วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปชป.เดี้ยง ติดหล่ม"อภิสิทธิ์" โดย: ทีมการเมือง 21 ตุลาคม 2555, 05:00 น.




ปชป.เดี้ยง ติดหล่ม"อภิสิทธิ์"

สำรวจภารกิจฝ่ายค้านตรวจสอบ “แผ่ว” รัฐบาล “เหลิง”

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา

พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล

ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ควบคุมกลไกอำนาจรัฐ บริหารประเทศ

พร้อมทั้งมีอำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า

ขณะเดียวกัน โดยโครงสร้างของระบบรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย เมื่อพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ ต้องไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ

พรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภาฯ ก็ต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน ถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาล

ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน และการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล ให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ถ้าการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน เป็นไปด้วยความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบตัวแทน ที่ประชาชนมอบอำนาจให้ตัวแทนผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ

เมื่อตัวแทนหรือ ส.ส.ที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมาก เข้าไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหาร ส.ส. ฝ่ายค้านก็มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแทนประชาชน

เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่การมอบอำนาจสิทธิ์ขาดให้รัฐบาลเข้าไปใช้อำนาจรัฐ หรืองบประมาณแผ่นดิน ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ

แต่เป็นการมอบอำนาจให้เข้าไปทำงานตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ และจัดทำเป็นนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ดังนั้น การทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านจึงเป็นภารกิจที่มีความสำคัญ ในฐานะที่เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย

“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” จึงขอใช้โอกาสนี้ สำรวจการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในปัจจุบัน ที่มีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้พรรคเพื่อไทยได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งสภาฯ สามารถจัดตั้ง รัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ด้วยยุทธศาสตร์การเมืองที่ต้องการมุ่งไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม ล้างผิดล้างคดีให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

จึงจัดตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรค ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย

พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคพลังชล พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคมหาชน

ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องพลิกบทจากการเป็นรัฐบาล มาทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

โดยมีพรรคภูมิใจไทย พรรคมาตุภูมิ พรรครักประเทศไทย และพรรครักษ์สันติ ถูกจัดให้เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม หลังพรรคประชาธิปัตย์ประสบความ

พ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ได้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค

เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่

ผลปรากฏว่าที่ประชุมใหญ่พรรคได้เลือกนายอภิสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกสมัยหนึ่ง

ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ขอรับตำแหน่งใดๆในคณะกรรมการบริหารพรรค

ที่ประชุมใหญ่พรรคจึงมีมติให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อนายอภิสิทธิ์เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นสมัยที่ 2 และได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

ก็นำทีมฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทันที หลังเกิดมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยพุ่งเป้าไปที่เรื่องการบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมล้มเหลว และการจัดการสิ่งของบริจาคในศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.)

พร้อมทั้งเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ  ผอ.ศปภ.  แบบโดดๆ ช่วงปลายปี 2554

แต่ก็ไม่ได้เนื้อได้หนังเข้าเป้าเท่าที่ควร

และด้วยเสียงของฝ่ายรัฐบาลที่มากกว่า สุดท้าย พล.ต.อ.ประชาก็ผ่านด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้แบบฉลุย 273 ต่อ 188 เสียง

และถึงแม้พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ได้วางโครงสร้างการทำหน้าที่ฝ่ายค้านโดยการตั้ง “คณะรัฐมนตรีเงา” ขึ้นมา เพื่อติดตามตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นรายกระทรวง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านยังอยู่ในสภาพเนือยๆ ไม่คึกคักเข้มข้น

โดยเฉพาะนายเฉลิมชัย ก็ยังไม่ได้แสดงบทบาทภาวะการนำ ไม่ได้โชว์ฝีมือในฐานะเลขาธิการพรรคให้เห็นเด่นชัดแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันบรรดาแกนนำรุ่นใหญ่ รุ่นกลางในพรรค ก็หายหน้าหายตากันไปหมด

มีแต่พวกรุ่นใหม่ รุ่นเล็ก อย่างนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรค นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ออกมาตอบโต้กับฝ่ายรัฐบาล แบบตอดเล็กตอดน้อยเป็นรายวัน

กลายเป็นเรื่องหยุมหยิม สะเปะสะปะ น่าเบื่อหน่ายในสายชาวบ้าน

ทำให้ภาพการเป็น “ฝ่ายค้านมืออาชีพ” ภาพของพรรคการเมืองที่มีความเชี่ยวชาญเข้มขลังในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล วูบหายไปหมด

