบิน สุดท้ายคดีนี้อัยการนัดส่งตัวผู้ต้องหาฟ้องศาลวันที่ 20 ธ.ค. 2555 แต่พอถึงวันนัด ทนายพันธมิตรฯ ได้ขอเลื่อนโดยอ้างว่าแกนนำพันธมิตรฯ หลายคนติดภารกิจเร่งด่วน แต่อัยการไม่อนุญาต เพราะขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งแล้ว อัยการจึงมีหนังสือแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้ติดตามผู้ต้องหาทั้งหมดมาส่งอัยการเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาโดยด่วน กระทั่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2555 ก็สามารถตามตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คดีมาได้ โดยคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล อัยการได้ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง-สนธิ ลิ้มทองกุลพิภพ ธงไชย-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯ รวม 4 คน ต่อศาลอาญาและได้ประกันตัวไป ซึ่งคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด6 คน ยังเหลืออีก 2 คน ทางพนักงานสอบสวนจึงต้องตามตัวมายื่นฟ้องต่อศาล ส่วนคดีปิดล้อมรัฐสภา อัยการได้ยื่นฟ้อง พิภพ-สนธิ-สมเกียรติ-มาลีรัตน์ แก้วก่า-ประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตรฯ รวม 5 คนต่อศาลอาญาและได้ประกันตัวไป คดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 20 คน ยังเหลืออีก 15 คน ที่พนักงานสอบสวนจะต้องตามตัวมาส่งอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งคดีที่นายสนธิ พล.ต.จำลอง กับพวกรวม 9 คน โดนข้อหากบฏ เนื่องจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่เป็นนอมินีระบอบทักษิณ ตั้งแต่รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช จนถึงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งอัยการนัดฟังคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 7 ก.พ. 2556 นอกจากคดีอาญา แกนนำพันธมิตรฯ ชุด 1-2 รวม 13 คน ยังเจอศาลแพ่ง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 สั่ง พล.ต.จำลอง-สนธิ-พิภพ-สุริยะใสกตะศิลา-สมศักดิ์ โกศัยสุข-ไชยวัฒน์สินสุวงศ์-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง-สำราญ รอดเพชร-ศิริชัย ไม้งาม-มาลีรัตน์ แก้วก่า-เทิดภูมิ ใจดี ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. โจทก์ที่ยื่นฟ้องคดี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551 ซึ่งเป็นวันที่ร่วมกันนำผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรหลายหมื่นคนบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ประท้วงรัฐบาลขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แต่คดียังไม่จบ เพราะยังมีการอุทธรณ์สู้คดีกันตามกฎหมายอีกก็รอเพียงว่า เมื่อใดที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาออกมาให้ลุ้นอีกเท่านั้น พ่วงท้ายด้วยคดีแพ่งอีกหนึ่งสำนวน ที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง กับพวก15 คน เรียกค่าเสียหาย 103,483,142 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ที่แกนนำพันธมิตรฯ และกลุ่มผู้ชุมนุม ร่วมกันชุมนุมล้อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เมื่อเดือนพ.ย. 2551 ที่ศาลแพ่งยังไม่มีคำพิพากษา เนื่องจากยังสืบพยานไม่เสร็จ ก็รอลุ้นกันว่าศาลจะมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเหมือนคดีของ ทอท.หรือไม่ ส่วนกลุ่มการ์ดพันธมิตรฯ ที่เรียกตัวเองว่า "นักรบศรีวิชัย" ก็ใช่ว่าจะลอยตัว เพราะอัยการยื่นฟ้องคดีร่วมกับผู้ชุมนุม รวม 85 ราย ที่พากันเดินขบวนจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไปปิดล้อมบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT วันที่ 25-26 ส.ค. 2551 โดยอัยการคดีอาญายื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ภายในปีเดียวกันกับที่เกิดเหตุ โดยคดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ให้จำคุกจำเลยแตกต่างกันไปตามลักษณะความผิด ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี - 2 ปี 6 เดือน โดยศาลไม่ได้รอลงอาญา ขณะที่ 6 รายยังเป็นเยาวชนศาลก็ให้รอลงอาญาไว้ก่อน 2 ปี ฟาก กลุ่มเสื้อแดง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อัยการคดีพิเศษยื่นฟ้อง วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีต ประธาน นปช.