วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จี้เลิกจำนำเตือนเจ๊งทั้งระบบ ข่าวหน้า 1 23 October 2555 - 00:00



 กมธ.เศรษฐกิจฯ วุฒิสภา จี้รัฐบาลทบทวนจำนำข้าว ชี้ผลประโยชน์ไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างที่คุย ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี-ผู้ส่งออก ทำลายคุณภาพข้าวทั้งระบบ กระทบหนี้สาธารณะ เสี่ยงประเทศล้มละลายซ้ำรอยกรีซ นิด้าโพลเผยเกษตรกรต้องการประกันราคาสินค้ามากกว่าจำนำ เลขาฯ ภตช.แฉ ผู้ใหญ่สั่งตรวจโกดังไม่ให้พบทุจริต แล้วนำข้าวเสื่อมสภาพเวียนมาจำนำ ปชป.ตามหาเงินส่วนต่าง 5 พันบาทเข้ากระเป๋าใคร
    ที่รัฐสภา วันที่ 22 ตุลาคม นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม วุฒิสภา แถลงผลการศึกษาเรื่องนโยบายจำนำข้าว ว่า มีความห่วงใยในนโยบายดังกล่าวจะกระทบกับเศรษฐกิจมหภาค และหนี้สาธารณะของประเทศ ที่อาจมีสภาพเช่นเดียวกับประเทศกรีซ ที่ใช้โครงการประชานิยมเกินตัว ทำให้เกิดหนี้สาธารณะเกิน 120% และขาดดุลการคลัง 12.7% จนประสบปัญหาเศรษฐกิจล้มละลายได้ 
    โดยภายหลังจาก กมธ.ได้ทำการศึกษาเสร็จแล้ว จะส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาพร้อมกับหน่วยงานตรวจสอบ ทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อไป
     นายมหรรณพ ระบุว่า จากการศึกษาพบว่านโยบายนี้ได้ทำลายกลไกตลาด ระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมข้าว และทำลายความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่ง เช่น อินเดียและเวียดนาม ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงประมาณ 35% หรือเดือนละ 6,000 ล้านบาท คิดเป็นปีละ 7.2 หมื่นล้านบาท และไม่ได้ช่วยชาวนาที่ยากจนประมาณ 3 ล้านราย 
    "โดยชาวนาถูกเอาเปรียบจากโรงสี ทั้งโกงตาชั่ง ความชื้นและสิ่งปลอมปน เฉลี่ยแล้วชาวนาได้รับเงินจากการจำนำประมาณ 9,500-11,000 บาทต่อตันเท่านั้น ที่สำคัญยังทำลายคุณภาพข้าวไทยในระยะยาว เพราะชาวนาจะเพิ่มปริมาณการปลูกข้าวอายุสั้นมาจำนำ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ ส่งผลกระทบไปสู่คุณภาพของอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ"
        ประธาน กมธ.การเศรษฐกิจฯ เสนอแนะว่า รัฐบาลควรทบทวนโยบายการรับจำนำข้าวทั้งระบบ เช่น กำหนดปริมาณการรับจำนำไม่ใช่ทุกเมล็ด, กำหนดปริมาณพื้นที่นา, กำหนดราคาและวงเงินรับจำนำ โดยเน้นชาวนารายเล็กรายได้ต่ำ ให้มีโอกาสได้เข้าถึงโครงการเป็นส่วนใหญ่ แทนชาวนาและนายทุนที่ร่ำรวย และให้มีโอกาสได้ไถ่ถอนเพื่อนำไปขายในราคาตลาดได้, ดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง รวมทั้งปรับแก้กระบวนการรับจำนำข้าวให้รัดกุม
      "คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ มั่นใจว่า นโยบายและมาตรการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นนโยบายที่ล้มเหลวที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 สูญเสียเงินละลายน้ำไปมากมาย โดยผลประโยชน์ไม่ได้ตกถึงมือเกษตรกรอย่างที่คิด ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับโรงสี ผู้ส่งออก ลานตากมัน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องพรรคพวกของนักการเมือง จึงไม่มีใครยอมเลิกโครงการนี้ และยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอรัปชั่นจากโครงการจำนำสินค้าเกษตร รัฐบาลเสียเงินขาดทุนไปมากมาย" นายมหรรณพกล่าว
       นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหาและโฆษก กมธ.กล่าวว่า การทุจริตที่ศึกษาพบมีตั้งแต่เกษตรกรแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จ เช่น พื้นที่และผลผลิตเกินจริง, ขายสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการให้กับผู้อื่น เป็นต้น ไปจนถึงขั้นตอนของโรงสีที่มีการสวมสิทธิ์เกษตรกร โดยนำข้าวเปลือกโรงสีที่ได้จากการค้าปกติเข้าร่วมโครงการในนามของเกษตรกร และในขั้นตอนนี้ยังทำให้ชาวนาเสียเปรียบ ไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบว่าการวัดความชื้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่
        "ขั้นตอนต่างๆ ที่มีข้อบกพร่องและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตนั้น ถ้าไม่มีผู้อำนาจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดช่อง จะไม่มีทางทำการทุจริตได้ ปล่อยปละละเลย มีส่วนรู้เห็นเป็นใจ" นายวันชัยกล่าว
         วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ความคาดหวังของเกษตรกรไทย" ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2555 จากเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 1,266 หน่วยตัวอย่างทุกภูมิภาค พบว่า เกษตรกรร้อยละ 65.64 มีหนี้สิน และร้อยละ 34.36 ไม่มีหนี้สิน
           ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 81.50 มีหนี้สินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มากที่สุด รองลงมาร้อยละ 19.90 กองทุนหมู่บ้าน และร้อยละ 7.80 หนี้นอกระบบ
