วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ทิศทางเสื้อแดง - แผนขับเคลื่อนปี 2556



ทิศทางเสื้อแดง - แผนขับเคลื่อนปี 2556
รายงานพิเศษ


ผ่านเหตุการณ์เมษา-พฤษภาเลือด 2553 มาถึง 2 ปีกว่า คำถามสำคัญสำหรับคนเสื้อแดง คือจะทบทวนการต่อสู้ที่ผ่านมาและกำหนดทิศทางการต่อสู้ในอนาคตอย่างไร 

ในสถานการณ์ที่คล้ายปกติ แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่บรรยากาศการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐ ประหารกันยาฯ 2549 ก็ดูอึดอัดและอึมครึมไปทุกองคาพยพ

จากการสำรวจเสียงทั้งจากกลุ่มเสื้อแดงกระแสหลัก และกลุ่มเสื้อแดงอิสระ กระทั่งมองผ่านความเห็นจากกลุ่มเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ว่าในปี 2556 นี้ คนเสื้อแดงจะไปทางไหน

แดดแรงจัดยามบ่ายกลางโบนันซ่า เขาใหญ่ ในงานคอนเสิร์ตของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อธันวาคมปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้คนเสื้อแดงอ่อนกำลังลง เหมือนที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามดิสเครดิตว่าคนเสื้อแดงกำลังแตกแยก

ราวๆ 1 ทุ่ม ความร้อนระอุอ่อนแรง คนเสื้อแดงทยอยมาเพิ่ม บนเวทีปราศรัย แกนนำนปช.ขึ้นเรียงหน้าแถลงการณ์ผ่านเสียงของนางธิดา โตจิราการ ประธานนปช. กังวานชัด 

นปช.เรียกว่า"ปฏิญญาโบนันซ่า" แต่ในอีก 2 ชั่วโมง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมาจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า"ประชามติ 24 ล้านเสียงเป็นเรื่องหมูๆ" ดูจะเห็นไปคนละทางกับ นปช. ที่ยืนยันให้ลงมติวาระ 3 ทันที

ต่อประเด็นนี้ ประธาน นปช.มองว่าความเห็นต่างนั้นเกิดขึ้นได้ สำคัญที่ต้องรู้ว่าใครคือมิตรใครคือศัตรู ด้วยความที่ประชาชนเสียสละและมาด้วยใจ เขาอาจมีอิสรภาพในการต่อสู้มากกว่า เพราะไม่ต้องหอบเครื่องหลังรุงรังเหมือนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดการต่อสู้ 

"ไม่ใช่ว่าคุณทักษิณ หรือรัฐบาลพูดอะไรมาแล้วพวกเขาต้องเชื่อทั้งหมด แบบนี้เป็นเผด็จการ ประชาชนไม่เชื่อในอำนาจบนยอดพีระมิด แต่นปช.ต้องประเมินจากความจริง ไม่สามารถดันทุรังได้"

สำหรับทิศทางการต่อสู้ในอนาคต นางธิดามองว่าวันนี้คนเสื้อแดงไม่ได้เพิ่มเฉพาะปริมาณเท่านั้น แต่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ดูจากการตั้งคำถามและการโต้ตอบ เขาสามารถตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับ นปช. ตรงนี้สะท้อนว่าเขาติดตามและวิเคราะห์ตลอดเวลา

อาจารย์ธิดาพูดถึงการเปิดโรงเรียนการเมือง นปช.ว่า ได้เริ่มต้นในปี 2552 หยุดไปในปี 2553 และมาเปิดใหม่ในปี 2555 ขณะนี้มี 7 โรงเรียนแล้ว เราไปเปิดที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส มีแต่คนกลัว เชื่อไหมว่ามีประชาชนเข้าร่วมเป็นพันคน โดยเฉพาะผู้หญิงที่สวมฮิญาบมาเป็นร้อยคน และตั้งเป้าว่าในปีใหม่นี้จะเปิดเพิ่มที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ด้วย 

"ที่ทำได้เพราะความตื่นตัวของประชาชน ไม่ได้มาจากการฝันเอาเอง" ประธาน นปช.ทิ้งท้าย

ลงจากโบนันซ่าข้ามมาที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก บ่ายโมงตรงทุกวันอาทิตย์ คนเสื้อแดงประมาณ 30-40 คนปักหลักกลางแดดจ้า แม้จะดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับผู้ชุมนุมของนปช. แต่ใช่ว่าประเด็นเสวนาที่หน้าศาลจะเบาบางไม่ 

จากการชุมนุมอดอาหารนานถึง 112 ชั่วโมง เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.2555 ที่เริ่มต้นโดยนายปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ลูกชายของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ที่ต้องคดีหมิ่นเบื้องสูง จากนั้นนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ปักหลักอีก 23 วัน จนเกิดเป็นกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

กระทั่งกรณีการเสียชีวิตในเรือนจำของ"อากง" หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2555 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลก็ประกาศเจตนารมณ์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2555 เป็นต้นมาทุกอาทิตย์ 