จตุพร พรหมพันธุ์- ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และบรรดาแกนนำฮาร์ดคอร์และแนวร่วม 24 คน ร่วมกันในคดีก่อการร้าย ที่ได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเมื่อปี 2553 รวม 4 สำนวน โดยอัยการใช้เวลา 12 วันในการพิจารณาสำนวนหลักฐาน 60 แฟ้มที่ได้รับสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2553 แล้วสั่งฟ้อง แกนนำ นปช. ชุดแรก 19 ราย ในวันที่ 11 ส.ค. 2553 ก่อนที่จะครบกำหนดฝากขัง 84 วัน หลังจากนั้น อัยการจึงทยอย ยื่นฟ้องแกนนำและแนวร่วมจนครบ 24 ราย 4 สำนวน ซึ่งศาลอาญาได้สืบพยานโจทก์นัดแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2555 เพราะกว่าจะรวมสำนวนสรุปพยานหลักฐานได้ก็ต้องสืบพยานฝ่ายโจทก์ 300 ปาก จำเลย 200 ปาก ซึ่งต้องรอนัดให้พร้อมกัน เพราะคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าจำเลยที่ต้องมาให้ครบทั้ง 24 ราย อีกทั้งจำเลยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.จึงมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ศาลจึงต้องสั่งเลื่อนและนัดพิจารณาคดีเฉพาะช่วงปิดสมัยประชุมสภาเท่านั้น และระหว่างรอสืบพยานก็ยังมีการร้องขอเพิกถอนประกันแกนนำ 2-3 ครั้ง ทั้ง จตุพร-ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก-ก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งเป็นรายล่าสุด ที่โดนถอนประกันเมื่อ 30 พ.ย. 2555 แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะมีการเปิดสมัยประชุมสภาเมื่อ 21 ธ.ค. 2555 โดยใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. สำหรับคดีนี้เหลือเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาซึ่งยังหลบหนี ที่อัยการรอติดตามตัวมาเพื่อฟังคำสั่ง ส่วนอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย วิเชียร ขาวขำ-พายัพ ปั้นเกตุ-อดิศร เพียงเกษพ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์-สุภรณ์อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน และ ชินวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วมนปช.ผู้ต้องหาคดีร่วมก่อการร้าย ดีเอสไอก็ทยอยติดตามตัวส่งให้อัยการสั่งคดีตั้งแต่เดือนธ.ค. 2553 เหมือนกับ วิสา คัญทัพ-ไพจิตร อักษรณรงค์ แนวร่วม นปช. ที่ดีเอสไอส่งสำนวนสมควรสั่งฟ้องคดีปลุกปั่นยุยง ส่งให้อัยการตามมาเมื่อเดือนพ.ค. 2554 ซึ่งอัยการยังตรวจสำนวนและการร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหา จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนออกมาว่า จะฟ้องหรือไม่ กลุ่มเสื้อแดงก็ไม่ต่างกับกลุ่มเสื้อเหลือง ที่ยังมีคดียิบย่อยที่ถูกฟ้องอีก เช่น คดีบุกรุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เมื่อค่ำวันที่ 22 ก.ค. 2550 ที่แม้ว่าคณะทำงานอัยการคดีอาญาจะมีคำสั่งไม่ฟ้องเมื่อเดือนม.ค. 2552 เพราะยังฟังไม่ได้ว่า การชุมนุมมีอาวุธ แต่หลังจากอัยการส่งความเห็นพร้อมสำนวนกลับไปให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ขณะนั้นพิจารณาว่าจะมีความเห็นแย้งกับอัยการ แล้วต่อมา เดือนก.ค. 2552 พล.ต.อ.พัชรวาท ก็ส่งความเห็นยืนยันกับ ชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดในขณะนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายให้สั่งฟ้อง อัยการสูงสุดจึงได้ชี้ขาดสั่งฟ้องแกนนำนปช. ทั้งหมด ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามความเห็นที่ ผบ.ตร.ส่งมา สุดท้าย วีระกานต์ อดีตประธาน นปช.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-วิภูแถลง พัฒนภูมิไทนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.-นพรุจ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006-วีระศักดิ์ เหมธิลิน-วันชัย นาพุทธา สมาชิก นปช. ทั้ง 7 คน ก็มีเรื่องที่ต้องขึ้นศาลอีก ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน หลังจากอัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2553 และเริ่มสืบพยานโจทก์เมื่อ 9 มี.ค. 2554 ส่วนคดีสำคัญ "เผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์" ระหว่างการกระชับพื้นที่สลายชุมนุม นปช. 19 พ.ค. 2553 นั้น อัยการคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นฟ้อง สายชล แพบัว การ์ดนปช.-พินิจ จันทร์ณรงค์ ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ไปแล้ว คดีสืบพยานโจทก์นัดสุดท้ายเสร็จไปเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา จากนี้ก็รอลุ้นสืบพยานจำเลยช่วงเดือนม.ค. 2556 หลังจากที่มีการยื่นฟ้องคดีตั้งแต่ 1 ก.ย. 2553 ขณะที่ พินิจ จันทร์ณรงค์ โดน คดีปล้นทรัพย์ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้อีกหนึ่งสำนวน แต่ศาลก็ยกฟ้องพินิจกับพวกรวม 6 คน ไปเมื่อ 1 ธ.