|
|
สะเก็ดไฟ
คิดว่าคนไทยที่ความจำไม่สั้น และสันหลังไม่ยาวเหมือน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ย่อมจำได้ดีถึงคำแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กของนาง เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 57 ที่ระบุไว้ในตอนหนึ่งว่า
พร้อมที่จะพิสูจน์ตัวเองที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและรปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า “โกงจำนำข้าว”
นางร่ายยาวในเฟซบุ๊ก ชนิดที่คงตอบนักข่าวแบบนี้ไม่ได้ถ้าเจอต่อหน้าว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พร้อมกับกล่าวหา ป.ป.ช.ในเชิงไม่ให้ความเป็นธรรม โดยพุ่งเป้าไปที่ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ และ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ด้วยการบิดเบือนข้อมูลว่า ป.ป.ช.ใช้เวลาไต่สวนเรื่องนีเพียง 21 วัน ก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาจนถูก ศ.พิเศษ วิชา ตีแสกหน้ากลับมาด้วยความจริงว่า
กรณีนี้มีการยื่นเรื่องถอดถอนยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 55 เท่ากับใช้เวลาในการไต่สวนมาแล้วนานกว่า 1 ปี ในขณะเดียวกัน ก็แฉซ้ำอีกรอบว่า เรื่องทุจริตจำนำข้าว มีการเตือนตั้งแต่ “ต้นน้ำ” โดย ป.ป.ช.แล้วถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ที่รัฐบาลจะเริ่มโครงการไปจนถึงการดำเนินการในฤดูกาลถัดไป
รัฐบาลก็มิได้นำพาต่อคำเตือนดังกล่าว เดินหน้าโครงการพาชาติเจ๊งโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากทุกภาคส่วน อ้างแต่ว่า “ให้ชาวนาเถอะค่ะ” แม้ว่าจะทำให้ประเทศชาติขาดทุนถึงกว่า 4 แสนล้านบาท
มาวันนี้ชาวนาเริ่มตั้งคำถามกลับว่า “เมื่อไหร่จะให้ชาวนาคะ” เพราะค้างหนี้จำนำข้าวเอาไว้ถึง 1.3 แสนล้านบาท ยังมืดแปดด้านหาเงินมาใช้หนี้ไม่ได้ จนทุรนทุรายหนีตายด้วยการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตอกย้ำความไร้ธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ และความไม่เคารพกฎหมายของรัฐบาลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงโจร “ปล้นเงินชาวนา” อย่างอุกอาจแถมพอจับได้ไล่ทัน ยังเป็น “โจรปากแข็ง” ไม่ยอมรับความผิดอีกด้วย
แม้ในวันที่ 27 ก.พ. 57 ยิ่งลักษณ์ จะติ๊ดชึ่งหนี ป.ป.ช.ไม่ยอมไปรับทราบข้อกล่าวหา กรณีเพิกเฉยการตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวโดยจะมีการผัดผ่อนขอขยายเวลารับทราบข้อกล่าวหาเต็มเพดานที่มีกรอบเอาไว้ไม่เกิน 15 วัน ซึ่งเป็นแท็กติกที่ “ทนายโจร” ขี้ข้าระบอบทักษิณใช้จนเป็นกิจวัตรนั้น มิได้ช่วยให้ ยิ่งลักษณ์ มีแต้มต่อในคดีนี้
ตรงกันข้าม กลับทำให้ภาพลักษณ์ของ ยิ่งลักษณ์ ดูตกต่ำลงจนดิ้นหนีไม่พ้นข้อหา “สมคบคิดโกงจำนำข้าว”
ในเฟซบุ๊ก ยิ่งลักษณ์ ผู้กล้าหาญโพสต์ท้าทายไว้ว่า จะเดินหน้าโครงการที่ทำให้ชาติล่มจมชาวนาผูกคอตายต่อไป ด้วยการอ้างว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากขบวนการทางการเมือง ที่ต้องการล้มรัฐบาล แต่วรรคทองที่กำลังมัดนางว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างที่ปากว่าคือ
“ดิฉันจะต้องตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา หรือรวมทั้งต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามความต้องการของผู้ล้มล้างรัฐบาลในปัจจุบันแต่ดิฉันก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง โดยดิฉันหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหวังว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะยอมรับฟังคำชี้แจงและพยานหลักฐานของดิฉันให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะชี้มูลความผิดกระบวนการยุติธรรม ตามหลักนิติธรรมนั้นย่อมต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ตัวเองเสมอ”
ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้ ยิ่งลักษณ์ ได้พิสูจน์ความจริงด้วยการไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 27 ก.พ. 57 แต่นางกลับวิ่งหางจุกตูด หนีไปหลบอยู่ในหมอกควันที่เชียงใหม่ และเชียงราย ทั้งที่เป็นพื้นที่ที่ไม่ได้มีปัญหาสภาพอากาศเลวร้ายจากหมอกควัน ตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด
สะท้อนให้เห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ไม่เคารพกลไกตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบอบทักษิณเชิดชูเป็นไอดอล ยกมาอ้างว่าเป็น “เจ้าแห่งรัฐธรรมนูญของประชาชน” แต่ ทั้งยิ่งลักษณ์-ทักษิณ และลิ่วล้อ นอกจากจะไม่ยอมรับการตรวจสอบแล้วยังมุ่งทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระอย่างต่อเนื่อง สร้างชุดความเท็จว่า องค์กรอิสระเหล่านั้นคือหนึ่งในเกมล้มรัฐบาล ทั้งที่เป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 40 ที่ระบอบทักษิณยกย่องดังที่เรียนไว้ในตอนต้น
พฤติกรรมเช่นนี้จึงเปลือยตัวตนของ ยิ่งลักษณ์ ว่าไม่เคยยอมรับกติกา มีแต่กติกู ที่ทุกคนต้องทำตามและ “ตระกูลชินวัตร” ทำอะไรก็ไม่ผิดถ้ามีคำตัดสินว่า “ผิด” แสดงว่าฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระนั้น เข้าด้วยช่วยเหลือกับขบวนการล้มรัฐบาล
นี่คือพฤติกรรมของผู้ที่อ้างตนว่าต้องอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯ เพื่อรักษาประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริงนางและครอบครัวกำลังฉีดฟอร์มาลีนห่อซาก “ประชาธิปไตย” ที่ตายมานานกว่า 10 ปีแล้ว จากผลพวงของระบอบทักษิณ เพียงแต่ยังปรากฏเป็นรูปเป็นร่างได้ด้วยการตบตาสังคมโลกใช้ประชาธิปไตยบังหน้า แต่บริหารแบบเผด็จการ
ความพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของ ป.ป.ช.จากระบอบทักษิณ คือการกล่าวหาว่า ป.ป.ช.คือคณะกรรมการป้องกันพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้ข้อมูลชุดเดียวตอกย้ำให้ประชาชนเกิดความเชื่อว่า ป.ป.ช.กลั่นแกล้ง ทั้งที่ความจริงแล้วมีหลายคดีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วชี้มูลว่า ยิ่งลักษณ์ และพรรคพวกไม่มีความผิด แต่คนเหล่านี้กลับไม่เคยพูดถึง โดยคดีที่เกี่ยวข้องกับยิ่งลักษณ์ และคนของพรรคเพื่อไทย ที่ป.ป.ช.ปล่อยออกจากบ่วงกรรมให้กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ในกรณีนั้นๆ ประกอบด้วย
1.) 4 เม.ย. 56 ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกรณียิ่งลักษณ์ ปล่อยเงินกู้ 30 ล้านบาท ให้บริษัท แอ็ดอินเด็กซ์ของ อนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าพฤติกรรมของนางไม่จงใจปกปิด หรือแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ
2.) 7 ม.ค. 57 ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องกรณี ยิ่งลักษณ์ และขี้ข้าในรัฐสภารวม 65 คน ร่วมลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ร่วมเสนอร่าง ไม่ได้ลงมติวาระที่ 1 และ 2
3.) 18 ก.พ. 57 ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องถอดถอน สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลรองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศออกจากตำแหน่ง กรณีเจรจาทูตญี่ปุ่นให้ออกวีซ่าให้กับนักโทษหนีคดีทักษิณ โดยให้เหตุผลว่า ไร้หลักฐานสั่งการ และอำนาจการออกวีซ่าเป็นอำนาจของรัฐบาลญี่ปุ่น
ทำไมคดีที่ ป.ป.ช.ปล่อยให้รอดพ้นบ่วงเวรบ่วงกรรมอย่างนี้ จึงไม่พูดถึงบ้าง
พูดถึงแต่คดีที่อาการน่าเป็นห่วง เพื่อดักคอ-กดดันให้ ป.ป.ช.ทำงานอย่างยากลำบาก หรือข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว เพื่อไม่ให้มีความกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาสุจริตและเที่ยงธรรม
เพราะเมื่อไหร่ที่ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด แต่ไปกระทบยิ่งลักษณ์ ก็จะถูกป้ายสีทันทีว่า “ทำหน้าที่ไม่สุจริต จงใจกลั่นแกล้ง” พร้อมกับผลัก ป.ป.ช.ให้ไปอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายตรงข้าม ทำให้ผู้คนเกิดความสับสนต่อระบบถ่วงดุลตรวจสอบตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น