วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555
“โกร่ง” ตีแสกหน้ารัฐบาลสุดบูชา สัญญาณเห็บหมัดหนีเอาตัวรอด เมื่อ 5 ต.ค.55
รายงานการเมือง
หลายคนอาจจะฮือฮากับท่าทีของ วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน และประธาน กยอ.ออกมาตีแสกหน้ารัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว
ซึ่งกำลังตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศว่า เป็น “นโยบายจำนำข้าว” ที่กำลังจะนำไปสู่การ “จำนำประเทศ” ในเวลาอันใกล้นี้
แม้ว่า วีรพงษ์จะเคยเขียนบทความแสดงความไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับโครงการนี้มาก่อนตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2554 แต่บทบาทหลังจากนั้นต้องเรียกว่า วีรพงษ์แทบจะเป็นคอหอยกับลูกกระเดือกของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลยก็ว่าได้
ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ออกมาวาดฝันอนาคตประเทศไทยใหม่ด้วยการใช้งบประมาณ 2.2 ล้านบาท แถมท้ายด้วยคำประกาศว่า
“น้ำจะไม่ท่วมประเทศไทยชั่วกัลปาวสาน”
ผ่านพ้นคำพูดไม่เกินขวบปี น้ำท่วมประจานไปแล้วหลายจังหวัด แต่วีรพงษ์ยังได้รับความไว้วางใจให้ไปดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีภารกิจสำคัญในการล้วงเงินกองทุนสำรองระหว่างประเทศมาโปะหนี้ประชานิยมที่ทำท่าจะไปไม่รอด เพราะรายจ่ายไม่สัมพันธ์กับรายได้ จนหนี้กำลังจะท่วมประเทศ
แม้กระทั่งเมื่อมาเป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว วีรพงษ์ก็ยังปวารณาตัวรับใช้การเมืองชัดเจน มีนโยบายที่จะบีบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) มาใช้กรอบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Targeting) แทน ถึงขนาดมีการอ้างอิงว่า นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็สนับสนุนแนวคิด
จนเกิดอาการหน้าแตกเมื่อเจอของจริง เพราะ ผอ.ไอเอ็มเอฟไม่ยอมให้ถูกอ้างมั่วๆ ถึงขนาดร่อนจดหมายยืนยันว่าคำพูดของวีรพงษ์เป็นเรื่องโกหก และไอเอ็มเอฟยังชื่นชมการบริหารโดยยึดกรอบเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ทำให้ วีรพงษ์ หายหน้าหายตาไปจากหน้าหนังสือพิมพ์พักใหญ่ เพื่อไปหาหมอเย็บอาการหน้าแตกจนกลับมาเสนอหน้าต่อสังคมอีกครั้งก็ยังเห็นรอยแผลเหวอะหวะที่เรียกได้ว่าไม่มีทางคืนสภาพสู่ภาวะปกติไดัอีก
ความน่าเชื่อถือล้มละลายจนเกือบจะเป็นศูนย์ และนี่จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องออกมาด่ารัฐบาลสุดเคารพบูชาของตัวเองด้วยการตำหนิติติงนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลชุดนี้
ให้ผู้คนที่มองฉาบฉวยเกิดอาการทึ่ง ชื่นชมในความกล้าหาญสวนทางปืนรัฐบาลหรือไม่ ก็ยากที่จะเดา
แต่ที่แน่ๆ อาการของ วีรพงษ์ น่าจะไม่แตกต่างไปจากเห็บ หมัด ที่จะกระโดดหนีออกจากหมาที่กำลังจะตายยังไงยังงั้น
เพราะนโยบายจำนำข้าวที่สูงกว่าความเป็นจริงที่กำลังจะนำหายนะมาสู่อนาคตข้าวไทยนั้น ต้องเรียกได้ว่าแทบจะทุกภาคส่วนเห็นตรงกันถึงความล่มสลายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ ด้วยเหตุผลที่พูดกันจนปากจะฉีกไปถึงรูหูด้วยเหตุผลนานัปการจนสาธยายกันแทบไม่ไหวว่า
1. เปิดช่องทุจริตทุกขั้นตอน 2. ช่วยเหลือชาวนาได้เพียงแค่ 1 ใน 3 ของงบประมาณทั้งหมด
