วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปริศนานโยบายจำนำข้าว: ทักษิณและยิ่งลักษณ์ต้องการอะไร เมื่อ 5 ต.ค.55



ปัญญาพลวัตร
       โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
       
       แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายสถาบัน รวมทั้งบุคคลในรัฐบาลเองอย่างนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่สนใจไยดีรับฟังแต่ประการใด กลับนำนโยบายจำนำข้าวไปปฏิบัติต่อไปอย่างต่อเนื่อง
       
       บุคคลที่อยู่เบื้องหลังชี้นำความคิดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเรื่องจำนำข้าวคือ นช. ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า “โครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าตลาด จะให้ประโยชน์สูงกว่าต้นทุนโครงการนี้ประมาณ 3 เท่า และตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ รัฐบาลมีแผนซื้อข้าว 34 ล้านตัน” 
       
       หลังจากนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ขานรับทันที การประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 ตุลาคม 2555 มีมติให้ใช้งบประมาณ 4.05 แสนล้านบาทเพื่อจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2555/2556 โดยในขั้นต้นให้ใช้เงิน 2.4 ล้านบาทก่อนเพื่อรับจำนำข้าวนาปรังจำนวน 15 ล้านตัน ส่วนที่ข้าวนาปีอีก 11 ล้านตันให้ดำเนินการภายหลัง
       
       คำถามคือทำไมนช.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงยังยืนกรานทำนโยบายนี้ต่อไปทั้งที่มีผลเสียต่อประเทศนานับประการ อะไรคือความต้องการของพวกเขา แต่ก่อนที่จะวิเคราะห์ถึงแรงจูงใจและเป้าประสงค์ที่แท้จริงของยิ่งลักษณ์และทักษิณ ผมจะขอกล่าวถึงเนื้อหานโยบายจำนำข้าวและผลกระทบทางลบที่เกิดจากนโยบายพอสังเขปเป็นเบื้องต้น
       
       ประการแรก นโยบายจำนำข้าวขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นนโยบายที่รัฐบาลแปลงสภาพตัวเองจาก “รัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลกลไกตลาดให้เสรีและเป็นธรรม” เป็น “รัฐพ่อค้า” แนวทางของนโยบายนี้คือรัฐบาลจะซื้อข้าวทุกเมล็ดและซื้อแพงกว่าราคาตลาด รัฐบาลจึงตั้งตัวเป็นพ่อค้าผูกขาดตลาดข้าวแบบเจ้าเดียว ด้วยการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน การที่รัฐทำแปลงสภาพเป็นพ่อค้าผูกขาด จึงเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 2 มาตรา คือ มาตรา 43 และมาตรา 84 วงเล็บ 1
       
       มาตรา 43 ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม แต่นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลไปทำลายเสรีภาพในการประกอบอาชีพของพ่อค้าข้าว และจะทำให้พ่อค้าข้าวต้องเลิกประกอบอาชีพไปในอนาคต ด้วยราคาข้าวที่รัฐบาลประกาศรับซื้อสูงกว่าราคาตลาด คงไม่มีพ่อค้าข้าวรายใดที่จะแข่งขันราคากับรัฐบาลได้ รัฐบาลทำแบบนี้ได้เพราะใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน และพร้อมที่จะขาดทุนจากการซื้อข้าว ส่วนพ่อค้าทั่วไปนั้นย่อมกระทำอย่างมีเหตุผล จึงไม่มีใครยอมทำเรื่องที่ต้องประสบกับการขาดทุนที่เห็นได้อย่างชัดเจนในอนาคตเหมือนดังที่รัฐบาลทำ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงใช้งบประมาณแผ่นดินสร้างสภาพการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมขึ้นมา ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 43 อย่างชัดเจน
       
       สำหรับมาตรา 84 (1) ระบุว่า รัฐต้องมีนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค
       
       นโยบายจำนำข้าวมีลักษณะการผูกขาด ทำลายกลไกตลาด ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ การที่รัฐบาลตั้งราคารับซื้อข้าวไว้สูงโดยไม่จำแนกคุณภาพข้าวให้เหมาะสม จะทำให้ชาวนาไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว สิ่งที่ตามมาคือคุณภาพข้าวของประเทศไทยจะต่ำลง และไม่อาจแข่งขันในตลาดโลกได้ อีกทั้งนโยบายจำนำข้าวยังเป็นการที่รัฐบาลประกอบกิจการแข่งกับเอกชนโดยขาดเหตุผลอันสมควร เพราะสถานการณ์ข้าวตอนนี้ยังอยู่ในภาวะของกลไกตลาดสินค้าทั่วไป ไม่ใช่สินค้าขาดแคลนดังในช่วงสงครามหรือภัยพิบัติจนทำให้ข้าวขาดแคลน สถานการณ์ตอนนี้ของข้าวจึงยังไม่เข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด ดังนั้นนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลจึงเป็นนโยบายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรานี้อย่างชัดเจนตามเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น
       
