วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ถึงเวลาปฏิวัติการสอน ความท้าทายของครูในศตวรรษที่ 21 วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:41:43 น.




ถึงเวลาปฏิวัติการสอน ความท้าทายของครูในศตวรรษที่ 21

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:41:43 น.

จาก ประชาชาติธุรกิจ



ในโลกที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ ใครขยับนำหน้าย่อมเหนือกว่าและเป็นผู้ชนะ โลกสมัยใหม่จึงเป็นโลกของคนมีความพร้อมที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง


ความท้าทายจึงตกอยู่กับผู้ผลิตบุคลากรอย่างสถาบันการศึกษาที่ต้องรุดหน้าปรับเปลี่ยนตนเองให้เร็วยิ่งกว่า เพื่อสร้างคนให้เท่าทันกับการขยับตัวของโลก ซึ่งการสร้างเด็กให้เติบโตมาในยุคศตวรรษที่ 21 อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะสิ่งที่เคยเป็นมาอาจใช้ไม่ได้กับยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม


และปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่วันนี้คือ การศึกษาที่ยังล้าหลังต่อความความต้องการของตลาดแรงงานอยู่หลายปี และยิ่งถูกซ้ำเติมความล้าหลังด้วยสปีดการหมุนของโลก รวมถึงการเขยื้อนเข้ามาใกล้ทุกทีของการเปิดประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้กันเสียที
สอนเด็กอยู่กับธรรมชาติ


เมื่อโลกเปลี่ยน ....

ในงานเสวนาหัวข้อ "โลกเปลี่ยน...การบริหารจัดการที่ท้าทายของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา" ในงาน EDUCA 2012 เมื่อวันก่อน "ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์" ผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairsหรือ SIGA สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว ถึงสิ่งที่ผู้บริหารการศึกษาต้องตอบโจทย์ในการทำงานเพื่อสร้างเด็กในยุคนี้ว่า ในบทบาทของการเป็นสถาบันการศึกษาภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป อีก 2-3 ปีข้างหน้าภารกิจของเราจะเปลี่ยนหรือไม่ และคุณค่าของเราจะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ทั้งหมดเราต้องหาวิธีการเพื่อปิดช่องว่างที่จะเกิดขึ้น



"ยุคที่ผ่านมาเป็นเรื่องของความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ความรู้คืออำนาจ เราจึงสอนให้เด็กใช้ความรู้เพื่อฝืนธรรมชาติ ต่อไปในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนความคิดและสร้างประสบการณ์ให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และเมื่อสิ่งต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไป การสอนจะต้องไม่เป็นแบบแพ้คัดออกหรือให้โอกาสเฉพาะคนเก่งและละทิ้งเด็กเรียนอ่อน แต่จะต้องเป็นลักษณะของการช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้บริหารการศึกษา ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคิดแบบเดิมและหันมาตอบโจทย์โลกได้หรือไม่"



สร้างตัวตนและความเป็นคน


การที่เด็กมาอยู่ในโรงเรียนนั้น ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนจะสอนเด็กเพียงแค่ 3 ปี หรือ 6 ปี แต่สิ่งที่โรงเรียนสอนทั้งหมดจะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต โรงเรียนจึงต้องพยายามค้นหาศักยภาพและทำให้เด็กเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะภารกิจของโรงเรียนคือการสร้างมนุษย์


เขาอธิบายต่อว่า เด็กยุคนี้จะอยู่กับคอมพิวเตอร์ ครูจะต้องรู้จักเทคโนโลยีไม่เช่นนั้นเราจะสอนเด็กไม่ได้ และการสอนไม่ใช่การบอกให้เด็กไปค้นหา แต่ต้องให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ พิจารณาข้อมูลและเอาตัวรอดจากสิ่งหลอกลวงที่มากับเทคโนโลยีให้ได้ เพราะเทคโนโลยีจะช่วยให้หลุดพ้น จึงต้องสอนให้เด็กใช้เทคโนโลยีอย่างฉลาด


"ต่อไปผู้บริหารการศึกษาจะถูกคาดหวังสูงมาก จากนี้จะต้องพบเจอกับความไม่แน่นอน การบริหารที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และเราจะสอนให้เด็กรู้จักการปลดล็อกข้อจำกัดได้อย่างไร รวมถึงการบริหารงานภายใต้ความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เราไม่ได้เปลี่ยนความรู้ของเด็ก แต่เราต้องพยายามค้นศักยภาพของตัวเด็กออกมา และสร้างให้เขาเป็นคนที่มีตัวตนในสังคมและมีหัวใจของความเป็นคนด้วย"

เชื่อมการเรียนรู้นอกห้องเรียน


นอกจากนั้น คนยุคนี้ยังต้องเผชิญกับความขัดแย้งในตัวเอง เพราะโลกปัจจุบันอิสระมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน คนจะสับสนว่าควรจะทำเพื่อตนเองหรือคำนึงถึงส่วนรวมก่อน เราจะสอนอย่างไรให้เด็กมีความสามารถในการสร้างความสมดุลทางความคิดระหว่างสองสิ่งนี้ สิ่งที่ต้องหล่อหลอมให้เด็กคือ Skill set ที่ผู้บริหารการศึกษาและครูมีหน้าที่ในการสร้างหลักสูตรและกิจกรรมที่ตอบโจทย์สิ่งหล่านี้คือ

1.Learn to live เรียนเพื่อจะรู้จักใช้ชีวิตอยู่บนโลก
2.Learn to love สอนให้เด็กรู้จักโลก รักคนอื่น รักตนเอง
3.Learn to learn สอนให้เด็กรู้ว่าทำไมเราจึงต้องเรียน เรียนที่ไหน เรียนอย่างไร เรียนเมื่อไหร่ เรียนกับใคร และเรียนแล้วจะไปใช้ทำอะไร
และ 4.Love to learn เด็กรักที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต


โดยกระบวนการเรียนรู้ต้องมีลักษณะของการให้เด็กไปท่องโลก เมื่อมีประสบการณ์ก็กล้าที่จะแชร์ให้คนอื่นทราบและต้องสร้างให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง ทำอย่างไรให้เกิดวงจรการเรียนรู้แบบนี้กับเด็กของเรา


"การเรียนไม่ใช่แค่การเรียนในระบบ แต่ต้องเชื่อมทั้งในระดับโลคอลและโกลบอล เทคโนโลยีจะทำให้ลดข้อจำกัดในการเรียนรู้ อุปกรณ์การเรียนการสอนจะทำให้เกิดการสื่อแบบหลายทาง คือเด็ก ครู และผู้ปกครอง พ่อแม่อาจจะต้องเข้ามาเรียนการเลี้ยงลูกและต่อไประบบการศึกษาจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญปัญหาในแต่ละด้านเข้ามาช่วยให้คำแนะนำ ผนึกกำลังผ่านเทคโนโลยี นอกห้องเรียนและในห้องเรียน นอกระบบ ในระบบ ทำให้เด็กฉลาด แข็งแรง และอยู่รอด"


ทั้งหมดเป็นความท้าทายของครูในศตวรรษที่ 21 ว่าพร้อมจะเปลี่ยนหรือไม่ !

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น