วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

สรุปข่าวการเมืองวันที่ 23 ม.ค.56


สรุปข่าวการเมืองวันที่ 23 ม.ค.56
เวลา 05:30  เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ "ศึกเสาชิงช้า" เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 16 โดยมีผู้สมัครลงสนามแข่งขันแล้ว 18 ราย (รับสมัครในวันแรก 21 ม.ค.) ทั้ง หน้าเก่า ฟอร์มเก๋า เจ้าประจำ หรือแม้กระทั่ง โนเนม ไม่มีใครรู้จักมาก่อน บางรายนโยบายไม่ได้คิด บางคนบอกนโยบายทำได้ทุกเรื่อง
เวลา 11:23   นิด้าโพลเผยคนกรุงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 20.60% เลือก "สุขุมพันธุ์" และ 19.13 % เลือก "พงศพัศ" แต่อีก 52.80% ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร นักวิชาการชี้ สะท้อนให้เห็นฐานเสียงพรรคการเมืองใน กทม.ที่ได้เปรียบผู้สมัครอิสระที่ต้องทำงานหนัก.
เวลา 11:33  พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ทำเก๋! นั่งรถเมล์ร้อนฟรี มาหาเสียงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมชูนโยบายรถสาธารณะหาเสียง




เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ "ศึกเสาชิงช้า" เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 16 โดยมีผู้สมัครลงสนามแข่งขันแล้ว 18 ราย (รับสมัครในวันแรก 21 ม.ค.) ทั้ง หน้าเก่า ฟอร์มเก๋า เจ้าประจำ หรือแม้กระทั่ง โนเนม ไม่มีใครรู้จักมาก่อน บางรายนโยบายไม่ได้คิด บางคนบอกนโยบายทำได้ทุกเรื่อง

