วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

"ยิ่งลักษณ์" พลิกตำราฝ่าหน้าผาเศรษฐกิจ 2556 วันที่ 29 ธ.ค.55. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์




"ยิ่งลักษณ์" พลิกตำราฝ่าหน้าผาเศรษฐกิจ 2556
วันที่ 29 ธ.ค.55.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกนโยบายที่ถูกขับเคลื่อนโดยรัฐบาลมักมีผลกระทบกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยม แน่นอนว่ายุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ติดเครื่องทุกโครงการมากว่า 1 ปีเศษ ทั้งการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ปรับเงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท และรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ต่างก็เป็นนโยบายที่สร้างความผันผวนให้กับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้น ก่อนที่ "รัฐนาวายิ่งลักษณ์" จะเดินหน้าต่อในปีที่ 2 จึงได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำเอกสารภาวะเศรษฐกิจไทย-โลก รายงานต่อที่ประชุมเดือนละ 1 ครั้งเพื่อใช้เป็นข้อมูลบริหารประเทศในอนาคตล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55 ที่ผ่านมา สศช.ได้นำรายงานฉบับปฐมฤกษ์เข้ามารายงานต่อที่ประชุม โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 12.2         การบริโภคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.0 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 8.1 โดยมีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ระหว่างร้อยละ 2.5-3.5 มีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ของ GDP ทั้งนี้ ตัวเลขจะไปถึงเป้าที่ตั้งไว้ได้จะต้องมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของการค้าสินค้าคอมพิวเตอร์-อิเล็กทรอนิกส์ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐและอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดี
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ควรระมัดระวัง ได้แก่ ข้อจำกัดในการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง สภาพคล่องส่วนเกินในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งราคาพลังงานที่มีความเสี่ยงว่าจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยุโรป และการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐอเมริกา ที่มีสัญญาณความคืบหน้ามากขึ้น คาดว่าจะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี2556โดยเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ3.9 ปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ5.0 โดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.0 และจีนขยายตัวร้อยละ 8.3 ขณะที่กลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ0.2จากสถานการณ์ทั้งหมด
คาดการณ์ว่าจะสร้างแรงกดดันด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี2556
ทั้งนี้ สศช.ได้จัดทำแนวการบริหารประเทศ 5 ข้อ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวด้านเศรษฐกิจภายในประเทศให้ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพ และป้องกันความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ดังนี้
1.เร่งรัดการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดที่มูลค่าการส่งออกในปี 2555 ปรับตัวลดลงมาก และจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTB)
2.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ-การลงทุนโครงการของรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยเร่งเครื่องการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท รวมถึงการเร่งรัดแผนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทวาย
3.ติดตามและเตรียมการเพื่อรองรับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท โดยเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้กับภาคการผลิตและส่งออก เน้นกลุ่ม SMEs, สร้างโอกาสจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ (TDI) ส่งเสริมการลงทุนในเครื่องจักรของภาคการผลิต เร่งรัดนำเข้าโครงการลงทุน  ขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนอกจากนั้นให้ดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงฟื้นตัว และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน
4.ดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงานตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
5.การปรับกฎระเบียบด้านการค้าการลงทุน เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า การเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น