วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กว่าจะเป็นฝีพาย ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เมื่อ 22 ต.ค.55




กว่าจะเป็นฝีพาย ขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค



Prev
1 of 1
Next
updated: 22 ต.ค. 2555 เวลา 13:17:17 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
น.อ.วิพันธุ์ ชมะโชติ - เรื่อง อนุชัย ศรีจรูญภู่ทอง - ภาพ
นสพ.มติชนรายวัน
วิถีชีวิตของบรรพชนไทยแต่โบราณผูกพันกลมกลืนอยู่กับสายน้ำ

พระมหากษัตริย์ไทยได้เลือกที่จะสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ริมฝั่ง คนไทยจึงรู้จักคุ้นเคยกับเรือมาแต่ครั้งโบราณ ก่อเกิดประเพณีในการจัดขบวนเรือของพระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค"

เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

ใน การขับเคลื่อนขบวนพยุหยาตราฯ ผู้ที่ทำหน้าที่ "ฝีพาย" โดยเฉพาะฝีพายเรือพระที่นั่ง จะต้องมีความเชี่ยวชาญลึกซึ้งในศาสตร์และศิลปะของการพาย ผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำมาเป็นอย่างดี เพื่อให้การพายได้จังหวะจะโคนพร้อมเพรียง อันจะทำให้เรือมีกำลังในการเข้าออกจากท่าเทียบและขับเคลื่อนไปได้อย่างสง่า งาม ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี

แน่นอนว่า ฝีพายย่อมเป็นหน้าที่ของเหล่าทหารเรือมาแต่ครั้งอดีต โดยผู้บังคับขบวนเรือก็คือ "แม่ทัพเรือ" หรือ "ผู้บัญชาการทหารเรือ" นั่นเอง และความเป็นไปดังกล่าวยังคงตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสมหา มงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 รัฐบาลได้มอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในเดือนพฤศจิกายน 2555

กองทัพเรือ ได้เตรียมที่จะดำเนินการดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยคัดเลือกกำลังพล รวม 2,200 นาย ทำหน้าที่ฝีพายและนายเรือ เพื่อประจำอยู่ในเรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ รูปขบวนเรือจัดเป็น 5 ริ้ว ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ เรือรูปสัตว์ 8 ลำ เรือดั้ง 22 ลำ และเรืออื่นๆ อีก 18 ลำ


การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 16 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช

ใน การนี้กองทัพเรือได้มอบหมายให้ พล.ร.ท.พจนา เผือกผ่อง รองเสนาธิการทหารเรือ เป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ทำหน้าที่วางแผน อำนวยการ กำกับการและดำเนินการเกี่ยวกับการดำเนินการจัดงานพระราชพิธีฯ

ในส่วนของกำลังพลฝีพายซึ่งมาจากทหารเรือทุกชั้นยศ กองทัพเรือได้จัดการฝึกอบรมครูฝึกฝีพาย ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2555

เพื่อ ให้ครูฝึกนำไปถ่ายทอดฝึกซ้อมฝีพายเรือพระราชพิธี บนเขียงฝึกตามพื้นที่ต่างๆ ให้มีรูปแบบการพายที่ถูกต้อง โดยดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555

หลังจากการซ้อมบนเขียงฝึกหรือการซ้อมบนบก ขั้นตอนต่อไปคือการซ้อมฝีพายในน้ำ ระหว่างวันที่ 4 กรกฎาคมถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2555

โดย ใช้พื้นที่ในหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำ อาทิ ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

จากนั้น วันที่ 9 สิงหาคม 2555 พล.ร.อ. สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่และเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระที่นั่ง รวม 4 ลำ เพื่ออัญเชิญลงน้ำ สำหรับเตรียมการฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 


หลัง พิธีอัญเชิญเรือลงน้ำผ่านพ้นไป กำลังพลจากหน่วยฝึกพื้นที่ต่างๆ ได้มารวมพลกันที่กรมการขนส่งทหารเรือ เพื่อทำการฝึกซ้อมเป็นรูปขบวนในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิดความพร้อมเพรียง โดยการฝึกซ้อมย่อย กำหนดไว้ 8 ครั้ง เริ่มซ้อมย่อยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 และทำการซ้อมต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง จนถึงการซ้อมย่อยครั้งสุดท้ายในวันที่29 ตุลาคม 2555

พล.ร.อ.สุ รศักดิ์กล่าวในวันตรวจเยี่ยมกำลังพลประจำเรือก่อนที่กำลังพลทั้ง 2,200 นายจะลงไปทำหน้าที่นายเรือและฝีพายในเรือแต่ละลำ ณ ลานหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมาว่า

"...การ ทำหน้าที่บนเรือพระที่นั่งและเรือพระราชพิธีไม่เพียงจะเป็นเกียรติยศสูงสุด และความภาคภูมิใจของทหารเรือที่ได้ถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด เท่านั้น แต่ยังเป็นการสืบสานและร่วมกันรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่อย่าง ยั่งยืน ผมจึงขอขอบคุณทุกคนที่ได้อุทิศตนในการฝึกซ้อม โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากเพื่อให้ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้สำเร็จ ลุล่วง..."

ส่วนการฝึกซ้อมใหญ่ ซึ่งมีการแต่งกายเหมือนจริง กำหนดไว้ 2 ครั้ง ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 เพื่อให้ขบวนเรือพร้อมสำหรับวันพระราชพิธีจริง ซึ่งคาดว่าจะเป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ทั้งนี้ ในการซ้อมขบวนเรือในแม่น้ำจะมีการปิดการจราจรทางน้ำ ตั้งแต่เวลา 13.00-17.00 น.

สำหรับกำลังพลที่จะเป็นฝีพายหรือนาย เรือ ใช่ว่าจะเพียงแต่มีใจรักและอาสาสมัครเข้ามาเท่านั้น หากยังต้องมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงอีกด้วย

ในการนี้ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เข้ามาเป็นหน่วยงานหลัก ในการดูแลสุขภาพของฝีพาย ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การอบรมความรู้ เรื่อง โรคลมแดดหรือลมเหตุร้อน ระหว่างการฝึกซ้อมกลางแดดจัดและอุณหภูมิสูง การป้องกันการเจ็บป่วย และโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในคนจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะมีการปลูกวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แล้ว ยังได้จัดนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาดูแลและให้คำแนะนำในการดูแลกล้ามเนื้อ ของกำลังพลอีกด้วย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือการดำเนินการของกองทัพเรือตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งผลลัพธ์โดยรวมจะปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของปวงชนชาวไทยอีกครั้ง ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ในเดือนพฤศจิกายนนี้

กองทัพเรือพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติภารกิจอันน่า ภาคภูมิใจในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและการถวายงานใต้เบื้องพระ ยุคลบาทในนามปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดีและการเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหา กษัตริย์?ชั่วนิรันดร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น