วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556

ข่าวการเมืองจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ 1 ม.ค.56




การเมือง
วันที่ 1 มกราคม 2556
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เพื่อไทยรับแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จยาก เปิดโมเดลดองวาระสาม หนีข้อครหาช่วย "ทักษิณ"
http://ads.nationchannel.com/adserverkt/adlog.php?bannerid=695&clientid=438&zoneid=119&source=&block=0&capping=0&cb=7dab1bd2b61e547240834215d2b33f80
นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยในฐานะอดีตคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 ว่า ยอมรับว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 ทั้ง 3 แนวทางได้แก่ 1.การโหวตลงมติวาระ 3 2.การแก้ไขเป็นรายมาตรา และ 3.การทำประชามตินั้น ล้วนแต่มีปัญหาและมีกับดักทุกแนวทาง
"ไม่ว่าจะใช้แนวทางใดก็มีปัญหาทั้งนั้น จึงต้องรอบคอบ เลือกวิธีที่สร้างปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้น ถ้าต้องเลือกแนวทางที่มีปัญหาน้อยที่สุดมีอยู่ 2 แนวทางคือ 1.ให้คาการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ค้างไว้ในสภาฯ เฉยๆ รอจนสภาหมดอายุ กฎหมายดังกล่าวก็จะตกไปเอง เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ค่อยมาว่ากันใหม่ แต่อาจเสียความรู้สึกของประชาชน และคนเสื้อแดงบ้าง แต่เราอธิบายได้ว่า รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่แล้ว แต่มีปัญหามากมาย หากทำไปจะยิ่งสร้างความแตกแยกในบ้านเมือง จึงไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ หวังว่าประชาชนจะเข้าใจ ซึ่งแสดงให้เห็นเจตนาว่า ไม่ได้ช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ 2.เดินหน้าโหวตวาระ 3 ต่อไป ซึ่งถ้าไม่ผ่านก็ให้ไปแก้ไขเป็นรายมาตราต่อไป โดยส่วนตัวเชียร์ให้ใช้แนวทางนี้ เพราะอธิบายได้ง่ายที่สุด"
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ส่วนการทำประชามตินั้นมีขวากหนามมากมาย ต้องใช้เสียงประชามติมหาศาล และมีปัญหาตามมาคือ หากทำประชามติโดยยึด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ที่ใช้จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และต้องได้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธินั้น จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า เป็นการทำประชามติที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ระบุถึงการทำประชามติว่า ต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ คือ ต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่า 24 ล้านเสียง จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ 48 ล้านคน ซึ่งเนื้อหากฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขัดกันอยู่ จึงเป็นกับระเบิดที่จะถูกยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแน่
นอกจากนี้ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไม่ได้ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ หากไปทำประชามติก็จะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ที่ระบุว่า การทำประชามติต้องไม่ทำในเรื่องขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้เป็นรายมาตรา ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่วาระ 1-3 ก็มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทางได้ทุกมาตรา ดังนั้นทุกเส้นทางเต็มไปด้วยกับระเบิด ยอมรับว่า โอกาสแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จคงยาก จึงต้องทำด้วยความรอบคอบที่สุด

การเมือง : บทวิเคราะห์
วันที่ 30 ธันวาคม 2555
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ประธานสภาเตือนรัฐบาล อย่าฝืนทำประชามติ
เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นวาระที่รัฐบาลยืนยันจะเดินหน้า ราวกับว่าเผือกร้อนกำลังถูกเปลี่ยน สู่มือกลไกฝ่ายนิติบัญญัติอีกครั้ง กลายเป็นสิ่งที่คอการเมืองจับตา ดูอุณหภูมิว่าจะถึงจุดเดือดอีกครั้งหรือไม่ สถานการณ์การเมืองหลังพ้นปี 2555 เกจิการเมือง ต่างออกมาทำนายว่า ประเทศไทยยังไม่พ้นบ่วงกรรม และต้องเผชิญหน้าความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นอีกรอบ โดยจุดเริ่มของความแตกแยกจะอยู่ที่ รัฐสภาในโอกาสส่งท้ายปีเก่า เริ่มต้นปีใหม่ 2556 “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาขอสวมหมวกหมอดูอนาคตการเมืองไทย วิเคราะห์สถานการณ์จากข้อเท็จจริง โดยมุมมองส่วนตัว ขัดแย้งกับโหรการเมืองที่ทำนาย
เชื่อไหม กับคำทำนายของโหรการเมือง ว่าปีหน้าสถานการณ์การเมืองจะวุ่นวาย?
ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะทุกอย่างผ่อนคลายแล้ว อย่างปีที่ผ่านมามันหนักมากแล้ว ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ และ เรื่องปรองดอง แต่ตอนนี้เรื่องแก้รัฐธรรมนูญชัดแล้วว่าจะกลับไปถามและขอประชามติจากประชาชน นั่นหมายถึงเป็นการทำความเข้าใจ ต้องใช้เวลา ไม่ได้เร่งรัด ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องกฎหมายปรองดองเชื่อว่ารัฐบาลจะใช้หลักเดียวกันกับการแก้รัฐธรรมนูญ ผมขอเป็นหมอดูโดยไม่เดา เพราะมีข้อมูล เชื่อว่าบรรยากาศการเมืองปีหน้าไม่แรง แต่จะเป็นไปด้วยดีตลอดทั้งปีหรือไม่ ไม่ทราบเพราะการเมืองไม่มีอะไรที่แน่นอน
แล้วเรื่องการทำประชามติ เรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ห่วงกันว่าจะไม่ผ่าน จะทำให้มีปัญหาหรือไม่?
ไม่มีตัวเลือกอื่น ประชามติ คือทางออกที่ดีที่สุด ทำให้ปัญหาเบาบางที่สุด ส่วนความมั่นใจว่าประชามติครั้งนี้จะผ่านหรือไม่ ผมว่า 50 : 50 เพราะตัวเลขคนที่ออกมาใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนดมันสูง แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ     ชินวัตร อดีตนายกฯ จะบอกว่าเรื่องนี้หมูๆ แต่ประสบการณ์ผมมองว่าไม่หมู เพราะฝ่ายคัดค้านก็จะออกมารณรงค์ต่อต้าน
มันมีอีกประเด็นที่ผมมอง หากเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์สนับสนุนให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่จำนวนไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รัฐบาลสามารถพิจารณาเดินหน้าต่อได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องตอบคำถามของสังคมให้ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าถ้าประชามติไม่ผ่านคือประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่ง ทางนี้รัฐบาลก็ไม่ควรเดิน ควรไปแก้ไขรายมาตราแทน ทั้งนี้คำตอบของสังคมไม่ว่าจะเอา หรือไม่เอากับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งเข่ง รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมา แต่ถ้าประชาชนบอกมาอย่างใด แล้วรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม จะถือเป็นความรับผิดชอบทันที แต่ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับการแก้เป็นรายมาตรา
ผลประชามติ จะมีผลผูกพัน หรือผูกมัดต่อการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ในส่วนรัฐบาล ผูกมัด เพราะไปถามประชาชน ถ้าประชาชนบอกไปทางซ้าย แล้วรัฐบาลไม่ซ้ายด้วยก็ต้องตอบคำถาม ส่วนจะรวมเป็นผลผูกพันให้เสียงข้างน้อยในสภาฯ หรือ ส.ว. โหวตตามผลประชามติด้วยหรือไม่ ไม่มีอะไรกำหนด แต่ผมมองว่าเป็นความความรับผิดชอบ เป็นภาระ คุณในฐานะเป็นตัวแทนประชาชน เมื่อประชาชนชี้มาอย่างนี้ คุณคิดอย่างไร
เห็นด้วยหรือไม่กับที่มีคนบอกว่ามาตรา 309 เป็นหัวใจของการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้?
เห็นด้วย เพราะมาตรา 309 ที่บอกว่า คณะปฏิวัติ และเครือข่ายทำอะไรก็ไม่ผิด ถึงผิดก็ถือว่าไม่ผิด ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มันขัดหลักประชาธิปไตยอย่างแรง ไม่ควรมีในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญไทยมีในหลวงพระองค์เดียวที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ คนอื่นไม่มีสิทธิ์ไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญได้ ผมถามหน่อยว่าถ้ามาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ บอกว่า ส.ส.ทำอะไรก็ไม่ผิด ถึงผิดก็ถือว่าไม่ผิด เอาหรือไม่
ซึ่งมาตรา 309 เคยเอามาใช้แล้ว หากจำได้ ช่วงที่พรรคพลังประชาชนหาเสียงมีเอกสารลับทำลายล้างพรรคพลังประชาชนหลุดออกมา ท่านสมัคร สุนทรเวช อดีตหัวหน้าพรรคและอดีตนายกฯ เอามาแถลงข่าว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ฐานะเจ้าภาพที่ดูแลการเลือกตั้งได้ตั้งอนุกกต.ตรวจสอบ โดยอนุกกต.สรุปว่าผิด แต่เมื่อเสนอ กกต. ชุดใหญ่เขาบอกว่า คมช.ไม่ผิดโดยอ้างมาตรา 309 ทั้งที่มีหลักฐาน เอกสาร ลายลักษณ์อักษรยืนยัน ถ้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบใหม่ ไม่เอามาตรา 309 ออก จะแก้ทำไม ซึ่งการโละมาตรา 309 ไม่ใช่เป็นการแก้แค้น
ช่วยวิเคราะห์มุมที่ฝ่ายไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญ โยงมาตรา 309 เข้ากับเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ?
