เจ๊งแน่!ยื่นนายกฯชะลอค่าจ้าง300
ส.อ.ท.บุกทำเนียบพบ 'ยิ่งลักษณ์' ยื่นชะลอปรับค่าจ้าง 300 ทั่วปท.ปีหน้า ยันรบ.ต้องมีมาตรการช่วยเหลือก่อนแบกปัญหาจนต้องปิดตัว
30 ต.ค. 55 แม้ดูเหมือนรัฐบาลจะตัดสินใจเดินหน้าเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 แต่เสียงคัดค้านจากภาคเอกชนยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีมติที่จะขอนัดเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี วันนี้ (30 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท.เปิดเผยว่า คณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ส.อ.ท.จะเชิญประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ 74 เข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ครั้งนี้ด้วย เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการทั่วประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งสมาชิก ส.อ.ท.หวังว่าจะได้พบนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลต้องดูแลทุกภาคส่วน ที่ผ่านมาภาคเกษตรได้รับการดูแลจากรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีมาก จึงคิดว่ารัฐบาลจะดูแลหรือมีมาตรการชดเชยให้ผู้ประกอบการเหมือนกัน
"ถ้ารัฐบาลยืนยันจะปรับค่าจ้างก็ควรมีโมเดลการช่วยเหลือออกมาทุกจังหวัด และรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้ปิดตัวก่อนแล้วค่อยมีมาตรการช่วยเหลือออกมา ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายปิดโรงงานมีทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิก ส.อ.ท. โดยโรงงานบางแห่งอาจปิดโรงงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ซึ่งต้องการปิดก่อนที่ค่าจ้างใหม่จะมีผลบังคับใช้ และอยากบอกรัฐบาลให้รู้ว่า โรงงานที่ปิดตัวไปส่วนใหญ่จะปิดตัวเงียบๆ" นายทวีกิจกล่าว
ทั้งนี้ สมาชิก ส.อ.ท.จะยื่นข้อเสนอและชี้แจงนายกรัฐมนตรี 5 ข้อ คือ 1. การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ จึงต้องการให้รัฐบาลคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันไว้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แต่สามารถทบทวนได้ตามความเหมาะสม 2. การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นผู้เสนอคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง 3. หากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรจ่ายให้ลูกจ้างที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 4. หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ให้ยกเลิกอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาใช้ค่าจ้างลอยตัวตามกลไกตลาด และ 5. รัฐบาลต้องมีโครงการช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นรูปธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น