วันพุธที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2557

ส่อเค้าเป็นจริง “ทักษิณ” ยึด!! “วุฒิสภา” อีกรอบ โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มีนาคม 2557 06:34 น.

รายงานการเมือง
       
       สุดท้ายที่หลายคนหวั่นเกรง “ระบอบทักษิณ” จะรุกคืบยึดวุฒิสภา ชุดใหม่ หลังการลงคะแนนเสียงเลือก ส.ว.เลือกตั้ง 77คน 77 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม น่าจะเป็นจริง...
       
       หลังดูจากรายชื่อแคนดิเดตผู้สมัคร ส.ว.หลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ-อีสานส่วนมากมีแต่สายสัมพันธ์การเมืองกับพรรคเพื่อไทย-คนเสื้อแดง รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้และแนวโน้มล้วนแต่มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง
       
       ยิ่งกระแสการเลือกตั้ง ส.ว.ที่เหลือเวลาแค่ไม่ถึง 4 วัน แต่บรรยากาศการเลือกตั้งกลับเงียบเหงาประชาชนแทบไม่รู้กันเลยว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ในวันอาทิตย์ที่ 30 มี.ค. เห็นได้จากตัวเลขประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้าทั้งในและนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค. มีคนออกมาใช้สิทธิบางตา
       
       จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า เป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่ตั้งเป้าว่าจะรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ว.ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ผลที่ได้อาจห่างไกลเป้าหมายเยอะ ถ้าบรรยากาศการเลือกตั้ง ส.ว.ยังคงเงียบเหงาเช่นนี้
       
       การที่ประชาชนไม่ตื่นตัว ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารไม่รู้ประวัติผลงานของผู้สมัครแต่ละคนจึงมีโอกาสสูงที่จะนอนหลับทับสิทธิ และเมื่อความตื่นตัวของประชาชนมีน้อยหลายคนอาจไม่ออกไปใช้สิทธิ มันก็ย่อมเปิดช่องให้ผู้สมัครบางคน ที่มีฐานการเมืองในพื้นที่ทั้งกับพรรคการเมือง-อดีต ส.ส.-อดีตรัฐมนตรี-อดีต ส.ว.-นักการเมืองท้องถิ่นเข้าวินได้ไม่ยาก
       
       ยิ่งผู้สมัครบางคนก็เป็นระดับอดีตรัฐมนตรีอดีตแกนนำพรรคการเมืองใหญ่บางพรรคที่คราวนี้มาลงสมัคร ส.ว.พวกนี้ก็จะมีฐานการเมืองในพื้นที่อยู่แล้ว พอคนไม่ค่อยตื่นตัวจะออกไปใช้สิทธิมันก็เลยง่ายต่อการ “จัดตั้งฐานคะแนนเสียง”ในแต่ละจังหวัดเพื่อเกณฑ์คนออกไปใช้สิทธิ์ได้ง่ายแม้แต่ในกรุงเทพมหานครเองก็อาจเป็นเช่นนั้นด้วย!
       
       แม้ก่อนหน้านี้ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยจะรีบแถลงปฏิเสธกระแสข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ว่าวงหารือนอกรอบของอดีต ส.ส.กทม.-อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย มีการหารือและตกลงกันภายในว่า การเลือกตั้ง ส.ว.รอบนี้ให้เครือข่ายของเพื่อไทยในกรุงเทพมหานคร ช่วยกันหาคะแนนเสียงให้ผู้สมัคร ส.ว.รายหนึ่ง โดยพร้อมพงศ์ปฏิเสธว่าช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีการประชุมภาค กทม.พรรคเพื่อไทย และไม่เคยมีมติสนับสนุนผู้สมัคร ส.ว.บางราย เพราะมติกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยให้สมาชิกพรรควางตัวเป็นกลางไม่สนับสนุนผู้สมัคร ส.ว. เพราะเป็นการทำผิดกฎหมาย
       
       อย่างไรก็ตาม เรื่องการหนุนหลังผู้สมัคร ส.ว.คนไหนเป็นใครก็ต้องปฏิเสธ โดยเฉพาะพรรคการเมือง ของแบบนี้ใครมันจะออกมาพูดกันกลางแจ้งหรือถึงขั้นมีมติพรรคสนับสนุนผู้สมัคร ส.ว.เพราะสุ่มเสี่ยงจะทำผิดกฎหมาย และไม่เป็นผลดีต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองด้วยกันทั้งสิ้น
       
