วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด : งบการจัดการน้ำท่วม จะคิดอ่านกันอย่างไร เมื่อ 3 ต.ค.55



ทั้งๆ ที่ปีนี้น้ำน้อย แต่น้ำก็ท่วมอีกแล้ว! น่าจะเป็นการตอกย้ำถึงปัญหาอุทกภัยของเราว่าเป็นปัญหาด้านบริหารจัดการ ทั้งๆ ที่เราก็ได้ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาไปแล้วถึง 1.2 แสนล้านบาท

ในการประชุมของสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2555 ได้มีการเสนอภาพรวมงบประมาณที่รัฐใช้ในการจัดการอุทกภัย จากข้อมูลพบว่า ในจำนวนเงิน 1.2 แสนล้านบาท ที่จะใช้เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้ได้เริ่มใช้เงินไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยแยกเป็น งบประมาณ 27,000 ล้านบาท (หรือร้อยละ 23) ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ส่วนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำจะใช้งบประมาณอีก 26,000 ล้านบาท (หรือร้อยละ 22) เงินส่วนใหญ่ 45,000 ล้านบาท (ร้อยละ 38) เป็นงบเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย นี่คืองบที่ต้องใช้อย่างเร่งด่วนเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในปีนี้และปีหน้า

ในระยะยาว รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อที่จะให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้ ฉบับที่ 1 วงเงิน 350,000 ล้านบาท มาทำมหาอภิโครงการด้านน้ำ และการวางระบบการจัดการน้ำ นี่คือวงเงินที่พูดกันทุกวันนี้ แต่สาธารณชนยังไม่ค่อยจะรู้ว่ายังมีฉบับที่ 2 วงเงินอีก 300,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เพื่อการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และฉบับที่ 3 อีก 50,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เบ็ดเสร็จรวมแล้วงบประมาณในเรื่องน้ำเราไม่ได้มีหนี้กันแค่ 350,000 ล้านบาท แต่อาจจะบานไปถึง 700,000 ล้านบาท รวยหนี้กันถ้วนทั่วทุกครัวเรือน

สำหรับการวางแผนการใช้เงิน 300,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลได้ออกข้อกำหนดมาให้ภาคเอกชนไปทำแนวคิด (conceptual plan) เพื่อนำมาเฟ้นหาผู้มีความสามารถมาช่วยชาติ ในงบประมาณ 300,000 ล้านบาทนี้ ได้กำหนดเป็นงบ 10,000 ล้านบาท เพื่อทำแผนซับและชะลอน้ำ ปลูกป่า และสร้างฝายชะลอน้ำ นี่แค่ทำแผนเท่านั้น ส่วนการก่อสร้างกักเก็บอีก 50,000 ล้านบาท พัฒนาแก้มลิง 2 ล้านไร่ 60,000 ล้านบาท ปรับปรุงแม่น้ำ ลำน้ำที่สำคัญอีก 70,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจมีแผนผันน้ำอีก 120,000 ล้านบาท จัดตั้งศูนย์ข้อมูล 3,000 ล้านบาท ส่วนแผนโครงสร้างบริหารจัดการพัฒนาความรู้และกำลังคน ยังไม่กำหนดงบประมาณ สิริรวมกันแล้ว 290,000 ล้านบาท ที่จะประมูลออกไป โดยงบประมาณที่รัฐทำเอง 10,000 ล้านบาท (ดูตารางที่ 1)

