วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2556

ดีเบตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.สิ่งที่คน กทม.อยากเห็น เมื่อ 22 ม.ค.56



ดีเบตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.สิ่งที่คน กทม.อยากเห็น
รายงานการเมือง       
       นับแต่บัดนี้ก็เดินหน้าหาเสียงกันเต็มรูปแบบ สำหรับศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หลังผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ยื่นใบสมัครและจับสลากได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครกันไปแล้วเมื่อ วันจันทร์ที่ 21 มกราคม2556ที่ผ่านมา      
       เบื้องต้นแค่ผ่านไปครึ่งวันของวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. 56 ก็มีคนสมัครไปแล้วรวม 17 คน เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคสองคนคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรค   เพื่อไทยนอกนั้นเป็นผู้สมัครอิสระซึ่งมีชื่อเสียงบ้างโนเนมบ้างปะปนกันไปผลการจับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ที่สำคัญๆ เรียงตามลำดับก็เช่น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เบอร์ 9,โฆสิต สุวินิจจิต เบอร์ 10,พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เบอร์11,,ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เบอร์16 แฮปปี้สุดคงไม่พ้น พล.ต.อ.พงศพัศ และพรรค   เพื่อไทยที่ได้เบอร์สวยหมายเลข9      
       ขณะที่สุขุมพันธุ์ แม้จะได้เลขสองเบอร์คือ 16 แต่ก็ยืนกรานไม่มีปัญหาในการหาเสียงเพราะคนกทม.จดจำชื่อเสียงหน้าตาสุขุมพันธุ์ได้ แถมบอกหากได้เลขสวยอาจเป็นที่ครหาว่า ข้าราชการกทม.ไม่ให้ความเป็นธรรมได้ อีกทั้งบอกว่าเป็นเลขดีเพราะเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่16มาก่อน      
       ขณะที่ผู้สมัครอิสระคนอื่นๆ ที่ผู้คนอาจเคยได้ยินชื่อมาบ้าง เพราะเคยลงมาแล้วก็มีเช่นวรัญชัย โชคชนะ เบอร์ 2,ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หรือตู่ติงลี่ เบอร์ 3,สมิทธ สมิทธินันท์ เบอร์ 5 ,นายสุหฤท สยามวาลา ศิลปินเพลงอินดี้เบอร์17เป็นต้น ต้องดูกันว่าในช่วงหาเสียง 6 สัปดาห์ต่อจากนี้ ผู้สมัครแต่ละคน จะงัดกลยุทธ์หาเสียงอะไรมาซื้อใจคนกรุงเทพฯเพื่อให้ตัวเองได้รับชัยชนะได้      
       แต่ดูแล้วดีกรีการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้เข้มข้นกว่า1-2ครั้งหลังที่ผ่านมาแน่นอน      
       อย่างพล.ต.อ.พงศพัศและพรรคเพื่อไทย ก็ชิงเปิดหัวเล่นเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ไปแล้วที่ลานคนเมืองเมื่อ     วันจันทร์ที่ 21 ม.ค.หลังการรับสมัครในช่วงเช้า ขณะที่ฝั่งประชาธิปัตย์ ออกตัวเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ช้ากว่า    เพื่อไทยเล็กน้อยคือไปเปิดเวทีปราศรัยกันเอาในวันศุกร์ที่25ม.ค.ที่ลานคนเมืองเช่นกัน      
       ในส่วนของผู้สมัครอิสระ คงเหนื่อยมากกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคเพราะไม่มีเครือข่ายมาช่วยหาเสียง ยิ่ง     การเลือกตั้งครั้งนี้ ดูแล้วดวลกันเดือดระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ก็ยิ่งทำให้ผู้สมัครอิสระต้องเหนื่อยหนักเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า      
       ในการตอบโจทย์ให้ได้ว่า ผู้สมัครอิสระดีกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคอย่างไร โดยเฉพาะหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้วจะทำงานประสานกับรัฐบาลกลางพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร ในเมื่อพรรคเพื่อไทยชูจุดแข็ง พล.ต.อ.พงศพัศ ว่าจะทำให้การประสานงานต่างๆระหว่างกทม.กับรัฐบาลไร้รอยต่อ      
       ยิ่งล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความเห็นประชาชนในหัวข้อ"การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในสายตาผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"พบว่าคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.47 เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองและเลือกผู้สมัครอิสระร้อยละ40.08      