          สำหรับวิธีการที่รัฐบาลควรใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนมากที่สุด พบว่า เกษตรกรร้อยละ 40.19 ระบุว่า รัฐบาลควรใช้วิธีการประกันราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตร รองลงมาร้อยละ 28.12 การจำนำข้าว และร้อยละ 17.61 เห็นว่า รัฐบาลควรใช้วิธีการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร
          นอกจากนี้ เกษตรกรร้อยละ 52.30 มีความคาดหวัง และอยากเห็นอาชีพของเกษตรกรไทยไม่มีหนี้สิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รองลงมาร้อยละ 48.10 ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง และร้อยละ 44.00 อยากให้มีแหล่ง หรือตลาดที่แน่นอนในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตร
          ท้ายที่สุด อยากฝากให้รัฐบาลทำงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี และคุณภาพชีวิตของการเกษตรไทย โดยการเข้ามาดูแลราคาสินค้า ผลผลิตทางการเกษตรไม่ให้ตกต่ำ และเน้นที่โครงการจำนำหรือประกันราคาสินค้าทางการเกษตร พร้อมทั้งมิให้เกิดการทุจริตในโครงการ และช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่เกษตรกรให้จริงจังและทั่วถึง ไม่เอารัดเอาเปรียบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆ ด้าน
    นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เปิดเผยถึงการทุจริตจำนำข้าวที่จังหวัดพิษณุโลกว่า การทุจริตจำนำข้าวโดยรวมแล้ว บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลมีประมาณ 300-400 โกดัง ซึ่งแต่ละโกดังทั่วประเทศมีข้าวโกดังละ 4หมื่นตัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและดีเอสไอลงตรวจสอบในพื้นที่อย่างไรก็ไม่เจอ เพราะก่อนที่เจ้าหน้าที่จะลงตรวจนั้น จะมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลโทรศัพท์สั่งการก่อนว่าให้ตรวจแบบผิวๆ ไม่ให้ตรวจเชิงลึก เจ้าหน้าที่จึงตรวจแต่กระสอบภายนอก ไม่ตรวจกระสอบตรงกลาง เพราะกระสอบตรงกลางจะเป็นข้าวเก่าที่ถูกเวียนมาจำนำรอบ 3 รอบ 4 ซึ่งเป็นข้าวที่เสื่อมสภาพแล้ว ดังนั้น เฉลี่ยแล้วแต่ละโกดังจะมีข้าวที่เสื่อมสภาพอยู่ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ อีก 30 เปอร์เซ็นต์จะเป็นข้าวใหม่ โดยเฉพาะโกดัง "เจ๊ ด." ที่มีปริมาณทั้ง 40 เปอร์เซ็นต์ของโกดังทั้งหมดในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นนครสวรรค์, สุโขทัย, พิษณุโลก
    "เป็นที่น่าสังเกตว่าโกดังที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาล ก่อนที่จะนำข้าวเข้าไปเก็บทุกครั้ง จะมีบริษัทเซอร์เวย์ไปตรวจสอบก่อนทุกครั้ง แต่นี่ปรากฏว่าบริษัทเซอร์เวย์ได้ปล่อยให้ข้าวที่เสื่อมคุณภาพเข้าไปในโกดังรัฐบาลได้ โดยบริษัทดังกล่าวได้ผลประโยชน์กระสอบละ 200-300 บาท ดังนั้นจะเห็นว่า บริษัทต่างประเทศไม่กล้ามาประมูลข้าวที่ไทย เพราะกลัวว่าถ้าประมูลข้าวได้แล้ว ไทยจะส่งข้าวเสื่อมคุณภาพไปให้ จึงทำให้ต่างประเทศไม่กล้าทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับไทยได้" นายมงคลกิตติ์กล่าว
    นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาโครงการรับจำนำข้าวว่า อยากเรียกร้องไปยังสมาชิกพรรคเพื่อไทยทุกคน ว่าไม่ควรยัดเยียด หรือป้ายสีบุคคลที่เห็นต่างกับนโยบายดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นการขัดขวางการอยู่ดีกินดีของเกษตรกร ต้องบอกว่าที่รัฐบาลประกันราคาเกวียนละ 15,000 บาทนั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่วันนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทวงถามคือ เงิน 15,000 บาทที่รัฐบาลจ่าย แต่เกษตรกรได้ไม่ถึง 10,000 บาท เรากำลังตามหาอีก 5,000 บาทที่เกษตรกรควรได้ ว่าตกไปอยู่ในกระเป๋าของใคร พ่อค้านายทุนหรือนักการเมือง 
    "โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณ 2 แสนล้าน เป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมหาศาล หากเอาเงิน 2 แสนล้านไปใช้ตามรูปแบบการประกันรายได้ เกษตรกรจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 2 หมื่นบาท จึงอยากให้เกษตรกรไตร่ตรองว่า ผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับคุ้มค่ากับการเสียหายหรือไม่ และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ทำก็จะทำได้ดีกว่า ได้กับเกษตรกรทุกคน ในขณะนี้ได้เฉพาะคนบางกลุ่มบางฝ่าย" นายเทพไทกล่าว
      นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าฝ่ายค้านมีข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรื่องจำนำข้าว ถึงขั้นให้ทำนายกฯ และรัฐมนตรีกอดคอตายหมู่ร่วมกัน ว่าเป็นแค่สีสัน วาทกรรมตามสไตล์ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มักประดิษฐ์ถ้อยคำทำลายน้ำหนักของรัฐบาล แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาอภิปรายจริงคงไม่มีข้อมูล มีแต่การตัดแปะข่าว ขอท้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ ให้นำหลักฐานการทุจริตจำนำข้าวมาเปิดเผยก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่าพูดลอยๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น