วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ครม. ยิ่งลักษณ์ 3 พี่-น้องชินวัตร ตั้งรับเกมการเมืองร้อน กับศึก 3 ก๊ก 6 รอยร้าวลึก "เพื่อไทย" 28 ต.ค. 2555 เวลา 13:59:22 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์




updated: 28 ต.ค. 2555 เวลา 13:59:22 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ผู้มีบารมีระดับหัวหน้าก๊กในพรรคเพื่อไทยล้วนอยู่ในเครือข่ายคนตระกูล "ชินวัตร"

รายชื่อที่ถูกทำบัญชีขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 3 จึงมาจากพี่-น้องชินวัตร 4 ปีก

ปีกแรก สายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" มีทั้งนักการเมืองกลุ่ม 111 คนเสื้อแดง และนักบริหารมืออาชีพ เช่น พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, ยงยุทธ ติยะไพรัช, เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ, จตุพร พรหมพันธุ์, สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม

ปีกที่ 2 กลุ่ม "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว "พ.ต.ท.ทักษิณ" ประกอบด้วย ส.ส. รัฐมนตรีจากภาคเหนือ คนใกล้ชิดอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อาทิ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ-จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.คมนาคม-บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ และ นายวราเทพ รัตนากร

ปีกที่ 3 กลุ่ม "บ้านจันทร์ส่องหล้า" อดีตภริยานายกรัฐมนตรี คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ เช่น พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา

ปีกที่ 4 ที่ใกล้ชิดกับนายกฯ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เช่น กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง-ภูมิธรรม เวชยชัย ผอ.พรรคเพื่อไทย- สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกฯ-ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ

เป็นเหตุให้โผ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 3" ยืดเยื้อมานานนับเดือน

เพราะเกิดจากความเคลื่อนไหวระหว่าง ส.ส.ที่ต้องการผลักดันคนในกลุ่ม-ก๊วนของตัวเองให้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ด้วยการปล่อยข่าวออกมาเพื่อหยั่งกระแสสังคม หรือทำให้คู่แข่งตัวเองถูกล่อเป้าทางหน้าสื่อ

นอกจากนี้ ยังเกิดจากความเคลื่อนไหวของแกนนำทั้ง 4 กลุ่ม ทั้งกลุ่มสายตรงบ้านจันทร์ส่องหล้า กลุ่มเจ๊แดง กลุ่มใกล้ชิดนายกฯ พยายามแย่งชิงอำนาจการนำภายในพรรค รักษาเก้าอี้เดิมของตัวเองและโควตาของกลุ่ม

เห็นได้จาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็พยายามหมุนเวียนคนจากบ้านเลขที่ 111 ที่อยู่ในเครือข่ายสายตรง เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ก็ต้องปะทะกับ "เจ๊แดง" เยาวภาผู้เป็นน้อง ซึ่งกุมอำนาจใหญ่ในพรรคที่ต้องการรักษาโควตาของกลุ่มตัวเองไว้

ขณะที่นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์" แต่อยู่ในฐานะน้องสาวคนสุดท้อง ยังยื้อเก้าอี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไว้ได้

ปรากฏการณ์การจัดโผถูก ส.ส.ในพรรคโจษจันกันทั่วรัฐสภาว่า เป็นศึก "family war"

นักการเมืองในพรรคตั้งข้อสังเกตประกอบวาระสามัคคีวิจารณ์พรรคตัวเองกันว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ญาติสายตรงคุณหญิงพจมาน ถูกส่งตัวมาคานอำนาจความยิ่งใหญ่ของกลุ่ม "เจ๊แดง" ภายในพรรค

แม้ในนาทีแรกมีการคาดการณ์ว่า "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" จะมานั่งเก้าอี้รองนายกฯแทน "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" อดีตรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แต่สุดท้ายกลับไม่มีชื่ออดีต ผบ.ตร.อยู่ในโผรายชื่อ ครม.ปู 3 แต่ก็มีการผลักดันให้ "สุรพงษ์" มารับเก้าอี้รองนายกฯ ควบตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ เพื่อลดแรงกระเพื่อมระหว่างกลุ่ม

เมื่อแยกคนที่ได้เข้าร่วม ครม.ปู 3 แบ่งตามสายจะพบว่า 1.สายตรง "ทักษิณ" อาทิ "พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล" มือจัดการของตระกูลชินวัตร เข้ามาเป็น รมว.พลังงาน

เช่นเดียวกับ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา" ที่ไม่เคยไปไกลจากนายใหญ่ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่เคียงข้างพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งครอบครัวร้องขอให้ปลีกเวลาไปช่วยงานครอบครัวในฐานะผู้จัดการมรดกบ้าง จึงได้รับการตอบแทนด้วยเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมช.คมนาคม สายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" และเป็นคนที่ "ยิ่งลักษณ์" ไว้ใจให้ดูแลเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้าน จึงได้อัพเกรดจาก รมช.คมนาคม มาเป็นรัฐมนตรีว่าการแทน "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" ที่เขยิบไปนั่งเก้าอี้ มท.1 คุมกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นลูกหม้อกระทรวงมหาดไทยมาก่อน และยังใกล้ชิดกับ "เจ๊แดง" และเป็นคนที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ไว้ใจ