3. ชาวนาถูกโกงน้ำหนัก ความชื้น มีปัญหานำใบประทวนไปขึ้นเงินไม่ได้ 4. รัฐขาดเงินหมุนเวียนทำโครงการจนทำให้ ธ.ก.ส.ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินทำโครงการในฤดูกาลถัดไป และไม่กล้าอนุมัติเงินกู้ 4.05 แสนล้านบาทเพื่อมาทำโครงการ
ล่าสุดมีการอนุมัติงบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการกรอบจำนำข้าวปี 2555/56 โดยขีดเส้นรับเฉพาะข้าวนาปี 15 ล้านตันก่อน ส่วนข้าวนาปรังพูดภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่าไปตายเอาดาบหน้า
ในขณะที่ภายในระยะเวลาเพียงแค่ปีเศษ รัฐบาลชุดนี้ผลาญงบประมาณบนข้ออ้างในการช่วยเหลือชาวนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปแล้วถึงกว่า 5 แสนล้านบาท และกำลังจะกลายเป็นโครงการที่ถมไม่เต็ม มีแต่เติมหนี้ให้กับประเทศอย่างชัดเจนยิ่ง
6. จำนำราคาข้าวสูงเกินความจริงทำให้ระบายข้าวออกนอกประเทศไม่ได้ขาดเงินทุนหมุนเวียนมาทำโครงการต่อจึงต้องกู้เพิ่ม ไม่มีความโปร่งใสในการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการระบายข้าว ก่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย และยังโกหกตัวเลขการระบายข้าวแบบจีทูจี จนทำให้ความน่าเชื่อของกระทรวงพาณิชย์ในการชี้แจงข้อมูลต่อสังคมเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวติดลบ
7. ชาวนาไม่คิดพัฒนาคุณภาพข้าวไทย เร่งผลิตข้าวคุณภาพต่ำเพื่อนำเข้าโครงการรับจำนำ 8. ทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทยทั้งระบบ ลดขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งภาคเอกชนของเวียดนามต้องโค้งคำนับขอบคุณรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดึงดันเดินหน้านโยบายนี้จนทำให้เวียดนามเบียดไทยขึ้้นมาเป็นแชมป์การส่งออกข้าวได้ และไม่เห็นหัวไทยเป็นคู่แข่งสำคัญอีกต่อไป
9. มีการสวมสิทธินำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้่านจำนำในไทย 10. รัฐบาลเป็นผู้ผูดขาดการค้าข้าวขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 84 (1) เอกชนดิ้นรนซื้อข้าวเพื่อนบ้านส่งออกแทน
เมื่อหายนะเห็นชัดเจน จนกระทั่งนักวิชาการยังทนไม่ไหวต้องออกมาเคลื่อนไหวยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่านโยบายนี้ขัดรัฐธรรมนูญเพื่อยับยั้งความฉิบหายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย
รัฐบาลที่กำลังจะยืนไม่อยู่จากนโยบายที่ถูกรุมต้านทุกทิศ เพราะคิดเอาแต่ได้ในเรื่องคะแนนเสียงทางการเมือง จนไม่สนว่าบ้านเมืองกำลังดิ่งเหว จึงต้องเรียกว่าก้าวเข้าสู่จุดอับ แต่แทนที่จะได้ทบทวนเพื่อแก้ไข กลับจุดประเด็นความแตกแยกในเชิงชนชั้นรอบใหม่ เพื่อเอาตัวรอดโดยไม่สนใจว่าประเทศชาติจะเสียหายแค่ไหน
อีกไม่นานนี้ประเด็นสงครามแห่งชนชั้นจะถูกจุดพลุขึ้นอีกรอบ และน่าจะจุดติดเสียด้วย โดยเฉพาะกับชาวนาที่จะถูกปั่นหัวว่า ไอ้พวกคนเมือง ไอ้นักวิชาการนั่งห้องแอร์ มันขัดขวางรัฐบาลพ่อพระที่กำลังจะช่วยเหลือชาวนาให้ลืมตาอ้าปากได้
ความน่ากลัวของโครงการจำนำข้าวจึงไม่ใช่เพียงแค่กำลังจะนำประเทศไปสู่หายนะในทางเศรษฐกิจและระบบค้าข้าวเท่านั้น แต่กำลังจะนำความแตกแยกครั้งใหญ่กลับสู่สังคมไทยอีกระลอกหนึ่งด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น