ค. 2554 เนื่องจากยังไม่มีทรัพย์สินของกลาง 18 รายการ มูลค่า 95,430 บาท ที่ยืนยันได้ว่า จำเลยทั้งหมดเป็นผู้กระทำความผิด แต่ศาลก็สั่งจำคุกทั้งหมด คนละ 6 เดือนฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในส่วน ดีเอสไอ ซึ่งรับคดีมาตั้งแต่ปี 2553 สรุปภาพรวมการดำเนินคดีกับคนเสื้อแดง มีผู้ต้องหารวม 665 คน ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัว 294 คน ถูกดำเนินคดีไปแล้วครบถ้วน ส่วนผู้ต้องหาหลบหนีถูกออกหมายจับ 368 คน รู้ชื่อสกุล 59 คน และเป็นบุคคลตามภาพถ่าย แต่ไม่รู้ชื่อสกุล รวม 309 คน และเป็นผู้ต้องหาที่จำหน่ายคดีเพราะเหตุเสียชีวิต 2 ราย คือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และ นายสมัย วงษ์สุวรรณ์ มือระเบิดสมานเมตตาแมนชั่น ย่านบางบัวทอง ประมวลสถานภาพการสอบสวนคดีพิเศษ ที่เกิดจากการชุมนุมของนปช. 266 คดี แบ่งเป็นคดีก่อการร้าย 150 คดี การขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ 22 คดี การทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 73 คดี และกระทำต่ออาวุธยุทธภัณฑ์ของราชการ 21 คดี เป็นคดีที่จับกุมผู้ต้องหาได้ 68 คดี สอบสวนแล้วเสร็จ 66 คดี สั่งฟ้อง 62 คดี ไม่ฟ้อง 4 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 2 คดี เป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิดแต่จับกุมตัวไม่ได้ 19 คดี สอบสวนแล้วเสร็จ 16 คดี สั่งฟ้อง 15 คดี ไม่ฟ้อง 1 คดี ยังไม่เสร็จ 3 คดี เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 179 คดี สั่งงดการสอบสวน 112 คดี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงคณะพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีการชุมนุมของ นปช. ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 มีการรื้อฟื้นคดีในการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมาปัดฝุ่น โดยคงงดการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของทหารตำรวจไว้ เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานระบุถึงชายชุดดำผู้กระทำผิด แต่เดินหน้าสอบสวนในส่วนที่เป็นการเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะคดีที่ส่งให้ศาลไต่สวนการตายหลังศาลชี้ขาดว่า การเสียชีวิตของ "พัน คำกอง" แท็กซี่เสื้อแดง ว่าเป็นการตายจากกระสุนทหาร เป็นผลสืบเนื่องให้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯในวันที่ 13 ธ.ค. 2555 ซึ่งถือเป็นปฐมบทของการดำเนินคดีกับฝั่งของผู้สั่งการ
| |
.....เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
| |
'เผือกร้อน' องค์กรอิสระปี2556
| |
ในปี 56 นี้ภารกิจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายการเมือง มีประเด็นร้อนแรงใดบ้างที่ต้องจับตาซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตการเมืองของประเทศไทย
เริ่มกันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องกรณี นายวราเทพ รัตนากร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง (3) (5) และมาตรา 174 (5) หรือไม่ เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยมีคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปีในคดีหวยบนดิน ส่วนเรื่องสำคัญอื่นๆ ก็เพียงแต่รอว่าการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 จะเดินหน้าอย่างไร เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้เคยทิ้งปมไว้ว่าก่อนเดินหน้าวาระ 3 จะต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากประชามติ ทางด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็คงจะต้องมีงานหนักตลอดปี ประเดิมด้วยเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงต้นปี ถ้าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. อยู่จนครบวาระ ก็อาจจะต้องมีการเลือกตั้งกันในราวเดือน ก.พ. เชื่อว่าต้องมีคนมาร้องเรื่องทุจริตกันเป็นจำนวนมาก ส่วนเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นทาง กกต.ก็ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน หากรัฐบาลตัดสินใจว่าจะทำเมื่อไหร่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ถือว่าหนักหนาสาหัสพอสมควร เพราะจะมีกระบวนการนำเรื่องการกระทำต่าง ๆ มาร้อง กกต.