ส่วน "พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต" อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ตท.10) เพิ่งเข้ามาสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พร้อมกับ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์" เข้ามาเป็น รมช.คมนาคม นอกจาก "พล.อ.พฤณฑ์" เป็น ตท.10 รุ่นเดียวกับ "พ.ต.ท.ทักษิณ" คนในพรรคเพื่อไทยยังบอกว่าคนนี้คือ "พ่อตา" ของ "โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร" อีกด้วย

ส่วนรัฐมนตรีที่น่าจะพ้นเก้าอี้ แต่ยังเหนียวแน่นเพราะมี "แบ็ก" หนุนหลังดี เช่น "บุญทรง" แม้จะถูกโจมตีเรื่องโครงการรับจำนำข้าว แต่เนื่องจากอยู่ในสาย "เจ๊แดง" ก็ทำให้เก้าอี้ รมว.พาณิชย์ยังมั่นคง ไม่ต่างกับ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องโกหกสีขาว ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปเพราะ "ยิ่งลักษณ์" ไว้ใจ

ขณะที่โควตากลางที่ถูกปรับออก "สุชาติ ธาดาธำรงเวช" พ้นจาก รมว.ศึกษาฯ เนื่องจากเป็นคนที่ "ตระกูลชินวัตร" ทุกสายไม่ปลื้ม เพราะหลายครั้งที่มีคำสั่งสายตรงลงไปสั่งการ "สุชาติ" มักแสดงอาการฮึดฮัด

"ภูมิ สาระผล" รมช.พาณิชย์ ซึ่งอยู่ในโควตาภาคอีสานถูกเด้งพ้นตำแหน่ง แล้วสลับให้ "ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" จาก รมช.เกษตรฯ มาเป็น รมช.พาณิชย์ โดยตำแหน่งโควตารัฐมนตรีของกลุ่ม ส.ส.อีสาน ที่แต่เดิมเป็นของ "ภูมิ" ตกเป็นของ "ประเสริฐ จันทรรวงทอง" ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เข้ามานั่งในเก้าอี้โควตา รมช.คมนาคม

ส่วน "พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา" มีผลงานไม่โดดเด่นตั้งแต่เป็น รมว.กลาโหม แม้จะถูกโยกมาเป็นรองนายกฯ แต่ไม่สามารถโชว์ฟอร์มได้จึงถูกปรับออก และโควตาสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" อีกหนึ่งรายที่ถูกพ้นจากตำแหน่ง คือ "อารักษ์ ชลธาร์นนท์" ออกจากเก้าอี้ รมว.พลังงาน แล้วให้คนที่สายตรงกว่า คือ เฮียเพ้ง-"พงษ์ศักดิ์" มารับตำแหน่งแทน

สำหรับโควตาพรรคร่วมรัฐบาล "ยุคล ลิ้มแหลมทอง" อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น รมว.เกษตรฯ แทน "ธีระ วงศ์สมุทร" ที่ขอรีไทร์ตัวเองเพราะปัญหาสุขภาพ

"สนธยา คุณปลื้ม" แกนนำพรรคพลังชล เข้ามาเป็น รมว.วัฒนธรรม แทน "สุกุมล คุณปลื้ม" ภริยา ขณะที่ "ประเสริฐ บุญชัยสุข" ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา เข้ามาเป็น รมว.อุตสาหกรรม แทน "ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์" ตามแรงผลักดันของ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ" แกนนำพรรคชาติพัฒนา

หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ช่วงชิงจังหวะปรับ ครม.ชนิดสายฟ้าแลบจนฝ่ายค้านไม่ทันได้ตั้งตัววิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ยังมีอีก 1 ตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อไทย คือ เก้าอี้หัวหน้าพรรค ต้องเป็นชื่อที่สายตรงส่งมา มีสเป็กสำคัญคือ ไว้ใจได้ มีความยืดหยุ่น ประนีประนอม ประสานงานได้ทุกกลุ่มการเมือง ซื่อสัตย์ ไม่ซ่อนดาบไว้ข้างหลัง มีชื่อ "จารุพงศ์" อยู่ในแคนดิเดต เป็นโผส่งตรงจากดูไบ เนื่องจาก "จารุพงศ์" เป็นคนใกล้ชิดที่ "ตระกูลชินวัตร"

เมื่อศึกในทำท่าเรียบร้อย-คลี่คลาย แต่ยังมีศึกนอกที่ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องใส่ใจ คือกรณีที่องค์กรพิทักษ์สยาม นำโดย "พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์" หรือ "เสธ.อ้าย" ประกาศชุมนุมขับไล่รัฐบาลในวันที่ 28 ตุลาคม ณ สนามม้านางเลิ้ง

แม้เบื้องหน้าอาจดูไร้พลัง ต่างจากม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลสำเร็จมาแล้ว

แต่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุการเมือง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จึงถูกสั่งการด่วนให้รีบตัดไฟแต่ต้นลม เพราะเมื่อดูเบื้องหลังของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยาม ล้วนเชื่อมโยงไปถึงเครือข่ายคู่ปรับการเมือง-ชนชั้นนำ-ทหารแก่ ซึ่งเป็นอริของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น

ไม่นับรวมพลังเงียบที่รอดูข้อมูลการค้าข้าวที่อาจเข้าข่ายการทุจริต แห่เข้าร่วมขบวนนายทหารจากสนามม้า และการเคลื่อนไหวช้า ๆ นิ่ง ๆ ลึก ๆ ของภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (ภตช.) ที่ออกโรงขย่มรัฐบาลด้วยข้อหาไซฟอนเงินบนเกาะฮ่องกง

รวมพลังกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงท้ายสมัยการประชุมสามัญปลายเดือนพฤศจิกายน คณะรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ 3" มีแต่ต้องตั้งรับทุกประตู
................

