วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เกิดแล้ว...เกิดอีกจริงๆ 'ภัย(น้ำ)แล้ง' ร้ายแรง...ไม่แพ้ท่วม! วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2555 เวลา 00:00 น.




เกิดแล้ว...เกิดอีกจริงๆ 'ภัย(น้ำ)แล้ง' ร้ายแรง...ไม่แพ้ท่วม!

วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2555 เวลา 00:00 น.
แม้ระยะนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ของประเทศไทย อย่างในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดก็ตกมาก ซึ่งก็มีการเตือนให้ระวังภัยกัน แต่ในขณะเดียวกัน หรือจริง ๆ แล้วก็ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ภัยน้ำในรูปแบบ ’ภัยแล้ง“  ได้เริ่มคุกคามประเทศไทยอย่างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน และต่อไปอาจจะรวมภาคอื่น ๆ ด้วย

’ภัยแล้ง“ มีผู้เตือนไว้ตั้งแต่ช่วงยังกลัวน้ำท่วมกัน

วันนี้ ’เกิดแล้ว-เกิดอีก“ จริง ๆ ดังที่มีการเตือน...

ทั้งนี้ ว่ากันโดยภาพรวมของ “ภัยแล้ง” ในเชิงวิชาการ จากข้อมูลของทางกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุไว้ว่า... ภัยแล้งคือภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งสาเหตุของการเกิดภัยแล้งก็มี 2 ประการหลัก ๆ คือ เกิดโดยธรรมชาติ เพราะการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และรวมถึงภัยธรรมชาติ เช่น วาตภัย แผ่นดินไหว เกิดโดยการกระทำของมนุษย์ เช่น จากการทำลายชั้นโอโซน ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ตัดไม้ทำลายป่า ทั้งนี้ สำหรับภัยแล้งในไทย ส่วนใหญ่เกิดจาก “ฝนแล้ง” และ “ฝนทิ้งช่วง” ซึ่งฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

หากจะถามว่า “ฝนแล้ง” มีความหมายอย่างไร?? คำถามนี้ก็มีคำตอบแยกย่อยเป็น 4 ด้านหลัก ๆ คือ...ด้านอุตุนิยมวิทยา ฝนแล้งหมายถึง สภาวะที่มีฝนน้อยหรือไม่มีฝนเลยในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งตามปกติควรต้องมีฝน โดยขึ้นอยู่กับสถานที่และฤดูกาล ณ ที่นั้น ๆ ด้วย ด้านการเกษตร ฝนแล้งหมายถึง สภาวะการขาดแคลนน้ำของพืช ด้านอุทกวิทยา ฝนแล้งหมายถึง สภาวะที่ระดับน้ำผิวดินและใต้ดินลดลง หรือน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลง ด้านเศรษฐศาสตร์ ฝนแล้งหมายถึง สภาวะการขาดแคลนน้ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาค ทั้งนี้ ความรุนแรงของฝนแล้ง แบ่งได้เป็น 3 ระดับภาวะคือ... ฝนแล้งอย่างเบา, ฝนแล้งปานกลาง, ฝนแล้งอย่างรุนแรง

สำหรับ “ฝนทิ้งช่วง” ก็มีความหมายในทางวิชาการคือ... หมายถึงช่วงที่ มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 15 วัน ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือเดือน มิ.ย. และ ก.ค.

’ฝนแล้ง-ฝนทิ้งช่วง-ภัยแล้ง“ ในทางวิชาการก็เป็นประการฉะนี้ ส่วนภัยแล้งในตอนนี้ ซึ่งน่าจะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า การเกิด และความหมาย ตรงตามวิชาการแค่ไหน-อย่างไร?? ก็ลองพิจารณากัน...

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของทางกรมอุตุนิยมวิทยา มีการระบุถึงเรื่องนี้ไว้อีกว่า...ภัยแล้งในไทยมักจะเกิดใน 2 ช่วงคือ...ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน ซึ่งตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือน ต.ค. บริเวณประเทศไทยตอนบน ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำ อีกช่วงคือช่วงกลางฤดูฝน ประมาณปลายเดือน มิ.ย. ถึงเดือน ก.ค. มักจะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น ภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ แต่บางครั้งก็อาจครอบคลุมพื้นที่กว้างเกือบทั่วประเทศก็ได้

อีสานตอนกลาง เป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้ง เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไม่ถึง และถ้าปีใดไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่าน ก็จะก่อให้เกิดภัยแล้งที่รุนแรงมาก แต่ก็ใช่ว่าภัยแล้งในไทยมักจะเกิดแค่ภาคอีสานตอนกลาง ที่ผ่าน ๆ มานอกจากพื้นที่นี้แล้วก็ยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำอีก ซึ่ง “การเกษตร” เป็นส่วนแรกที่จะ “ได้รับผลกระทบ”

เนื่องเพราะประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เมื่อเกิดภัยแล้งขึ้นกิจกรรมทางการเกษตรจึงมักจะเสียหายมาก อย่างไรก็ตาม หากจะจำแนก ’ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง“ เป็นด้านหลัก ๆ ในเชิงวิชาการ ก็จะจำแนกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้...ด้านเศรษฐกิจ คือ...สิ้นเปลืองและสูญเสียผลผลิตด้านเกษตร ปศุสัตว์ ป่าไม้ การประมง เศรษฐกิจทั่วไป เช่น ราคาที่ดินลดลง โรงงานผลิตเสียหาย เกิดการว่างงาน สูญเสียอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พลังงาน อุตสาหกรรมขนส่ง

ด้านสิ่งแวดล้อม คือ...ส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ ทำให้ขาดแคลนน้ำ เกิดโรคกับสัตว์ สูญเสียความหลากหลายพันธุ์ รวมถึงผลกระทบด้านอุทกวิทยา ทำให้ระดับและปริมาณน้ำลดลง พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง ความเค็มของน้ำเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำในดินเปลี่ยนแปลง คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง เกิดการกัดเซาะของดิน ไฟป่าเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพอากาศและสูญเสียทัศนียภาพ เป็นต้น และ ด้านสังคม คือ...เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงการจัดการคุณภาพชีวิตจะลดลง และบ่อยครั้งก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำด้วย

ทั้งนี้ “ภัยน้ำท่วม” ก่อให้เกิดสถานการณ์ “ข้าวยากหมากแพง” ได้ฉันใด ’ภัยแล้ง“ ก็ทำให้ ’ข้าวยากหมากแพง“ ได้ฉันนั้น น้ำท่วมมาก...ทำให้เสียหายมาก น้ำแล้งมาก...ก็ทำให้เสียหายมาก เช่นเดียวกัน

เหล่านี้ก็เป็นในเชิงวิชาการเกี่ยวกับ “ภัยแล้ง”

ก็มิใช่จะมาชี้ว่า “ใครกันที่ทำให้เกิดภัยแล้ง??”

แต่นี่แล้งอีกแล้ว...ใครต้องแก้ไขก็รีบหน่อย!!!.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น