วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ธ.ค.2555




สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ธ.ค.2555
1. “ยิ่งลักษณ์ชี้ ถ้าประชามติไม่ผ่าน แก้ รธน.รายมาตราได้ รบ.ไม่ต้องรับผิดชอบ พร้อมขีดเส้นได้วิธีแก้ รธน.ก่อน 15 ม.ค.!
       ความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ยังไม่ยอมเคาะว่าจะทำประชามติหรือไม่ โดยมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติและประชาเสวนาว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อแล้วเสร็จ ให้สรุปวิธีที่เหมาะสมเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่ในพรรคเพื่อไทยเอง ยังเสียงแตก เพราะมีทั้งคนที่เห็นว่าควรทำประชามติ และคนที่เห็นว่าควรเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ไปเลยโดยไม่ต้องทำประชามติ      
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมายืนยันว่า การที่สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีความเห็นต่างเกี่ยวกับการทำประชามติ ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้ง พร้อมย้ำว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้แก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณแต่แก้เพื่อประชาชน      
       ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงผลการประชุม ส.ส.ของพรรคในวันเดียวกัน(25 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมมีแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 แนวทาง คือ 1.เดินหน้าลงมติในวาระ 3 2.เสนอแก้ไขรายมาตรา และ 3.ทำประชามติ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคที่ได้หาเสียงไว้ แต่ที่ประชุมยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางใด เพราะแต่ละแนวทางก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย จึงอยากรอข้อสรุปของคณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาศึกษาก่อน จากนั้นจะนำผลสรุปที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมพรรคในการสัมมนาที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 6-7 ม.ค.อีกครั้ง เพื่อชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550      
       นายพร้อมพงศ์ ยังเผยด้วยว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราใน 9 ประเด็น รวม 81 มาตรา ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประเด็นที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอแก้ ได้แก่ เรื่องที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง พร้อมเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองไปอยู่ในแผนกหนึ่งของศาลฎีกา เมื่อมีคดีความต่างๆ ขึ้นสู่ศาลฎีกา สามารถเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษามาทำหน้าที่ได้ นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขที่มาขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น ให้รัฐสภาเป็นผู้สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) รวมทั้งเสนอให้ยุบผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย      
       ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. โดยตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นบางบอนเรียงมาตรา หรือปฏิญญาเขาใหญ่ ในที่สุดก็ต้องศิโรราบให้ดูไบประกาศิต การแก้ไขเรียงมาตราเป็นวิธีที่หงายไพ่โปร่งใสเปิดเผยว่า ต้องการจะลบล้างมาตรา 309 ใช่หรือไม่ เพื่อต้องการยกเลิกองค์กรอิสระหรือควบคุมให้อยู่ในอำนาจ      
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เห็นเช่นกันว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม เสนอ ชัดเจนว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยพยายามลดอำนาจการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระ เพราะรัฐบาลต้องการใช้อำนาจโดยไม่ถูกต้องและพยายามเพิ่มอำนาจตัวเอง      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ขีดเส้นให้พรรคเพื่อไทยสรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนวันที่ 15 ม.ค. และว่า ไม่ว่ามติพรรคออกมาทางใด ส.ส.ของพรรคพร้อมปฏิบัติตามมติพรรค เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายที่พรรคได้สัญญาไว้กับประชาชน      
       น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังส่งสัญญาณด้วยว่า รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ หากทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับแล้วไม่ผ่าน เพราะมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง รัฐบาลก็กลับไปใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราได้ ไม่ถือเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะการทำประชามติไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่เป็นข้อแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ      
       ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน โดยชี้ว่า ถ้าจะทำประชามติ รัฐบาลก็ควรรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่คอยแต่รับชอบอย่างเดียว ดังนั้น ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน รัฐบาลควรยุติการแก้รัฐธรรมนูญไว้ก่อน นายองอาจ ยังย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมา พฤติกรรมของนายกฯ และคนในรัฐบาลชัดเจนว่าทำเพื่อประโยชน์ของคนบางคน ดังนั้นสิ่งที่นายกฯ บอกว่าไม่ได้ทำเพื่อพ.ต.ท.ทักษิณจึงไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด       

2. ปชป.มีมติส่ง สุขุมพันธุ์ลงชิงผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ด้าน พท.ยังไม่เคาะ รอ 10 ม.ค.!
       เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้เรียกระชุมกรรมการบริหารพรรค 19 คน เพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่เสนอตัวลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจำนวน 4 คน ที่คณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นประธาน พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ประกอบด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ,นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตกรรมการบริหารพรรค ,นายประกอบ จิรกิติ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และนายอภิชัย เตชะอุบล ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค ยังได้เสนอชื่อนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค ให้ที่ประชุมพิจารณาด้วย โดยขอให้เป็นทางเลือกอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้ หลังใช้เวลาพิจารณานาน 4 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.เป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.      
       นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผยเหตุที่คณะกรรมการเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ว่า เนื่องจากตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรม พร้อมเชื่อมั่นว่า นโยบายที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์วางไว้ จะสามารถเอาชนะใจคน กทม.ได้ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งในการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน      
       ส่วนกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เตรียมแจ้งข้อกล่าวหากับ 11 ผู้บริหาร กทม.ในความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค คือการต่อสัญญาให้บริษัท บีทีเอสซี บริหารส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น นายชวนนท์ บอกว่า พรรคได้ประเมินแล้วว่า อาจมีการเดินเรื่องดังกล่าวเพื่อดิสเครดิต ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้ง แต่พรรคเชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมชี้แจงทุกประเด็นและมั่นใจว่าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์สามารถเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้      
       ด้านพรรคเพื่อไทย(พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ได้ออกมาปฏิเสธกรณีมีข่าวว่า แกนนำพรรคและ ส.ส. รวมทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต(ส.ข.) ของพรรค มีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยยืนยันว่าไม่จริงแต่อย่างใด และว่า พรรคจะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้ในวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของวันดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น