เพื่อนำไปสู่การยุบพรรค ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่น่าติดตามมีทั้งเรื่องยุบพรรคเพื่อไทยกรณีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ถูกไล่ออกจากราชการ กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกปลดออกจากราชการ ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส. หรือไม่ รวมทั้งเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์ถูกสอบกรณีการรับเงินบริจาคช่วยน้ำท่วมจากบริษัท อีสวอเตอร์ ที่ต้องติดตามกันต่อไป แต่เรื่องที่น่าห่วงคือปีนี้ กกต.ทั้ง 5 คนจะครบวาระการทำหน้าที่ในช่วงวันที่ 20-21 ก.ย.56 ซึ่งอาจจะเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองที่ไม่ฝ่ายรัฐบาลก็ฝ่ายค้านได้ประโยชน์ ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองที่นำมาดิสเครติตกัน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกรณีว.5โฟร์ซีซั่นส์ ชั้น 7 ของนายกรัฐมนตรี กรณีการถอดยศของนายอภิสิทธิ์ จากการใช้เอกสารเท็จเข้ารับราชการ จนทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหมออกคำสั่งไม่ชอบ อย่างไรก็ตามยังมีเรื่องที่จะเป็นการวัดใจผู้ตรวจการแผ่นดินในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น กรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.การต่างประเทศ ออกหนังสือเดินทางให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ชอบด้วยระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ที่ยังคาราคาซังอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้มายื่นฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องการละเลยไม่ปฏิบัติด้วยกฎหมายในกรณีถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมถึงฟ้องพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผบ.ตร. ยศในขณะนั้น ในกรณีหยุดราชการเพื่อไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ฮ่องกง โดยไม่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นการกระทำที่ผิดวินัยของตำรวจ นอกจากนี้ ยังมีผู้ฟ้องพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ที่ไปให้พ.ต.ท.ทักษิณ ติดยศ โดยไม่ดำเนินการจับกุมด้วยเช่นกัน นอกเหนือจากปมพ.ต.ท.ทักษิณ แล้วยังมีเรื่องที่น่าจับตาด้วยเช่นกันกรณีที่มีผู้ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กรณีพูดโกหกตัวเลขการส่งออก สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจ และกรณีการแทรกแซงรายการ new@talk รวมถึงกรณีร้องเรียนกรณีรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว มีปัญหาต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 และมาตรา 84 และการดำเนินโครงการมีการทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ โดยมอบให้ฝ่ายกฎหมายไปสอบสวนเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเป็นปมที่สามารถทำให้รัฐบาลสั่นคลอนได้เช่นกัน ตบท้ายด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานภาคราชการ ประเด็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งคือกรณีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งในเบื้องต้น ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับนโยบายดังกล่าวรวมทั้งพ่วงกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเข้าไปด้วย ที่ต้องตรวจสอบต่อไปว่า ผู้นำรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ สืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาป.ป.ช. ยังได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.มหาดไทย อดีตรมช.คมนาคม กรณีการทุจริตและปฏิบัติหน้าที่ผิดจริยธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และพรรครักประเทศไทย จำนวน 157 คน ยื่นเรื่องถอดถอนต่อประธานวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 โดยมี ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนเป็นองค์คณะไต่สวน และล่าสุดคือกรณีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีผู้ร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ จงใจฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ในมาตรา 103/7 ที่บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐ ต้องดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียด ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูล ดังนั้นจึงต้องคอยจับตาดูว่าทั้งหมดนี้เป็นเกมดึงตัว "น.ส.ยิ่งลักษณ์" สู่กระบวนการถอดถอน เพื่อเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลได้หรือไม่. | |
.....เดลินิวส์
|
วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556
สรุปวิเคราะห์ข่าววันที่ ๒ ม.ค.๕๖
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น