       ก็ขนาดเลือกตั้งท้องถิ่นอย่างเช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่กฎหมายเปิดกว้างกว่าในการให้พรรคการเมืองสนับสนุนผู้สมัครได้ แต่ก็น้อยครั้งมากที่จะมีพรรคการเมืองมาเปิดตัวสนับสนุนใครอย่างเป็นทางการเพราะถึงไม่เปิดตัว แต่คนในพื้นที่ก็รู้กันว่าผู้สมัครคนไหนมีใครหนุนหลัง
       
       ของแบบนี้มันก็เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ หลายจังหวัดคนในพื้นที่ก็รู้กันแล้วว่าผู้สมัครคนไหน เป็นคนของใครมีใครหนุนแบ็คอัพ มีอดีต ส.ส.-พรรคการเมืองไหนคอยสนับสนุน เป็นสายเสื้อแดงหรือเปล่าคนไหนเปิดตัวชัดว่าอิงสาย กปปส. หรือเป็นคนของพรรคการเมืองใหญ่ในพื้นที่หรือเปล่ายิ่งกรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวง ข้อมูลข่าวสารมันไปเร็ว การทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง
       
       อย่างวันก่อน ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ไปพูดเชิญชวนให้คนกรุงเทพฯ ไปลงคะแนนเสียงเลือก ผู้สมัคร ส.ว.คนหนึ่งบนเวที กปปส.ที่สวนลุมพินี ยังจะโดนพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบ เรียกได้ว่าทั้งฝ่ายเพื่อไทยและฝ่าย กปปส.ต่างก็จดๆ จ้องๆ กันอยู่กับสนามเลือกตั้ง ส.ว.
       
       อีกทั้งก็ต้องยอมรับกันว่า คน กทม.การตื่นตัวทางการเมืองสูง การจะให้ใครมาออกตัวว่าหนุนหลังใครมันทำได้ลำบาก แต่พอเห็นชื่อเห็นประวัติการทำงานมันก็พอรู้ๆ กันว่าหากไม่ชอบระบอบทักษิณ จะต้องเลือกผู้สมัครคนไหน...
       
       สำหรับความสำคัญของวุฒิสภาชุดใหม่หลังเลือกตั้ง 30 มีนาคม นอกจากหน้าที่ตามปกติ เช่น การให้พิจารณากลั่นกรองกฎหมายต่างๆ รวมถึงการให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายที่จะพ้นจากตำแหน่งตามวาระและอายุขัย ที่ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่จะต้องลงมติคัดเลือกและเห็นชอบ
       
       เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น รวมถึงบทบาทด้านอื่นๆเช่นการตรวจสอบฝ่ายบริหารผ่านการตั้งกระทู้สดหรือผ่านช่องทางคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เป็นต้น
       
       ดูแนวโน้มแล้ว คดีถอดถอนการเมืองสำคัญ 2 คดี คือ คดีรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.จ่อเอาผิดยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายในไม่เกินเดือนเมษายนและคดี ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาต่อ 308 ส.ส.-สว.ในคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ที่หลัง ป.ป.ช.ฟันนิคม ไวยรัชพานิช หลุดจากรักษาการประธานวุฒิสภาไปแล้ว ก็มีข่าวจะทยอยแจ้งข้อกล่าวหาต่ออดีต ส.ส.-ส.ว.308 คนอีกหลายระลอก โดยมีข่าวว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ จะเป็นคิวต่อไป
       
       เมื่อดูความเป็นไปต่างๆ ของคดีต่างๆ แล้วโดยเฉพาะคดีรับจำนำข้าว มีโอกาสสูงมากที่เรื่องจะถูกส่งไปให้วุฒิสภาชุดใหม่ที่ประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้งหลัง 30 มี.ค.กับ ส.ว.สรรหาตอนนี้ร่วมกันลงมติ “ถอดถอน-ไม่ถอดถอน”
       
       ดังนั้น หากเครือข่ายระบอบทักษิณ-พรรคร่วมรัฐบาลสามารถผลักดันคนของตัวเองหรือคนที่พอพูดคุยกันได้ เจรจาความกันได้ให้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ได้สำเร็จ เอาแค่ให้ได้สักอย่างน้อย 40-50เสียงจากที่เลือกกันมา 77 คน แค่นี้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็รอดแล้วในคดีถอดถอน
       