       ประการที่สอง นโยบายจำนำข้าว เป็นการสร้างความวิบัติแก่ภาษาไทย โดยใช้คำว่า “จำนำ” สื่อความหมายในทางที่ผิด “จำนำ” ตามความหมายทั่วไปคือ การรับฝากสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด เมื่อผู้ฝากมีเงินก็จะมาไถ่ถอนสินค้าคืน หากจะใช้คำว่า “จำนำ” สำหรับข้าวอย่างถูกต้องคือ รัฐบาลต้องรับจำนำข้าวในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และต้องคิดดอกเบี้ยในการรับฝากข้าวด้วย หากชาวนาไม่มีเงินมาไถ่คืน รัฐบาลก็ต้องยึดข้าวนั้นเป็นของรัฐบาล หรือหากชาวนาเห็นว่าราคาข้าวในตลาดสูงกว่าราคาจำนำมาก ก็จะไปหาเงินมาไถ่คืนเพื่อนำข้าวไปขายให้พ่อค้าต่อไป
       
       แต่ปรากฎว่ารัฐบาลกลับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด การกระทำของรัฐบาลจึงไม่ใช่การจำนำ แต่มีนัยเป็น “การซื้อขาด” เพราะไม่มีชาวนาคนใดที่มีปัญญาด้อยกว่ารัฐบาล ไปไถ่ถอนข้าวคืนมาเพื่อไปขายในตลาดด้วยราคาต่ำกว่าที่พวกเขาได้จากรัฐบาลเป็นแน่ การใช้คำว่านโยบายจำนำข้าวจึงทำให้ภาษาไทยวิบัติ หากจะใช้ให้ถูกต้องนโยบายควรเปลี่ยนชื่อเป็น “นโยบายซื้อข้าวราคาแพง” เพื่อให้สอดคล้องระหว่างคำและความหมาย ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เด็กและเยาวชน ตลอดจนคนทั่วไปสับสนได้
       
       ประการที่สาม นโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่สร้างการทุจริตทั้งระบบแบบบูรณาการ จากข้อค้นพบในงานวิจัยของคณะกรรมการป้องกันและปรายปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบการทุจริตในทุกขั้นตอน ซึ่งสรุปโดยสังเขปดังนี้
       
       1) การทุจริตขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการผลิตข้าว ซึ่งมีวิธีการคือ การขึ้นทะเบียนและให้หนังสือรับรองแก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร การแจ้งจำนวนพื้นที่ปลูกไม่ตรงกับที่ปลูกจริง เช่น ปลูกจริง 10 ไร่ แต่แจ้ง 20 ไร่ การแจ้งสวมพื้นที่ปลูกพืชอื่นเป็นพื้นที่ปลูกข้าว เช่น ปลูกข้าวโพด ก็แจ้งว่า ปลูกข้าว เป็นต้น
       
       2) การทุจริตใบประทวน ขั้นตอนนี้ ชาวนานำข้าวเปลือกไปจำนำตามจุดรับจำนำซึ่งได้แก่โรงสีหรือตลาดกลาง เมื่อนำข้าวไปเทกองไว้แล้ว ชาวนาก็รับใบประทวนไปเบิกเงินกับ ธ.ก.ส. การทุจริตที่เกิดขึ้นมีหลายอย่าง เช่น ปริมาณข้าวจริงกับปริมาณข้าวที่เขียนในใบประทวนไม่เท่ากัน เช่น ชาวนามีข้าว 10 เกวียน โรงสีเขียนให้เป็น 15 เกวียน แต่เงินที่เป็นส่วนต่างนี้จะจัดสรรแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน อันได้แก่ โรงสี นักการเมือง ข้าราชการ และชาวนา ตามสัดส่วนที่ตกลงกัน การนำข้าวจากต่างประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา และลาว เข้ามาร่วมโครงการจำนำด้วย และการจ่ายเงินไม่ครบตามราคาจำนำ เป็นต้น
       
       3) การทุจริตในการแปลงสภาพจากข้าวเปลือกเป็นเป็นข้าวสาร ตรงนี้ส่วนใหญ่จะได้กับโรงสีและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง
       
       4) การทุจริตในการเก็บรักษาข้าว ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมารัฐต้องตั้งงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเก็บรักษาข้าวปีละประมาณ 800 ล้านบาท กลุ่มที่ได้ประโยชน์ตรงนี้คือ โรงสี โกดัง และเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบในการเก็บรักษา
       
       5) การทุจริตในการระบายหรือขายข้าว ตรงนี้บริษัทส่งออกข้าว และนักการเมืองจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะข้าวของรัฐบาลที่ต้องการระบายออกจะขายในราคาต่ำ แต่พวกพ่อค้าส่งออกจะนำไปขายในราคาตลาด หรือ หากขายแบบจีทูจี ตามที่รัฐบาลอ้างกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือ ประเทศที่รับซื้อข้าวจากไทย เพราะเราต้องขายแก่เขาในราคาต่ำ ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องขาดทุนอย่างยับเยิน มีผู้ประมาณการว่าจะแต่ละปีรัฐบาลจะขาดทุนประมาณ 80,000 – 100,000 ล้านบาท
       
