วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

นักกฎหมาย-นักเศรษฐศาสตร์ มองต่างมุม "จำนำข้าว" เมื่อ 3 ต.ค.55




การรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นทันที

หลัง นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นำรายชื่ออาจารย์นิด้า อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษารวม 146 รายชื่อ  ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยยับยั้ง หรือยุติโครงการดังกล่าว

ด้วยเหตุผลรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนวิธีการรับซื้อและเข้ามาผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว จนทำลายกลไกการตลาด ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 และมาตรา 84 (1) ที่ระบุ รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน

ขณะที่สมาคมชาวนาไทยเห็นต่างว่าโครงการดังกล่าวประโยชน์ตกอยู่กับชาวนา จึงตั้งข้อสงสัยนักวิชาการที่ออกมาต้านมีนัยยะอะไรหรือไม่

พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกถึงผู้คัดค้าน ขณะเดียวกันก็ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลให้เดินหน้าโครงการต่อ

ที่ผ่านมาการจำนำข้าวมีการนำเสนอข้อมูลทั้งจากฟาก ของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มชาวนา และนักการเมือง ทั้งมีที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

สำรวจมุมมองในกลุ่มนักวิชาการยังเห็นต่างกันในประเด็นนี้

ในแง่มุมกฎหมาย นายปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าการยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะทำได้

ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถพิจารณาการร้องเรียนเรื่องนโยบายรัฐบาลได้ การยื่นต่อศาลปกครองน่าจะตรงกว่า เข้าใจว่าผู้ยื่นร้องน่าจะทราบดี เข้าใจว่าอาจเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงสัญลักษณ์อะไรหรือไม่

ส่วนเสียงวิจารณ์กรณีรัฐเข้ามาผูกขาด อ.ปูนเทพ เห็นว่า หากนโยบายจำนำข้าวมีเจตนาหรือพิสูจน์ได้ว่าแทรกแซงกลไกการตลาดเพื่อประโยชน์ ของประชาชน เพื่อคุ้มครองชาวนาแล้วรัฐสามารถผูกขาดได้

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ เห็นไม่ต่างกันว่า มาตรา 43 เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ รัฐสามารถเข้าไปจัดระเบียบการประกอบอาชีพป้องกันการผูกขาด หรือเพื่อขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

โครงการจำนำข้าวจึงทำได้เพราะไม่ได้ทำเพื่อเอากำไรเข้ารัฐบาล และทำเพื่อรักษาดุลยภาพของตลาด มาตรา 43 ยังตั้งอยู่บนความเสมอภาคตามมาตรา 30 ที่ระบุว่ามาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคล สามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ถือว่าไม่ละเมิดสิทธิประชาชน


นโยบายจำนำข้าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวนา รายเล็กๆ สามารถสู้กับโรงสีข้าวและพ่อค้าข้าวราย ใหญ่ได้
ขณะที่มาตรา 84 บทนี้อยู่ในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ออกแบบให้รัฐดำเนินการไม่ใช่ให้ศาลบังคับรัฐบาล ผู้ตัดสินนโยบายของรัฐบาลว่าดีหรือไม่คือประชาชน โดยการวิพากษ์วิจารณ์ หรือไม่เลือกเข้ามาบริหารประเทศอีก
ย้อนกลับไปที่ช่องทางการยื่นร้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญ นายวีรพัฒน์เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่น่าจะรับกรณีนี้ไว้ พิจารณาได้


รัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรคหนึ่ง ที่ให้สิทธิคนทั่วไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็สามารถร้องได้เฉพาะตัวกฎหมายที่ละเมิดสิทธิประชาชนเท่านั้น ไม่ใช่ร้องโครงการของรัฐบาล และการยื่นตามมาตรานี้ยังต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้ แล้ว

บทลงโทษที่รัฐบาลดำเนินนโยบายไม่ดีต้องไปว่ากันที่รัฐสภาไม่ใช่ที่ศาล ที่ศาลจะยุ่งได้คืออะไรก็ตามที่มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายวิโรจน์ อาลี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ในเชิงสังคมว่า สิ่งที่ชาวนาได้รับจากระบบทุนนิยมเสรี คือการกดราคาข้าวเปลือกของกลุ่มนายทุนและเครือข่าย

หากกลุ่ม ชาวนามีคุณภาพชีวิตไม่ดีและยากจน การเข้าไปแทรกแซงราคาข้าวเปลือกโดยผ่านโครงการรับจำนำข้าว เท่ากับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและให้ชาวนาได้ปลดหนี้สินได้