       ความเห็นคนกทม.ตรงนี้แม้จะยังไม่ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากสำหรับคนกรุงเทพฯเมื่อดูจากผลสำรวจดังกล่าว แต่เมื่อเข้าถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายในการหาเสียงการตัดสินใจของคนกรุงเทพฯคงชัดเจนมากขึ้น
       หากผู้สมัครอิสระไม่สามารถทำให้คนกทม.เห็นว่าผู้สมัครอิสระดีกว่าผู้สมัครสังกัดพรรคอย่างไร ก็น่าจะเป็นอีกครั้งที่ผู้สมัครสังกัดพรรคจะชนะการเลือกตั้ง      
       ขณะที่การหาเสียงจะพบว่าผู้สมัครหลายคน ต่างก็ชูนโยบายแบบเดิมในการหาเสียงคือมุ่งเน้นไปที่การออกนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการสำคัญๆของคนกรุงเทพมหานคร เช่น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน-เรื่องระบบขนส่งมวลชน-การศึกษาและสาธารณสุข-การออกแบบผังเมือง-การจัดระเบียบกรุงเทพมหานครเช่น ปัญหาหาบเร่แผงลอย-การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง      
       ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ มันก็อยู่ที่คนกทม. ว่าจะเชื่อผู้สมัครแต่ละคนหรือไม่ หากเชื่อโดยไม่ใช้เหตุผลในการพิจารณาประกอบไปด้วยว่าเป็นโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ แล้วไปเลือกผู้สมัครคนนั้น จนได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.แล้วทำไม่ได้จริงอย่างที่หาเสียงก็เท่ากับโดนหลอกนั่นเอง      
       นอกจากนี้ ที่ต้องจับตาก็คือเรื่องการวางตัวของนักการเมืองในซีกพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะพวกรัฐมนตรีทั้งหลาย ที่คงถูกจับตากันมากทุกฝีก้าว กับการจะไปช่วยพล.ต.อ.พงศพัศหาเสียง เพราะหากวางตัวไม่ถูกต้อง   ก็ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการจะถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งได้      
       จะเห็นได้ว่าฝั่งเพื่อไทยมี การระวังกันมาก มีการสั่งกำชับรัฐมนตรีทุกคนว่าหากจะไปช่วยหาเสียงจะต้องไปหลังเวลาราชการ และหากไปในช่วงเวลาราชการก็ต้องยื่นใบลาทำให้ถูกต้องตามระเบียบราชการ ทุกอย่างเพื่อไม่ให้ถูกร้องเรียนได้      
       ดูได้จากกรณียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไปช่วยพล.ต.อ.พงศพัศหาเสียงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่ให้มีการใช้รถตำรวจนำขบวนมาคอยอำนวยความสะดวกนายกรัฐมนตรีในระหว่างไปช่วยหาเสียง เพราะเกรงจะถูกร้องเรียนนั่นเอง      
       ขณะที่การรับสมัครผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีรัฐมนตรีบางคนของพรรคเพื่อไทยก็ไปให้กำลังใจพล.ต.อ.พงศพัศที่ศาลาว่าการกทม.ด้วย ทั้งที่มีการประชุมครม.สัญจรกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ตรงนี้เชื่อว่าคงมีการยื่นใบลาแจ้งกับนายกรัฐมนตรี และ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีกันเรียบร้อยตามระเบียบราชการก็ต้องขอเตือนพวกรัฐมนตรีทั้งหลายในพรรคเพื่อไทยไว้หน่อยว่าหากทำกันแบบนี้บ่อยๆก็คงไม่ดีเหมือนกันนะจะบอกให้มันดูไม่งาม      
       อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนกรุงเทพฯอยากเห็นในการหาเสียงครั้งนี้ก็คือการขึ้นเวทีพร้อม กันของบรรดา   ตัวเต็งผู้สมัครทั้งหมด ในลักษณะการดีเบตเพื่อประชันนโยบายและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารกรุงเทพ มหานครให้คนกทม.ได้แลเห็นพร้อมกันทีเดียวไปเลยจะได้ง่ายในการตัดสินใจ      
       ก็หวังว่า ในช่วงหกสัปดาห์ต่อจากนี้ จะมีองค์กรที่เป็นกลางมารับเป็นเจ้าภาพจัดดีเบตดังกล่าว จะเอาช่วงนี้เลยหรือช่วงโค้งสุดท้ายก็ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ผู้สมัครทุกคนขึ้นเวทีโดยพร้อมเพียงกันก็เป็นพอ โดยเฉพาะสองคนนี้      
       ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์-พล.ต.อ.พงศพัศ      
       ที่คนกทม.ยังนึกภาพไม่ออกว่า หากมีการดีเบตกัน ใครจะทำแต้มได้ดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น