ศึก 3 ก๊ก 6 รอยร้าวลึก "เพื่อไทย"
ความไม่ลงรอยระหว่างพี่น้องในตระกูล "ชินวัตร" และคลื่นใต้น้ำ ความคาใจระหว่างแกนนำพรรคเพื่อไทยสาย 111 กับสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" ปรากฏชัดใน "โผ ครม.ปู 3"

เมื่อองคาพยพในพรรคถูกแบ่งเป็นทีมยุทธศาสตร์ ทีมผู้อำนวยการพรรค และทีมกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ และต่างทีม ต่างคน ต่างวิเคราะห์จัดกำลังคนไม่สอดคล้องกับภารกิจ แยกส่วนจากทีมของรัฐบาลในตึกไทยคู่ฟ้าโดยสิ้นเชิง

ภาพของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลจึงยังคงอยู่ในแนวทาง ต้องให้ "ทักษิณคิด-สั่ง" และให้เพื่อไทย-สายตรง เป็นคนดำเนินการสั่งการอีกทอด

เห็นได้ชัดจาก 6 ท่าทีทางการเมืองของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

กรณีแรก การส่งสัญญาณให้ "ยงยุทธ วิชัยดิษฐ" หัวหน้าพรรค ลาออก 4 ตำแหน่ง ภายใน 72 ชั่วโมง

กรณีที่สอง เห็นได้ชัดจากกรณีเลือก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรครักษาการ ที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองของทีมยุทธศาสตร์พรรค และของทีมกุนซือที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูกสั่งการข้ามฟ้ามาจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ"

กรณีที่สาม กรณีเลือก จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถูกกำหนดคุณสมบัติมาจากผู้มีบารมีเหนือพรรคเพื่อไทย

กรณีที่สี่ การเดินหน้านโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ด โดยไม่สนใจคำทักท้วง ข้อเสนอจากทีมยุทธศาสตร์เรื่องการแก้ปัญหาการขายแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี และการพิจารณาปรับลดราคารับจำนำลงในข้าวบางประเภท

กรณีที่ห้า กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านคณะกรรมการอรหันต์ 11 คนในพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีธงจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ให้ชะลอ ลดการเร่งเครื่องลงก่อน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองที่จะเกิดกับรัฐบาล และประคองรัฐนาวา "ยิ่งลักษณ์ 3" ให้นานและนิ่งที่สุด

กรณีที่หก การจัดแถวอำมาตย์แดง โดยกลุ่มอดีตนายทหารเกษียณจากกองทัพ กลับเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง พร้อมกับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์

ดามาพงศ์ พี่ชาย คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร์ แม้ไม่ได้มีการตั้งก๊กการเมืองขึ้นมาใหม่ แต่เป็นสัญญาณที่ทุกฝ่ายในพรรครู้กันดีว่าเป็นการส่งตัวจริง-สายตรง บ้านจันทร์ส่องหล้าเข้าประจำการในพรรค เปล่งรัศมี บารมี จนทำให้คนบ้านเลขที่ 111 ต้องมองด้วยอาการขวัญผวา

ปรากฏการณ์ในรัฐบาล "ปู 2" ต่อเนื่องถึง "ปู 3" จึงเป็นภาพการเดินไปข้างหน้าแบบเส้นขนาน ระหว่างองคาพยพพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยมีคนการเมืองสายตรง "พ.ต.ท.ทักษิณ" เป็นคนขับเคลื่อน ทำให้การเลือกหัวหน้าพรรคเพื่อไทยถูกเปิดชื่อ "จารุพงศ์" จากนอกประเทศ โดยฝ่ายมีอำนาจเหนือพรรค

ท่ามกลางเสียงนักการเมืองในพรรคที่กระหึ่มก้องว่า "หัวหน้าและกรรมการบริหารเป็นใครก็ได้ เพราะไม่มีความสำคัญอะไร กำหนดทิศทางพรรคก็ไม่ได้"

เพราะทั้งทีมยุทธศาสตร์พรรค ทีมผู้อำนวยการพรรค และทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี รู้อยู่แล้วว่าทุกเกม ทุกจังหวะของการขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล การขาย-จำนำข้าว การลงทุน การขึ้นเค้าโครงนโยบายใหม่ ล้วนต้องอยู่ในครรลอง "ทักษิณคิด" และ "เพื่อไทยต้องทำ" เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น