วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จำนำข้าวเลิกไม่ได้ต้องเดินหน้าฉิบหายช่างมัน-ไม่ใช่เงินแม้ว !!เมื่อ 5 ต.ค.55



ผ่าประเด็นร้อน
       
       แน่นอนว่าคำพูดของคนนอกร้อยหมื่นพันคำไม่มีความหมายเท่ากับคำพูดของคนกันเองพวกเดียวกัน เปรียบเหมือนกรณีที่ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ในฐานะประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็น “กุนซือใหญ่” ของรัฐบาล ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านโครงการจำนำข้าวกันแบบไม่ไว้หน้า มันก็ย่อมส่งผลสะเทือนมากกว่าใคร
       
       ความเห็นของ วีรพงษ์ ก็ดันไปสอดคล้องกับพวกที่ออกมาคัดค้านก่อนหน้านี้แบบเป็นปี่เป็นขลุ่ย ทั้งในเรื่องของการทุจริตการสวมสิทธิ์ สต็อกลม ทำให้รัฐบาลขาดทุนมหาศาล ทำลายตลาดค้าข้าวให้ย่อยยับ และที่สำคัญโครงการจำนำข้าวชาวนาไม่ได้ประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะพวกที่รวยกันจนปลิ้นก็มีแต่เจ้าของโรงสี พ่อค้ากลุ่มทุนของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและรัฐมนตรีเท่านั้น
       
       เป็นความเห็นที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เป็นความจริงที่คนอื่นเขาก็รู้และโวยวายมาตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่าเสียงไม่ดังเท่ากับเสียงของ วีรพงษ์ ในฐานะที่เป็น “คนใน” เท่านั้นเอง
       
       น่าสนใจก็คือบังเอิญว่าเสียงคัดค้านของเขาดันมาเป็นประเด็นเอาในช่วงที่ ทักษิณ ชินวัตร เพิ่งให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศไปก่อนหน้าไม่กี่วันที่สนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป โดยอ้างว่าชาวนาได้ประโยชน์ การแสดงความเห็นของ วีรพงษ์ จึงเหมือนกับการหักหน้า เป็นการทำลายความมั่นใจของรัฐบาลเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับฝ่ายคัดค้านมากขึ้นไปอีก ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้เริ่มได้เห็นการเคลื่อนไหวของบรรดาคนเสื้อแดงในหลายพื้นที่ต่างทยอยออกมาประท้วง ไม่พอใจ แต่ก็พุ่งเป้าไปที่คณะอาจารย์ที่ออกมายื่นเรื่องขัดขวางไม่ให้โครงการจำนำข้าวเดินหน้าต่อไปได้ เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นการทำลายตลาดการค้าข้าวให้ย่อยยับ
       
       เมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ทยอยออกมาแล้ว ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ ทักษิณ ชินวัตรซึ่งเป็น “นายใหญ่” ของพวกเขากดปุ่มให้เดินหน้า ประกอบกับการประสานเสียงของบรรดาแกนนำรัฐบาล ต่างไม่ยอมถอย และล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติไฟเขียวให้กู้เงินสำหรับการรับจำนำข้าวในฤดูกาลใหม่แล้ว แต่น่าสังเกตก็คือจำนวนเม็ดเงินเริ่มต้นแค่ 2.4 แสนล้านบาทเท่านั้นเอง จากที่กระทรวงพาณิชย์เสนอไปสี่แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ปริมาณข้าวที่รับจำนำก็กำหนดข้าวนาปีเอาไว้แค่ 15 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าอาจมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ที่รับภาระในเรื่องการจ่ายเงินก่อนหน้านี้ก็เป็นได้
       
       อีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเดินหน้าถอยไม่ได้ก็อาจเป็นเพราะนโยบายดังกล่าวเวลานี้กลายเป็นนโยบายประชานิยมหลักของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีการโปรโมตทั้งในช่วงหาเสียงและเมื่อเป็นรัฐบาล และที่สำคัญเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการ “ประกันรายได้” ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้ายกเลิกนั่นก็หมายความว่าโครงการของพรรคเพื่อไทยนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า ส่งผลเสียทางการเมืองในแบบที่ประเมินไม่ได้ โดยเฉพาะความหมายของคำว่า “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ ยิ่งลักษณ์นำไปปฏิบัติ” มันจะหมดความหมายทันที 
       
       อย่างไรก็ดีความจริงก็คงหนีความจริงไปไม่พ้น เพราะไม่ว่ามองในมุมไหนในระยะยาวไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย ตรงกันข้ามยิ่งถลำลึกยิ่งเดินหน้ารัฐก็จะขาดทุนเป็นภาระงบประมาณจำนวนมหาศาลมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเรื่องการทุจริตที่แม้เวลานี้จะมีความพยามกลบเกลื่อนโดยใช้กลไกรัฐจับกุมได้แต่ระดับปลาซิวปลาสร้อย แต่อีกด้านหนึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงการสวมสิทธิ์ที่ไม่อาจควบคุมได้หรือไม่ก็สมคบกันแบบจงใจ
       
       สิ่งที่น่าตกใจก็คือการ “บิดเบือนการจำนำ” เพราะในความเป็นจริงแล้วก็คือการรับซื้อข้าวจากชาวนาแบบซื้อขาดทุกเมล็ด เพราะเป็นการจำนำที่ตั้งราคาสูงกว่าตลาด จึงไม่มีทางที่ชาวนาจะมาไถ่ถอนคืน แต่ปริมาณข้าวที่รัฐรับซื้อหรือรับจำนำเอาไว้จำนวนมหาศาลก็ต้องเอาไปขายเอาไประบายโดยต้องขายแบบขาดทุน ขณะที่การส่งออกก็ต้องหยุดชะงักเพราะภาคเอกชนทำตลาดไม่ได้ เพราะราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง(จากการตั้งราคาของรัฐบาลทางอ้อม) ทำให้เวลานี้การส่งออกข้าวของไทยหยุดชะงัก ขายไม่ออก
       
       ขณะเดียวกันภาวะ “ตลาดเทียม” ดังกล่าวยังส่งผลให้ราคาข้าวภายในประเทศ โดยเฉพาะข้าวถุงเพื่อการบริโภคมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นการซ้ำเติมภาวะค่าครองชีพของชาวบ้านเพิ่มขึ้น
       
       อย่างไรก็ดีนั่นเป็นเพียงหนึ่งในนโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่เริ่มมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆและมีเสียงคัดค้านทั้งจากนักวิชาการและภาคเอกชน ยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะมีปัญหาตามมานั่นก็คือ ค่าแรงวันละ 300 บาทที่จะบังคับให้ใช้พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า ซึ่งแน่นอนว่าหากมองผิวเผินอาจเป็นเรื่องดี เพราะเพิ่มรายได้ให้กับคนจน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นภาระสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก กลายเป็นว่าอาจส่งผลลบเพราะจะถูกเลิกจ้าง อีกทั้งการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการจ้างงานอาจกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ที่มีความพร้อม
       
       ดังนั้นถ้าพิจารณากันเพียงแค่การหวังผลทางการเมืองก็รับรองว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่มีทางถอยสำหรับนโยบายประชานิยมหลักดังกล่าว เพราะถ้าถอยเท่ากับว่าล้มเหลว และคนที่หมดเครดิตก็คือ ทักษิณ ชินวัตร เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องเดินหน้า แม้ว่าจะรู้ว่าจะฉิบหายก็ตาม ถึงตอนนั้นก็คงไม่เป็นไร เพราะไม่ใช่เงินเขาสักบาท !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น