วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาล การนิยามความเป็นไทยในการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:50:01 น




ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาล การนิยามความเป็นไทยในการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:50:01 น.

บางตอน บทความเรื่อง "ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และรัฐบาล  การนิยามความเป็นไทยในการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ" โดย  ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ศิลปวัฒนธรรม  ฉบับ ตุลาคม  ๒๕๕๕
 

ดังที่เราทราบกันแล้วว่า ปี ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการฉลองสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หรือที่เราเรียกกันอย่างลำลองว่า งานฉลองพุทธชยันตี งานเฉลิมฉลองนี้เกิดขึ้นในยุคที่คนจำนวนมากคลางแคลงกับความเชื่อของศาสนา คนส่วนหนึ่งเปลี่ยนการนับถือไปยังศาสนาอื่น และอีกไม่น้อยที่กล้าประกาศตนเป็นคนไร้ศาสนา สิ่งเหล่านี้เห็นได้ชัดถึงการเคลื่อนย้ายความคิดจากการที่พุทธศาสนาเคยเป็นแกนกลางสำคัญของความเป็นชาติ ถดถอยมาสู่สถานะที่ไม่ได้กลายเป็นความชอบธรรมในฐานะศูนย์รวมจิตใจแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว



หากเราย้อนกลับไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย บทบาทของพุทธศาสนานับว่ายังอยู่ในสถานะที่สูงส่งและมีพลังในตัวเอง จริงอยู่ที่ว่ารัฐไทยแทบทุกยุคทุกสมัยล้วนใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า พลังของพุทธศาสนามีความโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางความสิ้นหวังในระบอบการปกครอง และศีลธรรมของผู้คนที่เชื่อกันว่าอยู่ในยุคที่ตกต่ำหลังจากผ่านสงครามอันโหดร้ายทุกข์เข็ญ ดังนั้นโครงการการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ ๕๕ ปีที่แล้วของรัฐบาลจึงเป็นที่คาดหวังอย่างสูงว่าจะเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่สามารถจะรื้อฟื้นความศรัทธาและเชื่อมั่นของรัฐบาลต่อประชาชนผ่านงานอันยิ่งใหญ่และเป็นมงคลนี้ อย่างไรก็ตามโครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งภายในอย่างสูงของชนชั้นนำไทย งานเฉลิมฉลองที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นสมรภูมิสงครามขนาดย่อมในการนิยามความเป็นไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน


พื้นฐานความขัดแย้งและความอ่อนแอของจอมพล ป. พิบูลสงคราม



หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำและผู้กุมอำนาจทางการเมือง๔ นับแต่การรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา ก็นับได้ว่า การล้มล้างรัฐธรรมนูญ เขียนกติกาใหม่เพื่อสถาปนาอำนาจเชิงสถาบันเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ของการยึดอำนาจรัฐโดยกำลังทหาร ความขัดแย้งของชนชั้นนำกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ การเมืองกลายเป็นสิ่งที่รับรู้กันในชีวิตประจำวัน ประกอบกับข่าวการเมืองสาดโคลนกันอันชวนเบื่อหน่าย ในอีกด้านยังพบว่า รัฐที่ไม่สามารถจัดการความยากเข็ญอันเนื่องมาจากผลกระทบตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อย่างทันท่วงที ความทรงจำที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือความทุกข์เข็ญ ไม่ว่าจะเป็นความขาดแคลนของสินค้าอุปโภคบริโภค การขยายตัวของอาชญากรรมที่มาจากอาวุธสงครามที่หลงเหลือมาจากสงคราม   ความรู้สึกปราศจากความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน องค์ประกอบเช่นนี้น่าจะมีส่วนสำคัญต่อความเสื่อมสลายของความนิยมต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ว่า เหตุใดผู้คนในยุคนี้จึงแสวงหาที่พึ่งทางใจมากกว่าจะฝากความหวังไว้กับรัฐ

สิ่งที่ถดถอยลงไปอย่างใหญ่หลวงก็คือ มนต์ขลังของการปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ และคณะราษฎรที่สูญสิ้นพลังและความหมายลงไป หากแต่ที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาค ความเชื่อมั่นในมนุษย์ เชื่อมั่นในเหตุผลและหลักวิชาการกลับเฟื่องฟูเติบโต ไม่ว่าจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อทางศาสนา อุดมการณ์อนุรักษนิยมอันสูงส่งที่ได้เข้ามาแทนที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบสากล อาจเป็นไปได้ว่าอุดมการณ์แบบเก่าเหล่านี้ได้เปิดกว้างให้จินตนาการและตีความพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่เยียวยาจิตใจโดยตรง เป็นที่ยึดเหนี่ยวยามสิ้นหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าประชาธิปไตยและอุดมการณ์แบบตะวันตกเป็นไหนๆ