ส่วนตัวผมมองว่าโดยหลักการของโครงการรัฐบาลคิดมา เพื่อช่วยเหลือชาวนาอย่างแท้จริง โดยอาศัยฐานคิดและฐาน ข้อเท็จจริงที่ว่าชาวนาเป็นคนยากจน มีหนี้สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี

ส่วนมุมมองเกี่ยวกับโลกทุนนิยมหรือการค้าเสรี ในแบบเดียวกับที่อดัม สมิธ เจ้าของแนวคิดเศรษฐศาสตร์ตลาดเสรี คิดเห็นว่ารัฐต้องไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด เป็นโลกในอุดมคติเท่านั้น  ไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ หลายประเทศก็เข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร สหภาพยุโรปก็ยังใช้วิธีการนี้

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นในมุมตรงข้าม

น.ส.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ข้อด้อยโครงการจำนำข้าวว่า รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณจำนวนมาก แต่ระหว่างกระบวนการรับจำนำมีการคอร์รัปชั่นและแทรกแซงสูง การรับซื้อข้าวในราคาสูงกว่าราคาตลาดทำให้กลไกตลาดหายไป  และเพราะขั้นตอนการรับจำนำบกพร่องทำให้ไทยเสียอันดับผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก

เดิมกระบวนการซื้อ-ขาย และส่งออกข้าวมีกลไก ที่ดีอยู่แล้ว การแทรกแซงเพื่อให้เกษตรกรมีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐบาลต้องทำตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
หากรัฐบาลจะแก้ปัญหาของชาวนาจริงๆ อยากให้เข้าไปช่วยเรื่องเทคโนโลยีดีกว่า

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เห็นเหมือนกันว่ารัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคามาหลายปีแล้ว แต่เป็นการแก้ปัญหาไม่ค่อยตรงจุด   แต่ควรช่วยเรื่องการลดต้น ทุนการผลิต เน้นการพัฒนาที่ดิน การใช้ปุ๋ย น้ำและยาฆ่าแมลง ไม่เช่นนั้นก็หาวิธีเพิ่มผลผลิตและเรื่องการตลาด ส่งเสริมให้ปลูกพืชชนิดอื่น หรือเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป

บทบาทของรัฐควรมาทางนี้มากกว่าแทรกแซง เรื่องราคา เพราะเป็นการช่วยให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่มุ่งช่วยเฉพาะเรื่องราคาซึ่งเป็นเรื่องปลายเหตุ   โครงการ นี้ใช้เงินมากและทำให้ระบบการค้าข้าวย่อยยับ เพราะรัฐบาลแทรกแซงมากเกินไป และยังเกิดการทุจริต มีการสวมสิทธิ์นำข้าวจากประเทศอื่นมาจำนำ


ผลเสียที่เห็นชัดคือความสามารถในการส่งออก ลดลง และการตั้งราคาไว้สูงทำให้ทุกคนหันมาจำนำข้าวแล้วไม่ไถ่ถอนคืน ข้าวจึงกองอยู่ในโรงสี  มีแต่รายใหญ่ที่ได้ประโยชน์ ชาวนาตัวเล็กตัวน้อยที่ควรจะเป็นเป้าหมายของรัฐบาล กลับไม่ได้อะไรจากโครงการนี้เลย

นายวรากรณ์ สามโกเศศ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปรียบเทียบว่า ในวงเงินที่รัฐบาลทุ่มลงเท่ากัน การประกันราคาครอบคลุมถึงชาวนาได้กว้างขวางกว่า  เพราะการจำนำข้าว 1 หมื่นบาทต่อตันรัฐต้องจ่ายหมด ราคาตลาดลดลงแต่รัฐยังต้องจ่าย 1 หมื่นบาท แต่การประกันราคาจ่ายแค่ส่วนต่าง


และห่วงว่า ขณะนี้มีการนำข้าวพันธุ์จากเวียดนามที่ให้ผลผลิตเร็วแต่คุณภาพไม่ดีเข้ามา ปลูกในไทย เพราะชาวนาอยากได้เงินเร็วๆ จึงไม่อยากปลูกข้าวหอมมะลิ ที่ใช้เวลา ถึง 8 เดือน  และยังเปิดช่องให้มีการทุจริตได้ง่ายกว่า โดยการจำนำลมตั้งแต่ยังไม่มีข้าว

เมื่อก่อนวิธีจำนำข้าวไม่เห็นผลเสียมากมายเพราะไม่มี คู่แข่ง แต่โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันข่าวสารและการขนส่งสินค้าต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว การส่งพันธุ์ข้าวถึงกันทำได้ใน วันเดียว มีการแชร์ในตลาดโลก ทำให้การผูกขาดทำไม่ได้ และข้าวไม่เหมือนน้ำมัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น