นางสุดา รังกุพันธุ์ หัวเรือหลักของกลุ่ม เล่าว่าเราเป็น กลุ่มที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชา การทั้งในอุดมศึกษา และนักวิชาการอิสระที่เห็นปัญหาของกระบวน การยุติธรรมไทย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิการประกันตัวของนักโทษการเมือง ซึ่งสามารถผลัดเปลี่ยนกันมาให้ความรู้กับประชาชนที่หน้าศาลได้ 

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) มีผู้ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาการเมืองถึง 1,857 คน วันนี้พวกเขารับรู้ว่าความอยุติธรรมไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับคนเสื้อแดงเท่านั้น โดยเฉพาะกรณีอากง ที่อาจจะมีคนเป็นแบบอากงอีกหลายคน เพียงแต่เรายังไม่เคยรู้

"กรณีอากง แม้จะใช้เงินประกันสูงถึง 2 ล้านบาทก็แล้ว ใช้ตำแหน่งทางวิชาการก็แล้ว ใช้เหตุผลทางสุขภาพและภาระในการเลี้ยงดูครอบครัวก็แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัว จนกระทั่งเสียชีวิตไป"

อาจารย์สุดากล่าวถึงข้อเรียกร้องของนปช. ในการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองว่า ส่วนตัวดีใจที่ นปช.พูดเรื่องนี้มาหลายครั้ง แต่ยังไม่เห็นรูปธรรม นปช.สามารถเสนอร่างกฎหมายนิรโทษฯ ต่อสภาได้ เพราะนปช.มีนักกฎหมายที่มีศักยภาพ

"นักโทษการเมืองเขายังมีลมหายใจก็จริง แต่เป็นลมหายใจที่ถูกพันธการด้วยโซ่ตรวน พวกเขาต้องได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้วต้องได้รับการเยียวยาเสมือนว่าเขาไม่เคยต้องโทษ ถ้ายังปล่อยให้มีนักโทษการเมืองถูกคุมขังอยู่ เจตนารมณ์ในการสร้างรัฐธรรมนูญด้วยกันก็แทบไม่มีความหมาย ถ้าไม่มีบรรยากาศแห่งสิทธิเสรีภาพ"

อาจารย์สุดากล่าวถึงเป้าหมายและทิศทางการเคลื่อนไหวในปีใหม่นี้ว่า"แม้พวกเราจะไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับคนที่สนใจได้มากนัก เช่น ไม่สามารถจัดรถให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเข้ามาร่วมได้ แต่เราก็พยายามแก้จุดอ่อนตรงนี้ด้วยการถ่ายทอดสดผ่านอินเตอร์เน็ต"

1.เสื้อแดงชุมนุมใหญ่ที่โบนันซ่าเขาใหญ่ เมื่อปลายปี 2555

2.จากสุไหงโก-ลก และสงขลา ก็มาร่วมชุมนุม

3.กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล

4.กวีราษฎร์แถลงการณ์

5.โปสเตอร์งานกวีราษฎร์


ขณะที่การจัดกิจ กรรมทุกอาทิตย์นั้น ภาษาของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ผู้ร่วมจัดคนสำคัญอีกคนหนึ่ง ใช้คำว่า"กระบวนท่ามาตร ฐาน" คือ พวกเราเลือกที่จะชุมนุมยืดเยื้อ ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปอยากเข้ามามีส่วนร่วม

เกือบทุกครั้งที่คนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน ไม่ได้มีแต่ภาพของแกนนำเท่านั้น กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมก็ถูกให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งละครและการอ่านบทกวีจึงมักเป็นเสน่ห์ของการชุมนุมในครั้งหลังๆ

ภรณ์ทิพย์ มั่นคง สมาชิกกลุ่มประกายไฟ ผู้ทำหน้าที่จัดกิจกรรมประกายไฟการละคร เล่าว่าภาพที่คนจำเราได้ คือการไปแกล้งนอนตายที่หน้าบ้านพิษณุโลก เพื่อคัดค้านคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จากนั้นเวลามีการรำลึกเหตุ การณ์ราชประสงค์ การนอนตายก็ได้รับความนิยมขึ้นมา 

กระทั่งละคร"แม่พลอย" จากบทประพันธ์เรื่องสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ก็เปิดการแสดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2555 ในงานรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ด้วยการเล่าถึงคนแบบแม่พลอยที่หลงอยู่ในสังคมเก่า โดยนำแถลงการณ์ของคณะราษฎรมาใส่เพิ่ม แล้วตีความว่าคนแบบแม่พลอยนั้นมีปฏิกิริยาอย่างไร ซึ่งคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เข้าใจ

ในฐานะนักเคลื่อนไหว ภรณ์ทิพย์มองว่าสิ่งสำคัญในวันนี้ คือ"ต้องสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ แม้หลายคนในฝ่ายเดียวกันจะไม่ชอบ แต่ถือว่าเราบอกมิตรในขณะที่ยังเป็นมิตรกันอยู่ เราจึงไม่ทิ้งการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะถ้ากล้าวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นแล้ว ก็ต้องกล้าที่จะวิจารณ์ฝ่ายเดียวกันด้วย"