พลังแห่งความคลุมเครือนี้เกิดขึ้นท่ามกลางข่าวลือเรื่องการพบเจอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้วิเศษที่จะมาปลดปล่อยในช่วงกึ่งพุทธกาล ขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ตั้งอยู่บนความไร้เสถียรภาพ ได้พยายามสร้างสมดุลแห่งอำนาจทางการเมืองในหลายวิธี แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางอุดมการณ์เพื่อนิยามความเป็นไทยนั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะ นั่นคือ ลักษณะที่มีฐานของอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมจารีตนิยม กับอุดมการณ์แบบสากลที่มีฐานมาจากประชาธิปไตยสากลผสมผสานกัน ผ่านเครื่องมือสำคัญอย่างน้อย ๓ ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม, ประชาธิปไตย และพุทธศาสนา แต่ทั้ง ๓ สิ่งนี้อยู่บนฐานความคิดที่ลักลั่นในตัวเองจนลดทอนพลังของมันลง


วัฒนธรรมสู้คอมมิวนิสต์ วัฒนธรรมค้ำยันอำนาจ


สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างงานวัฒนธรรมทศวรรษ ๒๔๘๐ และ ๒๔๙๐ ก็คือฐานอุดมการณ์ของยุคสมัย แต่เดิมนั้นมันเกิดขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของระบอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะที่เน้นความเป็นสามัญชน ความเสมอภาค แต่ในทศวรรษ ๒๔๙๐ แล้วงานวัฒนธรรมกลับกลายเป็นสัดส่วนของงานศิลปวัฒนธรรมจารีตแทบทั้งสิ้น ดังนั้นการเสริมสร้างอำนาจด้านนี้จึงให้ผลในทางกลับกัน นั่นคือ มันกลายเป็นการเพิ่มพลังให้กับฝ่ายอนุรักษนิยมและชนชั้นนำที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลอย่างไม่รู้ตัว การเลือกจุดยืนที่สนับสนุนวัฒนธรรมแบบจารีต กลายเป็นการโฟกัสความขัดแย้งไปสู่ชนชั้นนำที่ในโลกทรรศน์แบบเก่าที่ผู้มีบารมีและความชอบธรรมสูงสุดนั้นคือพระมหากษัตริย์ ดังนั้นยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่งสำหรับจอมพล ป. พิบูลสงคราม


อย่างไรก็ตามงานวัฒนธรรมนี้ได้ถูกเลือกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้กับ “ศัตรูของชาติ” ชนิดใหม่ที่มากับคู่ความขัดแย้งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั่นก็คือสงครามเย็นระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตยกับค่ายคอมมิวนิสต์ การต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นท่าทีที่รัฐบาลไทยแสดงออกอย่างชัดเจนเสมอมา แต่ในทศวรรษ ๒๔๙๐ จะได้รับการเน้นเป็นพิเศษเนื่องจากการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา และการขยายฐานความเคลื่อนไหวและมวลชนในประเทศจนมีการตั้งกลุ่มองค์กรและมีกิจกรรมปรากฏในที่สาธารณะอยู่เนืองๆ รัฐบาลเห็นว่า จุดชี้ขาดที่จะนำมาซึ่งชัยชนะของสงครามเย็นนั้นอยู่ที่ระบบความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ และวัฒนธรรมเป็นหัวหอกสำคัญในฐานะอาวุธสำหรับต่อสู้คอมมิวนิสต์

การเมืองของชนชั้นนำที่มีพื้นที่ขัดแย้งกันในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายขั้ว แต่คู่สำคัญนั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์แบบจารีตจากฝ่ายนิยมเจ้า กับ อุดมการณ์สมัยใหม่ของรัฐบาลที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่ความพยายามของรัฐบาลนั้นยังไปได้ไม่ถึงที่สุด เนื่องจากว่า ผู้นำทศวรรษ ๒๔๙๐ กลับนำรากฐานสำคัญหนึ่งของอุดมการณ์อนุรักษนิยมนั่นคือพุทธศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยพยายามสร้างความเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยสากล ความเสียเปรียบจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น การที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำตัวเสมือนแข่งบารมีกับพระมหากษัตริย์โดยตรง ก็ยิ่งส่งผลต่อความนิยมของรัฐบาลไปด้วย

ความล้มเหลวจึงอยู่ที่การใช้สัญลักษณ์แบบจารีตแข่งขันกับฝ่ายตรงกันข้ามที่เป็นชนชั้นเจ้าของจารีต รวมไปถึงการรื้อฟื้นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เสื่อมความนิยมลงมากขึ้นทุกทีมาใช้ได้อย่างไม่ทั่วถึง และในที่สุดตนเองก็ต้องละเมิดหลักการประชาธิปไตยสากลนั้นเอง นั่นยิ่งทำให้พลังทางการเมืองของกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่กาลอวสานไปในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น