       รวมถึงแม้แต่พวก 308 ส.ส.-สว.ด้วยเพราะจำนวนเสียงถอดถอนที่ต้องใช้ 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว.150 คนคือ 90 เสียง เสียงลงมติถอดถอนก็จะไม่ถึงแน่นอนเพราะต่อให้จำนวนเสียงถอดถอนมีมากกว่าเสียงที่ไม่ต้องการให้ถอดถอนแต่เสียงก็ไม่น่าจะถึง 90 เสียง เพราะต้องไม่ลืมว่าในจำนวน ส.ว.สรรหา 74 คน ก็เสียงแตกกันพอสมควร ไม่ได้มีการรวมกลุ่มกันแน่นหนา
       
       มี ส.ว.สรรหาหลายคนที่มักเทเสียงไปให้กับสายรัฐบาลมาแล้วหลายครั้งดูได้จากตอนลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทก็เห็นชัดที่มี ส.ว.สรรหาไปร่วมลงคะแนนเสียงให้จำนวนหนึ่ง
       
       ด้วยเหตุนี้ ส.ว.หลายคนจึงวิเคราะห์ตรงกันว่า หากผลการเลือกตั้ง ส.ว.30 มี.ค. ออกมาโดยปรากฏว่ามีเครือข่ายสายพรรคร่วมรัฐบาลเข้ามากันจำนวนมากคดีถอดถอนทั้งคดีจำนำข้าวและคดีเอาผิด 308 ส.ส.-สว.ไม่มีทางถอดถอนได้แน่นอน
       
       ทำให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ 77 คนจึงมีบทบาทความสำคัญทางการเมืองอย่างมาก หากได้ ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ไม่ดีได้พวกร่างทรงทางการเมือง นอมินีพรรคการเมือง หรือพวกยอมขายตัวรับใช้ทางการเมืองให้กับนักการเมืองบางกลุ่ม
       
       ก็มีหวังได้เห็น “สภาทาส” ในวุฒิสภาอีกคำรบ

ผ่าประเด็นร้อน 
       
       หากพิจารณากันในภาพรวมแล้วก็ย่อมเห็นภาพได้ชัดเจนว่า ระบอบทักษิณ กำลังถูกไล่บี้จนถอยร่นไม่เป็นขบวนแล้ว แต่ความหมายสำหรับการ “ไล่บี้” ในที่นี้ก็คือผ่านทางองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญแบบถูกต้องชอบธรรม ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายทักษิณ และรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำได้ในเวลานี้ก็คือพยายามดิสเครดิตและบิดเบือนปลุกระดมให้เหล่ามวลชนที่เคยสนับสนุนให้หลงเชื่อต่อไป 
       
       ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ที่ใช้มานานอย่างน้อยในช่วงกว่าสองปีมานี้ ได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หุ่นเชิดของ ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงฝีมือได้อย่างเต็มที่ มีทั้งองค์ประกอบพร้อมสรรพแบบที่ไม่มีรัฐบาลไหนได้รับมาก่อน เรียกได้ว่ามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จทั้งในรัฐบาล ทั้งรัฐสภา และระบบราชการ
       
       อีกมุมหนึ่งมันก็เกิดผลที่ตามมาไม่คาดหมายนั่นคือ เมื่อมีอำนาจมากก็เกิดความเหิมเกริมจนเกินพอดี ไม่เห็นใครอยู่ในสายสายตา ทำตามอำเภอใจไม่สนใจความถูกต้อง ทำนองคลองธรรม ไม่สนใจแม้กระทั่งกฎหมาย
       
       สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีฝ่ายสนับสนุนอยู่รอบตัว ซึ่งรวมถึงมวลชนคนเสื้อแดง แต่ก็นั่นแหละสิ่งก้าวพลาดจนคาดไม่ถึงก็คือ “ความไร้ประสิทธิภาพ” ของตัวเอง ของผู้นำ นั่นคือตัวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และก็รวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ที่เอาเข้าจริงเขาก็แค่ “นักโฆษณาชวนเชื่อ” ที่ใช้ได้ผลในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง สังคมก็ย่อมจับได้ไล่ทันว่า เขาคือ “ของปลอม” ถ้าเปรียบเสมือน “นักพนัน” เขาโกงจนชนะได้เงินมาเยอะแล้ว แต่ยังโลภไม่รู้จักเลิกในที่สุดก็ถูกจับได้ โดนกระทืบจนแทบไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งสภาพของเขากำลังเป็นอยู่ในขณะนี้ ถึงไม่ใช่ก็เริ่มใกล้เคียงแล้ว
       