การตั้งกระทู้ถาม การยื่นญัตติ ที่ถือเป็นมาตรการตรวจสอบในสภาฯ ก็ไม่ได้มีข้อมูลอะไรลึกซึ้ง เป็นแค่หยิบข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์มาขยายผล

ตอกย้ำเสียงปรามาส “ดีแต่พูด” ให้เด่นชัดขึ้นไปอีก

และเมื่อโฟกัสไปที่นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอน ต้องยอมรับว่าความสามารถเฉพาะตัวโดดเด่น

เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ การศึกษาดี เป็นนักเรียนนอก จบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง สั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย

แต่เพราะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมานาน ติดมาดนักเรียนนอก ประกอบกับมีความเชื่อมั่นตัวเองสูง ทำให้ขาดมนุษยสัมพันธ์ในการลงไปคลุกคลีตีโมงกับ ส.ส.ในพรรค และนักการเมืองนอกพรรค

รวมทั้งการตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ บางครั้งก็ไม่ได้ฟังเสียงรอบด้าน โดยเฉพาะเสียงจากบรรดาผู้อาวุโสภายในพรรค

ยิ่งนายอภิสิทธิ์หันมาใช้คนแวดล้อมที่ขาดประสบการณ์ มาเป็นมืองาน มีการแบ่งกลุ่ม แบ่งภาค การขับเคลื่อนในพรรคก็ยิ่งเกิดปัญหา

การหลอมรวมพลังเพื่อการขับเคลื่อนทำงานภายในพรรค จึงแผ่วลงเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค จากคนที่มีความครบเครื่องอย่างนายสุเทพ มาเป็นนายเฉลิมชัย ขุมข่ายความแกร่งทั้งในพรรค เครือข่ายนอกพรรค ก็ยิ่งหดหาย

สิ่งเหล่านี้ คือ ความจริงที่ยากจะปฏิเสธ

ที่สำคัญ เมื่อภายในพรรคประชาธิปัตย์เกิดอาการเครื่องรวน มันก็ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลถดถอยลงไปด้วย

สำหรับพรรคการเมืองอื่นๆที่อยู่

กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน อย่างพรรคภูมิใจไทย ที่เพิ่งมีการปรับเปลี่ยนหัว โดยให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค

ก็แบะท่าชัด เป็นแค่พรรครอเสียบร่วมรัฐบาล

บทบาทการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มตัวคงไม่บังเกิด เพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก เนื่องจากเป้าหมายที่แท้จริง ณ เวลานี้ คือ ต้องการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจไว้ก่อน

ในส่วนพรรคมาตุภูมิ ของ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะถึงแม้มีสภาพเป็นฝ่ายค้าน

แต่ก็เดินเกมตามแนวทางของพรรคแกนนำรัฐบาลมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการเร่งรัดเสนอร่าง พ.ร.บ. ปรองดองแห่งชาติ เพื่อล้างผิดล้างคดีให้อดีตนายกฯทักษิณ

ส่วนพรรครักประเทศไทย ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เป็นฝ่ายค้านแบบบินเดี่ยว มีวาระเดินเกมเป็นของตัวเอง

ขณะที่พรรครักษ์สันติ ของ  ร.ต.อ.ปุระชัย  เปี่ยมสมบูรณ์ ที่มีเพียงเสียงเดียว ก็ทำหน้าที่ไปตามสภาพ  ทำอะไรไม่ได้มาก

ดังนั้น บทบาทในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านจึงตกอยู่กับพรรคฝ่ายค้านใหญ่พรรคเดียว คือ พรรคประชาธิปัตย์

ในท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังมีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ชอบมาพากลและการทุจริตในโครงการต่างๆ ของรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการวางระบบป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด งบฯ 4.05 แสนล้านบาท รวมไปถึงเรื่องไซฟ่อนเงิน 16,000 ล้านบาท

สังคมเชื่อว่ามีมูลการทุจริต แต่ก็ไม่มีความหวังกับการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ เพราะดูแล้วมันแผ่วไปหมด

ฉะนั้น ทีมของเราขอชี้ว่า ถึงเวลาแล้วที่ “ประชาธิปัตย์” จะต้องมีการปรับตัว ส่วนจะเป็นการปรับโครงสร้างตัวบุคคล หรือแนวคิดวิธีการทำงาน ก็เป็นเรื่องที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปคิดกันเอง

เพราะถ้ายังปล่อยไว้อย่างนี้ มีแต่จะเสื่อมสลาย และไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ.

“ทีมการเมือง”
โดย: ทีมการเมือง
21 ตุลาคม 2555, 05:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น