       ประการที่สี่ นโยบายจำนำข้าวทำให้เกิดการทำลายเสรีภาพทางวิชาการและสร้างความขัดแย้งในสังคม เมื่อรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะทำนโยบายจำนำข้าวต่อไป นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านและยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านโยบายนี้ขัดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หรือไม่ ปรากฏว่ารัฐบาลได้ใช้มวลชนเสื้อแดงอันเป็นกลไกทางการเมืองของรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวข่มขู่คุกคามนักวิชาการ โดยมีการใช้วิทยุชุมชนปลุกระดม บิดเบือนข้อเท็จจริง ใส่ร้ายป้ายสีให้มวลชนเกลียดชังนักวิชาการอย่างต่อเนื่อง
       
       ในวันที่ 1 ตุลาคม ก็ได้มีมวลชนนำรถเข้าไปปราศรัยโจมตีนักวิชาการที่นิด้าด้วยประโยคที่หยาบคาย ป่าเถื่อน และบิดเบือน ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม ก็ยกขบวนมวลชนอันพาลเสื้อแดงประมาณ 300 คน มาตั้งกลุ่มปราศรัยโจมตีนักวิชาการด้วยภาษาและท่าทีแบบเดิม และในวันที่ 3 ตุลาคม กลุ่มอันพาลเสื้อแดงที่จังหวัดนครราชสีมาได้ยกขบวนมาปิดถนนมิตรภาพ ที่หน้านิด้า วิทยาเขตอำเภอสี่คิ้ว
       
       การกระทำของอันพาลเสื้อแดงโดยการสนับสนุนและให้ท้ายของรัฐบลจึงเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่เคยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งรัฐบาลใดที่ใช้มวลชนคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จึงเป็นรัฐบาลแรกที่มีการใช้มวลชนอันธพาลการเมืองของตนเองคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ โดยมวลชนอันธพาลแดงพวกนี้อ้างตัวว่าเป็นชาวนา และยุยงให้ชาวนาขัดแย้งกับนักวิชาการและชนชั้นกลางในเมือง
       
       ถึงตอนนี้มาสู่คำตอบที่ว่าอะไรคือแรงจูงใจและความต้องการของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการดำเนินนโยบายจำนำข้าวต่อไปทั้งที่มีผลเสียต่อประเทศอย่างมหาศาล ผมคิดว่าน่าจะมีแรงจูงใจและต้องการอย่างน้อย 4 ประการคือ
       
       1) สร้างคะแนนนิยมจากกลุ่มชาวนาเพื่อใช้เป็นฐานมวลชนในการสู้รบทางการเมือง แม้ว่าชาวนาจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ไม่มากเท่ากับมูลค่าทั้งหมดของโครงการ แต่ก็สามารถเอาไปอ้างได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทักษิณ ทำเพื่อคนจนเพื่อชาวนา อันเป็นวาทกรรมหลักที่พวกเขาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ และทำให้พวกเขามีอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
       
       2) กระจายเงินจากการทุจริตไปสู่กลุ่มนายทุนและเครือข่ายหัวคะแนน ที่เป็นพ่อค้าส่งออก นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น กลุ่มโรงสี และแกนนำอันธพาลแดง เพื่อใช้เป็นฐานทรัพยากรสำหรับเคลื่อนไหวทางการเมืองและการเลือกตั้งต่อไป
       
       3) การใช้ข้าวควบคุมอำนาจ ในปีถัดไปข้าวจะอยู่ในมือของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ทำให้พวกเขาสามารถใช้ข้าวเป็นกลไกในการควบคุมอำนาจทางการเมืองภายในประเทศ และใช้ต่อรองกับต่างประเทศเพื่อประโยชน์ของ นช. ที่อยู่ต่างแดน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       4) การใช้ข้าวเพื่อการทำลายล้าง โดยอาศัยการควบคุมข้าว ทำให้ข้าวขาดแคลน เกิดวิกฤติข้าวขึ้นมา จนนำไปสู่การจัดสรรปันส่วนข้าว และอาจทำให้เกิดจราจลในสังคมไทย ทั้งหมดอาจเกิดขึ้นได้หาก หาก นช. ที่อยู่ต่างแดนไม่ได้รับการตอบสนองตามที่เขาปรารถนา
       
       นโยบายจำนำข้าวจึงนับว่าเป็นนโยบายที่สร้างความหายนะแก่สังคมไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะทั้งทำลายรัฐธรรมนูญ สร้างการผูกขาดตัดตอน การทุจริตอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการ การคุกคามเสรภาพทางวิชาการ สร้าง” อันธพาลรัฐ” ขึ้นมา และจะกลายเป็นเครื่องมือในการควบคุมอำนาจทางการเมืองและทำลายความมั่นคงของประเทศได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น