       สภาพที่เป็นอยู่ของระบอบทักษิณ นอกจากความเหิมเกริม เห็นแก่ตัว ไม่รู้จักพอ ทำทุกอย่างเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวของเขาและคนในครอบครัว ใช้อำนาจการเมืองมาขยายธุรกิจครอบครัว ประเคนตำแหน่งสำคัญให้กับเครือญาติคนใกล้ชิด ประเมินสถานการณ์ผิด จนทำให้ชาวบ้านจากเดิมที่มองดูเฉยๆ ต้องเหลืออดแล้ว ส่วนสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือเกิดจาก “ความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ” ของตัวเองนั่นแหละ 
       
       ถามว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของมวลมหาประชาชนในเวลานี้สาเหตุเริ่มต้นที่เป็นชนวนใหญ่ ก็คือมาจากการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยใช่หรือไม่ จากนั้นก็ขยายบานปลายมาเรื่อย และต่อมาก็มีการพูดถึงเรื่องความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ล่าสุดได้เห็นความจริงจากความล้มเหลวป่นปี้จากโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนบานเบอะจนตัวเลขล่าสุดในฤดูกาลรับจำนำปี 55/56 ที่พยายามปิดตัวเลขไม่ยอมปิดบัญชีนั้นแว่วมาว่าคราวนี้อาจขาดทุนถึง 5 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
       
       เมื่อทุกอย่างเริ่มเป็นลบ ทุกอย่างที่ตามมามันก็ไม่ดีไปเสียทั้งหมด เวลานี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สังคมเปิดโปงจนล่อนจ้อน มีสภาพไม่ต่างจาก “คนปัญญาอ่อน” แม้อาจเป็นการกล่าวหา แต่ถ้าสังเกตจากพฤติกรรมและคำพูดอย่างต่อเนื่อง มันย่อมมองเห็นคล้อยตามได้อย่างนั้นจริงๆ ว่าเธอไม่มีสติปัญญาและความรอบรู้ไม่เหมาะสำหรับการเป็นผู้นำได้เลย และเวลานี้สื่อต่างประเทศได้นำไปขยายผลน่าอับอายไปทั่วแล้ว 
       
       ขณะที่บรรดารัฐมนตรีอื่นๆ ก็ล้วนมีสภาพไม่ต่างกัน มีแต่เสียง “ยี้” หาความศรัทธาไม่ได้เลย แต่งตั้งเข้ามาเหมือนกับดูถูกคนไทยเจ้าของประเทศ ไม่เชื่อก็ลองยกตัวอย่างเริ่มมาจาก “ขุนคลัง” กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ “ไวต์ลาย” มีแต่ความผิดพลาดในเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจตลอดเวลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่คนก่อนคือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ที่สร้างความฉิบหายจากโครงการจำนำข้าว ส่วนรัฐมนตรีช่วยฯที่ชื่อ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ได้ดีจากไพร่มาเป็นอำมาตย์ ลองนึกผลงานมาสักเรื่องสิว่าทำอะไรได้บ้าง ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศที่ชื่อ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ ปลอดประสพ สุรัสวดี หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คนพวกนี้มีผลงานอะไรบ้าง ก็ล้วนอยู่ในการเมือง “น้ำเน่า” มาช้านาน แล้วมันจะดีเด่ตรงไหน
       
       ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสังคมก็เริ่มได้เห็นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ศาลต่างๆ ล้วนทำงานเห็นผลมากขึ้นเรื่อยๆ และเชื่อว่าในที่สุด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องตกเก้าอี้จากองค์กรเหล่านี้ แม้ว่าฝ่าย ยิ่งลักษณ์ จะพยายามบิดเบือนปลุกระดมใส่ร้ายให้เข้าใจผิดอย่างไร แต่จากความห่วยแตก ไร้ประสิทธิภาพ สังคมได้เห็นถึงการทุจริต เล่นพรรคเล่นพวกกันอย่างโจ๋งครึ่มมันก็ทำให้ไร้น้ำหนัก และสังคมก็รับรู้แล้วว่าการก่อเหตุรุนแรง ข่มขู่คุกคามองค์กรอิสระและศาลล้วนเป็นฝีมือของใคร ซึ่งไม่มีใครยอมรับได้ นอกจากพวกคนถ่อยด้วยกัน
       
       นี่แหละถึงได้บอกว่ายิ่งสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อ สังคมก็ยิ่งได้เห็นความจริง ขณะเดียวกันเมื่อองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเริ่มทำงาน มันยิ่งทำให้องค์ประกอบของการถ่วงดุล-ตรวจสอบอย่างรอบด้านมีประสิทธิภาพมากขึ้นไป ระบอบทักษิณ ก็จะยิ่งอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนใครจะนึกว่าจะมีวันนี้!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น