วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2557

ดีเดย์วันนี้รับสมัครสว.เหลิมป้องปูไม่หลุดเก้าอี้ เมื่อ 4 มี.ค.57



ดีเดย์วันนี้รับสมัครสว.เหลิมป้องปูไม่หลุดเก้าอี้


เริ่มแล้วเปิดรับสมัคร ส.ว.ทั่วประเทศ 4-8 มี.ค. ขณะที่ กกต.แนะผู้สมัครตรวจคุณสมบัติให้เคลียร์ก่อน เผยคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.2 ก.พ. ไม่ได้เพราะม็อบปิดขวางก็ไม่เสียสิทธิ์สมัคร ส.ว. พร้อมไฟเขียวส่งศาล รธน.ชี้ขาด 28 เขตเจ้าปัญหาแล้ว ส่งตีความ 3 ประเด็นใหญ่ ด้าน “เฉลิม” ยัน “ปู” ไม่หลุดเก้าอี้นายกฯ แม้เลย 30 วันเปิดสภาไม่ได้ ยก รธน.มาตรา 181 ค้ำบัลลังก์ ยืนยันรัฐบาลไม่ออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตซ้อนของเดิมแน่ ส่วน “มาร์ค” ชี้คนเมินใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. 5 จังหวัดสะท้อนเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกประเทศ ยันต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวว่า การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นการทั่วไป ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค.57 และเปิดรับสมัครในระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค.57 นั้น ผู้ที่มีความประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. ควรตรวจสอบคุณสมบัติ และเตรียมหลักฐานเอกสารการสมัคร ส.ว. ให้พร้อมก่อนเดินทางมาสมัคร โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณสมบัติ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ว่าเป็นผู้เสียสิทธิ์หรือไม่ สำหรับผู้สมัครรายใดที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.57 และในวันเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ไม่ได้เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุม โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำที่เลือกตั้งกลาง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้งได้ประกาศงดการลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งที่เลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้งและที่เลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัด ไม่ถือเป็นผู้เสียสิทธิเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ครั้งนี้ จะมีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งได้เพียงจังหวัดเดียว ซึ่งก็คือเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งเท่านั้น
ส่วนขั้นตอนการสมัคร ให้ผู้สมัครยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง พร้อมทั้งค่าธรรมเนียมการสมัครรับเลือกตั้งคนละ 5,000 บาท รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวก ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ความยาว 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละ 10 รูป สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, ใบรับรองแพทย์ เป็นต้น โดยยื่นหลักฐานประกอบการสมัครต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนสมัคร ตั้งแต่วันที่ 4-8 มี.ค.57 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ect.go.th
นอกจากนี้ นายภุชงค์ ยังกล่าวภายหลังการประชุม กกต.ด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการจัดลงคะแนนเลือกตั้งใน 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า การจัดเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เนื่องจาก กกต.ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ในการเข้ามาช่วยจัดการเลือกตั้ง ดังนั้นจะนำรูปแบบดังกล่าวไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดลงคะแนนเลือกตั้งในพื้นที่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดว่าจะให้มีการลงคะแนนเมื่อใด อย่างไรก็ตามในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้ง 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ ทาง กกต.จะให้ประธาน กกต.ทั้ง 15 จังหวัดไปร่วมประชุมเท่านั้น เพราะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะต้องทำหน้าที่ผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งในการรับสมัคร ส.ว. ดังนั้นจะมีประธาน กกต.จังหวัด ซึ่งจะร่วมประชุมกับผู้แทนพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ทราบเบื้องต้นว่า ยังไม่มีผู้แทนพรรคการเมืองใดตอบรับไปเข้าร่วมประชุม และมีแนวโน้มว่า 4 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลจะไม่เข้าร่วม แต่ในส่วนของ กกต.นอกจากนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.แล้ว จะมีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ไปร่วมประชุมด้วย