สำหรับตัวเต็งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีด้วยกัน 4 คน นำโดย หมายเลข 16 ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ กทม. ที่ลงป้องกันแชมป์ ในฐานะผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญจากพรรคเพื่อไทย คือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9 ก็กำลังกอบโกยคะแนนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11 ก็เป็นผู้สมัครที่น่าจับตามากที่สุดคนหนึ่ง เพราะมีประวัติการทำงานโชกโชน มีกลุ่มเพื่อนเสรี เป็นแรงสนับสนุน ส่วน นายโฆสิต สุวินิจจิต  หมายเลข 10 ก็มีประวัติการทำงานด้านเอกชนอย่างโชกโชน เรียกว่าประวัติการทำงานดี คล้ายนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. ขาดแค่พรรคการเมืองสนับสนุน นอกจากนี้ ยังมี นายสุหฤท สยามวาลา" หมายเลข 17 นักธุรกิจและดีเจชื่อดัง ที่ได้พลังสนับสนุนจากกลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเจ้าตัวได้เตรียมแถลงนโยบาย 12 ข้อ ในวันที่ 22 ม.ค.นี้
ขณะที่กลุ่ม "หน้าเก๋า เจ้าประจำ" ต้องยกให้ หมายเลข 2 นายวรัญชัย โชคชนะ ที่ลงสมัครครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งเจ้าตัวค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถต่อสู้กับผู้สมัครตัวเต็งรายอื่นได้ โดยยกนโยบายแก้ปัญหาจราจร และเสนอเปลี่ยนชื่อเมืองหลวง เป็น "กรุงเทพธนบุรีมหานคร" เพื่อเอาใจคนฝั่งธน พร้อมกับจะเปิดสนามหลวงให้เป็นสถานที่ไฮปาร์กทางการเมือง
ด้าน "ตู่ ติงลี่" หรือ ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ ผู้สมัครหมายเลข 3 ก็ลงสมัครมาแล้วหลายครั้ง ครั้งนี้ ก็สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งตั้งแต่วันสมัคร โดยขึ้นรถแห่รอบเมืองพร้อมถือดาบไทยโบราณที่ลงอักขระ รายนี้ก็มั่นใจมากเช่นกัน ถึงขั้นคุยโวว่าไปไหนใครๆ ก็เรียกผม "ท่านผู้ว่าฯ" แล้ว ซึ่งนโยบายของ ร.อ.เมตตา จะชูแก้ปัญหาจราจร โดยมีจุดขายเรื่องขนส่งมวลชนทางน้ำ ถมทะเลบางขุนเทียน สร้างสวนสนุกให้เด็กห่างไกลจากยาเสพติด
นอกจากนี้ ยังมี นายสมิตร สมิตธินันท์ ผู้สมัครหมายเลข 5 ที่เคยลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. มาแล้ว หลายครั้ง ซึ่งเคยสร้างความฮือฮาด้วยนโยบาย "แก้ปัญหาจราจรโดยการเปิดไฟเขียวทุกแยก" ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และยังมี  หมายเลข 8 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล กลุ่มกรุงเทพพัฒนาฯ อายุ 53 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีพค้าขาย เคยเป็นประธานเครือข่ายประชาชนคัดค้านทางด่วน พิเศษคลองเตย-สุวรรณภูมิ และเคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ปี พ.ศ.2551
ส่วนกลุ่มผู้สมัครหน้าใหม่ ก็มีมากมายไล่ตั้งแต่ หมายเลข 1 นายวิละ อุดม ผู้สมัครอิสระ อายุ 48 ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีพค้าขายปลาสวยงาม ที่ตลาดนัดซันเดย์  ปัจจุบัน เป็นประธานซันเดย์ไทยแลนด์ จำกัด ดำเนินการแก้ปัญหาคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนในการฟ้องร้อง ซึ่งประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ หมายเลข 4 ดร.โสภณ พรโชคชัย" นักวางแผนพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของ FIABCI เป็นผู้แทน IAAO ประจำประเทศไทย และเป็นกรรมการสมาคมนักประเมินอาเซียน
หมายเลข 6 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง จากกลุ่มเพื่อนสัณหพจน์สามมหา'ลัยดัง อายุ 39 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานสภาทนายความศาลจังหวัดมีนบุรี และที่ปรึกษาบริษัทเอกชน เป็นนักธุรกิจ หมายเลข 7 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ ผู้สมัครอิสระ อายุ 56 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นเจ้าของบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจอัลลอย หมายเลข 12 ศ.จงจิตร์ หิรัญลาภ ผู้สมัครอิสระ อายุ 57 ปี  จบการศึกษาระดับปริญญาเอก 2 ใบ ด้านพลังงานจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลฝรั่งเศส และเป็นคนแรกของเอเชียที่ได้รับทุนการศึกษาปริญญาเอกด้านพลังงานจากประชาคมยุโรป แต่ลาออกจากอาจารย์ประจำคณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
หมายเลข 13 นายวศิน ภิรมย์ ผู้สมัครอิสระ อายุ 32 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เคยเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีมีเดีย หมายเลข 14 นายประทีป วัชรโชคเกษม ผู้สมัครอิสระ อายุ 63 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท เป็นนักธุรกิจ เคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตพระโขนง เมื่อปี พ.ศ.2528 เคยเป็นนายกสมาคมชาวคลองเตย และเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี หมายเลข 15 นายจำรัส อินทุมาร พรรคไทยพอเพียง อายุ 57 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อาชีพทนายความ  หมายเลข 18 นางนันท์นภัส โกไศยกานนท์ ผู้สมัครอิสระ อายุ 52 ปี  จบการศึกษาปริญญาโทจากคณะวิทยาการจัดการ สถาบันรัชภาคย์ เคยเป็นนักการตลาดและประกอบธุรกิจส่วนตัว
เห็นกันจะจะแล้วทุกหมายเลข รักชอบใครแล้วอย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ในวันที่ 3 มี.ค.นี้
นิด้าโพลเผยคนกรุงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 20.60% เลือก "สุขุมพันธุ์" และ 19.13 % เลือก "พงศพัศ" แต่อีก 52.80% ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร นักวิชาการชี้ สะท้อนให้เห็นฐานเสียงพรรคการเมืองใน กทม.ที่ได้เปรียบผู้สมัครอิสระที่ต้องทำงานหนัก.
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2556 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพลสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องคนกรุงฯ  กับการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. โค้งที่ 1” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 17 -19 ม.ค. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 50 เขต จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษา ทุกอาชีพ ซึ่งจากการสำรวจ เมื่อถามว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ท่านจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.”  พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 20.60 ระบุว่า จะเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าฯ กทม. รองลงมาร้อยละ 19.13 จะเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ
ขณะที่ร้อยละ 4.93 จะเลือก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ร้อยละ 1.13 จะเลือก นายสุหฤท  สยามวาลา  ร้อยละ 0.27 จะเลือก นายโฆสิต สุวินิจจิต และมีร้อยละ 52.80 ที่ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ มีเพียงร้อยละ 1.13 ที่ระบุว่า ไม่ลงคะแนนเสียง
ด้าน ศ.ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ  คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติม ว่า ถ้ามองในเบื้องต้น ไม่ว่าคนที่ตัดสินใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หรือพล.ต.อ.พงศพัศ ก็ดี สะท้อนให้เห็นถึงมิติความเชื่อมโยงระหว่างฐานเสียงพรรคการเมืองของคนกรุงเทพฯ ในทางกลับกันผู้สมัครอิสระ อาจจะเสียเปรียบในเรื่องนี้ เพราะไม่มีฐานเสียงของพรรคการเมือง ขณะที่สัดส่วนของคนที่ยังไม่ตัดสินใจนั้น ถือว่าค่อนข้างสูงมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ อีกทั้งยังต้องรอดูนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากผู้สมัครอิสระ มีนโยบายที่ดี บริหารงานและคนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสร้างความเป็นอยู่และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อาจจะครองใจคะแนนเสียงคนกรุงเทพฯ ได้ แต่ทั้งนี้ ผู้สมัครคงต้องทำงานหนักและหาเสียงกันอย่างเต็มที่
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ทำเก๋! นั่งรถเมล์ร้อนฟรี มาหาเสียงที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมชูนโยบายรถสาธารณะหาเสียง...
พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคเพื่อไทย หมายเลข 9 เดินทางมาหาเสียงที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยได้โดยสารรถเมล์ร้อนฟรี สาย 59 มาลงที่ป้ายรถเมล์ จากนั้นได้เดินแนะนำตัวกับประชาชน ที่มารอรถ พร้อมกับพูดคุย สอบถามถึงการเดินทางโดยรถเมล์ และแนะนำนโยบายรถสาธารณะ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจ ขอถ่ายรูปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ ยังพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของ ขสมก. ถึงปัญหาที่ได้พูดคุยกับประชาชน ในระหว่างที่นั่งรถเมล์ เช่นการรอรถเมล์นาน และความไม่สะดวกในการขึ้นรถของคนพิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น