ด้าน"วาดดาว" กลุ่มกวีราษฎร์ มองการใช้ศิลปะของถ้อยคำในการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า ความอึดอัดคับข้องใจทางการเมืองเอื้อให้เกิดบทกวี

"อย่าได้รังเกียจความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่จงรังเกียจถ้อยคำจากการสะกดจิต ประเทศชาติมิอาจลอยอยู่ได้กับถ้อยคำโกหกพกลม มีแต่มือที่มองเห็นของประชาชนเท่านั้น ที่จะประคองผืนแผ่นดินแห่งนี้" ส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของกวีราษฎร์ ในการเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง

วาดดาวบอกว่ากวีราษฎร์เกิดจากคนธรรมดาที่สนใจการเมืองและชอบเขียนบทกวี รวมตัวกันในโชเซี่ยลมีเดีย กระทั่งหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดง รัฐบาลขณะนั้นใช้ ม.112 กำราบผู้เห็นต่างทางการเมือง จนกลุ่มนิติราษฎร์ออกมาเสนอแก้ไข ม.112 แต่กลับถูกโจมตีอย่างหนัก กวีราษฎร์จึงออกมาสนับสนุนข้อเสนอแก้ไขดังกล่าว

ล่าสุด เมื่องานรำลึกการรัฐประหารกันยาฯ 2549 กวีราษฎร์ส่งแคมเปญ"ก.ย.19 ทากันยุง" เข้าสู่สังคมในวงเล็กๆ แต่กลับได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมโซเชี่ยลมีเดีย มีการตีความกันว่า ยุงคืออะไร และการถูกยุงกัดตลอดเวลานั้นเป็นอย่างไร 

"ความจริงคนเสื้อแดงได้ไปไกลกว่าบทกวีแล้ว บทกวีทำหน้าที่เพียงบันทึกประวัติศาสตร์ และสะท้อนสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจของมวลชนเท่านั้น" 

วาดดาวบอกด้วยว่าวันนี้สมาชิกเริ่มหลากหลายขึ้น ตอนนี้มีทั้งงานศิลปะทั้งละคร หนังสั้น ดนตรี และในปลายเดือนม.ค.นี้ จะมีกิจกรรม"ความฝันอันสูงสุด" เพื่อจะบอกว่า ภายใต้สังคมไทย ทุกคนมีสิทธิที่จะฝัน และความฝันอันสูงสุดของทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

ส่วน นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มองการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยใช้เสื้อเหลือง ถือว่าได้ใช้สัญ ลักษณ์แล้ว เพียงแต่รูปแบบไม่ได้ถูกพัฒนาต่อ กระทั่ง นปช.สวมเสื้อแดงและสร้างวาทกรรม"แเดงทั้งแผ่นดิน" ตรงนี้มีพลังมาก 

"โดยเฉพาะการเทเลือดของคนเสื้อแดง ผมขนลุกเลย ผมกลัว ทำให้ฝ่ายตรงข้ามสยดสยอง และทำให้คนเสื้อแดงฮึกเหิมขึ้น เป็นการส่งสัญญาณว่าพร้อมต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ ผมคิดว่าเป็นไอเดียขั้นสุดยอดของคนเสื้อแดงแล้ว" 

สมบัติมองว่าปัจจุบัน นปช.ไม่มีนักกลยุทธ์ เรื่องแบบนี้ต้องการความเชี่ยวชาญ เราไม่มีเสื้อของเสื้อแเดง เพราะว่าไม่สวย ถ้าออกแบบดีๆ สามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ ทำอย่างไรให้เป็นสากลนิยม และ ดูไม่ก้าวร้าว

บ.ก.ลายจุดยังตอบโจทย์ในการเคลื่อนไหวสำหรับนักกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในปีนี้ว่ามีอยู่ 2 เรื่อง เป็นสิ่งที่ต้องคิดต้องทำ คือ 1.ต้องสื่อให้ได้ว่าที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ แก้ทำไม อันเก่าแย่อย่างไร อันใหม่ดีกว่าอย่างไร และ 2. เรื่องปล่อยตัวนักโทษการเมือง

"เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี้ ซับซ้อนมาก ผมยังคิดไม่ออก เคยคิดว่าจะแก้ผ้า แต่จะให้คนออกมาแก้ผ้าก็เป็นเรื่องยาก บางเรื่องผมทำคนเดียวได้ บางเรื่องต้องใช้คนช่วย เช่น เรื่อง 112 ผมก็คิด แต่มีเงื่อนไขและบริบทที่ทำให้ผมทำไม่ได้ ผมคิดว่านิติราษฎร์ทำได้ไกลที่สุดแล้ว" สมบัติทิ้งท้าย

ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนที่ผ่านประสบการณ์ในการเคลื่อนไหว ทำให้หลายคนได้ครุ่นคิด ตั้งคำถามสำหรับการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกฝ่ายในอนาคตอันใกล้นี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น