ส่วนกรณีการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีความขัดแย้งระหว่าง กกต.กับรัฐบาล ในการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง 28 เขตนั้น นายภุชงค์ กล่าวว่า ที่ประชุม กกต.ได้เห็นชอบกับคำร้องที่จะยื่นต่อสาลรัฐธรรมนูญแล้ว หลังจากที่ในช่วงเช้าได้มีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย แต่เนื่องจากมี กกต.บางคนติดภารกิจ จึงยังไม่ได้มีการลงนามครบทั้ง 5 คน แต่มีการนัดที่จะลงนามในเช้าวันที่ 4 มี.ค. และจะส่งศาลรัฐธรรมนูญทันที โดยประเด็นที่จะมีการยื่นต่อศาลมี 3 ประเด็น เป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่จะครอบคลุมทุกประเด็น แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรไม่สามารถเปิดเผยได้ นอกจากนี้ในวันที่ 4 มี.ค.ที่ประชุม กกต.จะได้พิจารณาคำร้องที่รัฐบาลขอให้ กกต.อนุมัติให้รัฐบาลให้งบกลาง 2 หมื่นบ้านบาท เพื่อชำระหนี้ให้กับชาวนา ในโครงการรับจำนำข้าว โดยจะมีผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงบฯ กระทรวงการคลัง เข้าชี้แจง
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ส่วนตัวพอใจผลของการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนใน 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มี.ค. เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานทางการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีการขัดขวางการเลือกตั้ง แต่รู้สึกไม่พอใจที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 10.20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากถูกปัจจัยหลายสาเหตุกดดัน อาทิ ระยะเวลาจัดลงคะแนนเลือกตั้งที่กระชั้นชิดเกินไป ส่งผลให้การประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป บรรยากาศทางการเมืองที่ประชาชนมองว่าการเลือกตั้งไม่ได้เป็นทางออกของความขัดแย้ง รวมทั้งจังหวัดที่ดำเนินการจัดลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้เป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการจัดลงคะแนนใน 8 จังหวัด 28 เขตเลือกตั้งและจังหวัดที่เหลืออยู่นั้น ทาง กกต.คงจะใช้รูปแบบและแนวทางเหมือนเช่นการเลือกตั้งใน 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่จะต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้งภายหลังการจัดงานประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง กกต.ทำหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดและ กกต.จังหวัด ใน 14 จังหวัดภาคใต้และจ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ ในวันที่ 7 มี.ค. ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) แถลงพร้อมแจกเอกสารชี้แจงกรณีข้อถกเถียงว่ากรณีปัญหาการจัดเลือกตั้ง 28 เขตไม่ได้ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่หากไม่สามารถเรียกประชุมสภาครั้งแรกได้ภายใน 30 วัน ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะไม่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 บัญญัติเป็นกรณีเฉพาะว่าต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ และการบริหารราชการแผ่นดินต้องมีความต่อเนื่อง โดยไม่มีสูญญากาศ นอกจากนี้ยังไม่มีบทบัญญัตว่า ครม.จะต้องพ้นตำแหน่งเมื่อใด ส่วนกรณีการซาวด์เสียงเลือกตั้งนายกฯ ตามมาตรา172 จะต้องทำภายใน 30 วัน นับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก แต่เมื่อไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ตามมาตรา 127 ได้ ก็ถือว่าเงื่อนเวลา 30 วัน ที่กำหนดไว้ดังกล่าว ยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่งได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงยังไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวอีกว่า สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคหก จะต้องดำเนินให้มี ส.ส.ให้ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.จะต้องดำเนินการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวน 180 วัน และยืนยันรัฐบาลไม่สามารถตรา พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ เพราะจะเป็นการออก พ.ร.ฎ.ซ้อน ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การยุบสภาจะกระทำได้เพียงครั้งเดียวในเหตุการณ์เดียวกัน ดังนั้นเมื่อ กกต.อ้างอุปสรรคเหตุขัดข้องในการจัดการเลือกตั้งมีมูลเหตุจากกลุ่มประท้วงขัดขวางการเลือกตั้ง ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ และขอให้รับแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ไม่ใช่ตั้งแง่กับรัฐบาล
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าว่าการเลือกตั้งทดแทนในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ผ่านมา มีคนไปใช้สิทธิ์น้อยมาก คือประมาณร้อยละ 10 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้คิดว่าขณะนี้กระบวนการการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. และการเลือกตั้งทดแทนจะเป็นการแก้ปัญหาหรือเป็นทางออกให้กับประเทศ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นต่อไปคือการปฏิรูป จำเป็นจะต้องมาทบทวนดูประเด็นเหล่านี้ ที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจประชาธิปไตยในความหมายซึ่งไม่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นตัวอย่างชัดเจนก็คือ รายงานเหล่านี้กลับบอกว่ากลไกที่มีความอิสระที่คอยมาตรวจสอบ ต้องเข้มแข็งขึ้น แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพรรคพวก กำลังจะบอกว่าศาลไม่มาจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระไม่มาจากการเลือกตั้ง มาตรวจสอบคนมาจากการเลือกตั้งได้อย่างไร ซึ่งสวนทางกับหลักคิดในเรื่องประชาธิปไตยสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น