ผมถึงบอกว่าทุกฝ่ายต้องลดทิฐิ และลดประโยชน์ส่วนตัว เป็นเรื่องทิฐิและผลประโยชน์ส่วนตน อย่าง มาตรา 309 ที่อ้างไป ก็อ้างด้วยทิฐิ และผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ได้อ้างที่สาระ และข้อเท็จจริง คนที่ไม่อยากให้แก้ ก็หาเหตุมาอ้าง ซึ่งเป็นสิทธิ์ แต่ความเห็นของผมสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ใครจะเถียง การที่พรรคประชาธิปัตย์บอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อช่วย คุณทักษิณ เรื่องคดีความที่ถูกจำคุก 2 ปี จริงๆ ไม่ใช่ เรื่องคดีความไม่มีผลย้อนหลัง ขยายความมั่ว ไม่มีเหตุผลรองรับ
เรื่องรัฐธรรมนูญ และปรองดอง ถือเป็นเผือกร้อนของรัฐบาล เมื่อรอบนี้ไปจับอีกจะกระทบเสถียรภาพหรือไม่?
จับอีกที...แต่วิธีไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่วิธีหักพร้าด้วยเข่า ดังนั้นบรรยากาศไม่เหมือนเดิม ฝ่ายที่ค้านก็หาเหตุผลมาค้านลำบาก อาจจะค้านได้แต่ฟังไม่ขึ้น ไม่มีน้ำหนัก ไม่เหมือนคราวที่แล้ว มันพอฟังได้ว่าเร่งรัด รวบรัด เขาก็เรียกร้องให้ทำประชามติ คราวนี้ทำตามแล้วจะเอาอะไรมาอ้างอีก คราวนี้เขาไม่เร่งรัดแล้วจะว่าอะไรอีก ส่วนร่างกฎหมายปรองดองจะพิจารณาเมื่อไรอยู่ที่ความเหมาะสม
มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะช่วยลดหรือแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้หรือไม่?
ปัญหาความขัดแย้งในสังคมทำอย่างไรก็ไม่หมด แต่สามารถลดให้เหลือน้อยที่สุด คือ ยึดความถูกต้อง และยึดความยุติธรรม ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องถูกต้อง และยุติธรรม ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความขัดแย้งของคนในชาติ โดยเฉพาะออกแบบให้เกิดความไม่ชอบธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ฝ่ายหนึ่งทำอะไรผิดหมด อีกฝ่ายทำอะไรก็ไม่ผิด
ในการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกนิยามว่าทำเพื่อปฏิรูปประเทศ ในคราวนี้จะให้นิยามแก้รัฐธรรมนูญว่าอย่างไร?
เป็นการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ โดยประชาชนทั้งประเทศเลือก ส.ส.ร.เข้ามาทำหน้าที่ 77 คน จากทั้งหมด 99 คน ส่วนอีก 22 คนที่มาจากคัดเลือกไม่ใช่ตัวชี้ขาด ดังนั้นพูดได้ว่าส.ส.ร. 77 คนประชาชนเลือก คือเสียงกำหนดทิศทางประเทศไทยที่แท้จริง ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่ หากทำได้สำเร็จ ก็เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทุกประการ
เมื่อประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของประเทศ เจ้าของอธิปไตย เขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมา แน่นอนว่าต้องส่งผลประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม ไม่มีทางที่จะเป็นประโยชน์ให้คนใดคนหนึ่งเด็ดขาด แต่ถ้าคน 65 ล้านคน ได้ประโยชน์ร่วมกันแล้วจะมีใครได้ประโยชน์ร่วมด้วยเป็น 1 ในนั้น ก็เป็นเรื่องปกติ
วาดภาพรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตย จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
เป็นเรื่องของประชาชน ถ้าถามในฐานะประชาชนขอให้ไม่ขัดหลักประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น