ส่วนตัวผู้เขียนที่เป็นนักวิชาการสายละมุน (soft) ไม่ใช่นักวิศวอุทกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญแบบแกร่ง (hard core) รู้สึกกังวลใจว่า ทั้งหมดที่จะไปทำกันนี้ ยังไม่มีการคิดถึงระบบการบูรณาการการจัดการรวม กฎหมายที่ต้องมีมารองรับ ทุกวันนี้เราก็ยังบูรณาการแบบแยกกันคิด แยกกันทำ ผู้เขียนอยากเห็นองค์กรบริหารการจัดการน้ำท่วมที่มีกฎหมายรองรับ คิดกันง่ายๆ ว่า ถ้าไม่มีกฎหมาย ใครจะยอมให้ผันเอาน้ำไปท่วมที่นา เปลี่ยนที่ของเขาให้เป็นแก้มลิง ส่วนกรมชลประทานเองภารกิจที่แท้จริงก็ไม่ใช่การป้องกันน้ำท่วม แต่ต้องมาตกกระไดพลอยโจน ระบบชลประทานก็ไม่ใช่ระบบป้องกันน้ำท่วมจึงทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่

จึงอยากให้มีการศึกษาถึงการบริหารจัดการแบบมืออาชีพไว้ในข้อกำหนดโครงการ (TOR)



ที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือ คิดกันบ้างหรือเปล่าว่าใครจะต้องจ่าย 700,000 ล้านบาทนี้ ถึงแม้รัฐบาลจะกู้ ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีก็ต้องจ่ายอยู่ดี นักวิชาการด้านโลจิสติกส์ท่านหนึ่งคือ ดร.ณรงค์ ป้อมหลักทอง ได้เคยเสนอว่า น่าจะทำฟลัดเวย์ในลักษณะของเส้นทางขนส่งสินค้า (truck route) เวลาปกติก็เป็นทางด่วนสินค้าสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ เวลาน้ำมามากก็เอารถออก เอาน้ำใส่ฟลัดเวย์แทน ก็จะมีรายได้ ฟังดูแล้วก็เข้าท่าดี ในต่างประเทศภาษีป้องกันน้ำท่วมจะเป็นภาษีที่มอบให้ท้องถิ่น (เช่น กทม. เทศบาล ฯลฯ) เป็นผู้เก็บและใช้ ที่ลุยเซียนาคิดเป็นร้อยละของภาษีทรัพย์สิน ที่เพนซิลวาเนียคิดเป็นร้อยละของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออสเตรเลียเก็บจากภาษีรายได้ และลดหย่อนให้กับผู้ถูกน้ำท่วม

คนไทยมีความมหัศจรรย์ตรงที่ว่า ไม่เคยสนใจ และอาจจะไม่เข้าใจว่า เงินที่รัฐบาลใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์คนไทยเราผู้ที่เสียภาษีเป็นผู้จ่าย บางคนยังไปสำนึกว่าเป็นบุญเป็นคุณกับนักการเมืองที่เป็นผู้ใช้นโยบายประชานิยมด้วยซ้ำ

เมื่อผู้เขียนทำโพลถามประชาชน 3,000 คนว่า ค่าใช้จ่ายในการวางระบบการจัดการน้ำนี้ควรใช้เงินจากส่วนไหน ผู้ตอบส่วนหนึ่งตอบว่า ก็ใช้เงินบริจาคซิ อพิโธ่ ก็น้ำท่วมคราวที่แล้ว บริจาคกันจะเป็นจะตายได้แค่พันกว่าล้าน เทียบอะไรไม่ได้เลยกับที่เราต้องใช้ในอนาคต ผู้เขียนจึงอยากฝากให้รัฐบาลสนใจเรื่องมาตรการการคลังเพื่อระดมทุนมาจัดการปัญหาอุทกภัยซึ่งขณะนี้ทางแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ของสำนักงานกองทุนสนับ

สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบหมายให้นักวิชาการศึกษาอยู่ โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าที่ปรึกษาและอยากให้พิจารณาข้อเสนอแนะที่ว่าต้องมีคณะกรรมการติดตามผลงานจัดการระบบอุทกภัยภาคประชาชน

สุดท้ายนี้ก็ขอฝากกลอนที่คัดลอกมาจาก คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ว่า

คนดี ระบบดี ย่อมดีแน่

คนดี ระบบแย่ พอแก้ไหว

คนแย่ ระบบดี ไม่ช้าก็ไป

คนแย่ ระบบแย่ บรรลัยเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น